Custom Search

Jun 29, 2007

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ : อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

การเรียนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นโอกาส
การศึกษาทำให้เรารู้จักคิด และมองเห็นโอกาสที่ดี
(โอวาทในการปฐมนิเทศนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา วันเสาร์ที่ 23 มิ.ย. พศ. 2550)

นักศึกษาระดับบัณฑิต ต้องรักษากฎเกณฑ์สถานศึกษา
ในเรื่องของการตรงต่อเวลา
เคยมีคนพูดว่า ฝรั่งตรงเวลากว่าคนไทย
และทำอะไรตามใจคือไทยแท้
เราต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการตรงต่อเวลา ต้องมีวินัย
การเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เป็นอีกมิติหนึ่งในการเรียน
ตอนเราเริ่มเรียนชั้นแรกตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีผู้ปกครองคอยดูแลแต่งตัว
ป้อนข้าว ป้อนน้ำ รับ-ส่งไปโรงเรียน พอขึ้นชั้นประถมก็ต้องรับ-ส่ง
ชั้นมัธยมก็ยังมีคนคอยดูแล แต่พอถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัย
ต้องดูแลตัวเองแต่ก็ยังมีอาจารย์กำกับ
ส่วนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก นั้น ต้องดูแลตัวเองแล้ว
เหมือนนกที่ต้องออกไปหาอาหาร
อย่าคิดว่าอาจารย์จะบอกให้ท่องจำหรือป้อนให้
เราต้องตักตวงให้มากที่สุด เพราะอาจารย์ให้เพียงแต่แนวคิด
แต่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้เองจึงจะเป็นอภิชาตศิษย์
ระดับปริญญาตรียังไม่เป็นอภิชาตศิษย์
ระดับดุษฎีบัณฑิตจึงจะเป็นอภิชาตศิษย์ เพราะต้องอ่านหนังสือมาก
ต้องหาความรู้ด้วยตนเอง ต้องไขว่คว้า ค้นคว้า แสวงหา
บทบัญญัตินี้ใช้ได้กับนักศึกษาทั่วโลก นักเรียนจะต้องหาความรู้ด้วยตนเอง
วิทยานิพนธ์ หรือไอเอสระดับปริญญาโท ต้องหาข้อมูลมาวิเคราะห์
หาข้อมูลมาตีแผ่ให้ได้ข้อเท็จจริงให้เกิดปัญญาต่อไป
แต่ในระดับดุษฎีบัณฑิตก้าวไปอีกขั้น นอกจากจะหา
ข้อมูลมาวิเคราะห์หาข้อเท็จจริงแล้ว
ยังต้องนำไปสังเคราะห์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ค้นพบใหม่
เพราะฉะนั้นการทำวิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิต
ต้องนำไปศึกษาต่อว่า
ต้องสังเคราะห์หลักการทฤษฎีใหม่ คิดใหม่
การเรียนในระดับปริญญาโท เอก
นั้นถือว่าไม่ยากและก็ไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง
เพราะการเรียนจบนั้นไม่ถือว่าเก่ง ถือว่าเป็นเพียงการจบหลักสูตรเท่านั้น
แต่การที่จะมีความสามารถนำไปประยุกต์ใช้ความรู้ไม่เหมือนกัน
ศิลปะการนำความรู้มาใช้ ก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นแพทย์ที่จบมาเหมือนกัน
ก็นำความรู้และหลักการมาใช้แตกต่างกัน
มีการประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคแตกต่างกัน
คนเรียนบริหารธุรกิจแต่บริหารธุรกิจของตัวเองไม่ประสบผลสำเร็จก็มีมากมาย
ยกตัวอย่าง เถ้าแก่รุ่นเก่ามาจากเมืองจีน นั่งสำเภามา เสื่อผืนหมอนใบ
มารับจ้างเป็นจับกัง ทำงานไปทำงานมา มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาตน
เห็นแม่ค้าขายข้าวแกงใช้ผักมาทำอาหารขาย
จึงมีความคิดที่จะไปรับผักมาขายให้แม่ค้า
กลายเป็นพ่อค้าขายผักไป จากนั้นเห็นการค้าขายอาหารได้เงินดี
ก็เปลี่ยนไปเป็นพ่อค้าขายอาหาร
แต่การทำร้านอาหารต้องมีทุนจึงต้องไปกู้เค้ามา
เริ่มมองเห็นโอกาสอีกว่า คนมากู้เงินมากเป็นคนปล่อยเงินกู้จะดีกว่า
ก็เริ่มพัฒนามีแนวทางเพราะมองเห็นโอกาส จากคนปล่อยเงินกู้ก็กลายมา
เป็นเจ้าของธนาคาร ภายในระยะเวลา 30ปี
จากจับกังกลายเป็นเจ้าของธนาคาร
นั่นคือการมองเห็นโอกาส แต่ก็มีไม่มากที่จะมีเพชรในตม
จากจับกังที่สามารถพัฒนาเป็นเถ้าแก่ต่อไปได้
เพราะฉะนั้นการเรียนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นโอกาส
การศึกษาทำให้เรารู้จักคิด และมองเห็นโอกาสที่ดี
วิชาต่างๆที่เราเรียนมาตั้งแต่เล็ก
หลายคนเห็นว่าไม่ได้นำมาใช้ แต่เราไม่รู้ว่าเรานำมาใช้โดยไม่รู้ตัว
เช่นวิชาพีชคณิต เรขาคณิต ทำให้เรารู้และมองเห็นว่าสิ่งไหนเป็น
สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มีมุมมีฉาก และรู้จักคิดเลขเป็น
บวกลบเลขเป็น เวลาไปซื้อของ
การพูดคุยกับผู้คนก็คือวิชาสังคมศาสตร์
ดังนั้นการเรียนรู้ทำให้เราฉลาด
เพราะมีคนชี้ทางให้ มีการได้สัมพันธ์กับผู้คน ทุกคนที่มาเรียน
มาหาโอกาสและหาความก้าวหน้าในชีวิต
แต่ว่าจะได้รับผลมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ตัวของทุกคนเอง
ไม่อยากให้เรียนเพื่อนำไปปรับวุฒิเท่านั้น
แต่เรียนเพื่อมองเห็นโอกาสเพื่อเพิ่มพูนให้กับตัวเองมากที่สุด
เปรียบเหมือนจากจับกังที่มองเห็นโอกาสกลายเป็นนายธนาคาร
ในโอกาสที่ตนเป็นครูจึงอยากเห็นศิษย์มีความก้าวหน้า
การมีวินัยในตัวเอง การมีระเบียบวินัยในห้องเรียน
โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ต้องเรียบร้อยถือเป็นการเคารพอาจารย์
เคารพสถานที่ การตรงต่อเวลา
การทำตัวเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี
การเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
ทำให้เรารู้จักผู้คนมากขึ้นสร้างความสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้อง
ชักนำกันมาเจอพูดคุย สร้างโอกาส มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นถือเป็น
WIN-WIN ด้วยกันทุกฝ่าย การเรียนระดับบัณฑิตศึกษานั้นเริ่มต้นมันยาก
แต่เมื่อจบแล้ว มองย้อนหลังกลับมาแล้วมันมีความสุข










รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
ประวัติ
เป็นบุตรของนายเต็น และนางบุญฟุ้ง ศิริชนะ
ในจำนวนพี่น้อง 2 คน
เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พศ. 2486
ที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

การศึกษา
ปริญญาเอก
- ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต ( อุดมศึกษา )จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2536)
- ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 6 (2537)

ปริญญาโท
- M.S. (PRINTING TECHNOLOGY),
ROCHESTER INSTIUTE OF TECHNOLOGY, N. Y. (2518)
- พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ( รัฐประศาสนศาสตร์ )
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2515)

ปริญญาตรี
- วิทยาศาสตรบัณฑิต ( เกียรตินิยม )
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2510)
ประกาศนียบัตร
- CERT. IN OFFSET PRINTING ( JAPAN )
- CERT. IN PRINTING INDUSTRY ( UNIDO , GERMANY )
- วุฒิบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของ ก . พ . รุ่นที่ 10
มัธยมศึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ประถมศึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพวิทยาลัยและโรงเรียนประชาบาลวัดศรีนาวา
ประสบการณ์การบริหาร
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
(2 ตุลาคม 2544 – ปัจจุบัน )
- ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(22 ม.ค. 2540 – 1 ตุลาคม 2544)
- รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
(3 ธ.ค . 2541 – 31 ก.ค . 2544)
- รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(20 พ.ย . 2542 – 21 มี.ค. 2543)
- รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(31 ส.ค. 2536 - 21 ม.ค. 2540)
- ผู้ช่วยปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
(13 ธ.ค. 2533 - 30 ส.ค. 2536)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
(1 มิ.ย . 2536 – 1 ก.ค. 2538)
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมของโลก
โดยรัฐบาลไทย (2533 - 2538)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(15 มี.ค. 2536 – 21 พ.ค. 2536)
- รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(17 ก.ย. 2533 – 14 มี.ค. 2536)
- รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2525 - 2532)
- อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2510-2530)
- อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2530-2533)
- รักษาการผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
(2529 - 2531)
- ผู้จัดการโรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2518 - 2533)
- ประธานคณะกรรมการจัดตั้งและพัฒนาหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2530 - 2532)
- ประธานคณะกรรมการจัดตั้งสำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2526 - 2529)
- ประธานกรรมการจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน
ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์แห่งชาติ (2530)
- อื่น ๆ
ประสบการณ์การสอน
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีการพิมพ์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2511 - 2530)
- สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2527 - 2531)
- สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
งานวิจัย
- การศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของหมึกพิมพ์ออฟเซทชนิดธรรมดา
และชนิดแห้งตัวด้วยรังสีอุลตราไวโอเลต (2518)
- การศึกษาวิเคราะห์คุณภาพในการพิมพ์ของกระดาษพิมพ์ที่ผลิตในประเทศไทย (2519)
- การศึกษาความต้องการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีด้วยระบบการสอนทางไกล (2526)
- สถานภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยในปัจจุบัน (2529)
- สถานภาพและความต้องการในการฝึกอบรมของบุคลากรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย (2532)
- การศึกษาแนวทางในการพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านในเขตภาคกลางตอนบน (2532)
งานเขียน
- บทความทางวิชาการประมาณ 50 เรื่อง
- ตำราเทคโนโลยีการพิมพ์ 5 เรื่อง
- ตำราทางวิทยาศาสตร์ 1 เรื่อง
วิทยากร
1. วิทยากรในการอบรมในสถาบันต่างๆ
ทางด้านการจัดการและเทคโนโลยีการพิมพ์
2. วิทยากรการศึกษาทางไกลในสถาบันต่างๆ
3. วิทยากรระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ
4. วิทยากรบรรยายเรื่องการปรับเปลี่ยน
สถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ทั่วประเทศ
การบริการวิชาการ
1. ประธานกรรมการศึกษาวิเคราะห์และปรับปรุงโรงพิมพ์
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอต่อสำนักเลขาธิการ ครม . (2530)
2. ประธานคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์ลู่ทางการส่งออกสิ่งพิมพ์
เสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2530)
3. กรรมการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
4. อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ทางการพิมพ์ ราชบัณฑิตยสถาน
5. ประธานกรรมการผลิตชุดวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
5.1 5.1 วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์
5.1 5.2 วิชาการพิมพ์ทั่วไป
5.1 5.3 วิชาเทคโนโลยีการพิมพ์
5.1 5.4 วิชาธุรกิจการพิมพ์
6. เป็นผู้ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยสู่ยุคใหม่
7. เป็นผู้ริเริ่มให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้นในประเทศไทย
8. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการควบคุมคุณภาพของมหาวิทยาลัย
การบริการสังคม
1. นายกสมาคมสื่อการศึกษาไทย
2. ที่ปรึกษาโครงการวารสาร สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น
3. ที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรมการพิมพ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4. ที่ปรึกษาสมาคมการพิมพ์ไทย
5. ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์
6. ประธานมูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย
7. ที่ปรึกษาสมาคมซิลด์สกรีน
8. เลขาธิการมูลนิธิศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล
9. เหรัญญิกมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร . วิจิตร ศรีสอ้าน
10. ประธานมูลนิธิการศึกษาเชลล์
11. นายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอาง
กรรมการต่างๆ
1. กรรมการบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ ทบวงมหาวิทยาลัย
2. ประธานกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทบวงมหาวิทยาลัย
3. กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
4. กรรมการสภามหาวิทยาลัย Asian Institute of Technology
5. กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
6. ประธานกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
7. ประธานกรรมการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
8. Chairman, Board of Trustees, Asian University Network (AUN)
9. Chairman, Board of Trustees, Regional Institution for Higher Education and Development (SEAMEO RIHED)
10. ประธานกรรมการฝ่ายสถานที่แข่งขันและที่พักการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์
ครั้งที่ 13
11. ประธานกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
12. อื่นๆ
ความชำนาญการ
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์
2. ผู้ชำนาญการด้านระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา /
ผู้พัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย
3. ผู้ชำนาญการด้านการจัดนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่
4. ผู้ชำนาญการด้านการจัดตั้งองค์กร และพัฒนาระบบองค์กรทางการศึกษา
และการปฏิรูปการศึกษา

การอบรม ประชุม และศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ
1. อบรมเทคโนโลยีการพิมพ์ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (2519)
2. อบรมอุตสาหกรรมการพิมพ์ ณ ประเทศเยอรมันนี โดยทุนขององค์การ UNIDO (2518)
3. การศึกษาดูงานการสอนทางไกล ณ ประเทศอังกฤษ เยอรมันนี อิสราเอล
และเนเธอร์แลนด์ (2526)
4. การศึกษาดูงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศอังกฤษ
5. การประชุมเรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา ณ เมือง มอนทรีออล ประเทศแคนาดา
6. การประชุมสัมมนาเรื่อง การสอนทางไกล ณ ประเทศ ศรีลังกา จัดโดย องค์การ UNESCO
7. การศึกษาดูงานด้านการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
และ แคนาดา
8. การศึกษาดูงานด้านการจัดนิทรรศการระดับโลก ณ ประเทศออสเตรเลีย
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
9. การประชุมเทคนิคการสอนและถ่ายทอดความรู้ ณ ประเทศมาเลเซีย
10. การประชุมเรื่อง Higher Education in 21st Century จัดโดย SEAMEO
ณ ประเทศมาเลเซีย
11. การบรรยายพิเศษ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา
ในประเทศอินโดนีเซีย และลาว
12. การบรรยายพิเศษ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ในประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์
และมาเลเซีย
ผลงานสำคัญ
1.เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาให้เกิดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ . ศ .2539 ถึงปัจจุบัน
2.ได้รับเชิญให้ไปปาฐกถา และบรรยาย เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศต่างๆ
3.บุกเบิกและพัฒนาการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศ ในช่วงที่ประเทศเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2540
4.ดำเนินการให้มีโครงการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
โดยผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543
จนถึงปัจจุบัน
5.ริเริ่มการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการดำเนินการ
6.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ
ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
และได้ส่งผลให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย
5 กลุ่มวิชา ในระยะยาว
7.ริเริ่มให้มีโครงการจัดทำเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ในระดับอุดมศึกษา (UNINET) รวมทั้งผลักดันให้เกิดเครือข่ายห้องสมุด
ของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยขึ้น
8.ริเริ่มและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านการศึกษา
ในระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN และ GMS
9.การเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โดยไปดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีฯ อยู่ประมาณ 4 เดือน
10.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี 2539 – 2544
11.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
12.ผู้อำนวยการโครงการจัดงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก (World Tech 1995)
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ป . ม .
- ป . ช .
- ม . ว . ม .
- ม . ป . ช .
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์ Golden Cross and Star จากรัฐบาลประเทศออสเตรีย
-ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณมูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
333 หมู่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100
โทร.0-5391-6316
The Learning Resources and Educational Media Center,
Mae Fah Luang University,Chiang Rai, Thailand.

มฟล. ครบรอบ 12 ปี ปฏิบัติภารกิจสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำครบถ้วน –อธิการบดีลั่น รักษาตำแหน่งมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพและโอกาส เล็งเพิ่มช่องทางพิเศษรับเรียนดี-ขาดทุนทรัพย์เข้าเรียน ส่วนนศ.ทั่วไปเน้นการบริหารจัดการที่ดี แทนการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอยู่ในยุคบุกเบิกสร้างสรรค์ และพัฒนาตนเอง ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ได้ปฏิบัติภารกิจของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำมาโดยครบถ้วน จนได้รับการยอมรับจากสาธารณชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน และนับจากนี้ไปมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังมีภารกิจที่จะต้องพัฒนาตนเอง ท่ามกลางกระแสของโลกาภิวัฒน์ และการแข่งขันที่มีมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และต้องพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ก้าวทันหรือก้าวนำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ “ผู้ที่มีบทบาทที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานั้น ก็คือทุกฝ่าย ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี ผู้บริหารทุกระดับ รวมถึง เจ้าหน้าที่ทุกคน” อธิการบดีผู้ก่อตั้งกล่าว

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย
กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในโอกาสมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงครบรอบ 12 ปี
เรื่อง "มหาวิทยาลัยกับยุคโลกาภิวัตน์" ว่า
อุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 อุดมศึกษา
มีความเปลี่ยนแปลงมาก จากอุดมศึกษาธรรมดา
เป็นอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันทั้งภายนอกภายใน

“เป็นยุคที่นักเรียนแข่งขันกันอย่างมากเข้าเรียนในอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยเองก็แข่งขันกันรับนักศึกษาเข้าเรียน
เกิดความวุ่นวายในระบบอุดมศึกษามากมาย
และมหาวิทยาลัยยังต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้อันดับที่ดีๆ
ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย
รวมถึงต้องแข่งขันกันหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากๆ
เพราะจากการสำรวจพบว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
เกือบทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัย ที่ร่ำรวย
มีทุนสะสมในการดำเนินการมาก
มหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยมีกำลัง
ในการผลักดันตนเองให้ไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก”
รศ.ดร.วันชัย กล่าวถึงสถานการณ์ของอุดมศึกษา

รศ.ดร. วันชัย
กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากสถานการณ์
การแข่งขันกันของมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างหนึ่ง
คือทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันทำวิจัยหรือแข่งขันกันเสนอผลงาน
แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเสื่อมทางวิชาการอยู่เสมอ
เพราะการแข่งขันกันรับนักศึกษาให้ได้จำนวนมากๆ
มีผลต่อคุณภาพการศึกษา
แข่งขันกันมากก็ขาดคุณธรรม ทำให้ด้อยคุณค่าลงไป
อย่างไรก็ตามการแข่งขันต้องรักษา ไม่ให้ส่งผลกระทบในทางลบกับ
มหาวิทยาลัยและกับประชาชนทั่วไป
จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1 , 20 ต.ค. 2553
ถึง สภาวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จาก รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ เรากำลังอยู่ท่ามกลางกระแส
การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากคู่แข่งภายในประเทศแล้ว
ยังมีคู่แข่งภายนอก อีกมากมายที่เขาเหล่านั้น ไม่เคยหยุดนิ่ง
นอกจากนี้การที่ประชาคมอาเซียนได้ออกกฎบัตรอาเซียน(ASEAN Charter)
อันเป็นข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการทั้งทางด้านการค้า การลงทุน
และความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้
ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกมีข้อจำกัดในการดำเนินการด้านต่าง
ระหว่างกันน้อยลง เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงาน การศึกษา การลงทุน การค้ และธุรกิจต่าง ๆ
ก็จะทำได้โดยสะดวกและกว้างขวางขึ้น การแข่งขันระหว่างประเทศก็จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ
คำถามที่ต้องถามตนเองเวลานี้ คือ เราได้เตรียมความพร้อม
เพื่อสร้างคนในชาติของเราให้มีความสามารถที่จะแข่งขัน กับชาติอื่น ๆ แล้วหรือยัง
ความสำนึกในเรื่องนี้เรามีมากพอแล้วหรือยัง
และเมื่อไรการกระทำที่จริงจังในเรื่องนี้จึงจะเกิดขึ้น
และในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเราได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว
ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง กำลังเผชิญหน้ากับ
สภาวะการณ์ที่ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยหรือกินสมบัติเก่าต่อไปได้
เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินการที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีอยู่เป็นประจำกา
เสริมจุดเด่น ขจัดจุดด้อย คิดให้ไกลไม่อยู่กับที่ต้อง มีความคิดสร้างสรรค์
และใส่ใจความเคลื่อนไหวทั้งภายนอกและภายในอยู่เสมอ
เพื่อให้เราเป็นหัวขบวนตลอดเวลา ทั้งนี้หลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้และเริ่มเห็น ความสำเร็จ
ในการเป็นผู้นำอย่างชัดเจน เราต้องคิดว่าเราอยากอยู่หัวขบวนหรือท้ายขบวน
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะ เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยใหม่คงไม่ได้แล้ว
เราได้เติบโตมาพอสมควรและต้องพร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและ
พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีสากลให้ได้ ตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา
เราเดินทุ่งมุ่งหน้าฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานของมหาวิทยาลัยให้แข็งแรง
และเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี และเราได้สร้างรูปแบบของการดำเนินการหลายอย่าง
ที่ทำให้เราได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อหลัก
การเป็นผู้นำการสอนภาษาจีน การเลือกเปิดสอนในสาขาที่แปลกใหม่และเป็นที่ต้องการ
การเน้นการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะบางสาขา
หรือการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการต่าง ๆ ที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมก็ตาม
แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ให้เหมาะสมกับกระแสโลกาภิวัตน์ และการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ตลอดเวลา
เราคงมิอาจหยุดนิ่งได้ การวิเคราะห์จุดอ่อน การสร้างจุดแข็ง
และการพัฒนาภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคงต้องมีอยู่เป็นระยะ
อย่างไรก็ตามการมองไกล มองยาว หรือมีวิสัยทัศน์ที่ดีเพียงอย่างเดียว
แต่ไม่มีการนำมาปฎิบัติก็คงเป็นเพียง ความฝัน
หรือเป็นเพียงความอยากให้เกิดให้มีขึ้นเท่านั้น
แต่หากการนำมาปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพก็คงไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน
และอาจทำให้เกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึงด้วย
ดังนั้นการทำให้การบริหารจัดการภายในมีความเหมาะสม คล่องตัว
และสอดคล้องกับภารกิจเพื่อให้การดำเนินการ มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็น มหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กและอายุยังเยาว์
ดังนั้นการมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องและการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
และมีประสิทธิผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมคิด ร่วมทำ
และร่วมรับผิดชอบกันอย่างจริงจังภายใต้ภาวะผู้นำที่แข้มแข็งในทุกระดับ
บนพื้นฐานของการมีวินัย การเห็นแก่ประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและส่วนรวม
รวมทั้งความขยันขันแข็งในการทำงาน และความมุ่งมั่นที่จะเห็น
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก้าวหน้าไปกว่าทุกมหาวิทยาลัย
ความเติบโตและความก้าวหน้า ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จะเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงโดยตรง
และผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะเกิดแก่คนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในที่สุด
และถ้าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องช่วยกันทำด้วยการ
“ขจัดจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง และร่วมมือ ร่วมใจอย่างจริงจัง”

ปาฐกถา รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วันส่งมอบตำแหน่งอธิการบดี