Custom Search

Jul 2, 2009

ความอดทน


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552




ความอดทนตรงกับภาษาพระว่า ขันติ
พระอรรถกถาจารย์
กับโบราณาจารย์ไทย
อธิบายแตกต่างกันนิดหน่อย
ซึ่งก็ "เข้าท่า" และ "เข้าที" ทั้งสองนัยโบราณาจารย์ไทย
ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใคร ได้อธิบายไว้ว่า
ขันติ หรือความอดทนนั้น มีอยู่ 3 ลักษณะ

คือทนลำบาก ได้แก่ ทนทุกขเวทนาความเจ็บปวดต่างๆ ได้ ไม่บ่น ไม่ร้อง
เช่น ป่วยเป็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ทนเอาไว้ ไม่สำออยครางอูยๆ จะตายให้ได้
หรือเจ็บมากๆ ก็พยายามอดกลั้นเอาไว้ทนตรากตรำ ได้แก่
ทนสู้ทำงานหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อย่างตรากตรำ
หนักเอาเบาสู้ไม่ท้อถอย ไม่ใช่คนประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
ทำอะไรจับจดทนเจ็บใจ ได้แก่ ทนต่อการว่าร้ายด่าทอจากปากคนอื่น
ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ใครเขาจะนินทาว่าร้าย หรือด่าเสียดสี
อย่างไรก็สงบใจไว้ไม่โต้ตอบ
จะทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเปล่าๆในทางพระพุทธศาสนานั้น
พระอรรถกถาจารย์ท่านแยกความอดทนไว้ 2 ประการ
คืออดกลั้น หมายถึงเวลาที่ได้รับความเจ็บปวดทางกายก็ดี
เวลาตรากตรำทำงานหนักก็ดี เวลามีคนมาว่าร้ายด่าทอก็ดี
พยายามอดกลั้นไว้ ไม่แสดงออกถึงความอ่อนแอ
เฉพาะอย่างยิ่งเวลาใครมาฉอดๆ ต่อหน้าก็เอาหูทวนลมเสีย
นึกถึงเพลงของเบิร์ดเข้าไว้ "ลิ้นกับฟันพบกันเมื่อไหร่ก็เรื่องใหญ่"
และโอกาสที่จะ "กัด" หรือ "ฟัด" กันก็คงไม่เกิดขึ้น
อย่างนี้เรียกว่า อดกลั้น (อธิวาสนะขันติ)อดทน
สูงขึ้นไปกว่านั้น "อดกลั้น" นั้นเรายังเดือดอยู่ในใจแต่สู้ข่มไว้ไม่แสดงออกมา
แต่ "อดทน" หมายถึง ไม่โกรธเลย ใครว่าอย่างไรก็เฉยไม่รู้สึกอะไร
เป็นความเข้มแข็งของจิตที่ฝึกฝนมาจนทนทานแกร่งกล้าแล้ว (ตีติกขาขันติ)
สรุปง่ายๆ คือ ความอดกลั้น นั้นใจยังโกรธอยู่แต่ไม่แสดงออก
ส่วนความอดทนนั้น จิตใจสงบเย็น ไม่โกรธเลย
ขอยกตัวอย่างขันติของพระอานนท์กับของพระพุทธเจ้า
มาเปรียบเทียบเพื่อความกระจ่าง
คนอันธพาลพวกหนึ่งได้รับสินจ้างให้มาด่าพระพุทธเจ้า
พระองค์เสด็จไปไหน ไอ้พวกเวรห้าร้อยก็ตามไปด่าเสียๆ หายๆ
พระอานนท์เดือดปุดๆ อยู่ในใจ แต่สู้อดกลั้นไว้ไม่ด่าตอบ
ส่วนพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปดังหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พระอานนท์กราบทูลให้หนีไปที่อื่น
พระพุทธองค์ตรัสถามว่าจะหนีไปไหน ก็กราบทูลว่าไปเมืองอื่น
เมื่อทรงย้อนถามว่า ถ้าคนเมืองนั้นด่าอีกล่ะจะไปไหนอีก "ก็ไปเมืองอื่นอีก"
พระพุทธอนุชากราบทูล พระองค์ตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้น เราคงหนีกันไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะโลกนี้มีคนชั่วมาก ไปไหนก็ถูกด่าอยู่ดี อยู่ที่นี่แหละ มันเหนื่อยก็หยุดด่าเอง"
อย่างนี้แสดงว่า พระอานนท์มีเพียง "ความอดกลั้น"
พระพุทธองค์มีความ "อดทน" คนเช่นนี้อย่าว่าแต่ไม่โกรธคนด่าเลย
กลับสงสารเห็นใจเขาเสียด้วยซ้ำความอดกลั้น
เป็นเรื่องของคนที่มีกิเลสหนาแน่น มีขอบเขตจำกัด
กลั้นไว้นานเข้าอาจระเบิดออกมาเมื่อใดก็ได้
ส่วนความอดทนชนิดที่เรียกว่า "ตีติกขาขันติ" นั้น
เป็นคุณสมบัติของผู้มีกิเลสเบาบางหรือหมดกิเลสแล้ว ขันติชนิดนี้
พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น "ยอดตบะ"
ดังตรัสสอนไว้ในโอวาทปาติโมกข์นั้นแลพระอริยเจ้าทุกองค์
หรือกกัลยาณปุถุชน (ปุถุชนชั้นดี) มีขันติระดับนี้ทั้งนั้น
ยกตัวอย่างให้ดูสักเรื่อง มีพราหมณ์คนหนึ่งได้ยินเขาพูดกันว่า
พระสารีบุตรเป็นผู้มีความอดทนสูงมาก ไม่โกรธใคร
แกไม่เชื่อจึงอยากทดลองดูวันหนึ่งพระเถระกำลังออกบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี
พราหมณ์คนนี้แกย่องไปข้างหลังไม่ให้พระเถระท่านรู้ตัว
พอได้จังหวะเหมาะก็ซัดเข้าเต็มรักจะอะไรเสียอีก
หมัดขวามรณะของแกน่ะสิครับ ซัดเข้ากลางหลังพระเถระ
ท่านไม่ทันระวังตัว เซแซดๆ ไปข้างหน้า พอตั้งตัวได้ก็เดินต่อไป
ไม่หันมาดูด้วยซ้ำว่าใครทำอะไรท่าน ถ้าเป็นปุถุชนคนกิเลสหนาน่ะเหรอครับ
พระก็พระเถอะ ไม่ช่พระอิฐพระปูนนี่หว่า คงได้ถกสบงวางมวยกับญาติธรรม
ผู้ไม่ประสงค์ดีคนนี้ไปแล้ว แต่บังเอิญว่าเรื่องนี้เกิดกับพระอรหันต์จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้น
พราหมณ์ผู้ชอบลองของพอเห็นพระเถระไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ก็ให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจเป็นกำลัง
วิ่งตามไปหมอบแทบเท้าขอขมา พระเถระก็ยกโทษให้อ่านเรื่องนี้แล้วบางท่านอาจคิดว่า
เป็นนิทาน "หลอกเด็ก" มีอย่างหรือถูกเขาต่อหัวคะมำยังเดินเฉย
เป็นเราน่ะหรือคงได้รู้ดำรู้แดงกันแล้ว แค่ขับรถแซงกันเท่านั้นยังฆ่ากันตาย
เพราะไร้ความอดทนเลย ที่จริงคนธรรมดาที่กิเลสเบาบางหน่อยมีขันติชนิดนี้ได้ครับ
มิใช่เรื่องเหลือเชื่อแต่อย่างใดขันติกับความไม่โกรธเป็นคุณธรรมเกื้อหนุนกัน
คนจะมีขันติได้ต้องเป็นคนไม่มักโกรธ คนที่ชอบโมโหฉุนเฉียวไม่มีทางมีขันติได้
การฝึกใจให้มีขันติมิใช่เรื่องยาก เพียงหัดเป็นคนไม่โกรธใคร
หัดหนักแน่นไว้เท่านั้นก็มีขันติได้ ในแง่หลักวิชาราคะมีโทษน้อย ละได้ช้า
โทสะมีโทษมาก ละได้เร็ว โมหะมีโทษมาก ละได้ช้าโทสะ (ความโกรธ)
มันมาแรงตึงๆ จริง แต่ละได้ง่าย คนขี้โมโหฉุนเฉียวลองปฏิบัติธรรม
ฝึกสมาธิสักพัก จะกลายเป็นคนหนักแน่น ใจเย็น สุขุม
ส่วนราคะนั้น
ระดับพระอนาคามีจึงจะละได้ โมหะ ต้องพระอรหันต์จึงจะละได้
ใครก็ตามที่คุยว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับกามารมณ์ แต่พอใครแหย่เข้าหน่อยโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
อย่างนี้เขาเรียกว่าคนโกหก เป็นนักปฏิบัติธรรมจอมปลอม
หลอกได้แต่คนโง่เท่านั้น คนฉลาดเขารู้
หน้า 6