Custom Search

May 27, 2009

ฆ่าหมีขาวเพื่ออนุรักษ์


วรากรณ์ สามโกเศศ

มติชน

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


หมี ขาวหรือ Polar Bear (Ursus Maritimus)
กำลังจะสูญพันธุ์ แต่ทางการรัสเซียกำลังจะอนุญาต
ให้ล่าได้เพื่อถนอมไว้ไม่ให้สูญพันธุ์
เหตุใดนโยบายจึงสวนทางกับตรรกะของมนุษย์ทั่วไป


Polar Bears มีถิ่นอาศัยอยู่ในมหาสมุทรอาร์คติค ที่ขั้วโลกเหนือในบริเวณ Chukotka
ซึ่งเป็นดินแดนตะวันออกของรัสเซีย ติดต่อกับดินแดนตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
(รัฐอลาสกา) สองประเทศเพื่อนบ้านนี้มีเพียงช่องแคบ Bearing
คั่นอยู่มิฉะนั้นก็เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน บริเวณ Chukchil Sea และ Bearing Sea
ซึ่งอยู่เหนือและใต้ของช่องแคบ Bearing ตามลำดับ
คือพื้นที่ๆ เป็นปัญหาหมีขาว


ปกติหมีขาวจะอาศัยอยู่บนแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรที่
ไกลออกไปนอกฝั่งทะเลและล่าสัตว์โดยเฉพาะตัว Walrus
(หน้าตาน่าขันคือตัวใหญ่มากหนักถึง 2,000 กิโลกรัม มีฟัน 2
ซี่ยาวลงมาและมีหนวดโดดเด่น) เป็นอาหาร
ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายไปมาก
Walrus ก็มาอยู่อาศัยบนฝั่งที่มีน้ำตื้นมากขึ้น
ดังนั้น หมีขาวจึงต้องเข้ามาอยู่ใกล้ฝั่งและบนฝั่งที่ใกล้มนุษย์มากขึ้นเพื่อหาอาหาร
ซึ่งทำให้หมีขาวถูกฆ่าตายได้ง่ายขึ้น


หมีขาวอาศัยอยู่ในทั้งดินแดน Alaska ของสหรัฐอเมริกา และ Chukotka ของรัสเซีย
มีประมาณการว่ารวมกันมีประชากร 2,000 ตัว (เคยมี 4,000-5,000 ตัว)
ถ้ารวมจำนวนหมีขาวทั้งหมดที่กระจายตัวเดินทางไปทั่ว
บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของ Alaska และ East Siberian Sea
(โดยไม่ต้องอาศัยนโยบายท่องเที่ยวทั่วดินแดน)
คาดว่ามีประมาณ 20,000-25,000 ตัว


ในฝั่งสหรัฐอเมริกาถือว่าหมีขาวกำลังจะสูญพันธุ์ แต่ปีหนึ่งรัฐ Alaska
ก็อนุญาตให้ล่าได้ประมาณ 40 ตัว อย่างถูกกฎหมาย
ส่วนฝั่งรัสเซียแต่ดั้งเดิมก็ล่ากันมาโดยเป็นส่วนหนึ่ง
ของวัฒนธรรมของชาวบ้านบริเวณ Chukotka ซึ่งยากจน
อยู่อาศัยกระจัดกระจายใกล้ช่องแคบ Bearing
แต่ในปี 1956 ทางการก็ห้ามเด็ดขาด เพราะจำนวนหมีขาวลดลงมาก


อย่างไร ก็ดี ก็มีการแอบล่าอย่างผิดกฎหมายในฝั่งรัสเซียมาตลอด
ประมาณการว่าในปีหนึ่งหมีขาว 100-200 ตัวถูกฆ่าเป็นอาหารของชาวบ้าน
(ตัวหนึ่งหนักประมาณ 400-600 กิโลกรัม)
และเพื่อการค้าหนังนั้นก็ทำเงินได้นับพันดอลลาร์ต่อผืน


อากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ หมีขาวบางครั้งหลงอยู่บนชายฝั่ง
หาทางกลับออกไปอาศัยอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง กลางมหาสมุทรตามปกติไม่ได้
และหมีขาวจำนวนมากมาหาอาหารบนชายฝั่ง
(หมีขาวมีพฤติกรรมไม่ต่างจากมนุษย์ที่ต้องอยู่อาศัยในแหล่งที่มีโอกาสหา อาหารได้
สำหรับคนก็คือการจ้างงานซึ่งอยู่ใกล้เมือง)
จึงมีโอกาสมากที่จำนวนหมีซึ่งถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมายจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น


ผู้เชี่ยวชาญและทางการรัสเซียเชื่อว่าหากทำให้การฆ่าหมีขาวถูกกฎหมายเสียเลยโดย
มีโควต้าให้ล่าในแต่ละปีอย่างชัดแจ้งแล้ว
การล่าอย่างผิดกฎหมายที่แอบทำกันอยู่ในทุกวันนี้ก็จะลดน้อยลง


ข้อเสนอนี้มีผู้ไม่เห็นด้วยเพราะเมือง Vankarem ซึ่งอยู่บนชายฝั่งใกล้ช่องแคบแบริ่ง
อันเป็นศูนย์กลางของการติดต่อกับโลกภายนอกอยู่ไกลออกไปมาก
ขนาดต้องขับรถบนถนนที่ทารุณถึง 3 วันกว่าจะเดินทางถึง
อีกทั้งไม่มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้ฆ่าอย่างถูกกฎหมาย
โดยอยู่ในขอบเขตที่ทางการกำหนด
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอให้มีการล่าอย่างถูกกฎหมายนี้
ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจำนวน หนึ่งและแม้แต่ World Wildlife Fund


การเปิดให้ล่าหมีขาวอย่างถูก กฎหมายโดยมีโควต้าให้ล่าในแต่ละปี
จะเป็นผลดีต่อการลดลงของจำนวนหมีขาวหรือไม่
ขึ้นอยู่กับการติดตามและการควบคุมให้กฎหมายเป็นกฎหมาย
มิฉะนั้นเท่ากับเป็นการให้ Licence to Kill (ใบอนุญาตให้ฆ่า)
อย่างไม่มีขีดจำกัด สถานการณ์อาจหนักหนาสาหัสกว่าเก่าก็เป็นได้


เหตุผล ทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้สัตว์ป่าถูกล่าจนสูญพันธุ์ก็เพราะเรื่องสิทธิความ
เป็นเจ้าของสัตว์เหล่านี้ (property right) ไม่ชัดเจน
เวลามันมีชีวิตอยู่มันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาวรัสเซียทุกคน
เฉพาะเมื่อมันตายลงเท่านั้นจึงจะเป็นของผู้ฆ่า
ดังนั้น ใครฆ่าได้ก่อนคนนั้นก็ได้เป็นเจ้าของก่อน
ด้วยลักษณะของความเป็นเจ้าของเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มันถูกไล่ล่าทุกวัน
เพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าของมัน
(เศรษฐศาสตร์สอนว่า"สมบัติของทุกคนจะมิใช่สมบัติของใครเลย")


ในกรณี ของสัตว์บ้าน เช่น วัว ควาย ช้าง ที่มีเจ้าของชัดเจน
(มีตั๋ว มีบัตร หรือความเป็นเจ้าของได้รับการยอมรับจากสังคม)
ไม่มีใครไปกล้าล่าต่อให้อยู่ในป่าตราบที่มีโซ่ มีกระดิ่ง
หรือมีลักษณะว่ามีเจ้าของ เพราะมันแสดงว่าเป็นสัตว์มีเจ้าของ
หากฆ่ามันก็ไม่ได้มันมาเป็นเจ้าของ (แต่จะได้ความเดือดร้อนแทน)
สัตว์บ้านจึงไม่สูญพันธุ์ แต่สัตว์ป่ามีโอกาสสูญพันธุ์
นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดวัวแดง (วัวป่าของบ้านเรา) จึงสูญพันธุ์ แต่วัวบ้านไม่สูญพันธุ์


การอนุญาตให้มีการเลี้ยงสัตว์ป่าที่อาจสูญ พันธุ์โดยเอกชน เช่น เลี้ยงเสือ
จึงช่วยให้มันไม่สูญพันธุ์เพราะจากสถานะที่ความเป็นเจ้าของไม่ชัดเจน
แปลงสภาพมาเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของชัดเจน เราจึงเห็นจำนวนเสือ (ในกรง)
ในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น


กรณีทางการอนุญาตให้ปลูกต้นสักในที่ดินของ
เอกชนได้ก็ใช้ตรรกะเดียวกันคือแทนที่จะมีแต่ต้นสักในป่าที่เติบโตตาม ธรรมชาติ
ถูกตัดแบบไร้ความปรานีอย่างไร้การตรวจสอบและควบคุมดูแลพื้นที่สัมปทานป่าไม้
ที่ได้รับไปอย่างจริงจัง ทางการก็อนุญาตให้เอกชนปลูกได้
ซึ่งทำให้ความเป็นเจ้าของมันชัดเจนมากขึ้น กว่าการเป็นต้นไม้ของทุกคนในชาติ
แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือมันมีไม้สักที่ถูกลักลอบนำเข้าจากพม่า
แต่เอกสารหลักฐานบอกว่าตัดจากป่าเอกชนในไทย การ "สวมตอ"
หรือการเป็น "สักวิเศษ" ที่ต้นเดียวมาจากสองแหล่งได้
จึงเป็นประเด็นแอบแฝงที่ต้องระวัง


ในเรื่องการล่าหมีขาวอย่างถูกกฎหมาย หากไม่ระวังจะเหมือนการล่าจิงโจ้ในออสเตรเลีย
ที่ตัวเลขทางการให้ล่านั้นอยู่ที่ 6.5 ล้านตัวต่อปี
แต่เมื่อประชาชนและทางการไม่สนใจจริงจังกับการฆ่าจิงโจ้
ตัวเลขจึงอาจขึ้นไปถึง 10 ล้านตัวต่อปี กล่าวคือทั้งล่าผิดกฎหมาย
(ปัจจุบันก็ฆ่ากันทุกคืนโดยไม่รู้ว่าถูกหรือผิดกฎหมาย)
ทั้งฆ่าลูกอ่อนในกระเป๋า (Joey) กล่าวคือเมื่อแม่ถูกฆ่ามันก็ถูกฆ่าไปด้วย
หรือไม่ก็ทอดทิ้งให้ตายซึ่งคาดว่าอาจมีถึง 1.3 ล้านตัวต่อปี
และยังมีจิงโจ้ที่ถูกรถชนตายอีกเป็นจำนวนมากในชนบท


นโยบายหลายอย่าง เป็นเรื่องดีเมื่อมองในระดับมหภาค
แต่ถ้าไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างแข็งขันจริงจังและไม่พิจารณา
ประเด็นประกอบในระดับย่อยแล้ว
ก็อาจทำลายความตั้งใจดีของนโยบายนั้นไปเสียทั้งหมดได้


แต่อย่างว่าละ ครับ ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ปวดหัวเท่ากับการพิจารณา
เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยลงไป โดยเฉพาะในเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติ
ถ้ามันง่ายก็คงไม่มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษที่ว่า devil is in the detail
(แปลตรงๆ ก็คือปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด)


หน้า 6