Custom Search

Jul 4, 2009

ความเป็นคนว่าง่าย


คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552



ความ เป็นคนว่าง่ายตรงกับภาษาบาลีว่า โสวจสฺสตา เห็นจะตรงกับคำไทยว่า ความเป็นคน "ว่านอนสอนง่าย" นั่นแหละครับ คนชนิดนี้เป็นคนน่ารัก เมื่อคนอื่นที่ปรารถนาดีแนะนำสั่งสอนอะไรให้ ก็ยินดีรับฟังและปฏิบัติตาม

ใน คัมภีร์อรรถกถา ท่านพูดถึงลักษณะคนว่านอนสอนง่ายไว้ 11 ประการ ผู้อ่านลองสำรวจดูก็ได้ว่า ตัวท่านเองมีครบหรือไม่ ใครมีเกินครึ่งแสดงว่า "สอบได้" ใครมีครบทั้ง 11 ประการเอาเกรดเอไปเลย ดังนี้ครับ

1.ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกสอน ถูกตักเตือน คือไม่แก้ตัว บิดพลิ้ว ยอมรับฟังโดยเคารพ (อวิกฺเขโป)

2.ไม่นิ่งเฉย คือฟังแล้วไม่เอาหูทวนลมเงียบเฉย ไม่มีปฏิกิริยาอะไร มิใช่อย่างนั้น แต่ฟังแล้วยินดีทำตามด้วย (อตุณฺหิภูโต)

3. ไม่เพ่งคุณหรือโทษผู้กล่าวสอน คือไม่คอยจับผิด ใครแนะอะไรก็ไม่ย้อนเขาว่า ตัวล่ะทำได้หรือเปล่า มันก็พอกันแหละว้า อะไรทำนองนั้น (คุณโทสอจินฺตโน)

4.เอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง คือ ดีใจดังหนึ่งมีคนยื่นแก้วมณีหรือชี้ขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าให้ (อติวิยอาทโร)

5.เคารพต่อผู้กล่าวสอนและต่อคำสอนอย่างยิ่ง (อติวิยคารโว)

6.มีความถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง (อติวิยนีจมโน)

7.เปล่งวาจาว่า สาธุ สาธุ ถอดเป็นคำไทยแท้คือ กล่าวขอบคุณอย่างจริงใจ เมื่อมีผู้มาแนะนำตักเตือน (สาธูติวจนกโร)

8.ไม่ถือผิดไปจากความถูกต้องอย่างน่าเกลียด (อปฺปฏิกูลคฺคาโห)

9.ไม่ยินดีในการขัดคอ คือ พอเขาว่ากล่าวอะไรก็แย้งทันที ไม่รับฟัง (อวิปฺปจฺจนึกสาโต)

10.รับฟังโอวาทอย่างเคารพพร้อมปวารณาตัวให้เขาว่ากล่าวตักเตือนได้ (ปทกฺขิณคฺคาหี)

11.อดทน คือ ไม่โกรธตอบผู้ว่ากล่าวตักเตือน แม้บางครั้งจะถูกต่อว่าอย่างแรงก็ตาม (ขโม)

คน ว่าง่ายมี 2 ประเภท คือ ประเภทน่ารักน่าสรรเสริญกับประเภทน่าตำหนิ คนที่เห็นแก่หลักการ เห็นแก่ความถูกต้องดีงาม ไม่งกเอาแต่ได้ เป็นคนว่าง่ายน่ารัก คนที่ตรงข้ามจากนี้เป็นประเภทที่น่าตำหนิ

เด็กๆ หรือคนที่มีวัยวุฒิน้อยมักว่าง่าย เพราะเกรงหรือกลัวผู้ใหญ่ ยิ่งข้าราชการชั้นผู้น้อยแล้วมักว่าง่ายกันส่วนมากเวลาเจ้านายพูดอะไร เห็นยืนกุม...(อะไรก็เติมเอา) น้อมรับ "ครับๆ" อย่างเดียว พูดอย่างอื่นไม่เป็น

แต่ผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ (คนแก่นั่นแหละ พูดไปทำไมให้ฟังยาก) มักไม่ค่อยว่าง่ายนัก เพราะถือว่าตนเกิดก่อน "อาบน้ำร้อนมาก่อน" บางทีทั้งๆ ที่ตนผิดก็ไม่ยอมรับ กลัวเสียหน้า "ผู้ใหญ่เดินไปโดนกระโถนคว่ำ ผู้ใหญ่ทำอย่าเคืองเรื่องผู้ใหญ่ ถ้าเด็กพลั้งนั่งด่าจาระไน จะเดินไยไม่แลให้แน่นอน" ดังคำกลอนว่าไว้นั่นแหละครับ

พระพุทธเจ้าทรงทราบทิฐิมานะของคนแก่ เป็นอย่างดี จึงตรัสไว้เป็น "สูตร" ว่า คนแก่นั้นมีข้อเสียหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นคนว่ายาก ดังนี้ครับ

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หลวงตาที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 อย่างหายากคือ หลวงตาว่าง่ายหายาก, หลวงตารับฟังโอวาทด้วยดีหายาก, หลวงตารับฟังโอวาทโดยเคารพหายาก, หลวงตาคงแก่เรียนหายาก, หลวงตาที่แสดงธรรมเก่งหายาก"

เพราะฉะนั้น เมื่อพระสารีบุตรพาศิษย์แก่งั่กรูปหนึ่งชื่อ ราธะเข้าเฝ้า กราบทูลว่า หลวงตาราธะว่านอนสอนง่าย กล่าวตักเตือนอะไรก็รับฟัง และทำตามโดยเคารพ ไม่ถือว่าตนอายุมากกว่าแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าทรงชมเชยและแนะให้ภิกษุอื่นๆ เอาเป็นแบบอย่าง

ราธะนั้นเป็นพราหมณ์แก่ขัดสน ไปอาศัยพระอยู่ อยากบวชแต่ไม่มีใครบวชให้ วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสงฆ์ว่า มีใครรำลึกถึงอุปการะของพราหมณ์แก่คนนี้ได้บ้าง พระสงฆ์ทั้งหมดเงียบกริบ มีพระสารีบุตรรูปเดียวกราบทูลว่าท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่งท่านไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ พราหมณ์ใส่บาตรหนึ่งทัพพี พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราธะ

หลังจากบวชแล้ว ราธะเป็นคนว่านอนสอนง่าย พระเถระสั่งสอนอะไรก็ยินดีทำตาม ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตเมื่อเรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องให้เป็นแบบอย่างดังกล่าวข้างต้น

ทำไมความเป็นคนว่า ง่ายจึงทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต คำถามนี้ตอบไม่ยาก คนที่ว่าง่ายพร้อมที่จะรับฟังโดยเคารพ พร้อมจะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน เมื่อมีใครมาชี้ข้อบกพร่องจึงดีใจดังหนึ่งมีคนมาบอกขุมทรัพย์ให้ คนเช่นนี้ใครก็รัก ใครก็อยากสั่งสอนแนะนำ ต่อให้ต่ำต้อยด้อยฐานะเพียงใดในเบื้องต้น ในที่สุดก็จะก้าวหน้าในอาชีพการงานและประสบความสุขความสำเร็จโดยมิต้องสงสัย

โปรด ทราบด้วยว่า คนว่าง่ายกับคนหัวอ่อนผิดกัน คนที่ทำตามเขาทุกอย่างแม้กระทั่งในเรื่องผิดศีลธรรม อย่างนี้เรียกว่าคนหัวอ่อน คนว่าง่ายจะยินยอมเชื่อฟังเฉพาะในเรื่องที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น สิ่งใดทุจริตผิดกฎหมายผิดศีลธรรมจะไม่ยอมก้มหัวให้เป็นอันขาด

จำ ง่ายๆ ว่า "ต่อสิ่งที่ดีงาม ว่าง่าย ต่อสิ่งชั่วร้าย ไม่ยินยอม" ใครทำได้ดังนี้ ถึงชีวิตจะไม่ก้าวโลดถึงระดับผู้นำประเทศ ก็จงภูมิใจเถอะว่า ได้เป็นผู้นำในทางที่ดี ไม่เสียศักดิ์ศรีความเป็นคน

หน้า 6