Custom Search

Jul 11, 2009

สนทนาธรรมตามกาล


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐ๊ยรพงษ์ วรรณปก

มติชน

ภาพ/เรื่อง

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552




กาเลน ธมฺมสากจฺฉา แปลว่า การสนทนาธรรมตามกาล หมายถึง
คุยกันแต่เรื่องที่เป็นความถูกต้องดีงามในเวลาอันเหมาะสม
จุดประสงค์ของการสนทนาธรรมที่สำคัญ คือ เพื่อให้เกิดความรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้
แล้วนำเอาไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความดีงามแก่ตนและสังคม
คู่สนทนาพึงทำหน้าที่เอื้ออำนวยช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว
ดังบทกวีกล่าวเป็นหลักการไว้ว่า
ผู้พูดให้เร่งรู้ ข้อประสงค์จำนงหมาย
ผู้ฟังอย่าฟังดาย ให้จิตหมายกำหนดจำ

พระพุทธศาสนาเน้นการสนทนาธรรมมาก จะเห็นได้จากมีอุปัฏฐานศาลาไว้
เพื่อการนี้โดยเฉพาะ อุปัฏฐานศาลา แปลว่า หอฉัน ใช้เป็นที่ฉันข้าวและ
เป็นโรงสนทนาธรรมในตัว ถึงเวลาบ่ายๆ พระสงฆ์จะมาชุมนุมถกปัญหาธรรมกัน
เรื่องที่นำมาถกกัน มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานจนกระทั่งเรื่องละเอียดลึกซึ้ง
ที่เป็นปัญหาทางจริยธรรม ขอยกมาเป็นแซมเปิ้ลสักสองเรื่องสั้นๆ
(ยาวนักกระดาษไม่พอ) ดังนี้

ครั้งหนึ่ง ภิกษุณีชื่อ อุบลวรรณา ถูกอดีตแฟนสมัยยังเป็นคฤหัสถ์ตามมาทำมิดีมิร้าย
ก็ข่มขืนนั่นแหละหาใช่อะไรอื่นไม่ เหตุเกิดหลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้ว
เป็นที่รู้กันว่า ภิกษุณีเธอไม่ผิด

และเหตุการณ์นั้นไม่กระทบต่อพรหมจรรย์แต่อย่างใด
แต่พระที่เป็นปุถุชนนำเอามาถกกันจนได้ บางรูปสงสัยว่า
ภิกษุณีเธอมีเลือดเนื้อเช่นคนทั่วไป คงจะต้องมี "ฟีลลิ่ง" บ้างสิน่า
บางรูปว่า พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว ไม่ยินดีไม่มีความรู้สึกอย่างปุถุชนดอก
เถียงกันไม่ตก จนพระพุทธเจ้าเสด็จมาชี้แจงให้พวกเธอหายข้องใจ

อีกครั้งหนึ่ง พระเถระหลายรูป อาทิ พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระอนุรุทธ
คุยกันในป่าแห่งหนึ่ง พระสารีบุตรตั้งปัญหา "ป่าที่น่ารื่นรมย์นี้คนเช่นใดควรอยู่"
พระมหากัสสปะ (ผู้เคร่งครัดธุดงค์) ก็ยกเอาคุณสมบัติของตนมายืนยันว่า
ภิกษุที่เคร่งครัดธุดงค์ควรมาอยู่ พระสารีบุตร (ผู้มีปัญญามาก)
ก็ว่าควรที่พระที่มีปัญญามากๆ ควรมาอยู่ จะได้สนทนาธรรม...เมื่อตกลงกันไม่ได้
จึงพากันไปทูลขอคำแนะนำจากพระศาสดา พระองค์ตรัสว่า
ทรรศนะของสาวกแต่ละรูปมีส่วนถูก แต่ที่ถูกต้องมากกว่า คือ
"ป่าที่น่ารื่นรมย์ ควรที่ภิกษุปุถุชนธรรมดาผู้มุ่งฝึกฝนมาอยู่ปฏิบัติธรรม
เพื่อขจัดกิเลสมากกว่าคนที่หมดกิเลสแล้วจะมาอยู่"

พูดให้ชัดก็ว่า "คนที่พร้อมแล้ว" จะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่สำหรับคนที่ยังต้องพัฒนาตน
สิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เอื้อต่อการฝึกฝนตนสำคัญมาก
ถ้าได้อยู่ในที่ที่เหมาะก็จะก้าวหน้าในการฝึกฝน

ฟังพุทธวจนะตรงนี้แล้ว ได้แง่คิดสองอย่าง คือ
พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามคนด้อยโอกาสหรือล้าหลังเลย
กลับให้ความสำคัญและอุ้มชูยิ่งกว่าคนที่โอกาสดีอยู่แล้ว พร้อมอยู่แล้วเสียอีก
นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ทรงเน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (ปรโตโฆสะ) มาก
ถ้าใฝ่ดีด้วย อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีด้วยย่อมจะ "ไปโลด" ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม

ตรงกันข้าม ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หันไปไหนจะเจอแต่ทางตัน
เผลอๆ มลพิษนั้นอาจเปรอะเปื้อนไปถึงลูกเมียอีกด้วย

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า ผู้สนทนาธรรมที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 7 ประการ
ท่านผู้รู้ท่านนี้คือ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
ท่านเป็นนักเขียนหนังสือพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในปัจจุบัน
งานเขียนของท่านสำนวนกะทัดรัด น่าอ่าน น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ต้องการความสว่างทางธรรม ลองหาอ่านดู
เดี๋ยวจะหาว่ามีของดีแล้วไม่บอกกันบ้าง

คุณสมบัติของผู้สนทนาธรรม 7 ประการ คือ

1.ผู้สนทนาธรรมควรมีกิริยาสุภาพเรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม
ไม่พูดจาดังเกินหรือมีอาการสรวลเสเฮฮา
เดี๋ยวจะกลายเป็นเวทีลำตัด มิใช่วงสนทนาธรรม

2.ผู้สนทนาธรรมไม่ควรกล่าววาจา หรือแสดงอาการยกตนข่มท่าน
ไม่ใช่แบบคุยยกหางตัวเองไปด้วย ดูถูกสติปัญญาคู่สนทนา
เผลอๆ คงจบบทสนทนาด้วยกำปั้น

3.ไม่ควรกล่าวค้านพุทธพจน์ เวลาอ้างพุทธพจน์ไม่ควรบิดเบือนความจริง
ตรงไหนตรงกับความเห็นของตนก็บอกว่าถูก
ตรงไหนไม่ตรงกับความเห็นของตนกลับบอกว่าพระไตรปิฎกตรงนี้ผิด
อย่างนี้อันตรายมาก

4.ไม่ควรพอใจในถ้อยคำเป็นเหตุให้แตกร้าว ควรพอใจพูดแต่วาจา
อันเป็นทางให้กลมเกลียวกัน ไม่ใช่พูดออกมาแต่ละคำแต่ละประโยคกระเทือนใจ
ทั่ววงสนทนา คุยกันยังไม่จบเรื่อง วงแตกเสียแล้ว

5.ไม่ควรมุ่งชื่อเสียง หรือให้คนอื่นยอมรับว่าตนมีความรู้แตกฉาน
เข้าวงไหนก็สำแดงภูมิว่าข้าแน่ รู้ดีกว่าใครๆ อะไรทำนองนั้น

6.ไม่แสดงอาการโกรธหรือขัดใจเมื่อมีผู้ขัดแย้งโดยเหตุผล
พอใครพูดแย้งอะไรหน่อยโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
ไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากของตัวอย่างนี้ใช้ไม่ได้

7.ควรตั้งใจเสมอว่า สนทนาแต่ละครั้งเป็นการเพิ่มความรู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้
หรือที่รู้แล้วให้แจ่มกระจ่างยิ่งขึ้น

คุณสมบัติ 7 ประการที่ยกมานี้ เป็นของท่านอาจารย์วศิน
แต่ถ้อยคำผมเขียนเองตามสไตล์ของผม

ถ้าจะให้ผมสรุปของผมก็ได้ดังนี้ครับ ผู้สนทนาธรรมที่ดีนั้นต้องรู้จักฟัง
รู้จักให้ผู้อื่นฟัง ไม่ยกตนข่มท่าน กระหายที่จะเรียนรู้
จากคู่สนทนามิใช่ประเภท "ชาล้นถ้วย"

ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ท่านหนึ่งไปหาอาจารย์เซนรูปหนึ่ง
บอกว่าต้องการมา "สนทนาธรรม" กับท่าน
อาจารย์ยกกาน้ำชาออกมาตั้งต่อหน้ารินน้ำชาใส่ถ้วยจนล้นไม่หยุดรินสักที
จนศาสตราจารย์ดอกเตอร์ท่านนั้นท้วงว่า "ล้นแล้วครับๆ"
อาจารย์เซนจึงวางกาน้ำชา แล้วกล่าวเบาๆ ว่า

"เหมือนกับโยมนั่นแหละ สมองโยมเต็มไปด้วยทฤษฎี ความรู้สารพัด
แล้วเราจะสนทนาธรรมกันรู้เรื่องหรือ ถ้าโยมไม่ทำ "ถ้วย" ของโยมให้ว่างก่อน

ครับ สากัจจา (การสนทนา) เป็นวิธีหาความรู้และพัฒนาตนที่ดีอย่างหนึ่ง
แต่ถ้าคิดว่าตนรู้หมดทุกอย่างแล้ว ป่วยการสนทนาอะไรกับใคร
คนเช่นนี้เรียกว่า คน "ถ้วยชาคว่ำ" เลวร้ายยิ่งกว่า "ชาล้นถ้วย" เสียอีก
เพราะชาล้นถ้วยนั้น ยังมีน้ำชาอยู่เต็มถ้วย
แต่ถ้วยที่คว่ำลงไม่มีน้ำชาหลงเหลือแม้หยดเดียว

หน้า 6