| มติชน
วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 |
2.ทรงใช้สีน้ำวาดลงบนผ้าใบ ชื่อภาพเด็กนั่งอ่านหนังสือ
3.ทรงปั้นแจกันด้วยเทคนิคเคลือบขี้หมูและเคลือบผักตบชวา
4.ทรงวาดภาพลายเส้นสัญลักษณ์ 65ปี ม.ศิลปากร
5.ชื่อภาพป่าสีรุ้ง
6.ทรงปั้นจานรูปต้นไผ่
7.ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ-ริมน่าน
8.ทรงพิมพ์โลหะสี
เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระปรีชาทางด้านศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา
และเมื่อครั้งทรงเป็นนักศึกษาปริญญาโท
คณะโบราณคดี สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทรงเรียนสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ทรงมีพระปรีชา
เป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องปั้นดินเผา
จิตรกรรมและภาพพิมพ์ ภาษา และวรรณกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ อาจารย์ประจำ
คณะโบราณคดี บอกว่า ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาปริญญาโทอยู่นั้น
ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการอ่านและแปลจารึกโบราณ
"พระองค์ทรงเป็นนักศึกษาต้นแบบที่ดีของนักศึกษาปริญญาโท ทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และรับสั่งถามเสมอเมื่อทรงสงสัย นอกจากนี้
ยังทรงมีพระดำริที่มีประโยชน์อย่างมากต่อวิชาการนั้นๆ
ทรงอ่านและเขียนตัวอักษรโบราณในจารึกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
อย่างพระวิทยานิพนธ์ ทรงเสนอเรื่อง "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง"
ทรงได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์ เพราะพระนิพนธ์เรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก
ซึ่งผลการศึกษาของพระองค์ทำให้ได้ความรู้ใหม่ทางด้านประวัติศาสตร์
และโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ทั้งเรื่องที่มาและความหมายของคำว่า "พนมรุ้ง" พระองค์ทรงศึกษาและอธิบายไว้ว่า
พนมรุ้งเป็นภาษาเขมร แปลว่าภูเขาใหญ่ และเป็นชื่อเดิมของภูเขาและปราสาทแห่งนี้
มาแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการโบราณคดีและใช้อธิบายจนถึงทุกวันนี้"
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2536 มหาวิทยาลัยศิลปากรทูลเกล้าฯถวายราชสดุดี
เฉลิมพระเกียรติประกาศให้ทรงเป็นนักศึกษาเก่าดีเด่นอีกด้วย
ส่วนพระอัจฉริยภาพเครื่องปั้นดินเผานั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องปั้นดินเผา เล่าว่า ตอนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา สมัยระดับประถมศึกษา
ทรงเคยปั้นรูปป่าช้า และขนมจีบใส่จาน
นอกจากนี้ เวลาที่พระองค์ เสด็จโรงงานแม่ริมเซรามิค จ.เชียงใหม่
จะทรงงานหลายเทคนิค เช่น การเพนท์สีบนเคลือบ เทคนิครากุ เทคนิคกดแปะ
พระองค์จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการทรงลงมือสร้างงาน
ด้านรองศาสตราจารย์ พิษณุ ศุภนิมิต อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรม
และภาพพิมพ์ กล่าวถึงพระปรีชาของพระองค์ท่านไว้ว่า
เวลาพระองค์ท่านทรงงานศิลปะทรงแย้มพระสรวลตลอดเวลา
ทรงมีอิสระไม่ยึดรูปแบบการวาด ซึ่งทรงบันทึกลายเส้นในสมุดบันทึกมากมาย
"ทรงโปรดวาดทิวทัศน์ ตรัสว่าวาดง่ายกว่าวาดคน และทรงมีพระปรีชาเขียนภาพ
ด้วยพู่กันจีนซึ่งยากมาก นอกจากนี้ แม้แต่ประชวรก็ทรงเขียนรูปเพื่อผ่อนคลายอีกด้วย
และยังใช้ห้องสรงเป็นห้องทรงงานเขียนรูปอีกด้วย
ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นของพระองค์ท่านเป็นที่ยกย่อง
จึงทำให้พระองค์ท่านได้รับการยกย่องเป็นวิศิษฏ์ศิลปิน"
ทั้งนี้ เพราะพระอัจฉริยภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัด
โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กับงานศิลปะและวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร
และทรงเป็นนักศึกษาเก่า จึงได้อัญเชิญผลงานที่พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม 21 ชิ้น ผลงานภาพพิมพ์ 5 ชิ้น
และผลงานเครื่องปั้นดินเผา 29 ชิ้น จัดแสดงเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ
พร้อมมีปาฐกถาและจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย
งานมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-27 มิถุนายน ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
หน้า 25