Custom Search

May 2, 2009

การสงเคราะห์ญาติ

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน ภาพ/เรื่อง

วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


คราวนี้มาว่าถึงสูตรสำเร็จข้อที่ 17 การสงเคราะห์ญาติ ญาติ คือใคร
การสงเคราะห์ทำอย่างไร ไม่จำเป็นต้องพูดมาก (หน้ากระดาษมีน้อย พูดน้อยขนาดนี้ยังไม่พอเขียนเลย) เอาเป็นว่า
คนเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ย่อมมีญาติพี่น้อง เทือกเถาเหล่าก่อ ไม่มีใครเกิดมาเองจากกระบอกไม้ไผ่ มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งกล่าวว่า
ต้นไม้ที่เกิดในป่ามากมายนั้น เวลาลมพัดแรงๆ มันย่อมช่วยกันต้านลมไว้ได้ ไม่หักไม่โค่นได้ง่ายฉันใด
คนที่มีญาติพี่น้องมากย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยกันได้เมื่อยามมีภัยฉันนั้น
ความสำคัญของญาติจึงอยู่ที่การช่วยเหลือเจือจานซึ่งกันและกันนี่แหละครับ
ญาติที่สักแต่ว่าญาติทางสายเลือดแต่ไม่เคยช่วยเหลือกัน แถมยังจะกินเลือดกินเนื้อกันอีกด้วย
ไม่ควรค่าแก่การนับญาติประการใด คนอื่นที่ไม่ใช่สายเลือดแต่สนิทคุ้นเคยคอยสงเคราะห์
อนุเคราะห์ด้วยไมตรีจิตเสียอีกเรียกว่าเป็นญาติที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี ความคุ้นเคยเป็นญาติอันประเสริฐ
เมื่ออ้างพระพุทธเจ้าแล้วก็ขออ้างต่อไปว่า
พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของคนที่บำเพ็ญญาติสังคหะ หรือการสงเคราะห์ญาติอย่างสมบูรณ์ที่สุด
ลองทบทวนดูก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญจริยา 3 ประการครบถ้วน คือ ญาตัตถจริยา (ทำประโยชน์แก่ญาติ)
แม้ว่าพระองค์จะทรงสละโลกียวิสัยเสด็จออกบวชแล้วก็ตาม (ศัพท์ศาสนาว่า
"เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์") ก็ยังทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือพระประยูรญาติ
ทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะเสมอ โลกัตถจริยา (ทำประโยชน์แก่ชาวโลก)
ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เสด็จออกไปเทศนาสั่งสอนชาวโลก
ช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ วันเวลาผ่านไปแต่ละวันเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกแทบทั้งนั้น แม้เวลาจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
ยังอุตส่าห์ข่มทุกขเวทนาสั่งสอนคนอื่นดังทรงโปรดสุภัททปริพาชก เป็นต้น
พุทธัตถจริยา (ทำประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า) ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์อันเป็นชุมชนตัวอย่างขึ้นในสังคม รวมทั้งตั้งสถาบันพุทธบริษัทคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา งานทั้งหมดนี้ทรงทำในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า
เฉพาะข้อแรกคือสงเคราะห์ญาตินั้นเห็นได้ชัดเจนว่าหลังจาก ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนามั่นคงใน
แคว้นมคธแล้ว ก็เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติเมืองกบิลพัสดุ์
เมื่อพวกญาติฝ่ายโกลิยะกับศากยะจะฆ่าฟันกันเพราะ แย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีมาทำนา
เลือดกำลังจะนองแผ่นดินอยู่พอดี
พระองค์เสด็จไปห้ามไว้ สั่งสอนให้พวกเขาปรองดองกัน
ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปปางหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์
เหตุการณ์ครั้งนี้ เรียกว่า "ปางห้ามญาติ"
ครั้งสุดท้ายพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพไปหมายจะฆ่าพวกศากยะให้ตายหมด
พระองค์เสด็จไปห้ามไว้ตั้งสามครั้ง พระญาติของพระองค์รอดตายเพราะ
พระมหากรุณาของพระองค์ คนเราไม่ควรลืม ญาติ ยิ่งได้ดิบได้ดี
ลืมตาอ้าปากได้ ยิ่งต้องหันมาสงเคราะห์ อนุเคราะห์
ช่วยเหลือญาติของตนเท่าที่จะทำได้ ดูพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน
และการช่วยญาติที่ดีที่สุดคือ ช่วยให้ญาติช่วยตัวเองได้ ขนาดผู้ตรัสรู้แล้วท่านยังไม่ลืมญาติพี่น้อง
ปุถุชนเราก็ไม่ควรลืมพี่ลืมน้อง ควรเป็นที่พึ่งพาอาศัยของกันและกัน คำว่า "พึ่งพาอาศัยกัน"
บอกอยู่ในตัวแล้วว่า ทุกคนต้องเป็นที่พึ่งพาของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย มิใช่คอยแต่จะพึ่งเขาท่าเดียว
เช่น พี่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือน้องๆ ทางด้านทรัพย์สินเงินทองได้ น้องๆ
ก็ต้องช่วยพี่ด้วยการทำตนให้ดีให้เหมาะสม เป็นการตอบแทนอีกทางหนึ่ง
มิใช่คอยแต่จะแบมือขอจากพี่ฝ่ายเดียว อย่างนี้เป็นต้น การช่วยเพื่อให้อีกฝ่ายช่วยเหลือตัวเองได้
เป็นหัวใจของการสงเคราะห์อนุเคราะห์ที่ถูกต้อง พวกศากยะพระญาติของพระพุทธเจ้านั้น
มีข้อด้อยอยู่ประการหนึ่ง คือ ความหยิ่งในสายเลือดของตน มักดูถูกคนอื่นว่าชาติตระกูลต่ำ
ขนาดพระเจ้าปเสนทิโกศลเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือพวกศากยะ ยังถูกพวกศากยะดูหมิ่นลึกๆ เลยครับ
(แต่ไม่ได้แสดงให้ปรากฏเด่นชัด เพราะกลัวปเสนทิโกศลเล่นงานเหมือนกัน) เมื่อครั้งปเสนทิโกศลต้องการ
จะเป็นญาติทางสายเลือดกับพระพุทธองค์ ทรงส่งทูตไปขอนางกษัตริย์จากศากยวงศ์มาอภิเษกสมรส
พวกศากยะแอบส่งลูกนางทาสีที่เกิดจากท้าวมหานามไปให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสถาปนาให้เป็นอัครมเหสี
มีโอรสองค์หนึ่งชื่อ วิฑูฑภะ ต่อมาความลับแตก พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธมาก
กำลังจะทรงยกทัพมาบดขยี้พวกศากยะอยู่พอดี พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามไว้
ทรงอธิบายว่า เชื้อสายทางมารดาไม่สำคัญ ถึงมารดาจะเป็นทาสี โอรสก็เป็นของพระองค์
ย่อมเป็นโอรสของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อยู่ดี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อพระพุทธองค์
ทั้งแม่ทั้งลูกจึงรอดไป แต่ผู้เป็นลูกคือเจ้าชายวิฑูฑภะ ต่อมาไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่เมืองกบิลพัสดุ์
ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามขนาดว่านั่งที่ไหน เขาจะเอาน้ำนมล้างที่ตรงนั้น เพื่อขับไล่เสนียด
วิฑูฑภะทราบภายหลัง จึงผูกอาฆาตว่าเป็นใหญ่มาเมื่อใด จะเอาเลือดในลำคอของพวกศากยะมาล้างตีนตนให้ได้
รอเสด็จพ่อยกราชบัลลังก์ให้ไม่ทันใจ จึงปฏิวัติพ่อตั้งตนเป็นกษัตริย์ วันดีคืนดีก็ยกทัพไปหมายจะล้างแค้นให้สาแก่ใจ
พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามไว้ เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้เงาโปร่ง ในแดนของพวกศากยะ
วิฑูฑภะเข้าไปทูลถามว่า ทำไมไม่ประทับใต้ต้นที่เงาหนาทึบ (ซึ่งอยู่แดนของแคว้นโกศล)
พระองค์ตรัสตอบเป็นปริศนาว่า "มหาบพิตร ร่มเงาของญาติย่อมเย็นกว่า" วิฑูฑภะรู้ทันทีว่า
พระองค์เสด็จมาปกป้องพระญาติ จึงถอยทัพกลับด้วยเกรงพระบารมีพระพุทธองค์ มากี่ครั้งๆ
ก็พบพระองค์ ณ จุดนั้น ครั้งสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นกรรมเก่าของ พวกศากยะตามทันสุดจะห้ามไว้ได้
จึงไม่ได้เสด็จไปประทับ ณ จุดนั้นอีก วิฑูฑภะจึงได้โอกาสทำลายล้างพวกศากยะเกือบหมดสิ้น
ที่เหลือก็หนีกระเจิดกระเจิงไปอยู่ที่อื่น เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดก่อนพุทธปรินิพพานไม่กี่ปี
พระพุทธองค์ตรัสกับเหล่าสาวกในภายหลังว่า "หยิ่งเพราะชาติและโคตร
ดูหมิ่นแม้กระทั่งญาติของตนเอง จึงประสบความพินาศปานฉะนี้"
หน้า 6