Custom Search

Jun 10, 2009

ข้อเสนอ"ช่อง 11 ใหม่"


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552


คำกล่าว "โทรทัศน์ ช่อง 11 กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง"
ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะเกือบทุกรัฐบาลก็มีการพูดถึงเรื่องนี้
และมีการเปลี่ยนแปลงแต่มิได้เป็นไปในทิศ
ทางที่ควรจะเป็น
ครั้งล่าสุดดูทีท่าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจริง

และเป็นไปในทิศทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

เมื่อรัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหาร
รัฐมนตรีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้รับผิดชอบกรมประชาสัมพันธ์

ซึ่งช่อง 11 สังกัดอยู่ก็มีความคิดที่จะปฏิรูป
สื่อภาครัฐให้ไปในทิศทางที่นักวิชาการพูดกันมานาน
คือเป็นสื่อของรัฐมิใช่สื่อของรัฐบาล

ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปสื่อภาครัฐขึ้น

โดยมีผู้เขียนเป็นประธานกรรมการ และมี
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์

ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์
คุณธรรมนิจ สุมันตกุล
คุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์
คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์

คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้
คุณภัทระ คำพิทักษ์
คุณไพโรจน์ พลเพชร
ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว

รศ.รัชนี วงศ์สุมิตร
และ

คุณวิทเยนทร์ มุตตามระ เป็นกรรมการ

"ช่อง 11" เป็นเรื่องแรกที่คณะกรรมการได้ศึกษาและมีข้อเสนอแนะให้รัฐมนตรี
เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ในเวลา 3 เดือนเศษคณะกรรมการ
ได้ประชุมกัน 9 ครั้ง รับฟังความเห็นจากท่านผู้รู้ในเรื่องสื่อ 1 ครั้ง
และรับฟังข้อคิดเห็นครั้งใหญ่จากทุกส่วน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ผมขอนำข้อเสนอแนะปฏิรูปช่อง 11 มาเรียบเรียงเป็นคำถามคำตอบ ดังต่อไปนี้

ทำไมต้องปฏิรูป ช่อง 11?
ช่อง 11 เป็น "ลูกฟุตบอลทางการเมือง" มาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุด

ในรัฐบาลชุดคุณสมัคร สุนทรเวช ได้เปลี่ยนเป็น NBT
ด้วยตัวอักษรใหญ่สีแดงบนหลังคาสถานี
ดังที่ทราบกัน ช่อง 11 สร้างขึ้นด้วยเงินภาษีอากร

จึงควรเป็นสถานีเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน
มิใช่สถานีเพื่อเชียร์รัฐบาล

สมัยก่อนมนุษย์เราแยกไม่ออกระหว่าง "รัฐ" กับ "รัฐบาล"
การมีสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อเชียร์รัฐบาลเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

แต่เมื่อมีนักวิชาการในระดับสากลชี้ให้เห็นถึง
ข้อแตกต่าง ("รัฐ" นั้นอยู่เสมอ แต่ "รัฐบาล"
เปลี่ยนไปมาขึ้นอยู่กับว่าใครมีเสียงในสภามากที่สุด
การเชียร์บางรัฐบาลให้อยู่นานที่สุดอาจเป็นผลร้ายที่สุดสำหรับประชาชนก็เป็นได้)

บทบาทของสถานีที่สร้างขึ้นมาด้วยเงินของประชาชนจึงจำต้องเปลี่ยนไป
ดังเราเห็น BBC ของอังกฤษ หรือ ABC ของออสเตรเลีย NHK ของญี่ปุ่น ฯลฯ

ตราบที่ช่อง 11 สยบอยู่แทบเท้านักการเมือง
เพราะสถานีขึ้นกับกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล
จึงไม่มีทางที่จะเป็นอิสระ ดำเนินการไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงได้เลย

ในอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ถูกเปลี่ยนไม่รู้กี่ครั้ง
อันเป็นผลจากการเสนอเนื้อหาของช่อง 11

นอกจากนี้ช่อง 11 ยังเป็น "เหมือง"
ของการแสวงหาผลประโยชน์โดยกลุ่มธุรกิจมายาวนานอีกด้วย

แนวคิดหลักในการเปลี่ยนแปลงช่อง 11?

คณะกรรมการมีแนวคิดหลักว่า
(1) ปฏิรูปช่อง 11 ให้กลับไปสู่วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ 21 ปีก่อน
โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์

(2) ปรับพันธกิจจากการเป็นสถานี "เพื่อการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ของรัฐ"
ในตอนแรกตั้งไปสู่การเป็นสถานี "เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ และการพัฒนาประชาธิปไตย"

(3) ปรับไปสู่บริการสาธารณะตามใบอนุญาตประเภทหนึ่ง
(ส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร
และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพอนามัย กีฬา
และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน)
และ/หรือประเภทที่สาม (กระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริม

ความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน
การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุน
ในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับ
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ
คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรม
เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น)
ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2551

โครงสร้างองค์การของช่อง 11 ใหม่?

ในระยะสั้นควรแปลงสภาพจากหน่วยราชการเป็นองค์การมหาชน

ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542
โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้
ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่การออกกฎหมายเพื่อตั้งองค์การนี้เป็นการเฉพาะภายใน 3 ปี
โครงสร้างและที่มาของคณะกรรมฯ ของสถานี
ต้องเป็นไปเพื่อสร้างความเป็นอิสระแก่องค์การให้ยาก
ต่อการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองและการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่ชอบ
โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลให้องค์การปฏิบัติตามพันธกิจ

อย่างไรก็ดี การป้องกันการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
เพราะรัฐบาลสามารถออกพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลงช่อง 11 ได้เสมอ
และถึงแม้จะเป็นพระราชบัญญัติแล้วก็ยังสามารถแก้ไของค์การ
ได้ด้วยการออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่

การเป็นหน่วยงานพิเศษหรือหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU)
ดังที่เคยเสนอในสมัยก่อนล้วนต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น
การแทรกแซงจึงทำได้โดยง่าย
ส่วนการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นพันธกิจของช่อง 11 ใหม่
ไม่สอดคล้องเพราะไม่แสวงหากำไรดังเช่นช่อง 9 ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

รายการช่อง 11 มีหน้าตาอย่างไร?
เวลาของรายการควรจัดสรรด้วย

(ก) ร้อยละ 30 ให้แก่การส่งเสริมการเรียนรู้ อันได้แก่เสริมการศึกษาในระบบ
นอกระบบ และตามอัธยาศัย รายการสารคดี ความรู้
และสาระบันเทิงเพื่อการเรียนรู้

(ข) ร้อยละ 40 เพื่อข่าวและบริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ อันได้แก่
ข่าวสารจากรัฐบาล หน่วยราชการ หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ
เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

(ค) ร้อยละ 30 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยอันได้แก่ กิจกรรมของรัฐสภา
การประชาพิจารณ์ การประชุมสาธารณะ
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

การดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีและฝ่ายค้าน
รายการขององค์การปกครองท้องถิ่น ชุมชน ฯลฯ
โดยมุ่งให้ทุกส่วนไม่ว่าใหญ่หรือเล็กได้มีเวที

"ช่อง 11 ใหม่" ควรผลิตรายการข่าวเองเป็นหลัก
โดยแตกต่างจากข่าวของสถานีอื่น ต้องเน้นข่าวราชการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐสภา กรรมาธิการชุดต่างๆ
การตัดสินคดีสำคัญของศาล การจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญของภาครัฐ
ข่าวขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการอื่นๆ ฯลฯ

นอกจากนี้สามารถร่วมผลิตรายการกับภาคเอกชน อย่างโปร่งใส

สำหรับคณะกรรมการกำหนดนโยบายและควบคุมกำกับการดำเนินงาน
ของสถานีนั้นประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งองค์กรต่างๆ เช่น
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง สหพันธ์องค์การผู้บริโภค
สภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เป็นผู้เสนอชื่อ
ซึ่งต้องเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่กรรมการขององค์กรตนเอง
และมีความรู้ความสามารถในสาขาที่ระบุให้


นอกจากนี้มีกรรมการอีกส่วนที่เป็นโดยตำแหน่งจากภาครัฐ ทั้งนี้
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยคณะกรรมการชุดนี้

จะเอาเงินทองจากที่ไหนมา?
รายจ่ายประมาณปีละ 660 ล้านบาท ซึ่งรายรับมาจากงบประมาณสนับสนุน
โดยตรงจากภาครัฐ 280 ล้านบาทต่อปี

(ในยอดเงินนี้ปัจจุบันก็ต้องจ่ายให้แก่ช่อง 11 อยู่แล้ว)
ส่วนที่เหลือหาได้จากการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ
ซึ่งแต่ละปีใช้จ่ายเงินในส่วนนี้นับหมื่นล้านบาท
(รัฐควรมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่อง 11
อย่างน้อยตามสัดส่วนที่กำหนด)

ช่อง 11 ปัจจุบันมีบุคลากรจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว "ช่อง 11 ใหม่"

จะโอนบุคลากรและคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม
โดยให้ทางเลือกแก่บุคลากรที่เหลืออยู่ให้อยู่ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์เช่นเดิม

และในช่วง 3 ปีแรกอาจใช้วิธียืมตัวมาปฏิบัติงานก่อน
ค่าตอบแทนบุคลากรควรอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราของอุตสาหกรรมมากขึ้น

ช่อง 11 ใหม่จะไม่ซ้ำซ้อนกับ TV Thai?

TV Thai เป็นสื่อสาธารณะที่แปลงร่างจาก ITV เดิม
ซึ่งละเมิดข้อสัญญาไม่จ่ายเงินสัมปทาน
เกิดขึ้นได้เพราะความมุ่งมั่นของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
และความเอาจริงของนายกฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
ที่ต้องการให้เกิดทีวีสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชน

TV Thai ที่ดีวันดีคืนในปัจจุบันนั้นมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม
บนพื้นฐานของความเป็นไทย ให้ความรู้แก่ประชาชน ฯลฯ
แต่ต่างจากช่อง 11 ใหม่ ที่มุ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ (ร้อยละ 30)
ให้ข่าวสารราชการ (ร้อยละ 40) และส่งเสริมประชาธิปไตย (ร้อยละ 30)
โดยกระทำในรูปแบบที่ต่างกัน 2 สถานีจะเสริมกันให้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างครบถ้วน

หากท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างใดต่อข้อเสนอนี้
คณะกรรมการยินดีรับฟังเสมอ โปรดแสดงความเห็นได้ที่ www.prd.go.th
หน้า 6