Custom Search

Nov 15, 2006

คาถากัน หนี้สินล้นพ้นตัว : Dr. Varakorn Samakoses


วีรกร ตรีเศศ

มติชน

วันที่ 15 สิงหาคม 2545



ไม่ว่า ชอบหรือไม่ก็ตาม อิทธิพลของกระแสเอเชีย ในเรื่องการออมต่ำ ใช้จ่ายกันสนุกมือ มีชีวิตอยู่อย่างไม่พอเพียง สุขสุขอย่างทันด่วน มีหนี้สินส่วนบุคคล เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ฯลฯ กำลังคืบคลาน เข้ามาหาคนบ้านเรา อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง


การใช้บัตรเครดิต ในการใช้จ่ายไปก่อน แล้วจ่ายภายหลัง หรือได้รับสินเชื่อ หรือเงินกู้ สำหรับผ่อน สิ่งอำนวยความสะดวก อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของการดำรงชีวิต ของคนไทย เฉกเช่นเดียวกับคนเกาหลีใต้ คนไต้หวัน คนฮ่องกง คนมาเลเซีย คนฟิลิปปินส์ คนสิงคโปร์
คนเกาหลีใต้ ที่มีอายุเกิน 20 ปี และบางส่วนต่ำกว่า มีบัตรเครดิตเฉลี่ยคนละ 4.3 ใบ ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คนเกาหลีมีหนี้สินครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 พร้อมกับยอดการใช้จ่ายผ่าน บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว ในเวลา 2 ปี จำนวนกรณีของ การไม่สามารถชำระหนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เมื่อเทียบกันเดือนเดียวกันของปีก่อน


คนฮ่องกง มีประสบการณ์ ในการใช้บัตรเครดิต ก่อนเพื่อนคนอื่น ๆ ในเอเชีย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนกรณี ของการล้มละลาย ของบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 1,000 รายในปี 1997 เพิ่มเป็นมากกว่า 20,000 รายในปีนี้ ในปี 2001 หนี้สินค้างจ่ายเฉลี่ยของผู้ล้มละลาย เท่ากับ 42 เท่าของเงินเดือน ซี่งเป็น หนึ่งเท่าตัวของ กรณีล้มละลายบุคคลของคนสหรัฐอเมริกา
เรื่องราวของความปวดร้าว จากหนี้ การฆ่าตัวตาย การแตกสลาย ของครอบครัว การทำสิ่งซึ่งไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ฉ้อฉลคดโกง เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ มีอยู่ดาษดื่น ในหน้าหนังสือพิมพ์ของประเทศนี้


ประเทศไทย เพิ่งเข้าสู่ขั้นตอนแรก ของการเพิ่มขึ้นของหนี้ส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการใช้บัตรเครดิต สัดส่วนของหนี้บัตรเครดิต ในหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทย เท่ากับร้อยละ 4 ในขณะที่เกาหลีใต้ เท่ากับร้อยละ 16 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 13 ฮ่องกง และไต้หวัน ร้อยละ 7
ถึงแม้ ในปัจจุบัน หนี้จากบัตรเครดิต ยังไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งประกาศ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ของการให้เครดิตการ์ด ของสถาบันการเงินเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนคนมีเงินเดือน 7.500 บาท ก็มีเครดิตการ์ดได้ แต่สินเชื่อเงินผ่อน สำหรับผู้มีรายได้น้อยของบางบริษัท ได้เริ่มมานานพอควร จนผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มเดือดร้อน และเป็นปัญหา เป็นที่เชื่อได้ว่า ในเวลาไม่นาน หนี้สินครัวเรือน จะเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่โต อีกปัญหาหนึ่ง ของสังคมไทย

มีข้อเท็จจริงบางอย่าง เกี่ยวกับการจัดการเรื่องการเงิน ที่ผู้ที่จะเข้าสู่ สงคราม หนี้สินส่วนบุคคล ควรรับทราบ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้
ประการแรก เงินนั้นเป็นได้ทั้งเพื่อน และศัตรูของเรา หากมันเป็นเพื่อนของเรา กล่าวคือ เป็นเงินของเรา ที่หาได้ และเก็บไว้ มันก็จะงอกเงยในธนาคาร หรือออกดอกผล จากการลงทุนเพื่อเรา ไม่ว่าเราหลับ หรือตื่น มันก็ทำงานให้เราอย่างชื่นใจอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรากู้ยืมเงินเขามา ถึงมันจะสร้างความพอใจให้กับเรา เพราะทำให้เราได้บางอย่างที่ประสงค์มาทันที แต่เงิน ก็เป็นศัตรูกับเรา เพราะทุกวินาที มันจะทิ่มตำเราด้วยดอกเบี้ยไม่ว่าเรา จะหลับหรือตื่นก็ตาม

ดังนั้น ความสมดุล ของการมีเพื่อน และศัตรู จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเรากู้ยืมมามาก เกินฐานะของเรา เราก็จะถูกทิ่มตำมากเกินไป จนในเวลาหนึ่งอาทิตย์ เราอาจต้องทำงานเพื่อคนอื่น (เจ้าหนี้) ถึง 1-2 วัน เพื่อหาเงินมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยก็เป็นได้

การตะหนักถึงความเป็นมิตร และศัตรูของเงินเป็นเรื่องสำคัญ ที่บางครั้งเรามองข้ามไป การมีหนี้คือ การเอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เวลาใช้คืน ก็ต้องใช้คืนเงินต้น และดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ย โดยแท้จริงแล้วเป็นเรื่องน่าเศร้า (ถ้ากู้ยืมมา แล้วไม่ต้องใช้คืน จะเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง) เพราะถ้าเราไม่เอาเงินในอนาคต มาใช้แล้วไซร์ ส่วนหนึ่งของเงิน ที่เราทำมาได้ ต่อไปก็ไม่ต้อง ไปเป็นดอกเบี้ย หากเป็นเงินออมของเรา ที่พร้อมจะออกดอกผล ให้เราในอนาคต เป็นฐานไปสู่ ดอกผลขั้นลูกหลานเหลนโหลน ต่อเนื่องกันไป อีกหลายชั่วคน

ประการที่สอง เงินนั้นมีแขนขา เดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าเรามีเงินออม (ส่วนของรายได้ที่เหลือ จากรายจ่าย จากการบริโภค) เงินออม ก็จะรับใช้เรา สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เราได้ ในอนาคต ด้วยแขนขาของมัน กล่าวคือ ออกดอกออกผลต่อเนื่องพันกันไป เงินออมไปสะสมความมั่งคั่ง และมั่งคั่งก่อให้เกิดรายได้ และเงินออมพอกพูนสะสมกันไปตลอด ซึ่งตรงข้ามกับ คนที่ไม่มีเงินออม มีรายได้เท่าใด ก็ใช้หมด ถึงแม้จะไม่มีหนี้ แต่ก็ไม่อาจทำให้เงินมีแขนขาเติบโตต่อไปได้
ดังนั้น การออมอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เงินสามารถทำงานรับใช้เราได้ มีแขนขางอกตัวไปอย่างไม่รู้จบ การมีรายได้พอดีกับรายจ่าย (คือไม่มีเงินออม) ก็นับว่าหนักหนาสาหัสแล้ว เพราะทำให้อนาคตมืดมน แต่การกู้ยืม ซึ่งคือการเอาเงินในอนาคต มาใช้ไปก่อน ยิ่งหนักหนาขึ้นไปอีก เพราะรายได้ส่วนหนึ่งของเรา ในอนาคต ต้องแปรร่าง เป็นดอกเบี้ยจ่าย แทนที่จะเป็นเงินออมของเรา

ถ้าการกู้ยืมเป็นไปเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ยังพอทำเนา เพราะถือได้ว่าเป็นการลงทุน แต่ถ้าหากการกู้ยืมเป็นไปเพื่อการบริโภคแล้ว ก็ยิ่งหนักหนายิ่งขึ้น เพราะราคาของสิ่งที่เราบริโภคนั้น โดยแท้จริงแล้ว จะต้องบวกเอาดอกเบี้ยเข้าไปด้วย และต้นทุนที่แพงที่สุดก็คือ
โอกาสที่สูญไป ไม่สามารถนำเงินต้น และดอกเบี้ยจำนวนนั้น ไปทำอย่างอื่น
ที่มีประโยชน์กว่าได้

ประการที่สาม ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับเงื่อนไขการจ่ายคืนเงินกู้ และดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่จ่าย และบทลงโทษ หากไม่สามารถชำระได้ตรงเวลา รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในช่วงถูกลงโทษ ฯลฯ ผู้กู้ยืมจะต้องศึกษาให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจมีบัตรเครดิต หรือใช้บริการของการผ่อนส่ง เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ จากเจ้าหนี้ หรือผู้ให้บริการ คนส่วนใหญ่จะรู้สึก ลิงโลดที่มีบัตรเครดิตใช้ จนไม่อ่านเงื่อนไข ในสัญญาอย่างแจ่มแจ้ง มักนึกในใจว่า คนอื่นเขาก็มีบัตรเครดิตเหมือนกับเรา ถ้าเงื่อนไขมันแย่ เอาเปรียบเรา คงไม่มีใครเอาบัตรเครดิตเป็นแน่ ต่างคนต่างคิดอย่างนี้จนไม่มีใครอ่านให้ดี จนเสียเปรียบพร้อมกันอย่างถ้วนหน้า

ประการที่สี่ คนไทยเรา เฉกเช่นเดียวกับคนชาติอื่นๆ ที่มักลงทุนในบ้านที่อยู่อาศัย และรถยนต์มากเกินไปจนขาดความเหมาะสม อย่าลืมว่า ในชีวิต 30 ปีของการทำงานของทุกคน จะได้เงินมาจำนวนหนึ่ง หากจัดสรรเงินไปกับบ้าน และรถยนต์มาก ก็เหลือเพื่อการลงทุนอื่นได้น้อย ถ้ากู้ยืมมาเพื่อบ้านหลังใหญ่เกินไป และรถยนต์ที่หรูเกินเหตุ ก็จะทำให้มียอดดอกเบี้ย ที่ต้องรับภาระมากขึ้น เป็นเงาตามตัว และยิ่งดอกเบี้ยยิ่งมาก โอกาสในการสะสมความมั่งคั่ง เพื่อให้เงินทำงานรับใช้เราก็ลดน้อยลงไป

การกู้ยืมหนักมือเกินไป ในเรื่องบ้าน และรถยนต์ ในตอนต้นชีวิตการทำงาน จะทำให้อัตราการพอกพูน ความมั่งคั่งช้าลง เพราะเงินที่ควรจะเป็นเงินออม ต้องกลายเป็นดอกเบี้ยไป ดังนั้นการคำนึงถึง ความสมดุลระหว่างหนี้สิน และความสามารถในการหารายได้ และการสะสมความมั่งคั่ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พึงพิจารณา อย่างรอบคอบ อย่างปราศจากซึ่ง EGO
ความหน้าใหญ่ ความต้องการหน้าบาน ความต้องการอวดร่ำอวดรวย
ความต้องการเลียนแบบเพื่อนฝูง ฯลฯ
ไม่มีใครช่วยคิดในเรื่องนี้ได้ นอกจากตนเอง และครอบครัว ความพอดี และดุลยภาพ
ของแต่ละครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน

คาถาที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันตนเอง ให้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ในยุค หนี้สินท่วม ที่กำลังคืบคลานเข้าหาสังคมเราก็คือ อำนาจเหนือเงิน หรืออำนาจในการควบคุม ความต้องการของตนเอง ให้อยู่ในความพอดี มีความพอเพียงในการดำรงชีวิต อยู่กินอย่างต่ำกว่าฐานะของตนเอง จะซื้อสิ่งของใด ก็ใคร่ครวญพระราชกระแสดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า จงซื้อของเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่ซื้อเพราะอยากได้