ติดตามเรื่องราวของ ดอกเตอร์ (ใน) สลัม กับคุณเล็ก พรทิพย์ ปานอินทร์
ที่ได้มุ่งมั่น ตั้งใจเรียนจนได้เป็นดอกเตอร์ ถึงแม้จะเกิดมาในชุมชนย่านคลองเตย
ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนค่ะ
(Clip #โฮมรูม ย้อนหลัง http://youtu.be/BAdBpTP444I) #ThaiPBS
Cr. ภาพจาก Homeroom - รายการโฮมรูม
มติชน
วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552
"การศึกษาและความรู้เท่านั้นที่จะช่วยสร้างทักษะชีวิตและลดช่องว่างความ เหลื่อมล้ำของคนในสังคม" น้ำเสียงยืนยันที่หนักแน่นของ "เล็ก" น.ส.พรทิพย์ ปานอินทร์ วัย 23 ปี อดีตบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเป็นอีกคนที่พิสูจน์กับตัวเองแล้วว่า เมื่อทุกคนมีการศึกษาก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้
สาวเก่งคนนี้เกิดและเติบโตที่ชุมชน 70 ไร่ ในชุมชนคลองเตย พื้นที่ที่คนจากสังคมภายนอกมองว่าเป็นสลัม คุณภาพชีวิตต่ำ ขาดโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งมั่วสุมของยาเสพติด แต่เธอก็พิสูจน์แล้วว่าหากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงใช้โอกาสทางการศึกษา ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดก็สามารถประสบความสำเร็จได้
เล็กย้อนเล่า ถึงชีวิตครอบครัวและการเรียนว่า ครอบครัวฐานะยากจน มีเพียงพ่อ (นายแผ้ว อายุ 61 ปี) คนเดียวที่ทำงานเป็นพนักงานบรรจุหีบห่อของบริษัทแห่งหนึ่งแถวรามคำแหง ส่วนแม่ (นางบุญสาน วัย 63 ปี) เป็นแม่บ้านไม่ได้ทำงานเพราะมีโรคประจำตัว พี่ชายและพี่สาวจึงมีโอกาสเรียนแค่ชั้น ม.3 แล้วออกมาหางานทำ เพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งให้เรียน
คุณแม่บุญสานและครอบครัวร่วมแสดงความยินดี
"เล็กก็เกือบจะไม่ได้เรียน แต่โชคดีได้ทุนจากมูลนิธิดวงประทีป และเรียนค่อนข้างดีจึงได้เรียนสูงกว่าพี่ๆ หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนวัดธาตุทอง ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.94 แล้วสอบเอ็นทรานซ์ติดที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตในชุมชนยอมรับว่าลำบาก วันไหนฝนตกหนักน้ำก็ท่วมซอยต้องเดินลุยน้ำ หากวันใดกลับบ้านดึกต้องให้พ่อออกมารับที่ปากซอย เพราะกลัวคนติดยาเสพติดมาทำร้าย"
เธอเล่าต่อว่า "ตอนเรียนที่จุฬาฯ ค่อนข้างหนักมาก เพราะทุกคนก็เรียนเก่งๆ กันทั้งนั้น ตลอดเวลาที่เรียนไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้เกียรตินิยม หวังเพียงแค่เรียนจบได้รับปริญญาให้พ่อแม่ชื่นใจก็พอแล้ว ซึ่งช่วงสอบจะอ่านหนังสือหนักมากเกรดจึงออกมาดีและเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.86 ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง รู้สึกดีใจมากๆ ที่เด็กสลัมอย่างเราสร้างความสำเร็จให้กับชุมชนได้ ตลอดเวลาที่เรียนไม่ได้ปิดบังว่ามาจากสลัมซึ่งเพื่อนๆ ที่คณะก็ไม่ได้รังเกียจ ถือว่าโชคดีมากๆ ที่มหาวิทยาลัยให้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก ซึ่งครอบครัวสนับสนุนให้เรียนเต็มที่"
ส่วน เคล็ดลับการเรียนเก่งนั้น เล็กบอกอย่างถ่อมตัวว่า ผลการเรียนออกมาดีนั้นไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร ตลอดเวลาที่เรียนไม่เคยไปกวดวิชาที่ไหน เพราะต้องช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่าย จะตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้เข้าใจ หากไม่เข้าใจจะรีบถามอาจารย์ทันที พอกลับถึงบ้านก็ไปทบทวนทำความเข้าใจอีกรอบ และช่วงสอบตั้งใจอ่านหนังสือและจะไม่กดดันตัวเองเวลาสอบ แต่จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด
ทุกวันนี้เธอยังคงมุ่งมั่นกับการเรียน ปริญญาโททุกวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เล็กจะไปทำงานที่คลีนิคย่านรามคำแหง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เล็กบอกว่า ไม่รู้สึกเหนื่อยที่ต้องเรียนและทำงานไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อมีโอกาสทางการศึกษาแล้วต้องทำให้เต็มที่ แต่ขณะเดียวกันเราจะสบายโดยไม่ช่วยครอบครัวเธอก็ทำไม่ได้
"เล็ก ตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบปริญญาเอก อาจเป็นอาจารย์หรือไม่ก็เป็นนักวิจัยช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้จะทำให้เป็นจริงให้ได้คือ สร้างบ้านหลังใหม่ให้กับครอบครัว เพราะบ้านที่อยู่ในชุมชน 70 ไร่ เป็นที่ดินของการท่าเรือต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละ 60 บาท และไม่รู้ว่าจะถูกไล่ออกไปเมื่อไหร่
"เชื่อว่าคนในชุมชนหรือสลัม ต่างจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอก ทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการศึกษาจะทำให้คนมีความรู้ สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ รู้จักแยกแยะสิ่งถูกผิด ที่สำคัญเมื่อทุกคนมีการศึกษาแล้วต้องไม่ลืมนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมากลับ มาพัฒนาคนและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น" เล็กทิ้งท้าย
" โอกาสทางการศึกษา" สำหรับบางคนอาจมีมากมาย แต่สำหรับ "เล็ก" เธอคือต้นแบบของเยาวชนในสลัมที่ใช้โอกาสทางการศึกษาที่ได้มาแม้จะน้อยนิด แต่ก็พิสูจน์ตัวเองให้สังคมยอมรับในความสามารถของเธอได้
หน้า 25