Custom Search

May 11, 2009

ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้น


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หนังสือ "ประเทศไทยควรมีพลเมืองเท่าไรจึงจะดี"
เขียนโดย ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล
ที่เพิ่งวางตลาดสดๆ ร้อนๆ

รวบรวมบทความที่สนใจยิ่งเกี่ยวกับประชากรของท่านอาจารย์ใหญ่
แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ผมขอใช้เนื้อหาในบางตอนมานำเสนอ

เรื่องหนึ่งที่คนรุ่นผมสนใจคือ "ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้น"
ศ.ดร.ปราโมทย์ได้กล่าวถึง

ปรากฏการณ์อัตราส่วนประชากรสูงอายุในโลกเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
"ประชากรโลกกำลังมีอายุมากขึ้นอันเป็นผลมาจากประชากรโลก
มีแนวโน้มสำคัญสองประการ
ประการแรก การเกิดของประชากรโลกได้ลดต่ำลงอย่างมาก
อัตราเจริญพันธุ์ในประเทศพัฒนาลดต่ำกว่าระดับทดแทน
(มีลูกน้อยกว่าสองคน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนที่จะมาแทนพ่อแม่)
และอัตราเจริญพันธุ์ในประเทศกำลังพัฒนา

โดยทั่วไปก็กำลังลดลงเรื่อยๆ
การเกิดที่ลดลงทำให้สัดส่วนประชากรวัยเยาว์ต่อประชากร
ทั้งหมดลดน้อยลง
แนวโน้มสำคัญประการที่สอง
คือ ประชากรทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีอายุยืนยาวขึ้น
การตายในวัยทารกและเด็กได้ลดลงเรื่อยๆ
ทำให้สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมีแนวโน้มที่ค่อยๆ สูงขึ้น..."

"...ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงจาก

ประชากรอายุน้อยเป็นอายุมากขึ้น
ที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อปี พ.ศ.2513 "อายุมัธยฐาน"
(อายุที่มีจำนวนคนอยู่มากที่สุด) ของประชากรไทย
เท่ากับประมาณ 19 ปี ในปี พ.ศ.2543

อายุมัธยฐานนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 29 ปี
กล่าวได้ว่าในระยะเวลาเพียง 30 ปี

ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นถึง 10 ปี
อายุของประชากรไทยสูงขึ้นเร็วอย่างนี้

เป็นเพราะการลดลงของการเกิด
และความสำเร็จในการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชากร
โดยเฉพาะการอนามัยแม่และ
เด็กที่ทำให้
อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มของการเกิดที่ลดลงและอายุที่ยืนยาวขึ้นนี้

ทำให้ประชากรไทยเข้าสู่ "กระบวนการมีอายุมากขึ้น"
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด
ในขณะที่อัตราเพิ่มประชากรทั้งหมดได้ลดต่ำลงเรื่อยๆ
จนถึงปัจจุบันนี้ ประชากรไทยมีอัตราเพิ่มปีละไม่ถึง 1% แล้ว
แต่ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.5%
ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ลองมาดูตัวเลขจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น
ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ.2523 ซึ่งมีอยู่เพียง 2.4 ล้านคน
ได้เพิ่มเป็น 4.1 ล้านคนในปี พ.ศ.2533

และเพิ่มเป็น 7 ล้านคนในปี พ.ศ.2551 นี้
ถ้าเราจะเรียกประชากรที่มีอายุสูงมากๆ เช่น อายุ 80 ปีขึ้นไปว่าเป็น
"ผู้สูงอายุวัยปลาย" "ประชากรสูงอายุวัยปลาย" นี้

ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน
จากที่เคยมีอยู่เพียงประมาณ 2 แสนคนเมื่อ 20 ปีก่อน
มาเป็นประมาณ 7 แสนคนในปี พ.ศ.2551 นี้..."

ประชากรสูงอายุในประเทศไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป
สามารถมองเห็นรูปลักษณ์ของประชากรไทยในอนาคตได้ชัดเจน
เมื่อทำการคาดประมาณประชากรในอนาคต

หรือที่เรียกกันว่า "ฉายภาพประชากร"
ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านคนในปี พ.ศ.2553
และจะมีมากถึง 14 ล้านคนในปี พ.ศ.2563
(ในปีนั้นประชากรทั้งหมดจะมีประมาณ 65 ล้านคน)

สำหรับประชากรสูงอายุวัยปลายหรือที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
จะเพิ่มจากประมาณ 7 แสนคนในปี พ.ศ.2551
ขึ้นไปถึงหลักล้านเป็น 1.3 ล้านคนในปี พ.ศ.2568

ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน
ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นเพียง 5% ของประชากรทั้งหมด
ปัจจุบันร้อยละของผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นถึง 11%
ในอนาคตอีก 16-17 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ.2568
ร้อยละของประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด

จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวคือเป็น 22%
จะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนและอัตราส่วนของประชากรสูงอายุในประเทศไทย
กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรไทยกำลังอยู่ในกระบวนการ

มีอายุสูงขึ้น...และสูงขึ้น
ในเวลาเพียงสามสิบสี่สิบปีเราก็เห็นสังคมไทยที่เคย
เป็นประชากรวัยเยาว์เปลี่ยนมาเป็นประชากรวัยชรา
ถ้าจะเปรียบประชากรทั้งหมดเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง
ก็จะเห็นภาพคนคนนั้นแก่ลง...แก่ลงอย่างเร็วเกินคาด
วันหนึ่งยังเห็นเป็นเด็กอยู่ อีกวันหนึ่งต่อมาไม่นานนัก
เด็กนั้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

และอีกไม่นานเด็กเมื่อวานซืนกลายเป็นคนแก่ไปเสียแล้ว
"...ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 40-50 ปีมาแล้ว

ประเทศไทยมีอัตราเกิดสูง
แต่ละปีมีเด็กเกิดเป็นจำนวนมาก

ประชากรเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงกว่า 3% ต่อปี
ประชากรมีอายุน้อย ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี
มีอยู่เป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด (ประมาณ 45%)
ครั้งนั้นรัฐต้องลงทุนอย่างมากกับประชากรวัยเยาว์เหล่านี้
ต้องทุ่มเทงบประมาณอย่างมากไปในด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพ
และครั้งนั้นที่เราตระหนักว่าการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วเป็นอุปสรรค
ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

จนต้องประกาศนโยบายประชากรในปี พ.ศ.2513
นโยบายประชากรมีเป้าหมายที่จะชะลออัตราเพิ่มประชากรโดย
ใช้การวางแผนครอบครัวด้วยระบบสมัครใจเป็นมาตรการสำคัญ

ครั้งนี้ในขณะเวลาปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอันใกล้
ประชากรสูงอายุในประเทศไทยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเร็วมาก
รัฐและสังคมได้เตรียมการอย่างไรสำหรับสถานการณ์ประชากรเช่นนี้...
"
ประชากรสูงอายุมีปัญหาเรื่องความป่วยไข้มากกว่าคนในช่วงอายุอื่น
มีความสามารถในการหาเลี้ยงชีพลดถอยลง

มีความจำเป็นในการปรับตนกับที่อยู่อาศัย
และผู้คนรอบข้าง ต้องการการดูแลเอาใจใส่

ทั้งทางกายและใจจากลูกหลาน
ที่แยกออกเป็นครอบครัวเดียวมากขึ้น

ต้องการบริการสาธารณะอย่างเป็นพิเศษ ฯลฯ
สถานการณ์เหล่านี้สังคมไทยจำเป็นต้องรีบเตรียมการเพื่อรับมือกับผู้สูงอายุที่
จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7.5 ล้านในปี 2553 เป็น 14 ล้านคนในเวลาถัดไปอีก 10 ปี

หน้า 6