Custom Search

Jun 30, 2007

พ่อแก่ - แม่เฒ่า

ที่มา อ.สุนทรเกตุ

พ่อแม่ก็แก่เฒ่า
จำจากเจ้าไม่อยู่นาน
จะพบจะพ้องพาน
เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
ใจจริงไม่อยากจาก
เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน
แต่ชีพมิทนนาน
ย่อมร้าวรานสลายไป
ขอเถิดถ้าสงสาร
อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
คนแก่ชะแรวัย
คิดเผลอไผลเป็นแน่นอน
ไม่รักก็ไม่ว่า
เพียงเมตตาช่วยอาทร
ให้กินและให้นอน
คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ
เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง
ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
ร้องไห้ยามป่วยไข้
ได้ใคร่เล่าเฝ้าปลอบโยน
เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่
แม้เหนื่อยกายก็ยอมทน
หวังเพียงจะได้ยล
เติบโตจนสง่างาม
ขอโทษถ้าทำผิด
ขอให้คิดทุกทุกยาม
ใจแท้มีแต่ความ
หวังติดตามช่วยอวยชัย
ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง
มีหรือหวังอยู่นานได้
วันหนึ่งคงล้มไป
ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง



รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้กล่าวหลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 ว่า

"การได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ถือเป็นโอกาสดีที่ผมจะตอบแทนประเทศอีกทางหนึ่ง เพราะผมเคยเป็นนักเรียนทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ส่งไปเรียนก็เป็นเงินจากภาษีประชาชน ในระยะเวลาทำงานที่ยังเหลืออีกเพียง 9 เดือนข้างหน้านี้ผมจะทำงานอย่างเต็มที่ 100% ผมถือว่าในเวลา 9 เดือนข้างหน้าเป็นโอกาสที่ท้าทายผม เป็นโอกาสใช้หนี้ทางใจที่ผมเคยได้รับทุนจากเงินภาษีประชาชน เพราะเงินที่ส่งผมไปเรียนอาจจะใช้สร้างโรงพยาบาลเล็กๆ ได้แห่งหนึ่งเลยทีเดียว การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ถือเป็นการทำงานเพื่อรับใช้สังคมตามภาระผูกพันทางใจจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดให้ดูเก๋ๆ แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ "
- รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าจากผลการวิจัยร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เรียนในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษามีความสนใจในการอ่านเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านคน นักเรียนอ่านหนังสือวันละ 360 บรรทัดต่อวัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในอนาคตการอ่านจะมีการกระจายไปสู่กลุ่มชนทุกวัยและทั่วประเทศ ประโยชน์ของการอ่านมีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การอ่านเพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายความเครียด
2. เพื่อเพิ่มพูนความรู้
3. ทำให้เกิดแรงจูงใจสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ
4. การอ่านจนเป็นนิสัยยังสามารถเชื่อมโยงทำให้เกิดทักษะในการเขียนพัฒนาขึ้น

- รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่ออีกว่ากระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐานมีแนวความคิดที่จะนำวิชาย่อความ เรียงความมาบรรจุในหลักสูตรวิชาภาษาไทย โดยจัดโครงการนำร่องฝึกฝนครูให้เน้นการสอน
เพื่อฝึกเด็กให้สามารถอ่านหนังสือได้เข้าใจและตอบคำถามได้อย่างมีทักษะกล่าวได้ว่า “อ่านหนังสือแตก”
- รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ในฐานะครูคนหนึ่งมองว่า การเป็นครูสิ่งสำคัญที่สุดคือการอบรมสั่งสอนเด็กโดยมีเป้าหมายผลิตคนดีมีคุณภาพ นี่ต่างหากคือเป้าหมายของคนเป็นครู ครูจำนวนไม่น้อยไม่อยากเป็นครูดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะหาอุดมการณ์ของความเป็นครู ให้เกิดแก่ครูทุกคน การเป็นครูในความรู้สึกคือต้องทุ่มเทเพื่อสร้างเยาวชน เราต้องให้การอบรม สั่งสอนลูกหลานของผู้เสียภาษี ซึ่งก็คือเงินเดือนครูให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามคงต้องใช้เวลายาวนาน ภายใต้อุดมการณ์ที่ถูกต้องในอาชีพครูเพราะเราเลือกแล้วที่จะอยู่ในอาชีพนี้ เราจึงควรต้องเป็นตัวอย่างแก่เด็กและเยาวชนในความพอเพียง พอประมาณ ต้องมีความศรัทธาในความดีงาม การเป็นครูต้องมีหลักการ ต้องรู้ตัวว่าเราเป็นครูเพราะอะไร รู้เป้าหมาย มีเหตุมีผลไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป สิ่งสำคัญต้องมีคุณธรรมในใจ รักเด็ก มีมุทิตาจิตต่อเด็ก รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ขอย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในทุกอณูของชีวิต

Jun 29, 2007

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ : อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

การเรียนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นโอกาส
การศึกษาทำให้เรารู้จักคิด และมองเห็นโอกาสที่ดี
(โอวาทในการปฐมนิเทศนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา วันเสาร์ที่ 23 มิ.ย. พศ. 2550)

นักศึกษาระดับบัณฑิต ต้องรักษากฎเกณฑ์สถานศึกษา
ในเรื่องของการตรงต่อเวลา
เคยมีคนพูดว่า ฝรั่งตรงเวลากว่าคนไทย
และทำอะไรตามใจคือไทยแท้
เราต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการตรงต่อเวลา ต้องมีวินัย
การเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เป็นอีกมิติหนึ่งในการเรียน
ตอนเราเริ่มเรียนชั้นแรกตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีผู้ปกครองคอยดูแลแต่งตัว
ป้อนข้าว ป้อนน้ำ รับ-ส่งไปโรงเรียน พอขึ้นชั้นประถมก็ต้องรับ-ส่ง
ชั้นมัธยมก็ยังมีคนคอยดูแล แต่พอถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัย
ต้องดูแลตัวเองแต่ก็ยังมีอาจารย์กำกับ
ส่วนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก นั้น ต้องดูแลตัวเองแล้ว
เหมือนนกที่ต้องออกไปหาอาหาร
อย่าคิดว่าอาจารย์จะบอกให้ท่องจำหรือป้อนให้
เราต้องตักตวงให้มากที่สุด เพราะอาจารย์ให้เพียงแต่แนวคิด
แต่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้เองจึงจะเป็นอภิชาตศิษย์
ระดับปริญญาตรียังไม่เป็นอภิชาตศิษย์
ระดับดุษฎีบัณฑิตจึงจะเป็นอภิชาตศิษย์ เพราะต้องอ่านหนังสือมาก
ต้องหาความรู้ด้วยตนเอง ต้องไขว่คว้า ค้นคว้า แสวงหา
บทบัญญัตินี้ใช้ได้กับนักศึกษาทั่วโลก นักเรียนจะต้องหาความรู้ด้วยตนเอง
วิทยานิพนธ์ หรือไอเอสระดับปริญญาโท ต้องหาข้อมูลมาวิเคราะห์
หาข้อมูลมาตีแผ่ให้ได้ข้อเท็จจริงให้เกิดปัญญาต่อไป
แต่ในระดับดุษฎีบัณฑิตก้าวไปอีกขั้น นอกจากจะหา
ข้อมูลมาวิเคราะห์หาข้อเท็จจริงแล้ว
ยังต้องนำไปสังเคราะห์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ค้นพบใหม่
เพราะฉะนั้นการทำวิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิต
ต้องนำไปศึกษาต่อว่า
ต้องสังเคราะห์หลักการทฤษฎีใหม่ คิดใหม่
การเรียนในระดับปริญญาโท เอก
นั้นถือว่าไม่ยากและก็ไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง
เพราะการเรียนจบนั้นไม่ถือว่าเก่ง ถือว่าเป็นเพียงการจบหลักสูตรเท่านั้น
แต่การที่จะมีความสามารถนำไปประยุกต์ใช้ความรู้ไม่เหมือนกัน
ศิลปะการนำความรู้มาใช้ ก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นแพทย์ที่จบมาเหมือนกัน
ก็นำความรู้และหลักการมาใช้แตกต่างกัน
มีการประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคแตกต่างกัน
คนเรียนบริหารธุรกิจแต่บริหารธุรกิจของตัวเองไม่ประสบผลสำเร็จก็มีมากมาย
ยกตัวอย่าง เถ้าแก่รุ่นเก่ามาจากเมืองจีน นั่งสำเภามา เสื่อผืนหมอนใบ
มารับจ้างเป็นจับกัง ทำงานไปทำงานมา มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาตน
เห็นแม่ค้าขายข้าวแกงใช้ผักมาทำอาหารขาย
จึงมีความคิดที่จะไปรับผักมาขายให้แม่ค้า
กลายเป็นพ่อค้าขายผักไป จากนั้นเห็นการค้าขายอาหารได้เงินดี
ก็เปลี่ยนไปเป็นพ่อค้าขายอาหาร
แต่การทำร้านอาหารต้องมีทุนจึงต้องไปกู้เค้ามา
เริ่มมองเห็นโอกาสอีกว่า คนมากู้เงินมากเป็นคนปล่อยเงินกู้จะดีกว่า
ก็เริ่มพัฒนามีแนวทางเพราะมองเห็นโอกาส จากคนปล่อยเงินกู้ก็กลายมา
เป็นเจ้าของธนาคาร ภายในระยะเวลา 30ปี
จากจับกังกลายเป็นเจ้าของธนาคาร
นั่นคือการมองเห็นโอกาส แต่ก็มีไม่มากที่จะมีเพชรในตม
จากจับกังที่สามารถพัฒนาเป็นเถ้าแก่ต่อไปได้
เพราะฉะนั้นการเรียนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นโอกาส
การศึกษาทำให้เรารู้จักคิด และมองเห็นโอกาสที่ดี
วิชาต่างๆที่เราเรียนมาตั้งแต่เล็ก
หลายคนเห็นว่าไม่ได้นำมาใช้ แต่เราไม่รู้ว่าเรานำมาใช้โดยไม่รู้ตัว
เช่นวิชาพีชคณิต เรขาคณิต ทำให้เรารู้และมองเห็นว่าสิ่งไหนเป็น
สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มีมุมมีฉาก และรู้จักคิดเลขเป็น
บวกลบเลขเป็น เวลาไปซื้อของ
การพูดคุยกับผู้คนก็คือวิชาสังคมศาสตร์
ดังนั้นการเรียนรู้ทำให้เราฉลาด
เพราะมีคนชี้ทางให้ มีการได้สัมพันธ์กับผู้คน ทุกคนที่มาเรียน
มาหาโอกาสและหาความก้าวหน้าในชีวิต
แต่ว่าจะได้รับผลมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ตัวของทุกคนเอง
ไม่อยากให้เรียนเพื่อนำไปปรับวุฒิเท่านั้น
แต่เรียนเพื่อมองเห็นโอกาสเพื่อเพิ่มพูนให้กับตัวเองมากที่สุด
เปรียบเหมือนจากจับกังที่มองเห็นโอกาสกลายเป็นนายธนาคาร
ในโอกาสที่ตนเป็นครูจึงอยากเห็นศิษย์มีความก้าวหน้า
การมีวินัยในตัวเอง การมีระเบียบวินัยในห้องเรียน
โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ต้องเรียบร้อยถือเป็นการเคารพอาจารย์
เคารพสถานที่ การตรงต่อเวลา
การทำตัวเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี
การเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
ทำให้เรารู้จักผู้คนมากขึ้นสร้างความสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้อง
ชักนำกันมาเจอพูดคุย สร้างโอกาส มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นถือเป็น
WIN-WIN ด้วยกันทุกฝ่าย การเรียนระดับบัณฑิตศึกษานั้นเริ่มต้นมันยาก
แต่เมื่อจบแล้ว มองย้อนหลังกลับมาแล้วมันมีความสุข










รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
ประวัติ
เป็นบุตรของนายเต็น และนางบุญฟุ้ง ศิริชนะ
ในจำนวนพี่น้อง 2 คน
เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พศ. 2486
ที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

การศึกษา
ปริญญาเอก
- ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต ( อุดมศึกษา )จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2536)
- ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 6 (2537)

ปริญญาโท
- M.S. (PRINTING TECHNOLOGY),
ROCHESTER INSTIUTE OF TECHNOLOGY, N. Y. (2518)
- พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ( รัฐประศาสนศาสตร์ )
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2515)

ปริญญาตรี
- วิทยาศาสตรบัณฑิต ( เกียรตินิยม )
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2510)
ประกาศนียบัตร
- CERT. IN OFFSET PRINTING ( JAPAN )
- CERT. IN PRINTING INDUSTRY ( UNIDO , GERMANY )
- วุฒิบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของ ก . พ . รุ่นที่ 10
มัธยมศึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ประถมศึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพวิทยาลัยและโรงเรียนประชาบาลวัดศรีนาวา
ประสบการณ์การบริหาร
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
(2 ตุลาคม 2544 – ปัจจุบัน )
- ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(22 ม.ค. 2540 – 1 ตุลาคม 2544)
- รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
(3 ธ.ค . 2541 – 31 ก.ค . 2544)
- รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(20 พ.ย . 2542 – 21 มี.ค. 2543)
- รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(31 ส.ค. 2536 - 21 ม.ค. 2540)
- ผู้ช่วยปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(13 ธ.ค. 2533 - 30 ส.ค. 2536)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
(1 มิ.ย . 2536 – 1 ก.ค. 2538)
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมของโลก
โดยรัฐบาลไทย (2533 - 2538)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(15 มี.ค. 2536 – 21 พ.ค. 2536)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(17 ก.ย. 2533 – 14 มี.ค. 2536)
- รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2525 - 2532)
- อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2510-2530)
- อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2530-2533)
- รักษาการผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2529 - 2531)
- ผู้จัดการโรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2518 - 2533)
- ประธานคณะกรรมการจัดตั้งและพัฒนาหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2530 - 2532)
- ประธานคณะกรรมการจัดตั้งสำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2526 - 2529)
- ประธานกรรมการจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน
ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์แห่งชาติ (2530)
- อื่น ๆ
ประสบการณ์การสอน
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีการพิมพ์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2511 - 2530)
- สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2527 - 2531)
- สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
งานวิจัย
- การศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของหมึกพิมพ์ออฟเซทชนิดธรรมดา
และชนิดแห้งตัวด้วยรังสีอุลตราไวโอเลต (2518)
- การศึกษาวิเคราะห์คุณภาพในการพิมพ์ของกระดาษพิมพ์ที่ผลิตในประเทศไทย (2519)
- การศึกษาความต้องการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีด้วยระบบการสอนทางไกล (2526)
- สถานภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยในปัจจุบัน (2529)
- สถานภาพและความต้องการในการฝึกอบรมของบุคลากรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย (2532)
- การศึกษาแนวทางในการพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านในเขตภาคกลางตอนบน (2532)
งานเขียน
- บทความทางวิชาการประมาณ 50 เรื่อง
- ตำราเทคโนโลยีการพิมพ์ 5 เรื่อง
- ตำราทางวิทยาศาสตร์ 1 เรื่อง
วิทยากร
1. วิทยากรในการอบรมในสถาบันต่างๆ
ทางด้านการจัดการและเทคโนโลยีการพิมพ์
2. วิทยากรการศึกษาทางไกลในสถาบันต่างๆ
3. วิทยากรระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ
4. วิทยากรบรรยายเรื่องการปรับเปลี่ยน
สถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ทั่วประเทศ
การบริการวิชาการ
1. ประธานกรรมการศึกษาวิเคราะห์และปรับปรุงโรงพิมพ์
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอต่อสำนักเลขาธิการ ครม . (2530)
2. ประธานคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์ลู่ทางการส่งออกสิ่งพิมพ์
เสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2530)
3. กรรมการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
4. อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ทางการพิมพ์ ราชบัณฑิตยสถาน
5. ประธานกรรมการผลิตชุดวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
5.1 5.1 วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์
5.1 5.2 วิชาการพิมพ์ทั่วไป
5.1 5.3 วิชาเทคโนโลยีการพิมพ์
5.1 5.4 วิชาธุรกิจการพิมพ์
6. เป็นผู้ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยสู่ยุคใหม่
7. เป็นผู้ริเริ่มให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้นในประเทศไทย
8. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการควบคุมคุณภาพของมหาวิทยาลัย
การบริการสังคม
1. นายกสมาคมสื่อการศึกษาไทย
2. ที่ปรึกษาโครงการวารสาร สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น
3. ที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรมการพิมพ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4. ที่ปรึกษาสมาคมการพิมพ์ไทย
5. ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์
6. ประธานมูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย
7. ที่ปรึกษาสมาคมซิลด์สกรีน
8. เลขาธิการมูลนิธิศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล
9. เหรัญญิกมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร . วิจิตร ศรีสอ้าน
10. ประธานมูลนิธิการศึกษาเชลล์
11. นายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอาง
กรรมการต่างๆ
1. กรรมการบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ ทบวงมหาวิทยาลัย
2. ประธานกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทบวงมหาวิทยาลัย
3. กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
4. กรรมการสภามหาวิทยาลัย Asian Institute of Technology
5. กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
6. ประธานกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
7. ประธานกรรมการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
8. Chairman, Board of Trustees, Asian University Network (AUN)
9. Chairman, Board of Trustees, Regional Institution for Higher Education and Development (SEAMEO RIHED)
10. ประธานกรรมการฝ่ายสถานที่แข่งขันและที่พักการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์
ครั้งที่ 13
11. ประธานกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
12. อื่นๆ
ความชำนาญการ
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์
2. ผู้ชำนาญการด้านระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา /
ผู้พัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย
3. ผู้ชำนาญการด้านการจัดนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่
4. ผู้ชำนาญการด้านการจัดตั้งองค์กร และพัฒนาระบบองค์กรทางการศึกษา
และการปฏิรูปการศึกษา

การอบรม ประชุม และศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ
1. อบรมเทคโนโลยีการพิมพ์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (2519)
2. อบรมอุตสาหกรรมการพิมพ์ ณ ประเทศเยอรมันนี โดยทุนขององค์การ UNIDO (2518)
3. การศึกษาดูงานการสอนทางไกล ณ ประเทศอังกฤษ เยอรมันนี อิสราเอล
และเนเธอร์แลนด์ (2526)
4. การศึกษาดูงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศอังกฤษ
5. การประชุมเรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา ณ เมือง มอนทรีออล ประเทศแคนาดา
6. การประชุมสัมมนาเรื่อง การสอนทางไกล ณ ประเทศ ศรีลังกา จัดโดย องค์การ UNESCO
7. การศึกษาดูงานด้านการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
และ แคนาดา
8. การศึกษาดูงานด้านการจัดนิทรรศการระดับโลก ณ ประเทศออสเตรเลีย
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
9. การประชุมเทคนิคการสอนและถ่ายทอดความรู้ ณ ประเทศมาเลเซีย
10. การประชุมเรื่อง Higher Education in 21st Century จัดโดย SEAMEO
ณ ประเทศมาเลเซีย
11. การบรรยายพิเศษ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา
ในประเทศอินโดนีเซีย และลาว
12. การบรรยายพิเศษ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ในประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์
และมาเลเซีย
ผลงานสำคัญ
1.เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาให้เกิดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ . ศ .2539 ถึงปัจจุบัน
2.ได้รับเชิญให้ไปปาฐกถา และบรรยาย เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ
3.บุกเบิกและพัฒนาการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศ ในช่วงที่ประเทศเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2540
4.ดำเนินการให้มีโครงการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
โดยผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543
จนถึงปัจจุบัน
5.ริเริ่มการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการดำเนินการ
6.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ
ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
และได้ส่งผลให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย
5 กลุ่มวิชา ในระยะยาว
7.ริเริ่มให้มีโครงการจัดทำเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ในระดับอุดมศึกษา (UNINET) รวมทั้งผลักดันให้เกิดเครือข่ายห้องสมุด
ของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยขึ้น
8.ริเริ่มและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านการศึกษา
ในระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN และ GMS
9.การเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โดยไปดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีฯ อยู่ประมาณ 4 เดือน
10.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี 2539 – 2544
11.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
12.ผู้อำนวยการโครงการจัดงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก (World Tech 1995)
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ป . ม .
- ป . ช .
- ม . ว . ม .
- ม . ป . ช .
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์ Golden Cross and Star จากรัฐบาลประเทศออสเตรีย
-ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณมูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
333 หมู่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100
โทร.0-5391-6316
The Learning Resources and Educational Media Center,
Mae Fah Luang University,Chiang Rai, Thailand.

มฟล. ครบรอบ 12 ปี ปฏิบัติภารกิจสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำครบถ้วน –อธิการบดีลั่น รักษาตำแหน่งมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพและโอกาส เล็งเพิ่มช่องทางพิเศษรับเรียนดี-ขาดทุนทรัพย์เข้าเรียน ส่วนนศ.ทั่วไปเน้นการบริหารจัดการที่ดี แทนการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอยู่ในยุคบุกเบิกสร้างสรรค์ และพัฒนาตนเอง ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ได้ปฏิบัติภารกิจของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำมาโดยครบถ้วน จนได้รับการยอมรับจากสาธารณชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน และนับจากนี้ไปมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังมีภารกิจที่จะต้องพัฒนาตนเอง ท่ามกลางกระแสของโลกาภิวัฒน์ และการแข่งขันที่มีมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และต้องพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ก้าวทันหรือก้าวนำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ “ผู้ที่มีบทบาทที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานั้น ก็คือทุกฝ่าย ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี ผู้บริหารทุกระดับ รวมถึง เจ้าหน้าที่ทุกคน” อธิการบดีผู้ก่อตั้งกล่าว

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย
กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในโอกาสมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงครบรอบ 12 ปี
เรื่อง "มหาวิทยาลัยกับยุคโลกาภิวัตน์" ว่า
อุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 อุดมศึกษา
มีความเปลี่ยนแปลงมาก จากอุดมศึกษาธรรมดา
เป็นอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันทั้งภายนอกภายใน

“เป็นยุคที่นักเรียนแข่งขันกันอย่างมากเข้าเรียนในอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยเองก็แข่งขันกันรับนักศึกษาเข้าเรียน
เกิดความวุ่นวายในระบบอุดมศึกษามากมาย
และมหาวิทยาลัยยังต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้อันดับที่ดีๆ
ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย
รวมถึงต้องแข่งขันกันหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากๆ
เพราะจากการสำรวจพบว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
เกือบทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัย ที่ร่ำรวย
มีทุนสะสมในการดำเนินการมาก
มหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยมีกำลัง
ในการผลักดันตนเองให้ไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก”
รศ.ดร.วันชัย กล่าวถึงสถานการณ์ของอุดมศึกษา

รศ.ดร. วันชัย
กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากสถานการณ์
การแข่งขันกันของมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างหนึ่ง
คือทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันทำวิจัยหรือแข่งขันกันเสนอผลงาน
แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเสื่อมทางวิชาการอยู่เสมอ
เพราะการแข่งขันกันรับนักศึกษาให้ได้จำนวนมากๆ
มีผลต่อคุณภาพการศึกษา
แข่งขันกันมากก็ขาดคุณธรรม ทำให้ด้อยคุณค่าลงไป
อย่างไรก็ตามการแข่งขันต้องรักษา ไม่ให้ส่งผลกระทบในทางลบกับ
มหาวิทยาลัยและกับประชาชนทั่วไป
จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1 , 20 ต.ค. 2553
ถึง สภาวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จาก รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ เรากำลังอยู่ท่ามกลางกระแส
การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากคู่แข่งภายในประเทศแล้ว
ยังมีคู่แข่งภายนอก อีกมากมายที่เขาเหล่านั้น ไม่เคยหยุดนิ่ง
นอกจากนี้การที่ประชาคมอาเซียนได้ออกกฎบัตรอาเซียน(ASEAN Charter)
อันเป็นข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการทั้งทางด้านการค้า การลงทุน
และความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้
ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกมีข้อจำกัดในการดำเนินการด้านต่าง
ระหว่างกันน้อยลง เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน การศึกษา การลงทุน การค้ และธุรกิจต่าง ๆ
ก็จะทำได้โดยสะดวกและกว้างขวางขึ้น การแข่งขันระหว่างประเทศก็จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ
คำถามที่ต้องถามตนเองเวลานี้ คือ เราได้เตรียมความพร้อม
เพื่อสร้างคนในชาติของเราให้มีความสามารถที่จะแข่งขัน กับชาติอื่น ๆ แล้วหรือยัง
ความสำนึกในเรื่องนี้เรามีมากพอแล้วหรือยัง
และเมื่อไรการกระทำที่จริงจังในเรื่องนี้จึงจะเกิดขึ้น
และในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเราได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว
ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง กำลังเผชิญหน้ากับ
สภาวะการณ์ที่ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยหรือกินสมบัติเก่าต่อไปได้
เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินการที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีอยู่เป็นประจำกา
เสริมจุดเด่น ขจัดจุดด้อย คิดให้ไกลไม่อยู่กับที่ต้อง มีความคิดสร้างสรรค์
และใส่ใจความเคลื่อนไหวทั้งภายนอกและภายในอยู่เสมอ
เพื่อให้เราเป็นหัวขบวนตลอดเวลา ทั้งนี้หลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้และเริ่มเห็น ความสำเร็จ
ในการเป็นผู้นำอย่างชัดเจน เราต้องคิดว่าเราอยากอยู่หัวขบวนหรือท้ายขบวน
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะ เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยใหม่คงไม่ได้แล้ว
เราได้เติบโตมาพอสมควรและต้องพร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและ
พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีสากลให้ได้ ตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา
เราเดินทุ่งมุ่งหน้าฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานของมหาวิทยาลัยให้แข็งแรง
และเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี และเราได้สร้างรูปแบบของการดำเนินการหลายอย่าง
ที่ทำให้เราได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อหลัก
การเป็นผู้นำการสอนภาษาจีน การเลือกเปิดสอนในสาขาที่แปลกใหม่และเป็นที่ต้องการ
การเน้นการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะบางสาขา
หรือการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการต่าง ๆ ที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมก็ตาม
แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ให้เหมาะสมกับกระแสโลกาภิวัตน์ และการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ตลอดเวลา
เราคงมิอาจหยุดนิ่งได้ การวิเคราะห์จุดอ่อน การสร้างจุดแข็ง
และการพัฒนาภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคงต้องมีอยู่เป็นระยะ
อย่างไรก็ตามการมองไกล มองยาว หรือมีวิสัยทัศน์ที่ดีเพียงอย่างเดียว
แต่ไม่มีการนำมาปฎิบัติก็คงเป็นเพียง ความฝัน
หรือเป็นเพียงความอยากให้เกิดให้มีขึ้นเท่านั้น
แต่หากการนำมาปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพก็คงไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน
และอาจทำให้เกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึงด้วย
ดังนั้นการทำให้การบริหารจัดการภายในมีความเหมาะสม คล่องตัว
และสอดคล้องกับภารกิจเพื่อให้การดำเนินการ มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็น มหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กและอายุยังเยาว์
ดังนั้นการมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องและการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
และมีประสิทธิผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมคิด ร่วมทำ
และร่วมรับผิดชอบกันอย่างจริงจังภายใต้ภาวะผู้นำที่แข้มแข็งในทุกระดับ
บนพื้นฐานของการมีวินัย การเห็นแก่ประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและส่วนรวม
รวมทั้งความขยันขันแข็งในการทำงาน และความมุ่งมั่นที่จะเห็น
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก้าวหน้าไปกว่าทุกมหาวิทยาลัย
ความเติบโตและความก้าวหน้า ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จะเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงโดยตรง
และผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะเกิดแก่คนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในที่สุด
และถ้าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องช่วยกันทำด้วยการ
“ขจัดจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง และร่วมมือ ร่วมใจอย่างจริงจัง”

ปาฐกถา รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วันส่งมอบตำแหน่งอธิการบดี

Jun 28, 2007

15 ปีที่แล้ว 'สูตรสำเร็จความเครียด' พี่ตู้เขียนถึงเฉลียง

ภาพประกอบ:Thaiticketmaster.com
ที่มา เวปเฉลียง
สวัสดีประเทศไทย
พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพฯ: สารมวลชน.

กำพืดคอลัมน์ก็มี 2 อย่าง ไม่เขียมชมก็เขียนด่า
นี่เพิ่งหัดเขียนยังด่าไม่เป็น ยังเกรงใจเค้าอยู่ ทีนี้จะชมใครดี
แหม! ไม่ชมพวกเดียวกันจะไปชมใคร
ถาม”เจี๊ยบ”มันก่อน
“ ไงน้อง เทป”?
“ดัง …พี่ แต่ไม่กี่ม้วนเอง เค้าบอก”

เฉลียงเติบโตมาจาก “จิก” ประภาส
เริ่มต้นด้วยการนั่งคุยเล่นๆกับผมว่า
แนวเพลงน่าจะอย่างนั้นอย่างนี้
ชุดแรกก็ออกมา จิกว่าประชาสัมพันธ์อ่อน
แต่ผมว่าแนวเพลงมันล้ำหน้าตลาดไปบ้าง
จนกระทั่ง ” เพชฌฆาตความเครียด ”
ดึงตลาดให้มายอมรับอารมณ์ขันแบบกระชับและกลั่นกรอง
ชุดที่ 2 ก็ต้องได้รับการต้อนรับ

2 ใน 5 เฉลียงเคยโผล่หน้าในจอ
วาทะบนเวทีผ่านการเทรนจนได้ระดับ
มีอะไรน่ารักชวนให้อยากฟัง
เช่นชื่อเพลง
“ กล้วยไข่ ”
“ เที่ยวละไม ”
“ ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน ”

หลายเพลงจิกเขียนไว้ตั้งแต่โลกยังหมุนช้า
เมื่อ ” เพชฌฆาตฯ ” มา
จิกก็รู้ว่าอะไรที่คนรับอะไรที่คนไม่รับ
แล้วก็มาชุด 3 ที่ใช้ความอึดอัดให้เป็นเสน่ห์
“ แค่มี ” มีอะไร มันอยากรู้
“ ค่ำคืนฉันยืน ” โอย….มันไม่จบประโยค ยืนทำอะไร ก็ว่าไป
“ เพลงที่เหลือ ” …ชื่อเพลงนะเนี่ย
ก็มันเป็นที่เหลือในเทป ซื่อแต่คม!!

ไอ้ความกระชับเนี่ย
ถ้ากระชับเกินไปจนเหมือนขาดหายก็กลายเป็นของเล่นใหม่ในหมู่พวกเรา
แม้แต่ชื่อสกุลของพวกนี้ก็ย่อมา

สมัยเรียนอยู่จุฬาฯ จำได้ “ นิติพงษ์ ห่อหมกนาค ” เหมือนห่อหมกปลา ห่อหมกไก่
แต่นี่ใช้ตัวนาคมาทำห่อหมก แพงกว่า แต่ดำ!!
อดีตหัวหน้าวงลูกทุ่งประยุกต์ ถาปัด “กระเทียมเจียว” ซึ่งจิกเองก็เป็นนักร้องในวง

วัชระ ปานใหม่เอี่ยม ” เพื่อนออกบุหรี่จี้ ลบไม่ออก ต้องทำเป็นภาคภูมิว่าเป็นปาน
อดีตนักร้องนำวงกระเทียมเจียว
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ซูโม่” แต่รักดนตรีมากจนเอาไว้ไม่อยู่ อีกหน่อยก็รู้

ภูษิต ลูบไล้ทอง” ทองคือทองเหลีอง คือแซกโซโฟน
ตอนผมเจอแต๋งมาเล่นดนตรีละคร ‘ถาปัดที่เอ.ยู.เอ.ยังเป็นเด็กน่ารัก แซกยังไม่ยาว!?
หรือไนท์สปอต หรือเจเอสแอล หรือแกรมมี่ หรือ นิธิทัศน์ ถึงผมได้ทั้งนั้น


เกียรติศักดิ์ เวทีนี้ต้องมีวุฒิครับอาจารย์
เกี๊ยงเรียนเก่งจนอาจารย์สงสัยว่าจะเอาวุฒิ ’ถาปัดไปทำไม
ถ้าจะเอาดีทางดนตรี

ศุ บุญแล้วที่ไม่ต้องขายโอเลี้ยง” เดินเข้ามาหาจิก
บอกว่าชอบเพลง
เที่ยวละไมตรง “เอาตูดแช่น้ำแล้วเดินต่อไป” แค่นี้ได้งานทำเลย
จุ้ยเหมือนจิกจนน่าเกลียด พูด เดิน แต่งตัว เรอ
ต่างกันที่จุ้ยหน้าตาดีกว่า ไม่แปลก

เพราะจิกหน้าตาเลวมาก แต่แฟนสวย เอาสิ !!
อยู่ข้างบ้านผมเอง แนะนำให้รู้จักกันในละครการกุศล “น่านเจ้า”
เล่นเป็นพระ-นาง ไม่ยอมเลิก!!
ตอนผมชวนจิกเข้าเจเอสแอล ยังคิดว่าน้องคนนี้ตายด้าน
ทำแต่งาน ไม่ยุ่งเรื่องผู้หญิงเลย หรือผมไปสอนมันเข้าไม่รู้?!

ประภาส ชลศรานนท์ “ชล” มาจาก ชลบุรี “นนท์” มาจาก นนทบุรี “ศรา”
ภาษาบาลีแปลว่า สามสิบห้ากิโลต่างกัน
จิกมีภูมิลำเนาเดิมอยู่เมืองชล ย้ายมาอยู่สุทธิสาร ซึ่งห่างจากเมืองนนท์ 35 กิโลพอดี
วัดจากหอนาฬิกากลางเมืองถึงประตูบ้าน!!

ที่อยากชมคือน้องคนนี้ไม่เห็นบุหรี่เป็นพระเจ้า
สมัยเรียน ถาปัด สูบกรุงทอง 85 บุหรี่ขึ้นราคา เลิกสูบ!!
คงเห็นว่าผู้ปกครองประเทศควรทำงานหาเงินเข้าประเทศ
ไม่ใช่รีดเอาจากของเล็กๆน้อยๆ เวลาว่าง ท่านก็ทะเลาะกัน

เด็กจุฬาฯ 5 คนกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบของเพลงไทยสากลเข้าสู่ยุคธรรมชาติ กระนั้นหรือ?!
หลายคนสงสัย พูดยาก!! แต่คอนเสิร์ตที่น่าดูคือภาพ ไม่ใช่แค่เสียง เพราะไม่ใช่วิทยุ !!
พูดคุย ไม่ใช่ ร้องลุย เพราะเป็นคนไม่ใช่เครื่อง คุยสนุก มีเสน่ห์ กว่าคุยสูตร!!
คุยสูตร คือ “เป็นไงบ้างครับ สบายดีหรือครับ ร้อนไหมครับ ดีใจที่ได้มาร้อง
อยากฟังเพลงอะไร เพลงต่อไปมีชื่อว่า ฯลฯ แบบนี้ไม่ต้องพูด
ประหยัดเวลากว่า โทษใครดี ?!

ศิลปินไม่ใช่นักเขียน นักพูด ถึงต้องมีทีมครีเอทีฟ
ถึงต้องมีโปรดิวเซอร์ คอยคิด คอยสอน
หลายศิลปินที่ดังก็ด้วยส่วนประกอบเหล่านี้ที่สมบูรณ์
แต่ใช่ว่าคอนเสิร์ตคนเต็ม เทปจะขายดีด้วย
บางวงทำคอนเสิร์ตขาย อาจจะรวยกว่าทำเทป!!
เห็นศิลปินบางท่านเสียงดีที่สุดในประเทศ
แต่สคริปต์คอนเสิร์ตจืด มันฆ่ากันเลือดเย็น!!
อยากช่วย แต่เค้าจะว่า “เษือก!!”
ไอ้จะทำคอนเสิร์ตของพวกเราเองหรือก็ร้องพลงไม่ได้

อย่างเค้า เดี๋ยวขายไม่ได้ถึงล้านม้วน
ก็จะมองหน้าคนลงทุนลำบาก ต้องมองหัวเข่า!!
ใครอยากได้คอนเสิร์ตดี สนุก ติดต่อผมผ่านอินไซต์ทีวี หรือกันตนา

ขี้คุยชิพฮ๋าย!! ทำให้ฟรี !!
มันเสียดายศิลปินไทยที่มีคุณค่า แต่ว่าใช้เค้าไม่เต็มที่
ถึงขั้นนี้ สินค้าไทย ขายเมืองนอกได้แน่
ไม่ต้องรีดรายได้จากบุหรี่
สงสารพวกทาสบุหรี่ เพราะอยากตาย
ยังต้องให้เค้าจ่ายเพิ่มอีก ก็เหมือนศิลปินที่ใกล้ตาย
ต้องมาจ่ายค่ามิวสิควีดีโอ แข่งกันให้มันขาดทุนหนักเข้าไปอีก
คอนเสิร์ตดีๆ ไม่ต้องมีมิวสิควีดีโอยังได้ !!

- ที่มา GM PLUS
จรัสพงษ์ สุรัสวดี ชอบเรียกตัวเองว่า พี่ตู้
และเขาก็อยากให้เราเรียกเขาว่า พี่ตู้
ทุกครั้งแทนการใช้ ‘คุณ’ กับ ‘ผม’ เขาบอกว่าเรียกกันแบบนั้นมันดูไม่จริงใจ
แถมชวนให้หมั่นไส้กันอีก นี่คือหนึ่งในความตรงไปตรงมาของอดีตนิสิตสถาปัตย์ฯจุฬาฯ
ผู้ถูกจดจำมากที่สุดคนหนึ่ง เขาคือหัวหน้ากลุ่มซูโม่สำอางในกาลก่อน
ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันผลิตเซียนสู่วงการบันเทิงมากมาย
แต่ไม่นานนักพี่ตู้ก็ถูกจดจำในฐานะนักพูด-นักคิดเรื่องการเมืองและสังคมที่แยบยลผ่านอารมณ์ขันหน้าตายของเขา

พี่ตู้จัดทอล์กโชว์มาหลายครั้ง
และเป็นที่กล่าวถึงทุกครั้งในเรื่องความแรงระดับฮาร์ดคอร์ในการวิพากษ์การเมือง
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายรายการโทรทัศน์ที่เขาทำหรือเกี่ยวข้องจะถูก ‘แบน’ อยู่เสมอ

แต่เมื่อพี่ตู้รู้ดีว่าโลกไม่ได้แบนจริง เขาจึงยังกล้าที่จะพูดต่อไป
ทอล์กโชว์ครั้งล่าสุดของพี่ตู้จัดขึ้นหลังรถถังบุกเข้าทำเนียบเพียงไม่กี่วัน
แน่นอนว่า สถานการณ์แบบนี้พี่ตู้ย่อมมีอะไรใหม่ๆ มาชวนให้คิด
เช่น พรรคถวายจริง พรรคการเมืองที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่
โดยชูนโยบายว่าหากพรรคได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่ขอเป็นรัฐบาล!
พี่ตู้พูดเรื่องเหล่านี้สลับกับเรื่องเซ็กซ์และอะคาเดมี่ แฟนเทเชียได้อย่างลงตัว
กล่อมเกลาด้วยเสียงกีตาร์ราคาแพงและบทเพลงสากลมีระดับ
ท่าทีไม่กลัวใครและแนวคิดรักชาติระดับเข้มข้นย่อมมีคนหมั่นไส้พี่ตู้เยอะ
แต่ในประเทศนี้ก็คงมีเพียงพี่ตู้เท่านั้นที่กล้าพูดเรื่องการเมืองแบบทั้งดุเดือด ขำท้องแข็ง
และมีอะไรหนักๆ ใส่สมองกลับไป


เมื่อวานนี้เอง : PRAPAS.COM

คอลัมน์ คุยกับประภาส
ประภาส ชลศรานนท์
www.Prapas.com

www.chaliang.com


http://www.chaliang.com/prakod_babbrang1_2.html
ปรากฏการณ์ฝน
พอใกล้ปีใหม่ทีไร ได้เห็น ส.ค.ส.ของใครต่อใครที่ส่งพรมาอวยให้กัน
ได้
เริ่มเห็นปฏิทินที่ไม่คุ้นตามาวางอยู่บนโต๊ะ
ผมก็มักจะอุทานในใจเสมอว่า
นี่มันหมดปีไปอีกปีหนึ่งแล้วหรือ
เวลานี่มันวิ่งเร็วดีจริง
ผมว่าผมเพิ่งหันรีหันขวางไปสองสามทีเท่านั้น

ตั้งแต่ที่โลกเราเพิ่งฉลองปีที่สองพันของคริสต์ศักราชเมื่อวานนี้เอง

ผมว่ามันเพิ่งเมื่อวานนี้เองจริงๆ

วันนี้ขออนุญาตนำบันทึกในสมุดไดอารี่ของตัวเองมาให้ดูกัน

ยังอุ่นๆ อยู่เลยครับ เป็นบันทึกของเมื่อวานนี้

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวผมกลับมีมากมายให้บันทึกจนเมื่อยมือ


10.00 น. ตื่นสายอีกแล้ววันนี้

เมื่อคืนนอนเกือบตีสี่ นั่งคุยกับดี้เพลินไปหน่อย

แปลกใจอยู่เหมือนกันที่เมื่อคืนมันกินเบียร์ไปขวดเดียว

ปกติมันเป็นคอเบียร์ตัวยง
วัชระกลับไปก่อนไม่ถึงสิบนาที

เราก็เรียกให้เขามาคิดเงิน

"วันนี้เบียร์ไม่อร่อย"
รู้สึกว่าดี้มันพูดอยู่เบาๆ

ถ้าเจี๊ยบไม่รีบกลับเอากีตาร์ไปคืนเจ้าของ

ดี้คงไม่นั่งหน้าหน่ายอยู่อย่างนี้

สองคนนี่เขาคู่ขากัน หรือบางทีอาจจะไม่เกี่ยวก็ได้

ดี้คงรำคาญใจอะไรสักอย่าง

เมื่อวานน่าจะถามมันตรงๆ

สองวันมาแล้วที่ต้องมานั่งอัดเสียงกันใหม่

เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตที่เจี๊ยบหาได้ดีสุดในกลุ่มเพื่อน

อัดออกมาแล้วพี่เต๋อยังบอกว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย

หรือว่าดี้มันรำคาญใจเรื่องนี้


11.00 น. ออกไปหาโจ๊กกินแถวสะพานควาย

แล้วจะได้โทรศัพท์ไปหาพี่เก้า

ขอยืมบ้านนอนอีกสักคืนสองคืนอัดเสียงใหม่เสียเลย

เพิ่งรู้ตัวสายขนาดนี้จะไปหาโจ๊กที่ไหนได้

โชคดีเหลือเกิน เจอร้านกระเพาะปลารถเข็นผ่านมา

ไม่เคยเห็นเลยเจ้านี้ หน้าตาน่ากินมาก

นั่งยองๆ กินไปชามหนึ่ง

เป็นกระเพาะปลาแบบโบราณเสียด้วย

ใส่หน่อไม้สดหั่นเป็นเส้นเล็กๆ

แบบที่ชอบ กินเสร็จซื้อกลับมากินที่บ้านอีกถุงหนึ่ง

กระเพาะปลานี่มันต้องกินกับข้าวเปล่าถึงจะอร่อย

โชคดีเรื่องของกินไปแล้ว

แต่เรื่องโทรศัพท์แย่หน่อย คิวยาวเกือบสิบคน

หนำซ้ำพอเข้าไป โทร.ก็โดนกินเหรียญอีก

วิ่งไปแลกเหรียญกลับมาอีกที คิวก็ยาวอีกทีเหมือนเดิม

คราวนี้ โทร.ติด แต่พี่เก้าไม่อยู่บ้าน

12.00 น. เอากระเพาะปลาใส่ตู้เย็นแล้วก็เดินข้ามถนน

แวะไปหาพี่ต๊อกที่ซอยอินทามระ 6

ได้ยินมาว่าตึกแถวที่พี่ต้นพี่หน่อยซื้อไว้เพิ่งทาสีเสร็จ

เจอพี่ต้นด้วย แกยังถามอีกว่าไม่สนใจมาทำงานด้วยกันหรือ

พี่ต๊อกกำลังยืนเล็งชื่อป้ายบริษัทที่ทำด้วยไม้

แซวแกไปว่าตัวเจมันเอียงกว่าตัวเอสกับตัวแอลไปหน่อย

ชื่อบริษัทแค่สามตัวต้องเท่ากันสิ

"ชั่วคราวโว้ย... ของจริงเป็นทองเหลือง สวยกว่านี้อีก"

พี่ต๊อกแกเถียง พี่ต้นพาขึ้นไปเที่ยวบนบริษัท

แม้จะเป็นตึกแถวคูหาเดียวแต่ก็นับว่าสะอาดน่าอยู่

พี่ต้นบอกว่ากำลังจะได้รายการมาทำเพิ่มอีกเป็นสองรายการแล้ว

เรียนจบเมื่อไหร่มาช่วยกันทำนะ

สงสัยว่าแกลืมไปว่าเราเรียนออกแบบบ้านอยู่


14.00 น. นัด ดี้, เจี๊ยบ, พี่โย ที่เอ็มเค

นั่งรถไปลงที่โรงหนังสยาม เดินดูใบปิดหนังเล่น

ใบปิดหนังเรื่องวัยอลวนที่กลับมาฉายอีกครั้งสวยจนอยากได้

รูปวาดไพโรจน์ สังวริบุตร เท่มาก

ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับฯในดวงใจหรือเปล่า

แต่คิดว่าไม่น่าจะใช่ จำฝีแปรงแกได้

มาถึงเอ็มเค ร้านสองคูหาเล็กๆ วันนี้เขาเปิดแค่ชั้นล่างกับชั้นลอย

แอร์ชั้นสองมันเสียไปเครื่องหนึ่ง คนเลยค่อนข้างแน่นแต่วัน

เจอพี่แจ๊วยืนอยู่หน้าร้าน เจ้าของบ้าอะไรไม่รู้อยู่ร้านได้ทุกวัน

ขยันอะไรกันนักกันหนา และก็สนิทกับลูกค้าประจำแทบทุกคน

ไม่น่าแปลกใจว่าใครๆ ก็ชมว่าแกน่ารัก

"เชิญค่า............."

เสียงเรียกของพนักงานในร้านร้องต่อกันเป็นทอดๆ

เป็นเอกลักษณ์ของร้านจริงๆ พี่แจ๊วแกอบรมลูกน้องแกดี

มากินที่นี่เหมือนมากินข้าวบ้าน มีแต่คนรู้จัก

แล้วบริกรก็เหมือนน้องนุ่ง

ไม่รู้จะไปไหนก็มานั่งเอ็มเคกินน้ำเปล่ารอเพื่อนฟรีๆ
ได้
"พี่โยมาแล้ว อยู่ชั้นลอย" พี่แจ๊วบอกตอนพาไปที่โต๊ะ

แกรู้จักทุกคนจริงๆ

"คนชักเยอะแล้วพี่ ขยายร้านเถอะ" ล้อแกไปเล่นๆ

"แค่นี้ก็ทำไม่ไหวแล้ว"

"ขยายให้ทั่วประเทศเลยพี่ แล้วก็ทำให้เป็นมหาชนไปเลย"

ได้ทีแล้วนี่ ต้องแซวแกให้เกินจริงหน่อย

อยากบริการลูกค้าดีนัก

พี่โยนั่งรออยู่กับเจี๊ยบ ดี้ยังไม่มา

พี่โยบอกว่าฟังเพลงม้วนที่อยู่ที่เจี๊ยบแล้ว

ขอวิจารณ์ว่าเสียงอู้อี้ดีจริงๆ

และเมื่อกี้แกก็ โทร.คุยกับพี่เก้าให้แล้ว

คืนนี้พี่เก้าอยู่บ้านแน่นอน จะไปสุมหัวกันก็ยินดี

เจี๊ยบบอกว่าเทปคาสเซ็ตยังฝากไว้ที่บ้านพี่เก้า

ลองเอาชื่อวงดนตรีที่ตั้งไว้มาให้เจี๊ยบดู

เจี๊ยบชอบชื่อ "มุยและพี่สะใภ้" ที่สุด

สงสัยคงต้องเอาชื่อนี้แน่ๆ เสียแล้ว ถามใครๆ ก็ชอบทั้งนั้น

พี่โยเอาเทปปกสีน้ำตาลมาให้ดูกล่องหนึ่ง "น่าสนใจ"

"ใครน่ะ" ถามทันทีที่เห็น บนปกเขียนไว้ว่า โฟล์คซองคำเมือง

"ม้วนนี้มาแรง" พี่โยว่า


14.50 น. ดูหนังที่โรงหนังลิโด้

เรื่องสตาร์วอร์ด้วยความตะลึงพรึงเพริศ

เดินออกจากโรงมา
ยังครางกันอยู่เลยว่า

คุณลูกัสแกทำเสียดีขนาดนี้แล้ว

จะมีใครทำหนังด้วยเทคนิคตระการตาอย่างได้นี้อีก ไม่มีทางอีกแล้ว

17.00 น. ไปเล่นรักบี้ที่คณะสถาปัตย์ ได้ยินพี่ยอดบอกว่า

ตึกแถวตรงสี่แยกปทุมวันจะถูกรื้อหมดแล้ว

เขาจะสร้างศูนย์การค้าชื่อมาบุญครอง

ได้ยินชื่อปุ๊บก็หัวเราะกันทั้งกลุ่มที่นั่งอยู่หน้าบันได

ชื่อห้างอะไรเชยยังกับชื่อข้าวสาร อำแน่นอนพี่ยอดเรา

"ขืนสร้างมีหวังเดินกันโหรงเหรง" รุ่นพี่อีกคนเสริม

"แค่สยามเซ็นเตอร์ก็เดินกันหลวมแล้ว"


19.00 น. ไปกินข้าวที่ตลาดสามย่าน ไอ้โค้กไปด้วย

ตอนเดินผ่านรถเก๋งคันหนึ่ง มันชะโงกเข้าไปดูในรถเขา

"โทรศัพท์ติดรถโว้ย"

เทคโนโลยีสมัยนี้นี่มันทันสมัยจริงๆ

โทรศัพท์ติดรถยนต์ก็ได้

แล้วเครื่องก็เล็กนิดเดียว

สูงแค่กระติกน้ำแข็งใบย่อมๆ เท่านั้น

หนักไม่น่าจะถึงสิบกิโลฯ คิดว่ามีแต่ในหนังเจมส์บอนด์เสียอีก

เห็นโทรศัพท์แล้วสงสัยต้องลองไปติดต่อองค์การโทรศัพท์ฯอีกที

ที่บ้านยังไม่มีโทรศัพท์เลย

แถวสะพานควายซื้อเบอร์กันตั้งเจ็ดแปดหมื่น แพงจริงๆ


21.00 น. ไปหาพี่เต๋อที่มณเทียรตามนัด
แกกำลังร้องเพลงอยู่บนเวที
ขอเพลงร็อดสจวร์ตไปสองสามเพลง แกก็ร้องดีเหลือเกิน
เจี๊ยบชี้ให้ดูคนเล่นกีตาร์ที่ยืนอยู่ข้างๆ พี่เต๋อ
"จำได้ไหม ใคร"
"ใครวะ"
"วงอีสซึ่นไง"
"เอ้อ..ใช่จริงๆ ด้วย" แฟนอีสซึ่นเหมือนกันนี่เรา
"เล่นวงโอเร็นเตลฟังก์ด้วย ?"
"ไม่รู้... เล่นประจำหรือแวะมาแจมก็ไม่รู้ ..
คนนี้ชื่ออะไรวะ "
"อัสนี จำได้เขาไว้ผมทรงนี้ตลอด วสันต์น่ะเขาใส่แว่น"
"น่าจะออกเทปอีกนะอีสซึ่นน่ะ"
ใครก็ไม่รู้บอกว่าคงไม่ออกแล้วมั้ง อายุสามสิบกว่าแล้วนี่
ตอนพักเล่น พี่เต๋อแวะเข้ามาคุยด้วย
พอได้โอกาสก็รีบเอาเทปที่พี่เต๋อขอให้ไปมาอัดใหม่
ส่งให้แกไป
"ขอฟังอีกทีนะจิก เราไม่เคยทำเพลงไทย แต่น่าลอง"
"ยังขาดอีกสองเพลง เดี๋ยวคืนนี้จะไปอัดอีกพี่"
"เออ..อย่าเล่นกีตาร์ดังนักนะ ฟังเสียงร้องไม่รู้เรื่องเลย"

24.00 น. ถึงบ้านพี่เก้า ไอ้อั๋นกับไอ้ตั้วมาถึงก่อนแล้ว
กำลังช่วยพี่โยตัดโมเดลอยู่ พี่โยต้องส่งทีสิสศุกร์นี้
เจี๊ยบร้อง "เธอกับฉันกับคนอื่นๆ" แบบแก้เนื้อใหม่
ไอ้อั๋นบ่นว่าเพลงพวกมึงนี่เนื้อหาไม่ก้าวหน้าเลย
คืนนี้เป็นคืนที่ดี้เพิ่งเจอพี่เต๋อครั้งแรก
มันบอกมันถูกชะตาผู้ชายคนนี้มาก
นั่งคุยกันต่อว่า... พี่เต๋อจะยอมตกปาก
รับทำดนตรีเพลงชุดนี้ให้เราไหม
ตอนดึกๆ หน่อย ฟังเขาวิเคราะห์ข่าวเที่ยงคืนทางวิทยุ
เห็นคนวิเคราะห์ข่าวพูดว่า
บางทีปีสองปีนี้ นายกเปรมฯอาจจะล้างมืองานทางการเมือง
มันจะเป็นไปได้อย่างไร พลเอกเปรมฯไม่เป็นนายกฯ
แล้วเมืองไทยใครจะเป็นนายกฯได้ คุณชวนหรือ?
คุณชาติชายหรือ? หรือจะเป็นคุณบรรหาร
บ้าน่า...
มันเมื่อวานนี้เองจริงๆ ไม่รู้สิครับ ผมตื่นมาวันนี้
ผมเจออะไรตั้งหลายอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่น่าเชื่อ
อะไรที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในวันนั้นมันก็ได้เป็นไปแล้วในวันนี้
ถึงวันพรุ่งนี้ผมก็คงได้เขียนบันทึกอีกว่า สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในวันนี้
มันได้เป็นไปแล้วเช่นกัน ผมไปเปิดตู้เย็นดูมาแล้วครับ
กระเพาะปลาถุงที่ผมซื้อมาเมื่อวานยังอยู่ดีอยู่เลย
อีกสักประเดี๋ยวผมจะเอามาอุ่นกินกับข้าวเปล่าให้สมอยาก
แค่คิดก็อร่อยไปถึงไหนๆ แล้ว



ยอมแล้ว
เนื่องจากมีบุคคลหลายฝ่าย หลายคณะ
ขอให้ข้าพเจ้าทบทวนคำพูดในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว
ที่จะไม่มีการเล่นคอนเสิร์ตเฉลียงอีกบัดนี้ ด้วยแรงผลักดัน
บีบคั้น จากบุคคลบริสุทธิ์ใจ
ทั้งบรรดาคนสนิทชิดเฉลียงทั้งหลาย ทั้งจากเพื่อนฝูง
และหน้าที่ของการเป็นนิสิตเก่าสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ
รวมทั้งแรงพลังสูงส่งบางประการที่มิอาจกล่าวถึง
ข้าพเจ้าจึงขอถอนคำพูดที่ได้กล่าวไว้ว่า
จักมิมีคอนเสิร์ตเฉลียงพร้อมหน้าอีกต่อไป
หลังจากที่ผ่านการถกเถียงหลายข้อหลายประการ จนได้ข้อสรุป
ข้าพเจ้าจึงขออาสาสมัคร ประกาศถ้อยความต่อไปนี้
ให้แก่คนสนิทชิดเฉลียงทุกท่านด้วยตัวเอง
ซึ่งควรเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกที่ควรจะรู้
ข่าวคราวก่อนใครเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า
จะมีคอนเสิร์ตเฉลียง ชื่อ "เหตุเกิดที่เฉลียง"
ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ สองรอบบ่ายค่ำ
ที่อิมแพคอารีน่าเมืองทอง เพื่อนำรายได้ทั้งหมดมอบแก่
สมาคมนิสิตเก่าสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งมีเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าเป็นนายกสมาคมฯ
แล้วแม่มไม่มีสตางค์เลย
เมื่อเทียบกับสมาคมนิสิตเก่าคณะอื่น ๆ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ
ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวที่สยามสมาคมฯ
ในวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม ศกนี้ เวลา 14.00 น.
จึงต้องแจ้งให้ทุกท่านในเว็บไซต์นี้ก่อน
ไม่งั้นจะมาเป็นแฟนคลับกันทำไมล่ะเออ
เฮ้อ ต่อไปนี้พูดอะไรคนเขาจะเชื่อกูไหมเล่าเนี่ย
ลงชื่อ นายนิติพงษ์ ห่อนาค
(กลับมา)รักษาการณ์หัวหน้าวงดนตรีเฉลียง



เขียนไว้พูดไว้http://www.chaliang.com/guestbook.asp?Page=2



เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ 


ต้นชบากับคนตาบอด