Custom Search

Jun 4, 2007

มวลวิกฤต : PRAPAS.COM


ภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้วาด:คุณ ชัย ราชวัตร

คอลัมน์ คุยกับประภาส
มติชน
www.Prapas.com

สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ทำให้ผมนึกถึงคำคำหนึ่งขึ้นมา
ผมเคยเขียนถึงไว้ครั้งหนึ่งเมื่อต้นปีที่แล้ว

มวลวิกฤตนะครับ ไม่ใช่ มวลชนวิกฤต

เรื่องที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้วชื่อตอน ลิงกับข้าวโพดหวาน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทดลองทางพฤติกรรมมวลชนของสัตว์สังคมว่า
อะไรทำให้เกิด หรือเมื่อไรจะเกิดกระแสการตัดสินใจไปในทางเดียวกันทั้งสังคม

ผมตั้งชื่อเป็นไทยๆ คราวนั้นว่าทฤษฎีไม้กระดก
เพราะนึกตามแล้วเห็นภาพเป็นไม้กระดกตามสนามเด็กเล่นทุกที

ศัพท์แสงทางวิชาการเรียกว่า มวลวิกฤต โดยแปลมาจากคำว่า Critical Mass
คำคำนี้พบได้ทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์

ขออนุญาตเล่าย่อๆ อีกครั้งสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน

สี่สิบปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ไปที่เกาะโคชิมา
ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะที่มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก
เพื่อหาข้อสนับสนุนทฤษฎีไม้กระดกที่ว่า

การทดลองเริ่มขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์นำเม็ดข้าวโพดหวานไปหว่านไว้บนพื้นทราย
เจอของโปรดอย่างนี้ ฝูงลิงก็พากันมาเก็บเม็ดข้าวโพดกินกันอย่างเอร็ดอร่อย

จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่นักวิทยาศาสตร์จะหว่านเม็ดข้าวโพดไว้บริเวณที่มีทรายเท่านั้น
เพื่อให้เม็ดข้าวโพดเปรอะเปื้อนทราย เวลาจะกินแต่ละที
ลิงก็ต้องคอยเอามือปัดออก หรือไม่ก็ต้องคอยบ้วนทรายออก
แล้วก็มีลิงอยู่ตัวหนึ่งอายุประมาณหนึ่งขวบที่ไม่ทำอย่างตัวอื่นเขา
ทุกครั้งที่เจ้าลิงน้อยเก็บเม็ดข้าวโพดที่เปื้อนทรายได้
มันจะนำไปล้างน้ำที่ลำธารใกล้ๆ ก่อนแล้วจึงนำมากิน ไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัด
นักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตาดูพฤติกรรมของลิงทั้งฝูงต่อไปว่าจะมีลิงตัวไหนเอาอย่างบ้าง
แล้วพวกเขาก็เริ่มเห็นพี่น้องและเพื่อนลิงตัวน้อยๆ บางตัวเริ่มทำตาม
ที่ลิงทั้งฝูงไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำอย่างเจ้าลิงน้อยนั้นนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์กันว่า อาจเป็นเพราะวิธีนี้มันก็ไม่ถึงกับเห็นได้ชัดว่าดีกว่าวิธีเก่า

นั่นคือถึงแม้จะไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัดทรายออกจากข้าวโพด
แต่ก็ต้องเสียเวลาเดินไปยังลำธารอยู่ดี เวลาผ่านไปหลายเดือน
มีลิงเพิ่มเพียงวันละตัวสองตัวเท่านั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างข้าวโพด
แล้วก็ไม่ใช่ว่าลิงทั้งฝูงจะไม่เห็นวิธีที่เจ้าลิงน้อยกับเพื่อนๆ
ทำนะครับ เห็นครับแต่ไม่ทำตาม

การทดลองดำเนินไปอย่างนี้อยู่เป็นปี นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเอาเม็ดข้าวโพดไปหว่านไว้บริเวณที่มีทรายทุกวันไม่มีขาด ฝูงลิงก็ยังคงมาเก็บข้าวโพดกินอย่างสม่ำเสมอ
และถ้ามองด้วยสายตาก็สามารถแบ่งลิงออกเป็นสองกลุ่ม
คือกลุ่มที่ล้างเม็ดข้าวโพด กับกลุ่มที่ไม่ล้าง

แม้ปริมาณลิงที่ล้างข้าวโพดจะเพิ่มจำนวนขึ้นจนเริ่มใกล้เคียงกับพวกที่ไม่ล้าง
แต่ลิงที่เหลือก็ยังสมัครใจที่จะกินข้าวโพดด้วยวิธีเดิมๆ
แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจก็เกิดขึ้น
มันเกิดขึ้นภายในวันเดียว โดยไม่รู้จะอธิบายด้วยตรรกะง่ายๆ อย่างไรดี

เช้าวันนั้นมีลิงวัยรุ่นตัวหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมไปล้างเม็ดข้าวโพดอย่างเจ้าลิงน้อยเข้า
แล้วบ่ายวันนั้นลิงทั้งฝูงก็เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างเม็ดข้าวโพดกันหมด
นักวิทยาศาสตร์สงสัยทันทีว่าเจ้าลิงตัวที่เปลี่ยนพฤติกรรมในเช้านั้น
มันมีความสำคัญขนาดไหนกัน

หลังจากที่ดูจากบันทึกและตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่ามันก็เป็นแค่ลิงธรรมดาตัวหนึ่ง
ไม่ได้เป็นจ่าฝูงหรือเป็นลิงที่แข็งแรงดุร้ายกว่าตัวอื่นอย่างใด
แล้วทำไมฝูงลิงจึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปหมด

เจ้าของทฤษฎีนี้มีคำอธิบายครับ ลองฟังเขาดู เมื่อในสังคมเกิดภาวะมวลวิกฤต
(Critical Mass) และเกิดจำนวนวิกฤต (Critical Number)

ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไรของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสังคม
สังคมก็จะเริ่มยอมรับในพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
และก็จะเกิดการตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในกลุ่มที่เหลือทั้งหมด
อย่างที่บอก ถ้าให้ผมนึกตามง่ายๆ ผมก็คงนึกถึงไม้กระดกที่เด็กๆ เขาเล่นกัน
เวลาที่ฝั่งหนึ่งมีจำนวนเด็กมากกว่าจนมีน้ำหนักมากกว่าอีกฝั่ง
ฝั่งที่น้อยกว่านอกจากจะกระดกลอยสูงแล้ว
บางครั้งเราก็อาจจะเห็นเด็กฝั่งที่น้อยไหลมาสู่ฝั่งที่มาก
จนกลายเป็นมาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ ผมว่าพวกเราก็คงจะเคยเจอสภาพเช่นนี้
เพื่อนฝูงหกเจ็ดคนหาร้านอาหารจะไปกินกัน แรกๆ ก็ถกเถียงว่าร้านเจ๊อ้อยบ้าง
ร้านอาโกบ้าง เถียงกันอยู่สักพักแล้วก็มีคนหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าจะไปกินร้านไหนเลยพูดขึ้นว่าไปกินเจ๊อ้อยดีกว่า จู่ๆ ทุกคนก็กลายเป็นเปลี่ยนมาเทใจให้กับร้านเจ๊อ้อยกันหมด

แล้วผมก็ตั้งคำถามครับ น้ำหนักสุดท้ายที่ย้ายข้างนี่ ผมชักอยากรู้ว่ามันจำเป็นต้องหนักกว่าอีกข้างหนึ่งไหม ทฤษฎีนี้ตอบว่า ไม่เกี่ยวกับการเอียงข้าง น่าสนใจนะครับประโยคนี้
เขาเน้นไปที่จำนวนหนึ่งที่วิกฤต และไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าไรของสมาชิกทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมากกว่าครึ่งด้วย

จำนวนนี้นั่นแหละที่เขาเรียกกันว่า มวลวิกฤต มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ
Critical Mass : how one thing leads another ที่เขียนโดย ฟิลิป บอล
(ขออนุญาตแปลว่า มวลวิกฤต วิถีที่แห่งการกระดก)

ในเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้พี่ฟิลิปแกสามารถอธิบายพฤติกรรมของการเลือกตั้งที่ชนะถล่มทลายได้ว่ามาจากอะไร พี่แกให้ความเห็นว่าลักษณะของการเลือกและการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้พรรคใดและใครนั้นไม่ได้มาจากเหตุผลอย่างเดียว

เพราะถึงจุดหนึ่งเวลาที่ใกล้วันเลือกตั้ง คนจะหยุดคิด หยุดวิเคราะห์
แต่จะดูกระแสคนหมู่มากว่าจะไปทางไหน แล้วก็กระโจนตามกันไป ซึ่งเขาจะเรียกว่า
มวลวิกฤต หรือ Critical Mass ที่น่าสนุกก็คือคุณพี่ฟิลิป
แกใช้ทฤษฎีควอนตัมอธิบายได้อย่างชัดเจนและเป็นวิทยาศาสตร์
นักเรียนที่เรียนเรื่องปฏิกิริยานิวเคลียร์ก็คงเห็นคำว่า มวลวิกฤต อยู่บ่อยๆ
อธิบายด้วยภาษาที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็คือ เชื้อเพลิงพวกยูเรเนียมจะถูกผ่านกระบวนการทำให้เข้มข้นอย่างมาก
และจะถูกเก็บไว้ภายใต้สภาวะมวลใต้วิกฤต นั่นคือยังไม่วิกฤต แต่ใกล้มาก
และตรงตำแหน่งที่มันพร้อมจะแตกตัวแล้วส่งผ่านพลังงานอันมหาศาลออกมาเป็นระเบิด
เป็นไฟฟ้า เป็นความร้อน ตำแหน่งนั้นแหละครับคือตำแหน่งเดียวกับที่ลิงทั้งฝูงเปลี่ยนวิธีกินข้าวโพด ตรงนั้นแหละครับ ตำแหน่งของมวลวิกฤต

สมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มีการใช้คำพูดกันว่า
ได้เกิดมวลวิกฤตของการย้ายถิ่นของนักวิทยาศาสตร์ นั่นคือนักวิจัยอัจฉริยะจำนวนมากมายนับพันคนพร้อมใจกันอพยพจากเยอรมนีและยุโรปไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ประเทศอินเดียก็เคยใช้กระบวนยุทธ์มวลวิกฤตเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงด้านไอทีในประเทศของตน ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาทำได้ผล

เห็นผู้คนยากจนขนาดนั้น บางเมืองอย่างบังกาลอร์นี่ถือเป็นมหานครแห่งไอทีเลยนะครับ รัฐบาลเขาเน้น การเชื่อมต่อ ระหว่างประชาชนกับอินเตอร์เน็ต
โดยตั้งเป้าไว้ที่การเชื่อมต่อ 100 ล้านจุดภายในห้าปี และสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาจะให้รัฐมาเชื่อมต่อที่บ้าน ก็สามารถที่จะเข้ามาเชื่อมต่ออย่างเป็นครั้งเป็นคราวได้
ตาม ไอทีจีฉ่อย หรือ IT Kiosks

อินเดียเขาฝันจะพัฒนาประเทศให้เป็นมหาอำนาจทางไอทีของโลก (Global IT Superpower) ภายในห้าปีข้างหน้าให้ได้ เงี่ยหูฟังเขาบ้างก็ดีนะครับ
ผมมองว่าทั้งเรื่องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเข้าบ้านและองค์กรให้มากที่สุด

หรือการสร้าง IT Kiosks ก็ดี ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเข้าถึงผู้คนตามทฤษฎี มวลวิกฤต
นั่นคือเมื่อคนชั้นกลางของประเทศบริโภคไอทีเป็นอาหารหลักจนเป็นกระแสแล้ว ผู้คนทั้งประเทศก็จะเทใจเทชีวิตมาทางเดียวกันเอง อย่างที่บอกไว้ในบรรทัดแรก สถานการณ์บ้านเมืองเราเป็นอย่างทุกวันนี้ คำว่ามวลวิกฤตก็ลอยขึ้นมาในหัวผมไม่หยุดหย่อนเลย