http://www.facebook.com/rewat.forever
พีรภัทร โพธิสารัตนะ
เจ้าของตำแหน่งบรรณาธิการตัวเล็กของนิตยสารเด็กแนว DDT
ขอเขียนถึงศิลปินในดวงใจของเขา ซึ่งเป็น
'ศิลปินในดวงใจศิลปิน' หลายๆ คนด้วยไม่ใช่ใครที่ไหน
คือพี่ชายใจดีมีหนวดที่ชื่อ เรวัต พุทธินันทน์ หรือ
'พี่เต๋อของเหล่าคนดนตรี'
เนื่องในโอกาสที่มีบ็อกเซ็ตสีฟ้าสดใส
ชุด Beloved Memories of Rewat Buddhinan
ออกมาวางจำหน่ายหลังจากที่ปล่อยให้แฟนๆ รอมานานนับสิบปี
ซีดีนานาขนาดแพ็คเกจหลายสัญชาติหลากที่มาจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 ชุด
ระเกะระกะอยู่เกลื่อนกลาดอยู่บนพื้นห้องข้างเตียงนอนที่ว่างเว้นจากตู้,
ชั้นวางของ และโต๊ะคอมพิวเตอร์ ในขณะที่อีกกว่า 20 ชุด
กองเรียงสูงอยู่ราว 3 ตั้งอย่างปราศจากระเบียบใดใด บางชุดภายใต้ซองบางๆ
พอดีแผ่นกลับสงบนิ่งอยู่ใต้บ็อกเซ็ตขนาดใหญ่บางชุดที่
ไม่ได้ผ่านการหยิบจับ มานานนม
อันสังเกตได้จากผงและไรฝุ่นที่เรียงตัวอยู่บนกล่องอย่างหนาแน่น
ขณะที่กองซีดีเคียงกันก็หมิ่นเหม่กับการทลายลงมาทั้งแถว
หากโดนพัดลมเบอร์ 3 โหมเป่าเพียงเสี้ยวกระพริบตา
ทั้งหมดนั้นคือจุดหมายที่ปลายตาของ ผม ภายในห้องนอนที่แทบ
จะมีอรรถประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือ เป็นห้อง ‘นอน’ สมกับชื่อของมัน
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ด้วยสารพันกิจการงานอันรัดตัว
จนแทบจะทำให้ชีวิตของผมแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับคอมพิวเตอร์ไปแล้ว
กระทั่งวันเด็กผ่านพ้น – วันครูผ่านมา – วาเลนไทน์ผ่านไป...อย่างเปล่าดาย
จนเมื่อภาระรับผิดชอบเริ่มคลี่คลาย ผมก็ได้เริ่มเงยตาขึ้นมาจับจ้องสภาพแวดล้อม
รายรอบตัวอีกครั้ง
และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ผมจะสังคายนา
เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ในปีล่าสุดนี้อย่างเป็นเรื่องราวเสียที
ซีดีที่กองเกลื่อน ค่อยๆ ถูกนำมาวางแยกประเภท
เพื่อเตรียมจัดเข้าตู้หรือชั้นหรือกล่องต่อไป
ซี ดีแบบกล่องพลาสติก, ซีดีแพคเก็ตกล่องกระดาษแบบบาง,
ซีดีแพคเก็จรูปทรงกว้างยาวเป็นพิเศษจากแบบปกติ,
ซีดีแผ่นคู่ในกล่องหนาใหญ่ และซีดีบ็อกเซ็ต
ระหว่างทางก่อนหน้าที่การจัดแจงจะเสร็จสิ้น
และการจัดวางลงในที่ทางที่เหมาะสมกำลังจะเริ่มต้น
อัลบั้มรวมผลงานขนาดใหญ่โตก็ปรากฏขึ้นในสายตา
Beloved Memories of Rewat Buddhinan (serial no. 01396)
เมื่อนั้น เข็มนาฬิกาก็คล้ายกับจะหมุนย้อนกลับหลัง
วันสุดท้ายของปีที่แล้ว
โดย ปกติแล้ว ณ วันเดียวกันนี้ของทุกๆ ปี จะเป็นวันที่ผมใช้
เวลาที่หลงเหลือในช่วงกลางวันไปกับการค้นหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดและจับจ่าย
สิ่งที่ค้นพบเพื่อเป็นการระลึกถึงช่วงเวลาท้ายสุดของแต่ละปี
ไม่ว่าจะเป็น เทป, ซีดี หรือหนังสือ ซึ่งจากพฤติกรรมการบริโภค
ที่มีความเป็นคนรักเสียงเพลงมากมายกว่าการเป็นหนอน
หนังสือหรือคอหนังตัวกลั่น ของที่ระลึกประจำปีจึงมัก
เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเพลงเป็นส่วนใหญ่
ด้วยเหตุวันที่ 31 ของปีสุดท้ายของคริสตศตวรรษที่แล้ว
ผมจึงมีซีดีแพ็คเกจแรกของอัลบั้มชุดเปิดตัวของสองสาว Triumphs Kingdom
เป็นหลักไมล์ของกาลเวลาที่กำลังย่างไปสู่ก้าวใหม่
ในขณะที่มีอัลบั้มขนาด 4 แผ่นเซ็ตชุด at Carnegie Hall ของวง Chicago
เป็นของขวัญให้กับตัวเองต้อนรับปีหมาดุเมื่อปีที่แล้วฯลฯ
และในชั่วขณะที่กำลังสอดสายตาค้นหาร้านอาหารที่เหมาะใจ
สำหรับมื้อเที่ยงของครอบครัว สองตาของผมก็พลันลอดแว่นไปสะดุดเข้ากับสิ่งหนึ่ง
สิ่งนั้นมีลักษณะเป็นกล่องสีเหลี่ยมผืนผ้า, สีน้ำเงิน
และปรากฏภาพสัญลักษณ์อันแสนคุ้นตา - จมูก พร้อมด้วยหนวดเหนือริมฝีปาก!
สำหรับ คนรักเสียงเพลงที่มีอายุล่วงเลยกว่า 25 ปีขึ้นไป
ภาพนั้นมีค่าความหมายมากไปกว่าสัญลักษณ์หรือภาพลายเส้นธรรมดาๆ
เพียงภาพหนึ่ง ทว่ามันหมายรวมถึงสัญลักษณ์, เอกลักษณ์
และอัตลักษณ์ของผู้ชายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของวงการเพลงไทย “ยุคใหม่”
นับตั้งแต่เมื่อกว่าสองทศวรรษที่ก่อน
ภาพนั้นเคยปะหน้าไว้บนหน้าปกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา
และเคียงคู่ในความคุ้นเคยของตัวเขาและแฟนเพลงตลอดมาจากนั้น
อัลบั้มชุดดังกล่าวคือ เต๋อ 1 ในขณะที่ชื่อของเจ้าของผลงานคือ
เรวัต พุทธินันทน์ หรือ ‘พี่เต๋อ’ ของคนดนตรีร่วมรุ่นและต่อๆ มา
ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้น ผมเคยได้รับรู้จากบทสัมภาษณ์ของ
คุณวู้ดดี้ พรพิทักษ์สุข วิศวกรเสียงระดับมือรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส
ที่เพิ่งกลับมาสานต่อชีวิตการทำงานของเขาที่แผ่นดินเกิด
ว่าหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่เขากำลังคร่ำเคร่งอยู่ในขณะนั้นก็คือ
งานมิกซ์อัลบั้ม 4 ชุดของพี่เต๋อ
แม้จะมิได้ระบุ แต่แว่บแรกที่แจ่มชัดในห้วงความคิดของผมหลังจากคำนั้น
ก็คือ งาน 4 ชุดที่หมายถึง เต๋อ 1, เต๋อ 2, เต๋อ 3 และ ชอบก็บอกชอบ...
งานเดี่ยวทั้ง 4 อัลบั้มที่พี่เต๋อเคยได้สรรค์สร้างเอาไว้ในช่วงเวลาท้ายๆ
ก่อนหน้าที่เขาจะผันไปทำงานบริหารและเบื้องหลังอย่างเต็มตัว
หลังจากที่ใช้เวลาหลายสิบปีแรกของชีวิตไปกับฝ่าฟันนานาอุปสรรคสู่การกรุยทาง
ให้ถึงยังวงการเพลงไทยในรูปแบบที่เขาใฝ่ฝัน
จากจุดเริ่มต้นด้วยการ เป็นนักร้อง นักดนตรี ในวงดนตรีทั้งในระดับสมัครเล่นกับวง
Yellow Red และ The Thanks ร่วมกับเพื่อนร่วมสถาบันลูกแม่โดมด้วยกันอย่าง
ดนู ฮันตระกูล, จิรพรรณ อังศวานนท์
(ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมากสำหรับ
การหว่านเมล็ดพันธุ์ทางดนตรีของผลลัพธ์ที่กลายเป็นวงการเพลงไทย
ในช่วงสามทศวรรษแห่ง ปัจจุบัน) ไปจนถึงวงดนตรีระดับอาชีพกับวง
The Impossibles, The Oriental Funk ที่นักดนตรีรุ่นเดียวกันต่างยกย่องในฝีมือ
และความนำสมัยในรสนิยม ก่อนหน้าที่จะมาต่อยอดความฝันของเขา
ในฐานะคนทำเพลงอย่างจริงจัง ทั้งเบื้องหน้า (เรวัต พุทธินันทน์ และคีตกวี)
และเบื้องหลัง (งานเพลงโฆษณา, เพลงนำรายการโทรทัศน์ และเพลงประกอบภาพยนตร์) รวมถึงบทบาทในสายทางอื่นอย่างงานพิธีกรรายการโทรทัศน์และงานแสดง
ซึ่งสำหรับคนฟังเพลง เรื่องราวและงานเพลงทั้งหมดนั้นคือ
หนึ่งหลักไมล์สำคัญของพี่เต๋อ และวงการเพลงไทย
ชื่อ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ เริ่มเข้ามาสู่โลกทรงจำของผมเป็นครั้งแรก
เมื่อเครื่องเล่นเทปแบบหูหิ้วของพี่สาวของผมได้ทำลายความเงียบของบ่ายคล้อย
หนึ่งด้วยบทเพลงป๊อปเรียบง่าย ที่มีเสียงตีคอร์ดอะคูสติกกีตาร์อันจับใจ
“หากเธอคิดพบรักที่ชื่นฉ่ำ อย่ามัวทำตัวเองมืดมน
อย่ากลัวฝนเพราะฝนนั้นเย็นฉ่ำ อย่ามัวทำตามความคิดเดิม
ลองคิดดู ลองหาทางสู้กับฝน”
ด้วยวัยไม่ถึง 6 ขวบในชั่วขณะนั้น ผมยอมรับอย่างหน้าชื่นว่า
ตัวเองไม่เข้าใจในสารสาระที่พี่เต๋อถ่ายทอดลงในเพลง เจ้าสาวที่กลัวฝน เลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งร่วมสิบปีจากนั้น กระนั้นผมก็ยอมรับบทเพลงที่ มีเนื้อหาเชิงสัญญะเพลงนี้
และพี่เต๋อเข้าสู่ห้วงความสนใจอย่างเต็มอกเต็มใจ
โดยมีเทปเกือบทุกชุดของพี่เต๋อเป็นส่วนหนึ่งของเทปปริมาณมหึมาในลิ้นชักที่
ผมใช้เก็บความบันเทิงส่วนตัวมาจนถึงช่วงวันที่ผมต้องโคจรจากบ้านไปไกลเป็น
ครั้งแรกในรอบ 16 ปี
จนกระทั่งในปีที่สองของชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย
ผมก็ได้รับทราบข่าวร้ายจากเมืองหลวงของประเทศ
พี่เต๋อ เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539
ราวหนึ่งปีหลังจากที่ตรวจพบเนื้องอกในสมองเป็นครั้งแรก
และต่อสู้กับอาการป่วยอย่างเข้มแข็งและเปี่ยมรอยยิ้มมาโดยตลอด
ท่ามกลางการดูแลอย่างใกล้ชิดของครอบครัว และเครือญาติมิตร
จาก เหตุการณ์การสูญเสียครั้งสำคัญของวงการเพลงไทยในครั้งนั้นเอง
ทำให้ผมตัดสินใจหยิบอัลบั้มทั้ง 4 ชุดที่วางนิ่งอยู่ในลิ้นชักมา
เป็นเวลาหลายปีขึ้นมาฟังอีกครั้ง
นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้พินิจอย่างพิเคราะห์ถึงเนื้อสารที่พี่เต๋อ
จรดปากกาถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อเพลงเพลงแล้วเพลงเล่าของเขา
นอกเหนือจากที่เคยคุ้นมาเนิ่นนานกับเพียงดนตรีป๊อปกรุ่นกลิ่นอายของยุค 80
ที่อัลบั้มเหล่านั้นได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา
ด้วยช่วงวัย และประสบการณ์ชีวิตอันเชี่ยวกรำ เนื้อเพลงของพี่เต๋อ
จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่บทเพลงรักอันหวานหอมของคู่หนุ่มสาว
ทว่าหลายหลากไปจนถึงเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเพื่อนถึงเพื่อน
(เพื่อน, เพื่อนเอย) ระหว่างผู้ชายคนหนึ่งถึงคนที่เขารัก
(มือน้อย, สองเราเท่ากัน) หรือนำเสนอวิถีทางดำเนินชีวิตอันเรียบง่าย ทว่าเปี่ยมสุข
(ที่แล้วก็แล้วไป, เจ้าสาวที่กลัวฝน, อกหักไม่ยักกะตาย)
ไปจนถึงปรัชญาอันลุ่มลึกเพื่อโลกในอุดมคติ (ณ โลกสีขาว, หมู่บ้านในนิทาน)
และประเด็นระดับสังคมอันสลับซับซ้อนและบอบบาง
(ยิ่งสูงยิ่งหนาว, บทเพลงเพื่อเด็ก, เมืองใหญ่เมืองนี้, เป็นเวรเป็นกรรม)
คุณ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่กับพี่เต๋อ
นับตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2526 ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหลายคราว่า
คุโนปการหนึ่งที่พี่เต๋อได้บุกเบิกให้กับวงการเพลงก็คือ
การแต่งเนื้อเพลงในลักษณะ “เนื้อเพลงสัมผัสเมโลดี้”
หลังจากที่การแต่งเพลงไทยโดยส่วนใหญ่จนถึงขณะนั้นมักอยู่ในกรอบของขนบดั้ง
เดิมที่ท่วงทำนองจะถูกประพันธ์ขึ้นพร้อมๆ หรือภายหลังจากการแต่งเนื้อเพลง
วิธีการทำเพลงในแบบฉบับของพี่เต๋อจึงถือเป็นการเปิดประตูหลายๆ
บานออกไปสู่การทำเพลงของยุคสมัยใหม่
นอกเหนือจากการสร้างคำว่า “โปรดิวเซอร์” ให้กับวงการ
และระบบการทำงานเพลงในแบบ “ค่ายเพลง”
ที่ทำให้พี่เต๋อบรรลุซึ่งความฝันที่ต้องการยกระดับชีวิตและการทำงานของศิลปิน
และคนทำเพลงให้มีระบบที่ชัดเจน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากสังคม
ในฐานะของอาชีพที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และมั่นคง ไม่ได้เป็นเพียง
“การเต้นกินรำกิน” อีกต่อไป
จากบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
สู่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
จวบวันแรกที่บทเพลง เจ้าสาวที่กลัวฝน ได้เข้ามาสู่หัวใจคนฟัง
จนถึงปีที่ 10 นับจากวันที่พี่เต๋อเสียชีวิต
ผลงานเพลงทุกชุดของพี่เต๋อหมายถึงสมบัติล้ำค่าอันยากประเมิน
จากเพียงสองรูปแบบที่สามารถพอหาได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
คือ เทป และแผ่นเสียง ท่ามกลางความคลางแคลงใจ
จากบรรดาแฟนเพลงของพี่เต๋อ
ที่เฝ้าทวงถามถึงบทเพลงของพี่เต๋อ
ในรูปแบบตามสมัยคือ ซีดี ในปีแล้วปีเล่า
ฉะนั้น การได้มาพานพบกับกล่องสีเหลี่ยมผืนผ้า, สีน้ำเงิน
และภาพสัญลักษณ์อันแสนคุ้นตา - จมูก
พร้อมด้วยหนวดเหนือริมฝีปาก! ชุดนี้
ความตื้นตันคงไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยที่จะใช้อธิบายความในความรู้สึกส่วนลึก
ในชั่วขณะนั้น – ในฐานะของแฟนเพลง
และในนามของคนที่รักวงการเพลงไทย
เพราะนั่นหมายความว่า
การรอคอยอันยาวนานได้สิ้นสุดลงแล้ว
บทเพลง เรื่องราว และความทรงจำทั้งหมดกำลังจะหวนคืนมา
ทันทีที่บทเพลงแรกได้เริ่มร่ายรำตัวโน้ต
และ ภาพทรงจำของวันสุดท้ายแห่งปี 2549 ของผมก็แจ่มชัด
ไปด้วยบทเพลงของผู้ชายคนนี้ – พี่ชายใจดี จมูกโต หนวดดก
ที่ชื่อ พี่เต๋อ–เรวัต พุทธินันทน์
มาจนถึงวันนี้(ที่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น)
: พีรภัทร โพธิสารัตนะ
เกิดวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2521ที่จังหวัดชลบุรี
จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน
(ปัจจุบันคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เป็นนักเขียนชาวไทยอดีตบรรณาธิการ นิตยสารดีดีที
มีงานอดิเรกคือการฟังเพลงโดยเฉพาะ
เพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย
ตั้งแต่เป็นเด็กและท้ายที่สุด
ก็อาศัยความชอบตั้งแต่วัยเด็ก
มาทำเป็นอาชีพจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ความสามาถพิเศษคือ
การจดจำปีที่เพลงแต่ละอัลบั้มออกมาได้อย่างแม่นยำ
ผลงานเขียน Bakery & I (2550)