Custom Search

Jul 25, 2009

การเห็นอริยสัจ



คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มติชน

ภาพ/เรื่อง
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อริย สจฺจาน ทสฺสนํ ที่ถูกคือ อริยสจฺจานํ ทสฺสนํ นิคคหิต
(สระ อํ ที่
นํ หายไปนั้น มิใช่ท่านพิมพ์ผิด
แต่เพราะฉันทลักษณ์บังคับตรงนี้ให้ใช้ลหุแทนครุ อริยสจฺจานํ
จึงเป็น อริยสจฺจาน ด้วยประการฉะนี้)


ก็ไม่รู้จะอธิบายไวยากรณ์บาลีไปทำไม
เพราะชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ต้องการทราบลึกขนาดนั้น
ต้องการรู้ว่า แปลว่าอย่างไรก็พอ ปล่อยผมสักวันเถอะครับ
วันนี้อยากทำอะไรลึกๆ แบบขงเบ้งบ้าง


อริยสจฺจาน ทสฺสนํ แปลว่า การเห็นอริยสัจ
หรือเห็นความจริงอันประเสริฐทั้งสี่ประการ เห็น
ในที่นี้หมายถึงการเห็นด้วย "ตาใน" เป็นความสว่างโพลงภายใน
เข้าใจถึงสภาวะทั้งหลายตามเป็นจริง ความรู้ระดับนี้มิใช่ขี้ไก่
เป็นระดับ ยถาภูตญาณ (การหยั่งรู้ตามเป็นจริง) หรือธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม)


ปุถุชน คนมีกิเลส ถ้าเกิดความรู้เห็นระดับนี้
จะกลายเป็นพระอริยะบุคคลระดับโสดาบันทันที
ดังกรณีพระอัญญาโกณฑัญญะก็เกิดญาณ (การหยั่งรู้)
ขึ้นมาว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ นิโรธธมฺมํ แปลเป็นไทยว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา
ฝรั่งแปลว่า Whatever is by nature to be born
is by nature to be extinguished. เขมรแปลว่า..(ช่างเขมรเถอะนะ!)


การรู้เห็นระดับนี้แหละครับที่ ประสงค์ในที่นี้
เมื่อรู้เห็นระดับนี้แล้วไม่มีทางตกต่ำมีแต่จะแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ
จนสามารถขจัดกิเลสเครื่องมัวหมองใจในที่สุด
จะว่าไปแล้วสูตรสำเร็จข้อนี้เป็นความสำเร็จขั้นโลกุตตระแล้ว
มิใช่ความสำเร็จระดับโลกๆ อริยสัจสี่ มีอะไรบ้าง
คงรู้กันทุกคนเพราะเรียนมาตั้งแต่โรงเรียนมัธยม
ทบทวนอีกก็ได้คือ


ทุกข์ ปัญหาทุกรูปแบบของชีวิตที่เผชิญอยู่

สมุทัย สาเหตุของปัญหาชีวิต สรุปให้สั้นคือ "ตัณหา"
ความทะยานอยากสามลักษณะ คือ
ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น,
อยากได้ อยากมี อยากเป็น,
ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว
ถ้ามันเป็นที่พอใจอยากให้มันคงอยู่ตลอดไป
และบางครั้งถ้าเบื่อขึ้นมาอยากหนี อยากสลัดทิ้งไป


นิโรธ การแก้ปัญหาได้หรือการที่ปัญหาหมดไปโดยสิ้นเชิง

มรรค วิธีการแก้ปัญหา ได้แก่ มรรคแปดประการ
สรุปให้สั้นคือ ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจ)
ศีล (ควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย, ควบคุมพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้นั้น)
และจิตต คนไทยชอบเรียนว่า สมาธิ (การควบคุมพลังจิตให้แน่วแน่มั่นคงต่อเป้าหมาย,
การที่จิตมีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพ)


รู้อริยสัจต้องรู้ครบวงจรคือ รู้ว่า ทุกข์ หรือปัญหาคืออะไร,
ควรทำอย่างไร, ทำลงไปแล้วได้ผลอย่างไรก็รู้,
ในเรื่องสมุทัย นิโรธ มรรค ก็เช่นเดียวกัน
รู้ครบวงจรอย่างนี้กิเลสจึงจะลดลงไปได้ บางคนสงสัยว่า
ตนเองก็ท่องอริยสัจสี่ได้คล่อง ทำไมยังมีกิเลสอยู่เหมือนเดิม
บางครั้งมีมากกว่าเดิมอีก


นั่นเพียงความรู้จำเท่านั้นเอง มิใช่การรู้เห็นอริยสัจดอกนะจะบอกให้
(ขอบคุณคุณคำรณ หว่างหวังศรี ที่ให้ยืมวลีนี้มาใช้)


การ รู้เรื่องยารักษาโรคที่ครบวงจรสามารถทำให้โรคหายได้
เช่น รู้ว่า ยาขนานนี้รักษาโรคปวดท้อง
เมื่อปวดท้องขึ้นมาเมื่อใดให้กินยานั้นเข้าไปตามกำหนดแล้ว
โรคปวดท้องหายก็รู้ว่ายาขนานนี้รักษาโรคปวดท้องได้จริง
อย่างนี้เรียกว่า รู้เรื่องยาแก้ปวดท้องแบบครบวงจร


อุปมาฉันใด อุปมัยฉันนั้น การรู้การเห็นอริยสัจสี่ที่ครบวงจร
ย่อมสามารถเกิดความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นส่วนๆ
ได้จนกระทั่งหมดในที่สุด ต่างจากการรู้จดรู้จำท่องได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง
"อริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค"
ท่องจนปากเปียกปากแฉะ กิเลสมันก็ไม่มีทางลด
เผลอๆ อาจเพิ่มขึ้น คือ มานะ อติมานะเพิ่มขึ้น
"เราท่องได้คล่องกว่าคนอื่นเว้ย" อะไรทำนองนั้น


ถ้าพูดให้เป็นหลักวิชาการก็ว่า ญาณ ในอริยสัจสี่
ได้เกิดขึ้นครบถ้วน 3 ขั้นตอน คือ


ความจริงคือทุกข์ ----------ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ ----------ทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว

ความจริงคือสมุทัย----------สมุทัยนี้ควรละ----------สมุทัยนี้ละได้แล้ว

ความจริงคือนิโรธ----------นิโรธนี้ควรทำให้แจ้ง----------นิโรธนี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว

ความจริงคือมรรค----------มรรคนี้ควรทำให้เจริญ----------มรรคนี้ได้ทำให้เจริญแล้ว

สาม ขั้นตอนนี้เรียกว่า สัจจญาณ (รู้ความจริงว่ามันคืออะไร)
กิจจญาณ (รู้ว่าควรจัดการกับมันอย่างไร)
และ กตญาณ (รู้ว่าได้จัดการกับมันแล้วเกิดผลอย่างไร)


เป็นอย่างไรครับ ฟังแล้วมึนศีรษะดีไหมครับ เรื่องของวิชาการก็เป็นอย่างนี้
ต่อไปจะกล่าวถึงการประยุกต์หลักอริยสัจสี่มาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความ
สำเร็จแห่งชีวิตระดับโลกๆ อย่างเราๆ จะดีกว่า


แก่นของอริยสัจสี่อยู่ ที่การรู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตจะรู้ว่า
สภาพปัญหาที่แท้จริงคืออะไร มันมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
ปัญหาจะแก้ไขได้ไหม วิธีการแก้ปัญหา จะต้องทำอย่างไร
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัญญาตัวเดียว ต้องเข้าใจจึงจะแก้ได้
ถ้าไม่เข้าใจยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ปัญหาใหม่จะเพิ่มทับทวีคูณ
แก้ไปแก้มากลับติดกับตัวเองดิ้นไม่หลุดดุจลิงติดตัง


ไอ้จ๋อแสนซน ไม่รู้ว่าเขาเอาตังไปดักไว้ เอามือขวาไปจับเล่น
ตังติดมือแกะไม่ออกเอามือซ้ายจับ มือซ้ายติดอีก
ด้วยความตกใจเอาเท้าขวายัน เท้าขวาก็ติดอีก
เอาเท้าซ้ายถีบหวังจะให้หลุด เท้าซ้ายก็ติดอีก
คราวนี้ไอ้จ๋อหน้าเคยบานเหมือนดอกพยอมแย้มกลายเป็นเหลือสองนิ้ว
ซีดเซียวด้วยความตกใจ เอาปากกัดสุดฤทธิ์ ปากเจ้ากรรมก็ติดอีก


น่าสงสารไอ้จ๋อมันเนาะ

ไอ้ จ๋ออีกตัวหนึ่ง พาลูกน้องรดน้ำต้นไม้ให้นาย
ขณะที่นายไม่อยู่ ด้วยความปรารถนาดีแต่ด้วยความโง่
สั่งให้ลูกน้องถอนรากไม้ขึ้นมาดูก่อนว่ารากชุ่มน้ำหรือยัง
ถ้ายังให้ราดน้ำลงไปใหม่ ถ้าชุ่มแล้วให้เอาดินกลบใหม่
บรรดาบริวารลิงต่างรดน้ำต้นไม้อย่างขยันขันแข็ง
ในไม่ช้า ต้นไม้ตายเรียบ เจ้านายกลับมาแทบลมใส่
ลิงโง่ขยันยังฉิบหายขนาดนี้ ถ้าคนโง่ขยันมันจะวินาศสันตะโรขนาดไหน


หน่วยงานไหนมีแต่คนโง่ขยัน หน่วยงานนั้นจะเป็นอย่างไรใครๆ ก็รู้

หน้า 6