Date: 15 Jan 2009
Location: duck unit studio
วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ (วิชญ์)
อายุ: 32 ปี
การศึกษา: ปริญญาโท Master of Fine Arts in
Visual Communication,
University of Kent ประเทศอังกฤษ, 2543
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535-2541
ปัจจุบัน: ศิลปินอิสระ
นิธิ: ตอนนี้ผมมาทำหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว มีซีรีส์ชุด Conversations with Architects เล่มล่าสุดที่เพิ่งออกไป คือคุยกับลูกสถาปนิก ผมตั้งใจทำหนังสือแนวนี้ เพื่อให้คนได้รู้จักพวกเราในวงการ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำมา 3 เล่ม ก็ได้ไอเดียหลายอย่าง วิถีชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนเล่มนี้ก็จะสัมภาษณ์สถาปนิกที่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันบ้าง ให้เด็กๆ ที่ออฟฟิศช่วยกันโหวตว่าจะสัมภาษณ์ใคร ปรากฏว่ามีชื่อวิชญ์ติดอยู่ในโผด้วย เขาบอกว่าคุณอินเทรนด์
วิชญ์: กำลังตกยุคแล้วครับ (หัวเราะ) เด็กรุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เก่งกันหลายคน
นิธิ: มันก็มีตัวตายตัวแทนในโลกเรา สถาปนิกก็เหมือนกัน ต้องมีคนใหม่ขึ้นมาแทนคนเก่า
วิชญ์: แต่ดีที่เราเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่มา ดีกว่าเราทำไปคนเดียวแล้วไม่มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย
นิธิ: เล่าประวัติการเรียนของคุณให้ฟังหน่อย เรียนอะไรมาบ้าง
วิชญ์: เรียนมัธยมที่สาธิต จุฬาฯ สอบเทียบเข้าสถาปัตย์ได้ตอน ม.4 ผมว่าเป็นความผิดพลาดของการศึกษาเหมือนกัน ผมไม่ควรจะมาเรียนสถาปัตย์ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะวุฒิภาวะยังไม่มี
นิธิ: เข้าไปเรียนสถาปัตย์แล้วชอบไหมวิชญ์: ชอบครับ แต่ไม่ชอบพวกที่เป็นกฎต่างๆ เกลียดมาก ยิ่งถ้าอาจารย์คนไหนดูเป็นธุรกิจๆ หน่อย ผมก็เกเร ไม่ส่งแบบ อาจารย์คนไหนให้โชว์ไอเดียได้ ก็จะขยันทำแบบ แต่ที่ผมรู้สึกผิดมากคือตอนที่เรียนกับอาจารย์แน่งน้อย (ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี) ท่านตั้งโจทย์เป็นพิพิธภัณฑ์จ่าทวีที่พิษณุโลก พอรู้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทย ก็ไม่เอาเลย ไม่สนใจด้วย แต่ว่าตั้งใจทำโมเดล ทำ section perspective คืออะไรที่นอกเหนือจากโลกที่ผมคิด ก็ตัดออก ไม่เอาเลย มีโลกแคบๆ ของตัวเอง พอเพื่อนทำ thesis ผมก็ไปคิดหัวข้อให้เพื่อนทุกคน ไปขอเพื่อนทำ แทบจะไม่เข้าเรียนนิธิ: คุณเรียนสถาปัตย์กี่ปี
วิชญ์: 6 ปีครับ แล้วก็โดนรีไทร์ออกมา
นิธิ: เรียนมา 6 ปีเลยเหรอ น่าจะจบให้ได้นะ เล่าให้ฟังได้ไหม ทำไมถึงรีไทร์
วิชญ์: เป็นช่วงที่ไปทำรายการยุทธการขยับเหงือกครับ ผมต้องอัดรายการวันพฤหัส อัดเสร็จก็กินเหล้า ตามสูตรวัยรุ่นมีเงิน ผมเป็นพวกมั่นใจเกินร้อย สอบเทียบได้ตอน ม.4 แล้วก็เอ็นทรานซ์เข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ พอมาเรียนส่วนใหญ่จะได้เกรด A เกรด B แต่ปรากฏว่ามั่นใจเกินไป พอติดโปรฯ (on probation) ก็ยังคิดอยู่ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเทอมหน้าเอาใหม่ ท้ายที่สุดแล้วก็สายเกินไป ผมแก้โปรฯ ไม่ผ่าน ผมคิดไปคิดมาแล้ว โดนรีไทร์ก็ดีเหมือนกัน เหมือนโดนแม่ตีแรงๆ คือจะคิดว่าตัวเองเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการทำงานสะสม ไม่ใช่จะมารอปฏิหาริย์ทีเดียวเหมือนที่เราคิด ผมคิดว่าอาจารย์เห็นสมควรแล้ว ต้องขอบพระคุณมาก สมมติถ้าผมรอดมาได้ก็คงโอหังมาก ผมจะไม่เคารพกฎระเบียบอะไรทั้งนั้น เป็นธรรมดาของคนที่เก่งมากๆ แล้วเอาชนะได้ทุกอย่าง ก็จะยิ่งไม่ทำตามกฎ
นิธิ: 6 ปีที่จุฬาฯ คุณได้อะไรบ้างวิชญ์: ผมตั้งใจเรียนวิชาที่ชอบ แต่พวกวิชา construction ที่ต้องมานั่งซีเรียสเรื่องราคาต่อตารางเมตร คือสิ่งที่ทำให้ผมวิ่งหนีออกจากสถาปัตย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว วิชาพวกนี้ทำให้ผมมองศิลปะแบบที่ศิลปินเขาไม่มองกัน คือสถาปนิกจะสนใจปัจจัยรอบข้างเยอะมาก ในขณะที่ศิลปินจะมองจากภายใน
นิธิ: แต่ยุคนั้นพวกเราก็เข้าวงการทีวีเยอะนะครับ กำลังสนุกสุดเหวี่ยง แล้วก็ได้เงินเยอะ แต่ตอนนี้น้อยลงแล้ว
วิชญ์: ดีแล้วครับ เพราะรัฐบาลเขาจ่ายภาษีมาให้พัฒนาเมือง ไม่ใช่พัฒนาวงการบันเทิง แต่ที่โชคร้ายคือผมเข้าวงการไปแล้วไม่เวิร์ก เคยเล่นแต่ละครคณะที่มีสคริปต์ ต้องซ้อมกันก่อน แต่พอไปทำรายการทีวีจริงๆ เขาใช้วิธีไปด้นสดบนเวที ซึ่งผมไม่ถนัด ไม่เหมือนสมัยยุคซูโม่สำอางค์ยุคแรกๆ ที่จะเล่นตามสคริปต์กันจริงจัง
นิธิ: คุณเข้าไปแทนโน้ส อุดม แต้พานิช ใช่ไหม
วิชญ์:ใช่ครับ ทำอยู่ 4 ปี ถ้าเทียบกับคนอื่นแล้ว ก็เหมือนเป็นพรอันประเสริฐ เพราะเราเป็นเด็กสถาปัตย์ มีรุ่นพี่นำทางไว้ก่อนแล้ว แต่อีกแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นคำสาปที่ว่าเด็ก สถาปัตย์ที่มีแววหน่อย ก็จะถูกชักนำมาทางนี้ ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือผมไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์โดยตรง ซึ่งวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าพวกที่เรียนนิเทศศาสตร์โดยตรง เขาได้เรื่องวิชาการจริงๆ ทั้งยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา เท่าที่เห็นหนังในบ้านเราตอนนี้ที่ยืนหยัดตามหลักการได้จริงๆ คือเรื่องแฟนฉัน ของจีทีเอช
นิธิ: ผมก็เห็นด้วยนะ ที่พวกนี้เขาทำอะไร เขามีหลักวิชาการช่วยเสริม มีแนวคิดที่เป็นระบบ พวกเราเป็นสถาปัตย์ก็เอามัน เอาเฮฮาไว้ก่อน
วิชญ์: เขามีโอกาสได้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นวิชาชีพเขาเอง อย่างของเราก็เกิดจากกลุ่มซูโม่ฯ กลุ่มเดียว ไม่มีรากอะไรชัดเจน ถึงแม้เขาจะยังเหนียวแน่นอยู่ถึงปัจจุบันนี้
นิธิ: หลังออกจากวงการทีวี คุณไปเรียนต่อต่างประเทศใช่ไหม
วิชญ์: ใช่ครับ ไปเรียนปริญญาโทต่อด้าน visual communication ที่ University of Kent เรียนอะไรที่นอกเหนือจากเรื่องกราฟิกด้วย เช่น เรื่องทฤษฎีคอมพิวเตอร์ ทฤษฎีไซเบอร์ งานสามมิติ และแอนิเมชั่น ซึ่งพี่ด้วง (ดวงฤทธิ์ บุนนาค) เป็นคนแนะนำให้ผมไปเรียนต่อทางด้านนี้ ผมเองก็อยากรู้ว่าจะเอาไปทำอะไรต่อได้ แต่พอเรียนแล้วก็ถลำลึกมาทำ video installation ได้เรียนปรัชญา วิธีการคิดของสื่อจริงๆ ไปดูว่าเขาฝึกฝนกันอย่างไร ครูที่สอนเป็นช่างภาพอาชีพ วิชาเอกที่ผมเรียนเป็นเรื่องวิดีโอกับดิจิตัลมีเดีย พอเรียนๆ ไปก็เริ่มสนใจด้านศิลปะ ซึ่งกราฟิกก็ถือเป็นศิลปะเหมือนกัน ผมสนใจในสาระของมัน แต่ไม่ได้คิดจะมาทำเป็นธุรกิจ
นิธิ: แต่คุณก็เป็นที่รู้จักในแวดวงนักศึกษาในช่วงนั้นด้วย
วิชญ์: ใช่ครับ ในช่วงปี 2542-2543 เป็นช่วงอินเตอร์เน็ตระบาด แต่ยุโรปจะช้ากว่าชาวบ้านเขา ส่วนผมคนเอเชียก็ว่าจะไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่ยุโรป นึกว่าจะไฮเทค แต่ กลายเป็นผมไฮเทคเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าอีก แต่เรื่องปรัชญาของเขาจะแน่นมาก ก็เลยพอดีกัน เทคนิคก็ได้ แนวคิดก็พอจะสู้เขาได้ ครูเขาก็ค่อนข้างจะสนใจ
___________________________
นิธิ: ทำไมคุณถึงเข้าไปอยู่ในวงการศิลปะได้วิชญ์: พอกลับมาเมืองไทย ก็เอาสิ่งที่เรียนมาลองปรุงรสเป็น video installation media ตามแบบฉบับของตัวเอง ลองหาวิธีทำให้งานของผมคุยกับคนในสังคมได้ และเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ต่างชาติสนใจว่ารสชาติ media art แบบไทยๆ เป็นอย่างไร เพราะปกติงานของฝรั่งจะเป็นเฟรมผ้าใบสีขาวธรรมดาๆ แต่เราอยู่ในเมืองไทย ซึ่งมีฉากหลังเป็นตลาด มีเสียงรถวิ่ง ห้องก็ไม่ค่อยสวย งานก็ต้องมาอัดๆ โชว์กัน ผมก็ต้องปรับตัวเอง สุดท้ายแล้วสิ่งที่เอามาใช้ทั้งหมดคือวิชาสถาปัตย์ ซึ่ง installation ที่ผมทำก็เหมือนวิชา design fundamental สมัยเรียนปีหนึ่งนั่นเอง ดูๆ ไปแล้ว ผมก็เริ่มจะมากลายพันธุ์ที่เมืองไทยล่ะครับ
นิธิ: พวกสถาปัตย์ทำอะไรได้หลายอย่างรอบตัว แต่ว่าไม่เก่งจริงๆ สักอย่าง ซึ่งผมเคยอ่านเจอในหนังสือว่าคุณเปรียบตัวเองเหมือนเป็ด
วิชญ์: ยอมรับว่าตัวเองเป็นแบบนั้น คือผมมีความสนใจเยอะมาก พอเห็นอะไรใหม่ๆ ก็เหมือนเจอของเล่น พอดีมีคำว่า multi-disciplinary เข้ามาในยุคที่ผมไปเรียนปริญญาโท เหมือนการสร้างความชอบธรรมที่ดีให้กับเป็ดอย่างผมได้มีทางออก (หัวเราะ) แต่ข้อเสียคือถ้าพื้นฐานไม่แข็งก็แย่อีก มีเป็ดเยอะๆ ทำให้บูรณาการได้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญก็ไม่รู้จะบูรณาการไปทางไหน
นิธิ: หลังจากเรียนจบแล้ว มาทำอะไรต่อ
วิชญ์: ทำบริษัท Ewit รับออกแบบเว็บไซต์ จากนั้นก็มาเปิด Duck Unit รับงานออกแบบที่หลากหลายประเภทมากขึ้น อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้
นิธิ: มาเปิดสตูดิโอของตัวเอง เจอปัญหาอะไรบ้างไหม
วิชญ์: ที่ผ่านมาผมทำเองทั้งหมด ไม่รู้จักระบบการจัดการ ไม่รู้ว่าสายงานของผมมีสูตรเฉพาะอย่างไร ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะคอยบอกตัวเองว่าแอนิเมชั่นเป็นศาสตร์ใหม่ที่เราต้องคิดขึ้นมาเอง แต่ความจริงแล้วก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Pixar Animation Studios ของดิสนีย์ที่เขาทำกันเป็นระบบ ต้องมีการบริหารจัดการบุคลากร ซึ่งผมทำไม่ได้เลย ถ้ามีโปรเจ็กต์เข้ามาเยอะๆ ก็ทำไม่ไหว เพราะไม่มีลูกน้อง ต้องทำเองตลอดเวลา เหนื่อยเหมือนกันครับ
______________________________
นิธิ: ผลงานที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย
วิชญ์: เริ่มจากงาน My Map ผมทำออกมาในลักษณะของแผนที่เพื่อบอกเล่าถึงความเป็นเมือง มีภาษาของสถาปัตยกรรมอยู่ในนั้นมาก จากนั้นก็ทำนิทรรศการชื่อ Fruit ทำเป็นโมเดลกระดาษรูปผลไม้ โดยทำ template เป็นแผ่นๆ ให้คนมาต่อเป็นรูปผลไม้ เพื่อเอามาแลกกับผลไม้จริง ถ้าดูจากโครงสร้าง template แล้ว ก็คงต้องเรียนสถาปัตย์มาถึงจะขึ้นฟอร์มได้ เหมือนเวลาขึ้นฟอร์มโมเดล งานนี้ไปโชว์ครั้งแรกที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตะวันออกกลาง ศิลปินยุโรปหรืออเมริกามักจะมีอคติกับพื้นที่แถวนี้ ส่วนผมไม่ได้คิดอะไรอยู่แล้ว ที่เลือกผลไม้เป็นสื่อเพราะคิดว่าเป็นกลางที่สุด ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่สุดแล้ว แล้วเป็นวัตถุในแง่บวก พูดคุยกันได้หมดกับทุกคนในโลกนิธิ: งานนี้เคยไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่นด้วยใช่ไหม
วิชญ์: ไปโยโกฮามาครับ แต่เดิมเมืองนี้มีสไตล์เป็นแบบตะวันตก ซึ่งพวกเขาต้องการจะทำให้ภาพพจน์ของพื้นที่ตรงนั้นดีขึ้น ก็เลยพยายามสร้างสตูดิโอหลายๆ ที่ ให้ศิลปินไปแสดงงานตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเราต้องคิดสูตรเศรษฐกิจขึ้นมา ให้ template ผมไม้นี้ขายเท่าราคาจริงได้ สมมติว่ากล้วยจริงๆ 100 เยน ฉะนั้น template ก็ต้อง 100 เยน ซึ่งต้นทุนจริงๆ แค่ 15 เยนเท่านั้น ซึ่งผลตอบรับดีมากครับ
นิธิ: คุณออกแบบเวทีคอนเสิร์ตด้วยใช่ไหม
วิชญ์: ใช่ครับ เริ่มต้นจากไปทำ backdrop ให้เวทีคอนเสิร์ตของทีโบน โดยเอา thesis ตอนปริญญาโทของผมมาทำ ใช้ vocabulary ทั้งหมด เอาฟุตเทจที่เคยทำมายำให้ดูสนุกมากขึ้น ผมคิดว่าสาระอาจเปลี่ยนได้ เช่นให้ดนตรีเป็น caption ของงานผม เหมือนสร้าง platform ว่าคอนเสิร์ตคือที่แสดงงานศิลปะของผม ซึ่งผมค่อนข้างสนใจแนวดนตรีในยุคช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา
นิธิ: อะไรที่ทำให้คุณสนใจเรื่องดนตรีจริงจัง ถึงขั้นมีแรงบันดาลใจมาออกแบบเวทีคอนเสิร์ต
วิชญ์: เริ่มจากคลื่นวิทยุแฟตเรดิโอ (FM. 104.5) ชักชวนให้ผมไปจัดแสดงในงานแฟตเฟสติวัล ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่แค่แสดงดนตรีอย่างเดียว แต่เป็นเหมือน creative industry complex สำหรับนักสร้างสรรค์ทุกคน เหมือนยุคแรกที่พวกซูโม่ฯ ไปทำทีวี ก็เหมือนว่ายังเป็นช่วงที่มีผ้าใบขาวๆ อยู่ แล้วเราก็ไปเล่นไปทำอะไรกันได้ จากนั้นผมก็ค่อยๆ คิดเพิ่มเรื่อยๆ จนเวทีคอนเสิร์ตกลายเป็นเหมือนของตาย ข้อดีของคอนเสิร์ตคือเป็นงานซึ่งทำรายรับเข้ามาได้ ฉะนั้น ผมอยากจะได้อุปกรณ์อะไร อยากทดลองอะไร ก็ขอได้หมด น้องๆ ที่ทำด้วยกันก็ได้ practice กับอุปกรณ์จริง ภายใต้ระยะเวลาการทำงานจริงๆ
นิธิ: ใครเป็นคนต้นคิดเรื่องแฟตเฟสติวัล เขาจัดมากี่ครั้งแล้ว
วิชญ์: 7 ครั้งแล้วครับ พี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เป็นคนริเริ่ม ตอนนี้ก็เป็นพี่จ๋อง (พงษ์นรินทร์ อุลิศ) เริ่มจากเห็นว่ามีคนฟังเยอะ แต่สปอนเซอร์กลับไม่มีเลย ก็เลยจัดเทศกาลขึ้น แล้วเรียกสปอนเซอร์มาดู เขาก็ชอบ เพราะว่างานสนุก จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เคยทำก็เป็นโปรเจ็กต์ที่เอาแผนที่มาใช้ คือผมชอบแผนที่อยู่แล้ว เห็นหลายประเทศมีแผนที่ใหญ่ๆ ก็อยากให้เมืองไทยมีบ้าง เลยเสนอในงานแฟตเฟสติวัล ไปว่าอยากทำแผนที่ใหญ่ๆ ขนาด 12X12 เมตร แล้วก็ทำ tag sticker ให้คนมาเขียนข้อความแปะลงไปตามพื้นที่ต่างๆ เราก็เห็นเลยว่าบริเวณไหนที่วัยรุ่นนิยมที่สุด เช่น แถวสยามหรือมาบุญครอง ก็จะมีข้อความเหล่านี้มาแปะเยอะหน่อยนิธิ: ทำคอนเสิร์ตให้ใครอีกบ้าง
วิชญ์: โมเดิร์นด็อกครับ ผมได้แนวคิดในการออกแบบ backdrop มาจากเกมโชว์พลิกแผ่นป้าย โดยข้างหลังใช้คนพลิกแผ่นป้ายอยู่ ค่อยๆ ไล่พลิกเหมือนสแตนเชียร์แปรอักษร ใช้พู่เชือกฟางมาเป็นอุปกรณ์ แล้วก็มีคอนเสิร์ตของวงพรู ที่ใช้กระดาษ A3 คลิปหนีบกระดาษและลวดสปริง มาสร้างสเปซแบบเป็นวงล้อมขึ้นมา ที่ใหญ่หน่อยก็คือคอนเสิร์ต B-Day จัดที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน คนดู 40,000-50,000 คน ใช้โปรเจกเตอร์ถึง 45 ตัว เริ่มเป็นยุค media façade พอดี ผมได้ชวนแจ็ค (ปิตุพงษ์ เชาวกุล) สถาปนิกบริษัท thisdesign มาร่วมด้วย อย่างดนตรีก็มีพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มาช่วย เขาก็เข้าใจ เพราะว่าพื้นฐานเป็นสถาปนิกเหมือนกัน ทำมาหลายคอนเสิร์ตแล้วครับ จนเริ่มกลายเป็นมาตรฐานไปแล้วว่าคอนเสิร์ตจะต้องมี visual art
นิธิ: คุณช่วยด้วงออกแบบร้าน true ที่สยามพารากอนด้วยใช่ไหม
วิชญ์: ครับ เป็นช่วงที่นิยม media façade พวกไฟประดับอาคารต่างๆ ผมเลือกใช้ flip dot ต่อสายเข้ากับ supply ที่ทำขึ้นเอง ต้องเขียนโปรแกรมเอง เพื่อหาวิธีที่ทำให้สัญญาณจากคอมพิวเตอร์มาถึง flip dot เพื่อให้มันพลิกด้านแล้วเห็นคำว่า true หลังจากที่ทำไปแล้วตอนนี้ที่ซิดนีย์กับอังกฤษก็มีเหมือนกันครับ (หัวเราะ) อีกอันที่น่าสนใจและได้ไปแสดงที่ต่างประเทศเยอะมาก คือโปรเจ็กต์ over head night club ทำกับ จิโร่ อันโดะ เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่น ทำเป็น black box ใหญ่ๆ ลอยอยู่ เจาะรูข้างล่าง ต้องมุดเข้าไป ข้างในเป็นเธคเฉพาะส่วนหัว เรียกว่า over head night club จากสมมติฐานง่ายๆ คือ เวลาไปเต้นเราจะอายๆ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นว่าเราเต้นท่าไหน ก็เลยตัดให้หัวอยู่ข้างบน (หัวเราะ)
นิธิ: ทั้งหมดคือ piece of art ที่คนเข้าไปดูได้
วิชญ์: ใช่ครับ ซึ่งผมก็อยากทดลอง พอต่างประเทศเห็นแล้วก็ชอบ บางงานผมก็เอาไปจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ เป็นข้อพิสูจน์ว่าผมได้ข้ามขอบเขตมาสู่งานศิลปะแล้ว จากจุดเริ่มต้นที่ทำงานศิลปะให้เป็นงานแสดง แล้วก็มาจบลงที่ทำงานให้เป็นงานศิลปะได้
นิธิ: นอกจากคุณแล้ว มีคนอื่นที่ทำงานแบบนี้ไหม
วิชญ์: ตอนนี้เริ่มมีเยอะเหมือนกันครับ หลายคนก็เป็นน้องๆ คณะที่ทำมาด้วยกัน พอเริ่มเป็นมาตรฐานแล้ว ก็จะเริ่มเข้าสูตรการตลาดเดิมว่าวงนี้อยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะว่า ผมทำคนเดียว ปีนึงทำได้ไม่เกิน 3 วง ก็เบื่อแล้ว เลยต้องไปหาเทคนิคใหม่ๆ มาตลอด หลายคนก็บอกว่าทำไมไม่เปิดเป็นบริษัทรับออกแบบคอนเสิร์ตเลยจริงๆ แต่ผมก็กลัวเรื่องการบริหารจัดการ กลัวการที่ต้องมานั่งทำอะไรซ้ำๆ เป็นกิจวัตร ท้ายที่สุดก็เป็นธุรกิจ ที่ผมคงรับไม่ได้ อดทนไม่พอนิธิ: เป็นคนเบื่อง่ายหรือเปล่า
วิชญ์: ใช่ครับ ถ้าทำเหมือนเดิมบ่อยๆ ก็ไม่สดแล้ว ผมกลัวว่าอาจต้องมานั่งทำคอนเสิร์ตไปเรื่อยๆ
_____________________________
นิธิ: ตอนนี้มีโปรเจ็กต์อะไรที่สนใจจะทำบ้าง
วิชญ์: ผมอยากทำนิทรรศการเรื่องบ้านของศิลปิน หรือประติมากรรมต่างๆ ที่ศิลปินหรือสถาปนิกทำ ซึ่งจะมีความแตกต่างระหว่างมุมมองของสองอาชีพนี้ อย่างประติมากรรมที่ศิลปินทำจะ self contain อยู่ตัวคนเดียว ไม่คุยกับใคร ไม่ตอบรับอะไรกับข้างนอกแล้วเขาก็เชื่อว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างนั้นบริสุทธิ์ แต่ถ้างานชิ้นไหนที่เราดูแล้วรู้สึกว่ามีการคุยกันระหว่างงานกับคนดู แสดงว่าคนที่สร้างนั้นมีพื้นฐานด้านสถาปัตย์มาก่อน
นิธิ: ตอนนี้ผมกำลังทำหนังสือรวบรวมบ้านศิลปิน เป็นบ้านที่ศิลปินเป็นคนออกแบบเอง อย่างคุณถวัลย์ ดัชนี คุณไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ คุณชาติชาย ปุยเปีย ก็น่าสนใจ เพราะที่ผ่านไม่ค่อยมีโอกาสเห็น detail ของบ้านมากนัก อย่างบ้านคุณถวัลย์ก็มี detail เยอะมาก เขาคิดแบบที่เราไม่เคยคิดถึง แม้ว่าจะออกมาเป็นแบบล้านนา แต่ว่าก็เป็นตัวของคุณถวัลย์ หรืออย่างบ้านของคุณจักรพันธุ์ โปษยกฤตที่ดูเรียบๆ แต่น่าสนใจด้วยผลงานของเขา ชีวิตเขาน่าสนใจ ผมก็เลยจะเอามารวมไว้ด้วย
วิชญ์: อีกคนที่น่าสนใจคืออาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วไปอยู่เนเธอร์แลนด์ ภาพเขียนของเขาดูแล้วมีโครงสร้างเหมือนงานสถาปัตย์ ส่วนบ้านของเขาถึงจะดูหนักเรื่องโครงสร้างก็จริง แต่ก็ยังมีอะไรแปลกๆ น่าสนใจออกมาด้วย ผมว่าศาสตร์ด้านดีไซน์กับศิลปะมันไหลเวียนกันได้ บางทีดีไซน์ก็มีความสัมพันธ์บางอย่างที่ศิลปะไม่มี มันไม่ได้มองเรื่องผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มองเรื่องปัจจัยภายนอกด้วย อย่างงานของผมเองก็มีภาษาในสถาปัตยกรรมอยู่ด้วยเหมือนกัน
____________________________________
นิธิ: อะไรที่ทำให้คุณเป็นที่รู้จัก เพราะตอนนี้คุณกลายเป็นศิลปินระดับอินเตอร์ฯ ไปแล้ว
วิชญ์: ผมว่าก็เหมือนเราไปลงทะเบียนเว็บโป๊ไว้ (หัวเราะ) แล้วก็จะมีอีเมลล์ขายไวอากร้าส่งมาหาตลอดเวลา วงการศิลปะก็คล้ายๆ กัน คือแคบมาก พอเป็นที่รู้จักหรือมีคนพูดถึงบ่อยๆ คนทั่วไปก็พอจะรู้แล้วว่าคนนี้คือใคร เวลาฝรั่งมาเมืองไทย เขาก็จะมีชื่อศิลปินไทยอยู่ในหัว อย่างพี่ฤกษ์ฤทธิ์ ติระวนิช พี่นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล อาจารย์สุรสีห์ กุศลวงศ์ รุ่นใหม่ก็มีผมกับพรทวีศักดิ์ ริมสกุล ปรัชญา พิณทอง แต่ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้ฝึกเพื่อมาเป็นศิลปินโดยตรง
นิธิ: คุณได้ไปเวนิส เบียนนาเล่ (La Biennale di Venezia) ไหมวิชญ์: ไม่ได้ไปครับ ตอนนี้เบียนนาเล่ (Biennale) กลายเป็นเหมือนโรงเรียนศิลปะแล้ว ศิลปินบางคนแค่เดินทางไปทุกเบียนนาเล่ก็หมดปีแล้ว เยอะมากเหมือนกัน
นิธิ: เล่าให้ฟังหน่อยว่าเบียนนาเล่คืออะไร
วิชญ์: คือการจัดแสดงงานนิทรรศการที่เกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี นอกเหนือจากงานศิลปะแล้ว ก็ยังมีงานดีไซน์ มีงานสถาปัตย์ด้วย เริ่มต้นจากที่เวนิส ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใด กลายเป็นเหมือนกับเทศกาลที่ทุกประเทศในโลกอยากจะมี สิงคโปร์ก็มี ผมเชื่อว่าเมืองไทยกำลังอยากจะมีเบียนนาเล่อยู่เหมือนกัน อย่างแฟตเฟสติวัลก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกปี ผมก็ได้ชวนเพื่อนศิลปินที่ทำงานในแบบที่เด็กๆ ดูได้ง่ายๆ เข้าไปโชว์ เพราะตั้งใจจะสร้างฐานผู้ชมให้เยอะขึ้น
นิธิ: การที่คุณได้ไปจัดแสดงงานในต่างประเทศหลายๆ ครั้ง ก็เหมือนไประบายออก รวมทั้งได้ไปหาไอเดียต่างๆ ได้ไปเห็นคนอื่นทำงานด้วย
วิชญ์: แต่ได้แค่ผมคนเดียวเองครับ ตอนนี้ถ้าผมอยู่คนเดียวก็อยู่ได้ พอมีเงินเก็บนิดๆหน่อยๆ
นิธิ: เวลาไปจัดแสดงงานที่ต่างประเทศต้องมีทีมไหม
วิชญ์: แล้วแต่กรณีครับ ถ้าสเกลงานใหญ่ก็ต้องมีทีมงานไป
นิธิ: เคยมีปัญหาในเรื่องของการสื่อการกับคนที่เข้ามาชมงานศิลปะของเราไหม
วิชญ์: อาจจะเป็นข้อดีของการทำทีวีหรือเล่นตลก คืองานผมจะต้องมีเสี้ยวหนึ่งที่คนดูแล้ว get หรือตลก คือคุณอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด หรือไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างที่เราคิดก็ได้ งานต้องยืนได้เองโดยที่เราไม่ต้องไปคอยอธิบาย
__________________________
นิธิ: คุณเคยมีความคิดอยากเป็นสถาปนิกบ้างไหม
วิชญ์: สมัยเริ่มเล่นละครคณะตอนปี 2 ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรที่น่าสนใจกว่าวิชาสถาปัตย์ ทำให้ตัดสินใจไปทำทีวี เพราะคิดว่าเป็นที่ๆ จะทำอะไรก็ได้ อย่างสถาปนิกจะสร้างตึกแต่ละทีก็มีข้อจำกัดเยอะเหลือเกิน ซึ่งจริงๆ แล้วพอไปทำทีวีก็เจอข้อจำกัดเหมือนกัน เช่น คำว่า mass กับไม่ mass เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีข้อจำกัดหมด ปัจจุบันนี้หนีมาศิลปะ ซึ่งนึกว่าอิสระที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเหมือนกัน
นิธิ: อะไรคือข้อจำกัดของวงการศิลปะ
วิชญ์: คำว่าศิลปะ มันขังตัวเองเยอะเกินไป เช่น กลัวดูไม่เป็นศิลปะนิธิ: ศิลปินกลัวคำวิจารณ์ไหม
วิชญ์: ผมว่ากลัว ศิลปินถูกฝึกมาให้เป็นอิสระจากทุกอย่าง เป็นอิสระจากจินตนาการ สิ่งเดียวที่ทำไม่ได้ คือเขาไม่เป็นอิสระจากคำว่าศิลปะ เขามีกรอบ เขาโดนขัง ผมคิดว่าศิลปินโดนศิลปะขังอยู่หลายคน
นิธิ: แล้วคุณฉีกออกมาได้อย่างไร
วิชญ์: ผมไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อเป็นศิลปิน เป็นความโชคดีที่เรียนมาทางด้านสถาปัตย์ หลายคนที่เรียนศิลปะโดยตรงก็จะติด แต่บางคนที่เรียนด้านอื่นมา ก็จะมองได้ในแบบอื่นๆ
นิธิ: คุณได้พื้นฐานมาจากความเป็นสถาปนิก ซึ่งแตกต่างจากศิลปินทั่วไป ทุกวันนี้คุณมีวิธีเลือกรับงานอย่างไร
วิชญ์: เลือกทำตามที่อยากทำครับ ผมว่าแทนที่จะต้องเสียเวลามาเถียงกับคนที่ไม่เข้าใจงานของเรา ก็สู้เอาเวลาไปคิดงานต่อดีกว่า ปีนึงทำ 2-3 งานก็พอแล้ว มีความสุข
นิธิ: สรุปแล้วคุณชอบงานแบบไหนมากที่สุด
วิชญ์: ผมชอบทำงานที่เล่นกับมันได้ หรือว่าเปรียบเทียบระหว่างสเปซ 2 แบบ ตอนจบใหม่ๆ ผมก็บ่นว่าทำไมลำบากจัง เป็นช่วงที่คิดจะเอาดีทางกราฟิก ต้องออกไปขายลูกค้า พอเขาไม่เข้าใจ ก็โทษว่าเราต้องมาทำอะไรเองทั้งหมด ทำไมคนยุคก่อนหน้าไม่ทำอะไรให้เราเลย จริงๆ เขาก็ทำไว้เยอะ แต่ว่าเราไม่ได้เก็บเอง ผมเลยตั้งใจว่าจะทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานสบายกว่านี้ เหมือนที่พี่เต้ยทำไว้อยู่แล้ว ถ้าไม่มี A49 ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้วงการสถาปัตย์จะเป็นอย่างไร
______________________________
นิธิ: อายุเท่าไหร่แล้ว
วิชญ์: 32 ปี ครับ
นิธิ: ยังทำงานได้อีกนาน ชีวิตเพิ่งเริ่ม จากนี้ไปคุณต้องหาแนวทางที่ชัดเจนแล้ว ตอนนี้ที่คุณอยู่ได้ด้วยอะไร มีงานก็ทำ ไม่มีงานก็ไม่มีอะไรทำเหรอวิชญ์: มีค่าคอมมิชชั่นอยู่บ้างครับ 50% ของรายได้มาจากโชว์งานต่างประเทศ อีก 25% ได้จากทำแฟตเฟสติวัล แล้วก็ได้ค่า curator โปรเจ็กต์บ้าง อีก 25% ก็คือโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะมีเข้ามา ตอนนี้ยอมรับแล้วว่ามาทางด้านนี้แล้ว ผมกำหนดหน้าที่ของตัวเองไว้ว่าจะเป็นศิลปิน ตอนนี้ทำงานกึ่งศิลปะ อยู่ได้ด้วยคอมมิชชั่น อย่างไปต่างประเทศก็จะได้คอมมิชชั่นประมาณ 2,500 เหรียญ หรือซัก 2,000 ปอนด์ แล้วแต่กรณี ถ้าสำหรับผมคนเดียวก็พออยู่ได้
นิธิ: เป็นค่า production cost ด้วยหรือเปล่า
วิชญ์: ไม่ครับ เป็นแค่ค่า fee ส่วนค่า production cost ต่างหาก อย่างปีที่แล้วมี 6 งาน ปีนี้มี 4 งาน ส่วนใหญ่เป็นงาน installation
นิธิ: มีโครงการอะไรที่คิดจะทำต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้าไหม
วิชญ์: ตอนนี้อยากแสดงศิลปะให้แน่นก่อน ผมตั้งใจจะเป็นศิลปินอยู่เมืองไทย ผมเชื่อว่าอาจจะทำให้ผมประสบความสำเร็จในความเป็นศิลปิน ศิลปินคนอื่นที่พอจะมีชื่อเสียงก็ไปอยู่ต่างประเทศ ทำให้มีวิธีคิดแบบต่างประเทศ แต่ผมทำศิลปะเพื่อให้คนอื่นดูก็จริง แต่ที่สำคัญคือผมอยากให้คนไทยได้ดูด้วย
นิธิ: ผมก็เชื่อว่าท้ายที่สุดพวกเขาก็จะกลับมาอยู่เมืองไทย ไม่มีที่ไหนที่สุขเท่าเมืองไทย คุณเป็นคนน่าสนใจมากเป็นคนไทยที่บุกเบิกทำเรื่องพวกนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต่อไปจะทำอะไรให้กับประเทศชาติได้อีกเยอะ แล้วก็นำทางให้คนรุ่นหลังด้วย อย่างที่คุณว่า ถ้ามีคนนำแล้ว คนหลังๆ จะได้มีความคิดจะทำอะไรให้ดีขึ้นไปอีก
Conversations with Architects Series :
คุยกับสถาปนิกกลายพันธุ์เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่า วิชาชีพที่เขาแบ่งให้เราเรียนทุกวันนี้ มันเหมาะกับตัวเราแล้ว
ผู้เขียน นิธิ สถาปิตานนท์ , เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
สำนักพิมพ์ : ลายเส้น พับบลิชชิ่ง, บจก
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (เอ๋)
นักเขียนอิสระ(Writer)/นักสร้างสรรค์งานโฆษณา(Creative)
โดยส่วนตัวแล้ว เขาไม่เรียกตัวเองว่านักเขียน
แต่เป็นเพียงคนเล่าเรื่อง ที่เสนอความคิดโดยใช้ตัวหนังสือ
เป็นสื่อว่างกว้างก็หาเวลาไปเปิดหูเปิดตานอกบ้าน
หาเรื่องใหม่ๆ มาประดับสมอง
ว่างแคบก็ขยันเพิ่ม มองหาสิ่งต่างๆรอบตัว
มาถมสนามในใจให้เรียบพอวิ่งเล่นได้
ไม่ว่าจะจากที่ไกลหรือในบ้าน
เขาไม่ลืมที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คนแวดล้อมได้รับรู้
วันคืนปกติ สราวุธยังคงขยับนิ้วกลมๆ เขียน —เพื่อรอเล่าเรื่องต่อๆไป…
เกียรติศักดิ์ : ในฐานะที่เป็นนักเขียนที่มีความรู้เรื่องโฆษณา เคยรู้สึกไหมว่า งานเขียนของเรา จะต้องคำนึงถึงหลักการโฆษณาด้วยเหมือนกัน เช่นต้องคิดว่าเล่มไหนจะขายได้เท่าไหร่ หรือเขียนอย่างไรถึงจะขายดี
สราวุธ : เวลาเขียนหนังสือพยายามเขียนให้มันออกมาจากตัวเราก่อนครับ เพราะตอนทำโฆษณาก็ทำงานตามโจทย์มาตลอดอยู่แล้ว ตอนทำงานเขียนก็อยากให้เป็นสิ่งที่ออกมาจากตัวเราจริงๆ แต่โดยธรรมชาติของตัวเอง และจากที่เรียนสถาปัตย์มา ก็คิดว่าไม่ได้ทำงานตามใจตัวเองเท่านั้น แต่คิดถึงผู้คนที่จะมาใช้ผลงานที่เราออกแบบด้วย หากจะคิดคงไม่ได้คิดถึงการตลาดครับ เรียกว่าคิดถึงคนอ่านมากกว่า
เกียรติศักดิ์ : คิดได้โดยอัตโนมัติหรือเปล่า
สราวุธ : เหมือนถูกสอนให้คิดถึงผู้ใช้มาตลอดครับ พอมาเขียนหนังสือก็เหมือนกับออกแบบเก้าอี้ เราไม่ได้แค่ต้องการเก้าอี้หน้าตาแปลกๆ เท่ๆ เท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าคนนั่งจะนั่งสบายไหม เวลาเขียนก็คิดถึงคนอ่านว่าเขาอ่านแล้วจะเข้าใจไหม จะรู้สึกเท่าที่เรารู้สึกหรือเปล่า
เกียรติศักดิ์ : อะไรที่เป็นตัวคุณมากกว่ากัน ระหว่างนักเขียนกับครีเอทีฟโฆษณา
สราวุธ : ถ้าแบ่งการสื่อสารออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือส่วนเนื้อหากับส่วนนำเสนอ ผมว่าการเขียนหนังสือ ของผมจะเน้นไปส่วนเนื้อหา แต่โฆษณาจะเน้นไปทางการนำเสนอ ซึ่งจริงๆแล้ว มันเป็นตัวผมทั้งสองอย่าง ผมได้คำตอบนี้ตอนอยู่ที่ลอนดอน เพราะว่าไม่เคยหยุดทำงานนาน 6-7 เดือนอย่างนี้เลย พอไปอยู่ที่โน่นมีวันนึงที่รู้สึกเหมือนเป็นเมนส์ หงุดหงิด หาสาเหตุไม่ได้ จนได้มาอ่านหนังสือชื่อ The Artist’s Way เขาแนะนำว่าให้ระบายความรู้สึกด้วยการจดบันทึกทุกเช้า คล้ายๆกับการตื่นมาขี้ตอนเช้า ที่ผ่านมาเราไม่ได้ขี้ทางความคิดเท่าไหร่ ไม่ได้ฟังเสียงตัวเองจริงๆ แล้วมีอะไรที่ไม่ได้ระบายออกมาบ้าง พอได้เขียนออกมาก็เหมือนได้สำรวจตัวเอง จนพบว่ามีอย่างนึงที่ไม่ได้ทำ ก็คืองานโฆษณา เหมือนสมองซีกขวาหยุดทำงานไป 6 เดือน รู้สึกเลยว่างานโฆษณาจำเป็นในชีวิตเหมือนกัน ทำให้เราได้คิดอะไรที่เป็นจินตนาการนอกกรอบ ไม่ต้องใช้หลักเหตุผลมาก ต่างจากการเขียนบทความหรือคอลัมน์ซึ่งต้องเชื่อมโยงเหตุและผลเข้าด้วยกัน ค่อนข้างเยอะ พอคิดได้อย่างนั้น ก็รู้สึกโชคดีที่ได้ทำอาชีพที่ได้ใช้ทั้งสมองซีกขวาและซีกซ้ายไปพร้อมๆกัน
เกียรติศักดิ์ : สมมติวันนึงเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทโฆษณาไล่ออก ต้องออกมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพหลักจริงๆ จะไหวไหม คงจะต้องมีแรงกดดันมากขึ้นไปอีกหรือเปล่า
สราวุธ : ผมว่านิสัยอย่างนึงที่ได้มาจากสถาปัตย์และการทำงานโฆษณาก็คือความอดทนและ ความมีวินัย เพราะว่าก่อนเข้าสถาปัตย์ก็ ไม่ได้อึด ไม่ได้ถึกขนาดนี้ แต่พอถูกฝึกให้นอนดึก ถูกฝึกให้ต้องส่งโปรเจ็กต์ให้ตรงเวลา ทำให้ต้องมีวินัยมากขึ้น ยิ่งทำงานโฆษณายิ่งแล้วใหญ่ เพราะว่าลูกค้าต้อง launch campaign ตามตาราง อย่างเรื่องเขียนหนังสือ ผมก็มีตารางล่วงหน้าไว้คร่าวๆ เหมือนกัน ว่าปีนี้จะมีเล่มไหนออก ปีหน้าจะมีเล่มไหน ก็กำหนดวันส่งโปรเจ็กต์กับตัวเองเอาไว้ด้วย ยิ่งไม่มีอาจารย์มาจ้ำจี้จ้ำไชก็ยิ่งต้องมีวินัยกับตัวเอง หากต้องเลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียวก็คงต้องทำงานให้สม่ำเสมอและ มีวินัยมากๆครับ
เกียรติศักดิ์ : ถ้าถึงวันนึงที่จำเป็นต้องเลือกทำซักอย่าง บอกได้ไหมจะเลือกอะไร
สราวุธ : ถ้า ต้องเลือกจริงๆ ก็เลือกเขียนหนังสือครับ ผมว่าแต่ละคนก็มีสิ่งที่อยู่ข้างในไม่เหมือนกัน คนๆนึงจะมีคุณค่าต่อเมื่อได้เป็นตัวเอง การเขียนหนังสือเป็นการบอกเล่าความคิดของเราออกไป เป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าเรามีค่า เราตอบตัวเองได้ว่าทำไมจึงต้องมีเราอยู่บนโลกนี้ ก็เพราะเราเป็นเรา และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น ถ้าเกิดว่าเราอยู่เพื่อที่จะเป็นอย่างคนอื่น เราจะรู้สึกกับตัวเองว่า แล้วคุณค่าของเราคืออะไร !!!
พบกับบทสัมภาษณ์ เหล่า "สถาปนิกกลายพันธุ์" ของ ว่าที่สถาปนิก ที่ทุกคนล้วน จบการศึกษา จากสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่กลับเลือกจะไม่เป็นสถาปนิกตามที่ร่ำเรียนมา! พวกเขาประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็น ผู้กำกับภาพยนตร์ บรรณาธิการนิตยสาร ช่างภาพ นักเขียน นักแต่งเพลง ศิลปินอิสระ นักดนตรี และดีเจ ซึ่งผู้อ่านหลายๆ คนอาจจะคุ้นหน้าคุนตากันดีอยู่แล้ว แต่ก็มีบางคนที่คุณอาจจะไม่ทราบ หรือคาดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าพวกเขาเหล่านี้จบสถาปัตย์มา! เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพวกเขา? เหตุใดจึงทิ้งวิชาสถาปัตยกรรมที่เคยร่ำเรียน มาเอาดีทางด้านอื่น? แล้วพวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพเหล่านั้นได้อย่างไร? ติดตามเรื่องราวของเหล่าสถาปนิกกลายพันธุ์ทั้งหมดได้ในเล่ม