Custom Search

Jul 8, 2009

วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา อีกบริบทของกรรมดี


ไพรัตน์ แย้มโกสุม
มติชน

วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


เดือน กรกฎาคม ปีนี้ (2552) มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 2 วัน คือวันอาสาฬหบูชา (อังคาร 7 ก.ค.) และวันเข้าพรรษา (พุธ 8 ก.ค.) เป็นโอกาสดีที่จะได้ "หยุดชั่ว-ทำดี-ทำจิตใจให้ผ่องใส"

วันอาสาฬหบูชา (อา-สาน-หะ-บู-ชา, อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) เป็นวันบูชาในวันเพ็ญเดือน 8 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน วันอาสาฬหบูชาก็เลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง ซึ่งเป็นเดือนอาสาฬหะ (เรียกเดือนแห่งดาวอาสาฬหะ คือเดือน 8 ทางจันทรคติ) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ คือ
"ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" อันเป็น "ปฐมเทศนา" ประกาศพระศาสดา

เมื่อจบ พระธรรมเทศนาแล้ว พระอัญญาโกณทัญญะ ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นโสดาบัน เป็นอริยเจ้าองค์ที่ 2 รองจากพระพุทธองค์ เป็นสักขีพยานว่า พระองค์ได้ตรัสรู้จริง ทรงสั่งสอนได้จริง และผู้ปฏิบัติตามก็ได้รับผลดีจริง เป็นวันที่พระพุทธศาสนา ได้เริ่มประดิษฐานลงในโลก

ใจความโดยสรุปของธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือ มีทางที่บรรพชิต (นักบวช) ไม่ควรประพฤติปฏิบัติอยู่ 2 ทาง คือ...

1.กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม

2.อัตตกิลมถานุโยค การประกอบทรมานตน ให้ลำบากเปล่า

ต่อ จากนั้น ทรงแสดงทางที่บรรพชิตควรปฏิบัติ คือ ทางสายกลาง เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" คือ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8 เป็นทางที่จะนำไปสู่ความสงบ ความรู้ยิ่ง และเพื่อความดับทุกข์ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ประการ

วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ต่อจากวันอาสาฬหบูชา) ที่พระสงฆ์เข้าจำพรรษาอยู่ประจำที่ที่กำหนด เป็นเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน

จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (พอถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ก็เป็นวันออกพรรษา)

ทั้ง สองวันดังกล่าว ฆราวาส ผู้ครองเรือน หรือคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช ควรปฏิบัติตน...ด้วยการสวดมนต์ ไหว้พระ ทำจิตให้สงบ แผ่เมตตา ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม พัฒนาวัด บริจาคทาน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เวียนเทียน ฯลฯ สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ เตรียมผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องไทยธรรม ไว้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ในวันเข้าพรรษา อย่างพร้อมเพรียงกัน

ส่วน บรรพชิต นักบวชในพระพุทธศาสนา หรือพระสงฆ์องค์เณร ก็พึงประพฤติปฏิบัติตามหลักหรือแก่นศาสนา (สัทธรรม 3) คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เคยเทศน์ (กรกฎาคม 2486) เกี่ยวกับวันเข้าพรรษาว่า...

" ตามธรรมดา ความเป็นมนุษย์ของคนเรา มีมาตรฐานตั้งอยู่ที่ความสะอาดบริสุทธิ์ ตามกฎเกณฑ์ที่นิยมกันมา มนุษย์เราควรจะมีความบริสุทธิ์ตามธรรมดาสักเพียงไรอยู่แล้ว เราจะเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยยกข้อแก้ตัวเพียงว่า เป็นเวลานอกพรรษานั้น ย่อมเป็นกบฏต่อตัวเอง ยิ่งเมื่อมาคำนึงถึงว่า การเป็นมนุษย์นี้ ต้องลงทุนด้วยการอดทน หรืออดกลั้นบางประการ เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายจุดหนึ่งด้วยแล้ว การวิ่งไปข้างหน้าในพรรษา วิ่งถอยหลังนอกพรรษา ก็คือการลวงตนของตนว่า เป็นคนขยันยิ่งนักเท่านั้น

เข้า พรรษา คือการรุดหน้าเข้าไปในธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง เหมือนกับชาวไร่ชาวสวนบุกเบิกป่าออกไปในฤดูแล้ง ทำให้เป็นสวนตามต้องการ ด้วยการตกแต่งปลูกฝังในฤดูอื่น และจะบุกเบิกใหม่อีกในฤดูแล้งข้างหน้า ดังนี้เสมอไป นี้ฉันใด การเข้าพรรษา จะต้องเป็นการรุดหน้าก้าวหนึ่งเสมอในทางธรรมแล้วเพียรพยายามทำให้มาก ทำให้ชำนาญ จนไม่กลับกำเริบในเวลานอกจากนั้น เพื่อว่าถึงพรรษาหน้า จะได้ก้าวรุดหน้าออกไปอีกก้าวหนึ่ง ดังนี้ ก็ฉันนั้น แต่ถ้าหากว่า ก้าวหน้าได้เรื่อยเป็นพิเศษ ไม่รู้หยุดหย่อน ก็เป็นการดี"

(ที่มา : ชุมนุมอภิลักขิตกาลพจน์ (ข้อคิดวันสำคัญ) 2482-2500 ของพุทธทาสภิกขุ หน้า 67)

ความคิดอันเป็นอมตะของท่านอาจารย์ดังกล่าวนี้ น่าพินิจพิจารณว่า ตัวเราเป็นเช่นไร ดีเฉพาะ 3 เดือน หรือดีทุกวันตลอดไป

" สัทธรรมสาม ตามติดทุกการกระทำ" เป็นเครื่องเตือนใจได้ทุกอย่าง คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสดังกล่าว ถือเป็นปริยัติ ที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติ แล้วผลหรือปฏิเวธ ขนาดไหน เพียงไร ก็จะเกิดขึ้นแก่เรา แบบรู้เอง เห็นเอง (ปัจจัตตัง)

การกระทำ หรือกรรม กรรม คือการกระทำด้วยเจตนา ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ มี 2 อย่าง

1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว) เป็นการกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากการอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ

2.กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี) เป็นการกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึงการกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

กรรมจึงมี 2 อย่าง คือ กรรมชั่ว กับ กรรมดี ไม่มีกรรมกลาง พวกที่ทำตัวเฉยๆ ใครทำดีก็ช่าง ใครทำชั่วก็ช่าง ไม่สนใจ โดยอ้างว่าฉันเป็นกลาง คนประเภทนี้จะจัดอยู่ในกรรมชั่ว หรือกรรมดี ก็พิจารณาเองเถิด ไม่มีกรรมกลางอย่างแน่นอน

มีแต่ทางสายกลาง หรืออริยอัฏฐังคิกมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา คือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ กรรมอย่างนี้ เป็นกรรมดี หรือกรรมเหนือกรรมดี อย่างแน่นอน

กรรมในอีกมิติหนึ่ง ก็มีสองอย่างเช่นกัน คือ การกระทำโดยเจตนา เรียกว่ากรรม มีผลเป็นวิบาก อีกอย่าง-ถ้ากระทำโดยไม่เจตนา เรียกว่า กิริยา มีผลเป็น ปฏิกิริยา

กรรมยังมีอีกหลายมิติ ลองดูสักอีกมิติ มี 4 อย่าง คือ....

1.กรรมดำ หรือกรรมชั่ว นำไปสู่ทุคติ

2.กรรมขาว หรือกรรมดี นำไปสู่สุคติ

3.กรรมดำขาวเจือกัน คือการกระทำที่เจือกันทั้งชั่วและดี นำไปสู่ทั้งทุคติ และสุคติ

4.กรรมไม่ดำไม่ขาว คือเหนือชั่วเหนือดี เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย นำไปสู่นิพพาน หรือความสิ้นธรรม

วัน อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา จึงเป็นโอกาสดีของทุกคน ไม่แยกว่าเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส จะทำกรรมใดขอให้โชคดีทำได้ และทำตลอดไป ตราบชั่วชีวิต

การทำกรรมขาว หรือกรรมไม่ดำไม่ขาว ผู้เขียนเห็นว่า "มรรคมีองค์แปด" ประเสริฐสุด เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดี ที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้น เป็นอิสระดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค

ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่อง "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ ในวันอาสาฬหบูชา นั่นแล


หน้า 7