Custom Search

Nov 18, 2006

มองโลกใบกลมอย่างอารมณ์ดี กับ ศุ บุญเลี้ยง

>>> เฉลียง <<<






ศุ บุญเลี้ยง 
บทความจากหนังสือ "แผนที่ความสุข"

"ผมไม่ใช่คนอารมณ์ดีอะไรหรอก
เพียงแต่ผมเป็นคนที่คนรู้จักเยอะ
มีสื่อนำเสนอบ้าง เมื่อเขานำเสนอ
จะเห็นผมในกิริยาไม่หลากหลายนัก คือ
จะเห็นแค่ตอนผมยิ้มหัวเราะ
เลยดูเหมือนอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา


ซึ่งจริงๆแล้วผมจะบอกว่า ผมเป็นคนอารมณ์ปกติมากกว่า
เพียงแต่มุมมองในการมองอะไรหลายๆอย่าง
ผมจะไม่พยายามมองแล้วทำให้ตัวเองเกิดทุกข์เท่านั้นเอง"
ศุ บุญเลี้ยง หรือ จุ้ย ชายหนุ่มผู้ได้รับสมญานามว่า
ศิลปินอารมณ์ดี ที่หลายคนชมชอบ
เปิดบทสนทนาอย่างรื่นรมย์
จุ้ย บอกว่า ทัศนคติที่ดี มีส่วนทำให้ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อม
ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน

เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น
แต่การเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี ต้องอาศัย
การสั่งสมจากสิ่งรอบข้าง และใช้ระยะเวลาพอสมควร
"คนที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางเสียงก่นด่า
ต้องกินข้าวเช้าในรถ กินไปฟังพ่อแม่บ่น

และสบถกับ สภาพจราจร รอบข้างทุกวัน
กับอีกคนที่โตมากับทะเล

ได้วิ่งเล่นบนชายหาด เช้า เย็น ฟังพ่อเป่าขลุ่ยตอนกลางคืน
ผมเชื่อว่าเด็ก 2 คนนี้
ต้องมีทัศนคติในการมองโลกแตกต่างกัน แน่นอน"

เขายังเชื่อว่า คนที่มีทัศนคติไม่ดี
หากแม้ได้อยู่ใกล้คนที่มีทัศนคติที่ดี

หรืออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง คนๆนั้น
ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปในทางที่ดีได้


เพราะมนุษย์น่าจะมีรังสีแห่งการเชื่อมโยงอยู่ระหว่างกัน
ขึ้นอยู่กับว่าของรังสีใครจะแผ่ออกมากลบของอีกคนได้มากกว่ากัน
ท่ามกลางสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน
ผู้คนรอบข้างแก่งแย่งแข่งขัน ภาวะมลพิษ ความหวาดกลัว
จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โจรผู้ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ เหล่านี้
ล้วนทำให้เกิดความเครียด และเป็นทุกข์


แต่ จุ้ย มองต่างไปว่า ในเหตุการณ์ และสถานการณ์ ที่ว่ามานี้
หลายๆคน ก็อยู่ในสังคมนี้ อย่างมีความสุขได้ จุ้ย มองว่า
เราไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นกังวล อยู่คนเดียว จนพาล
ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน

บางทีเราก็ควบคุมได้ บางทีเราก็ควบคุมไม่ได้

ถ้าเราอยากอยู่อย่างมีความสุข หรือไม่มีทุกข์มากเราต้องคิดถึง
ปัจจัยที่เราควบคุมได้ก่อน อย่างเช่น
การออกกำลังกายให้แข็งแรงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง
อันนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้

ส่วนเรื่องฝนตก แดดจัดเกินไป อันนี้เราควบคุมไม่ได้

เมื่อควบคุมได้กับควบคุมไม่ได้มาเจอกัน อย่างน้อยที่สุด
มันก็จะเกิดสมดุลย์ คือ เราตากฝนแต่เราไม่เป็นหวัด

อันนี้เป็นหลักการง่ายๆ จุ้ย บอกด้วยว่า
เรื่องการเข้าใจกติกามารยาทของสังคม
รวมทั้งการวางเฉย
ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้


เช่น การขับรถชนกันบนถนน ถ้าเราเข้าใจว่า
รถเยอะ คนเยอะ โอกาสจะชนกันก็มี
มิฉะนั้นจะมีบริษัทประกันภัยไปทำไมกัน
"เรื่องของการวางเฉยเหมือนคำพระท่านว่า

มีเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วต้องมีอุเบกขา
เรื่องนี้สำคัญและต้องอาศัยการฝึกพอสมควร รู้ว่าดีใจ
รู้ว่าเป็นทุกข์เสียใจแต่ให้รู้จักระงับ
อย่าสุดโต่งเกินไปจนควบคุมตัวเองไม่ได้ คือต้องมีสตินั้นเอง
เสียใจได้แต่อย่าเสียศูนย์"

ครั้งหนึ่งมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า
พ่อแม่เอาเด็กมาทิ้งบนสะพานลอย

จุ้ยบอกว่า หลายคนเป็นทุกข์กับข่าวนี้
และพากันรุมด่า พ่อ แม่ของเด็กคนนั้นว่าใจร้าย

บางคนก็มาเป็นทุกข์ว่า
สังคมนี้เป็นอะไรไปเสียแล้วทำไมจึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น


"แต่ถ้ามามองอีกแง่หนึ่งว่า
ดีนะที่เขามาทิ้งไว้บนสะพานลอยไม่เอาไปทิ้งในถังขยะ
พ่อแม่เด็กอาจจะมีความจำเป็นบางอย่างและคิดว่า
การเอาเด็กมาทิ้งไว้บนสะพานลอย
จะต้องมีคนมาเห็นและเก็บไปเลี้ยงอย่างแน่นอน
ขณะที่หากเอาไปทิ้งถังขยะ
เด็กอาจจะถูกมดกัดตายก็ได้
คิดแบบนี้แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้น ดีขึ้นใช่มั้ย"
เขาถามพลางยิ้ม
"แล้วอย่างคนไม่มีงานทำ
คนยากจนอดอยากไม่มีจะกิน
จะมีความสุขได้อย่างไร

มีคนบอกเหมือนกันว่า
ไม่มีงานทำอดอยาก ไม่มีจะกินก็มีความสุขได้
ซึ่งผมไม่เชื่อเท่าไหร่
เพราะบางเรื่องมันไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดเสมอไป
ขึ้นอยู่กับจังหวะ การที่เราไม่มีเงิน
แต่สุขใจได้ อาจเป็นเพราะเรารู้อยู่ว่า มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง
เดินไปหาใครเขาก็เรียกให้กินข้าว เป็นแบบนี้มากกว่า
คนไร้โอกาสจะอยู่อย่างมีความสุขได้หรือเปล่า
"

จุ้ย เปิดยิ้มแล้วบอกว่า ต้องดูว่า
ตอนที่คนๆนั้นยังมีโอกาสอยู่
เขาเคยให้โอกาสคนอื่นบ้างไหม
หรือว่าเขาให้โอกาสตัวเองมากพอหรือยัง
"ผมยังไม่เคยเห็นคนมุมานะแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลย
เรื่องนี้ผมมองว่าหลายๆคนมักตัดโอกาสตัวเองมากกว่า
เช่น มีเวลาว่างอยู่ 2 ชั่วโมง
ให้เลือกไปเรียนพิมพ์ดีด กับไปกินเหล้า
จะเลือกอะไร บางคนบอกว่า
ไม่มีเงินซื้อหนังสือมาอ่าน
จึงเลือกที่จะเดินเล่นในห้าง
ขณะที่บางคนเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด
เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือ
บางคนอยากทำหนังสือ อยากเป็นนักเขียน
แต่ไม่อ่านหนังสือมาเลยเหล่านี้
เป็นเรื่องของการพยายามให้โอกาสกับตัวเอง
แล้วไปโทษสิ่งรอบตัวก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน"


เมื่อถามว่าระหว่างความพยายาม ที่จะผ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ไปสู่ความสำเร็จนั้นมักมีอุปสรรค
และเป็นช่วงเวลาที่มีความทุกข์เข้ามารบกวนจิตใจเสมอ


จุ้ยตอบไม่อ้อมค้อมว่า ใช่ แต่ไม่ใช่เสมอไปและ
ขอเรียกความทุกข์ส่วนนี้ว่าเป็นบททดสอบ

ซึ่งใครที่ผ่านบททดสอบแล้วความสุขย่อมถามหาเสมอ




Lineกนก ศุ บุญเลี้่ยง 14 กุมภาพันธุ์ 2559