Custom Search

Jun 13, 2009

ความกตัญญู


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552




ท่านผู้รู้กล่าวว่า คนที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าและมีความสุขในชีวิตนั้น
จะต้องเป็นคนเก่งด้วย เป็นคนดีด้วย
ลำพังความเก่งอย่างเดียวเป็นได้ไม่ยาก
ยิ่งการศึกษาเล่าเรียนด้วยแล้วมิใช่เรื่องยาก เพราะ "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด"
ใครขยันเรียนหรือโอกาสอำนวย ก็สามารถเรียนจบปริญญาสูงๆ ได้อย่างสบาย
ที่พูดนี้กำลังจะบอกว่า ความเป็นคนเรียนเก่งนั้น ทำได้ไม่ยาก
แต่ความเป็นคนดีเป็นได้ยาก เพราะท่องเอาไม่ได้เหมือนเรียนหนังสือ
ความดีที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นคน คือ ความกตัญญูกตเวที
ดังที่พระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
ภูมิ เว สปฺปุริ สานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความกตัญญูเป็นพื้นของคนดี
หรือมหาสมณสุภาษิตว่า
นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
เวลาเขาสร้างตึกรามสูงๆ ก่อนอื่นเขาจะต้องตอกเสาเข็มวางรากฐานให้มั่นคงแข็งแรงเสียก่อน ยิ่งจะสร้างตึกหลายชั้นเท่าใดฐานตึกยิ่งต้องให้มั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น หาไม่แล้วตึกอาจพังครืนลงมาเมื่อใดก็ได้ คนเราก็เช่นกัน จะดูว่าใครจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ดูกันที่ "พื้น"
หรือรากฐานเบื้องต้นของชีวิตนี่แหละครับ
ถ้าพื้นไม่ดีถึงจะเก่งกาจสามารถปานขงเบ้ง (เขาว่าขงเบ้งแกฉลาด) ก็ไปไม่รอด
พื้นที่ว่านี้ก็คือ ความกตัญญูกตเวที

กตัญญู คือ ความรู้หรือตระหนักในคุณความดีที่คนอื่น (หรือสิ่งอื่น) มีต่อตน
เป็นความรู้สึกภายในจิตใจ

กตเวที คือ การประกาศให้คนอื่นรู้ว่าคนอื่น สิ่งอื่นมีบุญคุณต่อตน ซึ่งเราแปลกันทั่วไปว่า
"การตอบแทนบุญคุณ" ความจริงศัพท์เดิมเขาใช้ครอบคลุมดี เพราะ "การตอบแทน" นั้น
มิได้อยู่เพียงแค่การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบหรือให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบ
หากรวมถึงการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าคนคนนั้น สิ่งๆ นั้น มีบุญคุณต่อตนอย่างไรด้วย สมมุติ
เช่น นาย ก. ได้ช่วยเหลือนาย ข. นาย ข.รู้สำนึกในบุญคุณของนาย ก. อย่างนี้เป็นกตัญญู
นาย ข. มีโอกาสเมื่อใดก็กล่าวสรรเสริญให้คนอื่นฟังว่า นาย ก. ดีต่อตนอย่างใด
อย่างนี้ก็คือเป็นการตอบแทนเหมือนกัน
ขอบเขตของความกตัญญูกตเวทีมิใช่อยู่แค่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น
รวมถึงสัตว์สิ่งของด้วย คนที่เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานตีเสียว่า
เลี้ยงอ้ายทุยคาราบาวก็แล้วกัน ถ้าตระหนักในบุญคุณของมัน ที่มันช่วยไถนาให้มีข้าวกิน
ไม่ใช้แรงงานเกินขอบเขต ให้มันอยู่มันกินตามฐานะอันสมควร
เวลามันแก่เหลาเหย่ใช้งานไม่ได้แล้ว ก็ไม่ฆ่าเอาเนื้อทำเนื้อทุบแกล้มเหล้า
อย่างนี้ก็ถือว่า มีความกตัญญูกตเวทีต่ออ้ายทุยนะครับ
ความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ ก็พึงทราบโดยนัยเดียวกัน
(พูดไปมากกระดาษไม่พอเขียน)

คนที่โค่นป่าทำลายทรัพยากรของชาติกันโครมๆ นั้น เป็นคนอกตัญญูและคนเนรคุณ
ถึงจะเก่งกาจสามารถมากมาย บางคนเป็นใหญ่ถึงระดับรัฐมนตรี รัฐมนโท
พระท่านว่าเป็นคนเลวครับ

ได้พูดถึงขอบเขตของความกตัญญูกตเวทีว่า ครอบคลุมถึงสัตว์และสิ่งของด้วย
ผู้ที่สำนึกว่าสัตว์และธรรมชาติแวดล้อมมีคุณต่อตนเองแล้วไม่เบียดเบียนหรือทำลายสัตว์
และธรรมชาติแวดล้อม นับเป็นคนกตัญญูกตเวทีโดยนัยหนึ่ง

ความกตัญญูกตเวที โดยเฉพาะกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้า ผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญ
สมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งบิณฑบาตได้อาหารมา เอาให้ผู้บังเกิดเกล้ากินก่อน
ตนเองได้ฉันบ้างไม่ได้ฉันบ้าง พระอื่นทราบเรื่อง พากันติเตียนว่า เธอทำไม่เหมาะ
ที่นำอาหารบิณฑบาตไปให้คฤหัสถ์กินก่อน

พระพุทธเจ้าทรงทราบ กลับสรรเสริญภิกษุรูปนั้นว่า ทำถูกแล้ว แม้จะบวชเป็นพระแล้ว
ก็สามารถเลี้ยงบิดามารดาได้ และอาหารที่บิณฑบาตได้มา
ตถาคตอนุญาตให้เอาให้บิดามารดากินก่อนได้
ผู้รู้คุณคนและตอบแทนคุณคนอยู่ไหนก็ได้รับการสรรเสริญและประสบความเจริญ
ตรงข้ามกับความอกตัญญูและคนเนรคุณย่อมจะมีแต่ทางหายนะ ดังเรื่องต่อไปนี้

บุรุษคนหนึ่งเรียนมนต์เสกมะม่วงมาจากจัณฑาลคนหนึ่ง
มนต์นี้สามารถเสกให้ต้นมะม่วงที่เพาะลงดินใหม่ๆ เติบโต
และมีดอกมีผลสุกงอมกินได้ในชั่วไม่กี่นาที อาจารย์ที่เป็นคนจัณฑาลบอกเขาว่า
ถ้ามีใครถามว่าเรียนมนต์มาจากใคร จงบอกตามความเป็นจริง หาไม่
มนต์จะคลายความขลัง เขาก็รับปากรับคำอาจารย์เป็นอย่างดี

วันหนึ่ง กิตติศัพท์ความเก่งกาจของเขาล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์รับสั่งให้ตามเขาเข้าเฝ้า แต่งตั้งให้เขาดูแลสวนมะม่วง
เวลาใดพระราชามีพระประสงค์จะเสวยมะม่วงก็รับสั่งให้เขาเสกถวาย
เขาไปยืนใกล้ต้นมะม่วงร่ายมนต์พักเดียว ก็ได้มะม่วงสุกอร่ามหอมหวนน่ากิน
เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินตรัสถามว่า เขาไปเรียนมนต์นี้มาจากไหน
ครั้นจะกราบทูลว่าเรียนมาจากคนจัณฑาล ก็รู้สึกละอายจึงกราบทูลว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าเรียนมาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกสิลา พ่ะย่ะค่ะ"

โกหกทั้งเพ !

ทันใดนั้น มนต์ที่เขาจำได้คล่องปากขึ้นใจก็อันตรธานหายไปสิ้น
นึกเท่าใดก็นึกไม่ออก วันต่อมา เมื่อพระราชาให้เขาเสกมะม่วงให้เสวยอีก
เขาก็ทำไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความจริงภายหลัง
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษลงอาญาแก่เขาอย่างหนัก และให้เนรเทศออกจากพระนคร
พร้อมรับสั่งว่า

"คนอกตัญญูเลี้ยงไว้ไม่ได้"

ครับ เลี้ยงอสรพิษไว้ในบ้าน ยังไม่อันตรายเท่าเลี้ยงคนไม่รู้คุณคน
โบราณท่านว่าไว้อย่างนั้น

หน้า 6