Custom Search

Jun 17, 2007

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับ วิทยาลัยช่างศิลป


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานการศึกษาและริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์
ประเทศอิตาลี นามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี ตรงกับรัชสมัยในรัชการที่ 6
ในขณะนั้น รัฐบาลประเทศสยามมีนโยบายขอให้รัฐบาลประเทศอิตาลี

คัดเลือกประติมากรผู้มีฝีมือมารับราชการปฏิบัติงานหล่อ
และถ่ายทอดความรู้แก่ชาวสยามให้มีความรู้ทางด้านศิลปะทัดเทียม
กับชาวตะวันตกตามพระราชประสงค์
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปี พ.ศ.2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

เดินทางมารับราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัง
ในตำแหน่งช่างปั้น ที่ประเทศสยาม วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2466

เมื่ออายุท่านย่าง 32 ปี
ผลงานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงจนได้รับ
เลือกมารับราชการในประเทศสยาม

คือ ประติมากรรมอนุสาวรีย์สงคราม
ที่เมืองปอร์โตเฟอราอิโอ
ด้านชีวิตครอบครัว ก่อนเดินทางมา
ท่านเคยแต่งงานมาครั้งหนึ่งแต่แยกทางกัน
ท่านเดินทางมากับภริยาใหม่ คือ นางฟันนี วิเวียนนี

และใช้ชีวิตร่วมกันในประเทศสยามจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
ครอบครัวขอท่านจึงกลับประเทศอิตาลีพร้อมลูกชาย และลูกสาว
แต่ท่านกลับอยู่ประเทศสยามด้วยความเสียสละเพื่องานศิลปะ

และด้านศิลปะศึกษาที่ท่านรัก
ท่านแยกทางกันแต่มีโอกาสได้พบกันเมื่อท่านลางาน

เพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวในบางปี
ปี พ.ศ.2486 ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี

มีสัญชาติอิตาเลี่ยนซึ่งแพ้สงครามจึงถูกกักกันตัว
( บางครั้งกล่าวว่ากักบริเวณ )
ท่านจึงเปลี่ยนชื่อ และสัญชาติโดยมีชื่อ
“ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”

แทนนามเดิมท่านแต่งงานกับคุณมาลินี แคนนี่
แต่ไม่มีบุตร ธิดาด้วยกัน
ท่านอุทิศตนจนถึงวาระสุดท้ายให้กับการบุกเบิกศิลปะ
และศิลปะศึกษาในประเทศไทย
แม้อายุท่านล่วงเลยเกิน 60 ปีแล้ว
จวบจนท่านถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505
โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม

โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ที่สำคัญต่างๆ ในประเทศไทย


ความขยัน และรับผิดชอบในหน้าที่
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ท่านให้การอบรมแก่ศิษย์ทั้งภาคทฤษฎี
และปฏิบัติโดยมิได้เหน็ดเหนื่อย
ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง
ท่านมาทำงานแต่เช้าก่อนเวลา ๘.๐๐ น.
และกลับบ้านหลังเวลา ๑๘.๐๐ น.ทุกวัน
ตั้งใจถ่ายทอดวิชาอย่างจริงจัง
ทำให้ศิษย์ทุกคนมีความขยัน หมั่นเพียร
ใครเกียจคร้านท่านจะไม่พูดด้วย
ท่านชอบที่อยู่ใกล้ศิษย์เสมอ
ปกติท่านมิเคยลาป่วยหรือลาหยุดแล้ว
ในทางตรงกันข้ามมาทำงานตั้งแต่เช้า ยันค่ำ
ท่านทำงานไม่หยุดว่าง
ทั้งงานประติมากรรมอนุสาวรีย์ของส่วนราชการ
และงานสอนที่ท่านทุ่มเท
ท่านเคารพต่อราชการไม่เคยใช้เวลาราชการ
และไม่เคยทำงานพิเศษเป็นส่วนตัว
แสวงหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ
เพิ่มพูนรายได้นอกจากเงินเดือนราชการ
ความขยันหมั่นเพียรของท่าน
ควรค่าแก่การเคารพในเกียรติยศของท่าน


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ปี พ.ศ.2469
ศาสตราจารย์ศิลป์ ได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น
สังกัดกองประณีตศิลปกรรม
กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ
ระหว่างนั้นท่านได้เริ่มสอนศิลปะแก่ผู้สนใจ
โดยเฉพาะทางด้านประติมากรรม
ทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติ
ศิษย์รุ่นแรกๆส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนเพาะช่าง
เมื่อทางราชการเล็งเห็นความสำคัญ
ของการศึกษาทางด้านศิลปะจึงให้
ท่านเป็นผู้วางหลักสูตร และตำราขึ้น
โดยมีมาตรฐานเช่นเดียวกับยุโรป
อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช
กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
เป็นบุคคลผู้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดศิลปิน
และศิลปะแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง
ศิลปินมีการสร้างสรรค์ศิลปะที่มีฐานของความรู้และความเข้าใจ
ท่านเห็นว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น
จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบและแบบแผน
ท่านจึงพยายามให้ทางราชการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ
จนเปิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นในปี พ.ศ.2477
กรมศิลปากรจึงจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม
โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้อำนวยการ
และเป็นผู้สอนวิชาศิลปะทั้งทางด้านทฤษฎี
และปฏิบัติ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม
ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร
ในปี พ.ศ.2486 จนถึงปัจจุบัน
นับเป็นโรงเรียนสอนศิลปะสากลแห่งแรก
ของประเทศสยามและเอเชียอาคเนย์


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานการศึกษาและริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป
ในระดับเตรียมมหาวิทยาลัยนั้น
ท่านได้ริเริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2488
การเรียนศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์ กล่าวว่า
การศึกษาศิลปะ ต้องใช้เวลามาก
อย่างน้อยต้อง 8 ปี แต่ในระดับปริญญาตรี ใช้เวลา 5 ปี
ท่านจึงสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียนศิลปศึกษา
หรือโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
และสามารถเปิดเป็นโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้น
ในปี พ.ศ.2495
ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนช่างศิลป

และปัจจุบันคือวิทยาลัยช่างศิลป ตามลำดับ
ซึ่งจัดการเรียนการสอนทางด้านศิลปะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
และผลิตบุคลากรศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านศิลปะมาเป็นเวลานาน
ในการจัดทำหลักสูตรในช่วงเริ่มต้นเปิดโรงเรียนนั้น
อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ
เป็นผู้ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำหลักสูตร
ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ
ในขั้นแรกเริ่มตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
ในขณะนั้นยังไม่มีสถานที่เรียน
ต้องอาศัยสถานที่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร
จนเมื่อย้ายสถานที่เรียนมาอยู่ที่ตึกกระทรวงคมนาคม
ซึ่งถูกรื้อและสร้างเป็นโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีกับศิษย์ช่างศิลป
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านแวะเวียนมาที่
โรงเรียนศิลปศึกษาหรือวิทยาลัยช่างศิลป

ในขณะนั้นเป็นประจำ บางครั้งมาพูดคุยกับบรรดาอาจารย์
ซึ่งบางส่วนเป็นศิษย์ของท่าน

และพบปะ อบรม บ่มนิสัย แก่นักเรียนในสมัยนั้น ดังเช่น
นิคม มูสิกะคามะ อดีตอธิบดี กรมศิลปากร
กล่าวถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีว่า
เป็นผู้สงบศึกการวิวาทของนักเรียนระหว่างโรงเรียนศิลปศึกษา
กับโรงเรียนนาฏศิลป
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ ว่า
เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงมีการประชุมระหว่าง ๒ โรงเรียน
เพื่อปรับความเข้าใจ ในวันนั้น
มีฝรั่งคนหนึ่งเดินออกไปหน้าชั้น
พูดภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง
รุ่นพี่บอกว่านี่แหละ “อาจารย์ฝรั่ง”
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวว่า
“คนไม่ใช่สัตว์ สัตว์เดียรัจฉาน จึงไม่ต้องต่อยตีกัน
ให้เรียน …เรียน…เรียนเท่านั้น หน้าที่ของเราคือเรียน

พิทชา ชมเชิงแพทย์ นักเรียนโรงเรียนศิลปศึกษา
เมื่อครั้งหลักสูตรการเรียนสามหน่วย
คือ
๑. หน่วยจิตรกรรม ประติมากรรม
๒. หน่วยช่างสิบหมู่ และ
๓. หน่วยโบราณคดี
กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
มักแวะเวียนมาที่โรงเรียนเสมอๆ
โดยเฉพาะเรื่องการอบรมนิสัยนักเรียนในสมัยนั้น
ครั้งหนึ่งเรื่องความสะอาดห้องส้วม
ที่สกปรกซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
มิไคร่จะชอบนัก ศาสตราจารย์ศิลป์
กล่าวในที่ประชุมด้วยน้ำเสียงภาษาไทยสำเนียงฝรั่งที่โมโหว่า
“เราอยู่รวมกัน หลายๆคนอึ เราจะต้องมีความสะอาด
เป็นต้นว่า ห้องส้วมนะ เราควรจะใช้แล้ว
ควรทำให้สะอาด ไม่ใช่ทำแล้วหนีไป
เป็นคนหนา เลวกว่าแมว หมา แมว
มันยังดีกว่า ขี้แล้วยังรู้จักกลบ”

ดูเหมือนศาสตราจารย์ศิลป์ มักเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอบรมนักเรียน
กับเหตุการณ์หลายๆกรณี
เมื่อครั้งราชการยุบกระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๑
โรงเรียนศิลปศึกษาจึงเกิดการเปลียนแปลง
ทั้งด้านบุคลากรที่ย้ายมาจากกรมต่างๆ
และระบบการเรียนการสอนหลักสูตร
ที่เน้นการเรียนวิชาสามัญมากขึ้นเหมือนสถานศึกษาอื่นๆที่เป็นอยู่
ทั้งระเบียบเครื่องแต่งกายนักเรียนจึงประท้วงไม่ยอมเข้าเรียนวิชาสามัญ
ประภาส อิ่มอารมณ์
กล่าวว่า ฯพณฯชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี
ในขณะนั้นเป็นตัวแทนในการเจรจาขอให้ไม่เน้นวิชาสามัญมากเกินไป
ศาสตราจารย์ศิลป์ จึงเป็นผู้คลี่คลายกรณี
ดังได้กล่าวในการเจรจาว่า
“พวกนายจะเขียนรูปเป็นอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจ
กับวิทยาการรอบข้าง นายจะเป็นแค่คนเขียนรูปเท่านั้น
ไม่แตกต่างกับชาวสวน ชาวนาที่ทำเกษตรเป็น
จะเอาอย่างนั้นหรือ ศิลปินที่ดีจะต้องเป็นผู้รอบรู้
เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่า
เพราะพวกเขามีความรู้ทุกๆสาขานอกเหนือวิชาศิลปะเช่นกัน”
มานัส รักใจ กล่าวถึงศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งเป็นที่รัก
นับถือว่านอกจากท่านจะสอนเกือบทุกวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ
เช่นองค์ประกอบศิลป์ และทฤษฎีสีแล้ว
ในกรณีดังกล่าวนี้ อาจารย์ฝรั่ง
ผู้ก่อตั้งเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
โรงเรียนศิลปศึกษา จึงต้องเดินทางมาอบรมศิษย์
ว่าท่านรักและเอาใจใส่ศิษย์เพราะอยากให้เป็นคนดี
แต่ไม่เป็นอย่างที่ท่านคิดไว้ กลับมาเกเร ท่านรู้สึกผิดหวัง
สมเกียรติ เสวิกุล กล่าวว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ.๒๔๙๙
ในขณะที่ท่านเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ นั้นนักเรียนมักส่งเสียงดังกัน
จนเป็นที่เดือดร้อน ศาสตราจารย์ศิลป์
ซึ่งปฏิบัติง่านในห้องพักของท่าน
จึงต้องทำหน้าที่อบรม
ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวังในการกระทำของศิษย์ว่า
“เกรงใจกันบ้างสิ ทำงานต้องการสมาธิเหมือนกัน…นาย..
นี่นาย ทำไมชอบทำเสียงสัตว์ป่า นายเป็นคนนะ ไม่ใช่สัตว์”
ท่านกล่าวในเชิงให้สตินอกเหนือจากเหตุการณ์ซึ่งไม่ปกติแล้ว
ปกติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีก็มักจะแวะมาเยี่ยมโรงเรียน
และเข้าอบรมแก่นักเรียน โรงเรียนศิลปศึกษาอยู่เนืองๆ
อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์
นอกจากจะเป็นที่กล่าวขานของรุ่นพี่ว่า อาจารย์ฝรั่ง
“สอนดี เข้าใจง่าย”
วันหนึ่งในที่ประชุม อาจาร์ศิลป์พูดเกี่ยวกับระเบียบวินัยของโรงเรียน ว่า
“ฉันตั้งโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้นมา
เพื่อให้นักเรียนได้เรียนศิลปเบื้องต้น
เมื่อจบแล้วให้ไปต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ขณะเดียวกัน นักเรียนก็ต้องรู้จักปฏิบัติตาม
ระเบียบวินัยของโรงเรียนด้วย
เป็นนักเรียนต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง
ถ้าไม่มีระเบียบและวินัยของโรงเรียน ก็ไม่ใช่โรงเรียนแน่นอน”

อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่าครั้งนั้นเป็นความภาคภูมิใจ
ที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมาอบรม ๑๕ กันยายนของทุกปี
ในขณะนั้นศิษย์โรงเรียนศิลปศึกษา
ถือเป็นวันที่รอคอยเพราะคือโอกาสการ
ได้ร่วมงานวันเกิดของท่านศาสตราจารย์ศิลป์
ที่บ้านพักของท่าน ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน
ศาสตราจารย์ศิลป์จะอยู่ร่วมงาน เล่านิทาน ร้องเพลง
และหยอกล้อกับศิษย์ดังปฏิบัติต่อลูกหลาน
จวบจนปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป
สำนึกในบุญคุณของท่านผู้ริเริ่มวางรากฐาน
และก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป
ได้จัดกิจกรรมรำลึกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ในวันเกิดของท่านคือ วันที่ ๑๕ กันยายน มาตลอดทุกปี
เพียงแต่วันนี้ไร้ร่างเจ้าของวันเกิด เหลือคำสอน
และสถานศึกษาศิลปะ
ตลอดจนคุณความดีที่ไม่มีใครลืม “ ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว ”



บรรณานุกรม
นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, มหาวิทยาลัยศิลปากร,
อมรินทร์การพิมพ์ , 2535

อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ , สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี , อมรินทร์การพิมพ์ , 2527

50ปี ศิลปศึกษา ช่างศิลป บทความข้อเขียนของศิษย์เก่าศิลปศึกษา – ช่างศิลป ,
สมาคมศิษย์เก่าศิลปศึกษา – ช่างศิลป , 2545