Custom Search

Jul 22, 2009

เรียนรู้จาก"วันรุ่งของพรุ่งนี้"


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


ผมได้อ่านหนังสือทรงคุณค่าชุดหนึ่งที่เพิ่งวางตลาดเมื่อเร็วๆ นี้
อยากแนะนำให้เด็กวัยรุ่นและผู้เริ่มเป็นผู้ใหญ่ได้อ่าน
หนังสือชุดนี้ผลิตโดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา
เป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างยิ่ง

จนอาจมีความสับสนในชีวิต

ร้าน "นายอินทร์" ของอมรินทร์พริ้นติ้งขายหนังสือ 3 เล่ม
รวมกันเป็นชุดมีชื่อว่า "ใกล้ใจ" เขียนโดย รศ.ประทุมพร วัชรเสถียร

("หอมกลิ่นกรุงเทพ") คุณทมยันตี โปษยานนท์ ("กระจก (ไม่) ตกยุค")
และ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ ("วันรุ่งของพรุ่งนี้")
ทั้งหมดมุ่งเสนอแนวคิดในการดำเนินชีวิตโดยนำประสบการณ์

และมุมมองของตนเองที่ต่างมีชีวิตเกิน 60 ปี
มาประมวลเป็นข้อคิดให้แก่คนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจ

ในโอกาสแรกขอนำ "วันรุ่งของพรุ่งนี้" ของ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ หรือ "ครูแอ๋ว"
อันเป็นที่รักของศิษย์การละครอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และศิษย์ในวงการบันเทิงจำนวนมากมาเล่าสู่กันฟังก่อน

ผมเป็นเพื่อน "ครูแอ๋ว" มาครบ 52 ปี เมื่อเร็วๆ นี้
รู้ว่าเธอมีความสามารถเป็นเลิศในการเขียน
และในทุกเรื่องที่เธอทำ

เมื่อได้อ่านเล่มนี้แล้วอยากหมุนเวลา
กลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นเพื่อจะได้มีโอกาส
อ่านสิ่งที่เธอเขียน

"ครูแอ๋ว" สอนเด็กเรื่อง "รักอย่างไร" ดังนี้

"...ถ้าอยากเป็นที่รัก ก็ต้องรู้จักให้ความรักกับคนอื่นก่อน

ถ้าจะรักให้เป็น ต้องตัดความคาดหวังออกไปให้มากที่สุด
อย่าคาดหวังว่าเขาจะต้องรักตอบ เขาจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ให้เรา
จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และจะต้องเป็นของเราคนเดียว อันนี้ทุกข์แน่
เพราะรักแบบหวังผลลัพธ์ที่ถูกใจเรา อย่าไปกำหนดอะไรที่เราควบคุมไม่ได้

คนที่เราควบคุมได้และรู้จักดีที่สุดคือตัวเราเอง
เราก็ยังจัดการไม่ได้ง่ายๆ เลย


ทำความรู้จักและเข้าใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ชอบไม่ชอบอะไร
ข้อดีข้อเด่นข้อด้อยคืออะไร แล้วรับเขาอย่างที่เขาเป็นจริงๆ รู้ข้อบกพร่องของเขา

แต่ไม่จดจ่อไปแก้ไขตัวเขาให้ถูกใจเรา ข้ามไปดูที่ข้อดีข้อเด่นของเขา
แล้วสบายใจกับตรงนั้น เช่น รู้ว่าเขาขี้โมโห ปากไวแต่หายเร็ว

แล้วจิตใจอ่อนโยนมาก เราก็ไม่ไปชนกับเขาตอนเขาโกรธ
แต่รอจนเขาอารมณ์ดีพูดกับเขาอย่างอ่อนโยน

เราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการ อย่างนี้เรียกว่ารักเป็น
ที่สำคัญที่สุด รักใครอย่าคิดว่าคนนั้นเป็นของเรา
ไม่มีใครเป็นของใครหรอกค่ะ

ในความรัก เรามักเห็นแก่ตัว และเพลินกับการอยากได้รับลองคิดกลับกัน
รักใครสักคน แล้วคิดว่าจะทำอะไรให้เขาได้บ้าง คิดอย่างนี้เป็นสุข
ลงมือทำอะไรให้เขา แล้วจะพบว่าความสุขกลับเป็นของเรามากกว่าอีก

ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ

รักพ่อแม่ ทำอะไรให้พ่อแม่เล็กน้อยเพียงใด
พ่อแม่ชื่นใจ เราก็เป็นสุข

รักครูอาจารย์ ตั้งใจเรียนหนังสือ ครูอาจารย์มีความสุข
เราได้ชื่อว่าเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง

รักโรงเรียน หมั่นทำกิจกรรม โรงเรียนมีชื่อเสียง
เราก็ภูมิใจเป็นศิษย์ของโรงเรียนชั้นนำ

รักเพื่อน รับฟังทุกข์สุข ปลอบใจเพื่อน
เพื่อนไว้วางใจ เรารู้สึกตัวเองมีค่า


รักแฟน ดูแลทะนุถนอมใจและกาย ความรักสวยงาม
เรารู้สึกอบอุ่น เป็นที่รัก

รักครอบครัว ทำอะไรก็นึกถึงความรู้สึกของญาติพี่น้องและชื่อเสียงของครอบครัว
เราก็มีหลักยึดใจให้ทำความดี

รักชุมชน ดูแลถิ่นฐานบ้านช่องและทุกข์สุขของคนอื่น

เราก็เป็นคนอัธยาศัยดี กว้างขวาง เป็นที่รักของคนทั่วไป

รักชาติ มุ่งทำงานด้วยความรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมีผลต่อส่วนรวม
เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ เราก็จะเป็นคนที่มีพลังในการทำความดีเพื่อส่วนรวม
เสียสละรักความก้าวหน้า


และถ้าเรารักศาสนา ทำความดี ไม่ทำความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
เราจะรู้จักกับความดีงาม ความสงบสุขของจิตใจ
มีพลังในการทำความดี ทำหน้าที่ด้วยใจที่เป็นสุข

และมีเครื่องยึดเหนี่ยวใจให้ทำแต่ความดี......."

"ครูแอ๋ว" ได้นำชีวิตต้นแบบของคนหลายคนมาร้อยเรียงว่า

มีสิ่งใดที่เป็นพลังผลักดันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ
ตั้งแต่ "อยู่อย่างพอเพียง" ของเทพ โพธิ์งาม
"ไปให้ถึงดวงดาว" ของหม่ำ จ๊กมก
"ไม่ใกลเกินฝัน" ของจา พนม

"ยืนหยัดในหลักการ" ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
"กล้าที่จะต่าง" ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
เธอได้ยก "ด้วยรักและพอเพียง"

ของเพื่อนของเราคนหนึ่งซึ่งเป็นคนดีน่ารักและมีความสุขมากกับชีวิต ดังนี้

".......หม่อมหลวงสุดาวดี เกรียงไกร เป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน
และเจ้าของภูใจใสรีสอร์ท แอนด์ สปา

ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารเฮลโหล ไว้อย่างน่าอ่านยิ่ง

เธอมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่อบอุ่นนัก พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่อายุ 1 ขวบ

ทำให้พี่ชาย พี่สาวและเธอต้องแยกกันอยู่
ได้พบหน้าแม่ครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี
เธอสารภาพว่าช่วงหนึ่งของชีวิตเกลียดทั้งพ่อและแม่
ในวันเกิดบางครั้งพ่อให้เงินก็อยากปาทิ้ง พ่อไม่เคยกอดเลย
โชคดีที่มีต้นแบบคือคุณยายทวด ซึ่งเลี้ยงดูด้วยความรัก
บางครั้งถึงกับปกป้องเธอ โดยเอาตัวกันไม่ให้คุณยายตี
จนคุณยายทวดตัวลายไปหมด
ความรักนี้เองที่ช่วยกล่อมเกลาให้เธอเกิดความเข้าใจ
และมีความรักต่อคนอื่นได้


เธอเชื่อว่า "ชีวิตคนเราถ้าได้รับความรักความอบอุ่นอย่างบริสุทธิ์ใจเติมเต็มให้เรา
เราก็จะมีความรักความอบอุ่นเต็มร้อยเช่นกัน ไม่ใช่ความรักที่ให้แต่วัตถุนิยม"

เธอหัดที่จะไม่เปรียบเทียบกับพี่สาว ซึ่งสวยและเติบโตมาอย่างชาววัง
เป็นดาราประจำโรงเรียน เปรียบเสมือนนางฟ้าและเธอเป็นผ้าขี้ริ้ว
เธอเรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับจิตใจภายในมากกว่าภายนอก
จนเกิดความมั่นใจในตัวเอง


ปัจจุบันเธอมีครอบครัวอบอุ่น อยู่บนภูเขาหลายลูกที่เชียงราย
สร้างภูใจใส รีสอร์ทที่สวยงาม เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ สร้างสรรค์ออกแบบงานที่สวยงาม
ปลูกผักสวนครัว ทำไร่ชา ทำบุญ หางานให้ชาวบ้านชาวเขา
อยู่อย่างพอเพียง รักกัน เกื้อหนุนกัน

หม่อมหลวงสุดาวดีย้ำว่า "คนเราทำงานหาเงินเพื่ออะไร
เงินไม่ได้ทำให้มีความสุขเสมอไป อยู่กับธรรมชาติก็ธรรมะดีๆนี่เอง
สงบสบายใจ สมาธิเกิดขึ้นเอง คนเราจะเอาอะไรนักหนา

นี่เป็นความสุขที่สุดแล้ว ที่คนเราจะหาได้......."

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ "ครูแอ๋ว" ให้ "คาถาใจ" ไว้ดังนี้

"...สำหรับครูแอ๋ว ซึ่งคุ้นเคยกับการคิด พูด และทำอะไรจากการกลั่นกรองด้วยตัวเอง
"ฟ้ามีตา" ทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าคงจะไม่หลงผิดพลั้งเผลอ
ทำอะไรพลาดอย่างชนิดที่แก้ไขไม่ได้ เพราะมี "เบื้องบน" เป็นพลังชี้นำ

กำกับดูแลความคิด คำพูด และการกระทำ ในความเวิ้งว้างของโลกที่เราอาศัยอยู่
ยังมีเครื่องยึดเหนี่ยวใจให้ประคองชีวิตไปได้ เป็นกรอบแห่งความวางใจอย่างที่สุด
ทำให้คิดเป็นบวก และเชื่อว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตตลอดไป

ถึงแม้บางครั้งดูท่าว่าจะมีอุปสรรค
แต่ก็คิดได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดทดสอบสำหรับการดำเนินชีวิต
และทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อเหตุและผลบางอย่าง

ที่จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้และใช้ชีวิตต่อไป

เมื่อมองย้อนอดีต รู้สึกโชคดีที่ในหลากหลายบทบาทของตัวเอง
มีคาถาใจ "ฟ้ามีตา" ไว้กำกับในการเป็นลูก เป็นญาติ เป็นเพื่อน
เป็นคนรัก เป็นนักเรียน เป็นครู เป็นภรรยา เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง
เป็นผู้ร่วมงาน เป็นผู้ชี้นำด้านสร้างสรรค์ เป็นคู่สมรสรัฐมนตรี
เป็นคนวัยเกษียณ เป็นคนใฝ่ธรรมะ เป็นคนรักการเขียน การอ่าน
และการเรียนรู้ ทำให้รู้สึกขอบคุณชีวิตและ "ฟ้า" ที่มีตาคอยดูแลเรา


เรื่องที่เล่ามานี้ เรียนรู้จากคำพูดของหมอนวดขาประจำ

เป็นแรงบันดาลใจ ได้ยินแล้วชวนให้คิดต่อ

ถ้าใจนิ่งพอ เราจะได้ยินเสียง ได้ยินคำพูดของคนรอบๆ ตัว
แล้วนำมากลั่นกรองใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังคำสอนทางการละครว่า

"มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน"

"ถ้าใจนิ่งพอ เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้รอบตัว
และเข้าใจการกระทำของผู้คนต่างๆ ได้
ทำให้กระบวนการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เบิกบาน เป็นสุข

และพอเพียงกับความต้องการของทุกช่วงชีวิต
ความนิ่งนี้ได้มาจากใจที่มี "ฟ้า" คอยดูแล......."
"วันรุ่งของพรุ่งนี้" ของ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์
ให้คำแนะนำสำหรับการดำเนินชีวิต

และให้ความหวังแก่ทุกคนที่มีวันพรุ่งนี้เสมอ

หน้า 6