Custom Search

Jul 18, 2009

เชื่อกรรมอย่างไรไม่ให้ตกต่ำ



คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
พระไพศาล วิสาโล
เครือข่ายพุทธิกา
http://budnet.org

มติชน

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552




แพทย์ผู้หนึ่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เยียวยารักษาเพียงใดก็ไม่เป็นผล
อาการทรุดหนักจนต้องใช้เครื่องช่วงชีวิต มิตรสหายหลายคน
จึงหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
และผู้มีพลังจิต ล่ำลือว่าที่ไหนมีคนแก้กรรมใด ก็เข้าไปหาหมด
คำตอบที่ได้รับจาก "ผู้รู้" คนหนึ่งก็คือ สาเหตุที่หมอท่านนี้ป่วยหนักก็
เพราะไปริเริ่มและผลักดันให้มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทั่วประเทศ
ทำให้คนไข้จำนวนมากที่ถึงคราวจะต้องตายเพราะทำกรรมเลวในอดีต
กลับมีชีวิตรอด เจ้ากรรมนายเวรจึงไม่พอใจ ผลร้ายจึงมาตกที่หมอท่านนี้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง หมอท่านนี้ต้องชดใช้กรรม
ที่ไปมีส่วนช่วยให้คนที่สมควรตายกลับไม่ตาย

แม้จะอ้างอิงกฎแห่งกรรมที่คนไทยคุ้นหูมานาน
แต่คำอธิบายดังกล่าวมีนัยยะแตกต่างจากที่เคยได้ยินกันมา
ที่น่าวิตกก็คือมีคนเชื่อคำอธิบายแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เราเคยได้ยินมาว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
ใครที่เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น ย่อมได้รับผลร้ายจากกรรมนั้น
แต่คำอธิบายข้างต้นกำลังบอกว่า ทำดีอาจได้ชั่ว
การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากนั้น
สามารถก่อผลร้ายต่อตนเองจนถึงตายได้
ถ้าคนไทยเชื่อคำอธิบายแบบนี้กันแพร่
หลายเราคงนึกได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรตามมา
คนไทยจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น
มีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยลง
ผู้คนจะพากันนิ่งดูดายเมื่อเห็นคนทุกข์ยากต่อหน้าต่อตา

คำอธิบายจาก "ผู้รู้" ข้างต้นให้เหตุผลว่า
คนป่วยคนเจ็บทั้งหลายสมควรรับเคราะห์ (หรือวิบาก)
จากกรรมที่ตนก่อขึ้น การไปช่วยเขาให้รอดตาย
คือการไปแทรกแซงกฎแห่งกรรม
ดังนั้นผู้ช่วยเหลือจึงต้องรับเคราะห์จากเจ้ากรรมนายเวรแทน
ถ้าเชื่อคำอธิบายเช่นนี้ ชาวพุทธก็ไม่ควรเป็นหมอหรือพยาบาล
เพราะนอกจากจะเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรมแล้ว
ยังทำให้ตนเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากเจ้ากรรมนายเวร(ของผู้ป่วย)
ก็ขนาดไม่ได้ช่วยชีวิตคนป่วยโดยตรง
แค่ช่วยโดยอ้อมด้วยการผลักดันโครงการ 30 บาทยังได้รับเคราะห์ถึงตาย
หากช่วยชีวิตคนป่วยโดยตรงวันแล้ววันเล่านานเป็นปีๆ
แล้วจะแคล้วคลาดจากมหันตภัยได้อย่างไร

ที่จริงไม่ใช่แต่อาชีพหมอและพยาบาลเท่านั้น
อาชีพอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเพื่อนมนุษย์จากความทุกข์ยาก
เช่น ความยากจน ความพิการ หรือช่วยเด็กที่ถูกทิ้ง
ก็ไม่สมควรทำทั้งสิ้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือไปแทรกแซงกฎแห่งกรรม
หรือขัดขวางไม่ให้วิบากกรรมตกถึงคนเหล่านั้นเต็มๆ
ในทำนองเดียวกันเมื่อเห็นคนจมน้ำ หรือถูกรถชนเจียนตาย
ก็ไม่ควรช่วยเหลือเขา เพราะจะไปทำให้เจ้ากรรมนายเวรขัดเคืองหรือพิโรธ
ทางที่ถูกคือควรปล่อยให้เขาตายไป ถือว่าเป็น "กรรมของสัตว์"
มองให้ใกล้ตัวเข้ามา หากพ่อแม่ญาติพี่น้องลูกหลานหรือมิตรสหายป่วยหนัก
เราก็ไม่สมควรไปช่วยเช่นกัน เพราะ "กรรมใครกรรมมัน"

ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าเมืองไทยจะมีสภาพอย่างไร
หากชาวพุทธเชื่อกฎแห่งกรรมแบบนี้
อันที่จริงกฎแห่งกรรมนั้นน่าจะช่วยให้เราขวนขวายทำความดี
หรือใฝ่บุญกลัวบาป เพราะหากทำความชั่วหรือ
ทำบาปแล้วจะส่งผลเสียต่อตนเอง
แต่ทุกวันนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนมากเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม
จึงกลายเป็นว่า นอกจากจะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร
เพราะเข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย
ล้วนเป็นผลจากกรรมเก่าแต่ชาติก่อนแล้ว
ยังไม่คิดที่จะทำความดีหรือช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก
เพราะกลัวว่าจะไปแทรกแซงกฎแห่งกรรมหรือขัดขวางเจ้ากรรมนายเวร
แต่เราลืมไปแล้วหรือว่าการปล่อยให้เพื่อนมนุษย์(หรือสัตว์)
ประสบทุกข์ต่อหน้าต่อตาทั้งๆ ที่เราสามารถจะช่วยได้
แท้ที่จริงก็คือการทำบาปหรือสร้างอกุศลให้แก่ตนเอง
ในขณะที่เราสำคัญผิดว่ากำลังปล่อยให้เขาชดใช้กรรมเก่านั้น
ตัวเราเองกำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นบาปไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

จะว่าไปแล้วทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยกลัวบาปกรรมน้อยกว่ากลัว
"เจ้ากรรมนายเวร" เสียอีก เจ้ากรรมนายเวรในความคิดของเขา
เป็นเสมือนสิ่งลี้ลับที่มีพลานุภาพ สามารถทำให้เกิดเคราะห์ร้ายได้
หากเทวดาคือสิ่งที่สามารถดลบันดาลให้เราประสบสิ่งที่พึงปรารถนาในชีวิต
เจ้ากรรมนายเวรก็คือสิ่งที่มีอำนาจในทางตรงข้าม
แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าเจ้ากรรมนายเวรคือผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันในชาติ
ก่อน "กรรม"ในที่นี้หมายถึง "บาปกรรม" หรือ "กรรมชั่ว"
ในฝ่ายเราที่กระทำต่อเขาในอดีตชาติ
ความเคียดแค้นพยาบาทของเจ้ากรรมนายเวรอาจส่งผลร้ายตามมาถึงเราในชาตินี้ได้
เจ้ากรรมนายเวรจะมีจริงหรือไม่ ยากที่เราจะรู้ได้
แต่อย่างน้อยความเชื่อเช่นนี้ทำให้เราไม่กล้าที่จะเบียดเบียนหรือทำร้ายใคร
ด้วยกลัวว่าเขาจะกลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราในชาตินี้หรือชาติหน้า
เวลาทำบุญก็อดไม่ได้ที่จะอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากจะทำ

แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนไม่ได้กลัวเจ้ากรรมนายเวรของตนเท่านั้น
หากยังกลัวเจ้ากรรมนายเวรของคนอื่นด้วย
จนกระทั่งไม่กล้าไปทำดีกับใคร ด้วยคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรของเขาจะโกรธแค้นเอา
ภาพของเจ้ากรรมนายเวรทุกวันนี้จึงไม่ต่างจาก
"อำนาจมืด"ที่กำลังไล่ล่าเล่นงานใครสักคนด้วยความอาฆาตพยาบาท
ดังนั้นเราจึงไม่สมควรไปช่วยเขาเพราะจะโดนอำนาจมืดนั้นเล่นงานไปด้วย
ทำนองเดียวกับที่เราไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือ
คนที่กำลังถูกนักเลงรุมทำร้ายเพราะเราอาจโดนลูกหลงไปด้วย

นี้ ไม่ใช่กฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
เพราะการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น หากทำด้วยเมตตาจิต
ย่อมเป็นกรรมดี แต่จะช่วยได้มากหรือน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ มากมาย
(ซึ่งอาจรวมถึงกรรมเก่าด้วยแต่ไม่ใช่แค่นั้น
ต่อเมื่อทำอะไรไม่ได้จึงค่อยวางใจเป็นอุเบกขา)
การกระทำเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรม
แต่เป็นการสร้างกรรมใหม่ซึ่งอาจผ่อนร้ายให้กลายเป็นดีหรือไม่ก็ได้
ขึ้นอยู่กับกำลังของกรรมใหม่นั้น รวมถึงกรรมเก่าที่เกี่ยวข้อง
พุทธศาสนาเห็นว่าเราควรรู้จักกฎแห่งกรรม
มิใช่เพื่อปล่อยตัวปล่อยใจประหนึ่งสวะที่ลอยไปตามกระแสน้ำ
(หรือ "แล้วแต่บุญแต่กรรม")
แต่เพื่อใช้กฎนี้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงาม
เช่นเดียวกับที่เราต้องรู้จักธรรมชาติของกระแสน้ำและใช้มันให้เป็นประโยชน์
ในการล่องเรือให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่เกยตื้นหรือชนเกาะแก่งเสียก่อน
การคัดท้ายหรือคุมหางเสือเพื่อให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการ
มิใช่การแทรกแซงหรือฝืนกระแสน้ำฉันใด
การกำกับและประคับประคองชีวิตจิตใจให้ทำแต่กรรมดีและมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์
ก็ไม่ถือว่าแทรกแซงกระแสกรรมฉันนั้น

กฎแห่งกรรมหากเข้าใจถูกต้องย่อมส่งเสริมให้คนทำดี มีน้ำใจต่อกัน
แต่หากเข้าใจคลาดเคลื่อนก็สามารถส่งเสริมความเห็นแก่ตัวได้
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การเข้าใจกฎแห่งกรรมในแง่ดังกล่าวเกิดขึ้น
ในยุคที่ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน ชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา
การมีค่านิยมดังกล่าวยืนพื้นอยู่ก่อนแล้ว
(จะเป็นเพราะอิทธิพลของลัทธิทุนนิยมหรือบริโภคนิยมก็แล้วแต่)
ทำให้เราตีความกฎแห่งกรรมไปในทางที่สนับสนุนความเห็นแก่ตัว
จนพร้อมจะใจจืดใจดำต่อเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์โลกที่ทุกข์ยากได้ไม่ยาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึง คือความเข้าใจว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้น
เป็นผลมาจากอำนาจของเจ้ากรรมนายเวร
รากเหง้าของความคิดนี้ก็คือความเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้น
เป็นเพราะกรรมในอดีตชาติ พุทธศาสนายอมรับกรรมเก่าในอดีตชาติก็จริง
แต่ก็ไม่ถึงกับเหมารวมว่าสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังประสบอยู่
ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน
ตรงกันข้ามพระพุทธองค์ถึงกับตรัสอย่างชัดเจนว่า 1 ใน 3
ของลัทธินอกพุทธศาสนาคือความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรมเก่า

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราเป็นไปตามกฎแห่งเหตุและผลก็จริง
แต่กฎแห่งเหตุและผลนั้นไม่ได้หมายถึงกฎแห่งกรรมอย่างเดียว
ยังมีกฎอื่นๆ อีกที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
เช่น พีชนิยาม (กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์หรือชีววิทยา) และอุตุนิยาม
(กฎเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและดินฟ้าอากาศ) เป็นต้น
ความเจ็บป่วยจึงไม่ได้เป็นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว
แต่ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย
ดังพระสารีบุตรเคยจำแนกว่า สมุฏฐานของโรคนั้นมีมากมาย
อาทิ ดี เสมหะ ลม ฤดูแปรปรวน การบริหารไม่สม่ำเสมอ
ความเพียรเกินกำลัง ผลกรรม ความหนาว
ความร้อน ความหิว ความกระหาย ฯลฯ

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีความคิดเกี่ยวกับกรรมเก่าอย่างสุดโต่ง
หากไม่อยู่ในฝ่ายแรกคือปฏิเสธกรรมเก่าอย่างสิ้นเชิง
ก็อยู่ในฝ่ายที่สองคือ เชื่อแต่กรรมเก่า จนมองข้ามกรรมปัจจุบัน
ปักใจเชื่อว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกรรมเก่า
คนกลุ่มหลังนี้หากไม่งอมืองอเท้าก้มหน้า "รับกรรม"
ก็คิดแต่จะ "แก้กรรม" สถานเดียว
แต่ไม่ขวนขวายที่จะสร้างกรรมใหม่ที่ดีงามขึ้นมา
หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ เช่น
เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต
หรือกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท
เร่งทำความดีงามขณะที่ยังมีเวลาและกำลังวังชาอยู่

ข้อที่พึงตระหนักก็คือ ผลของกรรมหรือกรรมวิบากนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
เพราะนอกจากกรรมจะมีหลายชนิด
(เช่น มีความแรงในการให้ผลต่างกัน เวลาให้ผลก็ต่างกัน)แล้ว
คนแต่ละคนยังทำกรรมมากมายหลายอย่างในเวลาที่ต่างกัน
(ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน) ดังนั้นจึงยากที่จะบอกได้ว่า
เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องได้รับผลอย่างนี้ๆ
ในเวลานั้นๆ หรือสาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะทำกรรมอย่างนั้น ๆ
เมื่อนั้นเมื่อนี้ ดังพระพุทธองค์เคยตรัสว่า
คนที่มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือผิดศีล ทั้งยังเป็นมิจฉาทิฐิ
เมื่อตายแล้วใช่ว่าจะไปนรกสถานเดียว ที่ไปสวรรค์ก็มี
เพราะเหตุ 3 ประการคือ เคยทำกรรมดีไว้ (ในชาติ) ก่อน
หรือทำความดีภายหลัง หรือมีสัมมาทิฏฐิในเวลาจะตาย
ในทำนองเดียวกันคนที่ไม่ผิดศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ ตายแล้วไปนรกก็มี
เพราะ เคยทำบาปกรรมไว้(ในชาติ)ก่อน หรือทำบาปกรรมในภายหลัง
หรือมีมิจฉาทิฏฐิในเวลาตาย

ด้วยเหตุนี้จึงมีแต่เดียรถีย์อย่างนิครนถ์นาฏบุตรเท่านั้นที่ประกาศแบบ "ฟันธง" ว่า
"ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย
ตกนรก ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก
ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก"

เนื่องจากกระบวนการให้ผลของกรรม
เป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนมาก
จึงยากที่จะคิดหรือ
แยกแยะให้เห็นแจ่มแจ้งว่าอันใดเป็นผลของกรรมใด
พระพุทธองค์จึงตรัสว่ากรรมวิบากนั้นเป็น "อจินไตย"
กล่าวคือเป็นสิ่งไม่พึงคิด เพราะพ้นวิสัยของความคิด ต่อเมื่อบรรลุธรรมขั้นสูง
มีกรรมวิปากญาณดังพระพุทธองค์ จึงสามารถล่วงรู้ผลของกรรมได้

ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่บอกว่าตนสามารถหยั่งรู้ได้ว่าที่ใครเป็นอย่างนี้ๆ
เพราะทำกรรมอย่างนั้นๆ ในชาติที่แล้ว
จึงสมควรที่จะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ารู้จริงแน่หรือ
ยิ่งถ้าบอกว่ารู้วิธี "แก้กรรม" ด้วยแล้ว
ก็แสดงว่าเขากำลังสอนลัทธินอกพุทธศาสนา เพราะกรรมในอดีตนั้น
ไม่มีใครสามารถแก้ได้ มีแต่บรรเทาผลกรรมด้วยการทำกรรมดีในปัจจุบัน
หรือนำผลกรรมนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม
คือเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำความดี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อ "ใช้กรรม" เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นคือ "พัฒนากรรม"
ได้แก่การสร้างกรรมใหม่ที่เป็นกุศลอย่างไม่หยุดหย่อน
ตราบใดที่ยังไม่หมดลม เราก็ยังสามารถสร้างกรรมใหม่ที่ดีงามได้เสมอ
แม้ในยามป่วยไข้ ถึงจะทำประโยชน์ท่านได้ไม่เต็มที่
แต่ก็ยังสามารถทำประโยชน์ตนได้ อย่างน้อยก็ด้วยการน้อมใจเป็นกุศล
เจริญเมตตาจิต ใคร่ครวญธรรมจากความเจ็บป่วย
หรือปล่อยวางความยึดติดถือมั่นทั้งปวง

กฎแห่งกรรมนั้น หากเข้าใจถูกต้อง ชีวิตก็มีแต่ความเจริญงอกงาม
แต่หากเข้าใจผิดพลาดแล้ว ไม่เพียงจะนำพาชีวิต
สู่ความเสื่อมถอยเท่านั้นหากยังฉุดรั้งสังคมให้ตกต่ำลงด้วย


หน้า 6