>>> เฉลียง <<<
Life Style : คนบันเทิง
รุ่งนภา พิมมะศรี
วันที่ 18 มีนาคม 2553
www.chaliang.com
สมาชิกวงเฉลียง, ผู้บริหาร 'ทีวี ธันเดอร์' ,
อดีตโปรดิวเซอร์ค่ายคีตา คือ
บทบาทของ แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง
ที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีอยู่แล้ว
ก่อนจะสวมหมวกหลาย ๆ ใบที่ว่ามานี้
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนหน้านั้น
เด็กชายแต๋ง ภูษิต คนเมืองสิงห์
เริ่มเล่นดนตรีกับ "แตรวง" ของโรงเรียน
ตอนเรียนอยู่ชั้น ป. 6เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เขาเล่นคือ
ฉาบทั้งที่ใจอยากเล่นเมโลเดียน
พอขึ้นมัธยมได้เล่นคลาริเน็ต กว่าจะได้เล่นแซ็กโซโฟน
ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำกาย
ก็ปาเข้าไปเกือบจบมัธยมแล้ว
เขาเล่าย้อนความหลัง โดยมีน้ำใส ๆ คลออยู่ในดวงตา
“เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแซ็กโซโฟน
มันเป็นเครื่องดนตรีที่สวยมากแล้ว
ถึงขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง
มันต้องเป็นเครื่องดนตรีที่ยิ่งใหญ่มาก
ก็เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเล่นแซ็กโซโฟน”
หลังจากจบมัธยม ภูษิต เข้าเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์ เอกดนตรี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน (ครูทองดำ) เป็นผู้ติวให้
“สิ่งที่ อ.ธนิสร์สอน เราไม่เคยเรียนมาก่อนในชีวิต
ตั้งแต่ทฤษฎีดนตรี เอาตำราประวัติศาสตร์ดนตรีมาให้อ่าน
เอาโน้ตเพลงคลาสสิคมาให้ดู ให้ยืมแซ็ก ฯ เป่า
ให้ยืมแซ็ก ฯ ไปสอบ เป็นอะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน
แต่มันก็เรียนรู้เร็วเพราะเรามีความชอบ”
เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต๋ง เป็นนักดนตรีของวง CU.Band
นับแต่นั้นมา ชีวิตของเขาก็เกี่ยวข้องกับดนตรีมาตลอด
เริ่มต้นจากนักดนตรีในวงสยามกลการ,
สมาชิกวงเฉลียง หรือโปรดิวเซอร์ค่ายคีตา
จนวันหนึ่ง...เมื่อผลลัพธ์ของธุรกิจดนตรีไม่เอื้ออำนวยให้คนดนตรีหล่อ เลี้ยงชีพ
บรรดานักดนตรี โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง ต่างพากันเบนเข็มไปทำอาชีพอื่น
เขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น “เราเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า
เราไม่จำเป็นต้องไปยืนอยู่จุดนั้นจุดเดียวที่จะทำประโยชน์ให้สังคมได้” เขาให้เหตุผล
เมื่อมาทำธุรกิจรายการทีวี (ทีวี ธันเดอร์) แต๋งห่างหายจากการเล่นดนตรี
ภาพความเป็นนักดนตรีของเขาในสายตาคนภายนอกค่อย ๆ จางลงไป
ทว่า โดยจิตวิญญาณนักดนตรีย่อมเป็นนักดนตรีอยู่วันยังค่ำ
ในความคิดและหัวใจ จึงมีเรื่องดนตรีวนเวียนอยู่ไม่ว่างเว้น
“มันน่าหดหู่อย่างหนึ่งว่า ในขณะที่นักดนตรีไทยเก่งขึ้นทุกวัน
แต่วงการเพลงมันถดถอย แล้วคนเก่งเหล่านี้จะไปรับใช้สังคมด้วยวิธีไหน
เสียงมันต้องมีคนฟังมันถึงจะครบวงจร วงการดนตรีบ้านเราก็ไม่ถึงขั้นตกต่ำ
แต่มันถดถอยเรี่องการสนับสนุนมากกว่า ทั้งภาครัฐและผู้บริโภค
ไม่ได้สนับสนุนอย่างจริงจัง สังคมไทยยังมองนักดนตรีหรือ
ศิลปินเหล่านี้ว่าเป็นของฟรี เช่นนักดนตรีออกอัลบั้ม
เราไม่เคยตั้งใจจริง ๆ ว่าฉันจะซื้อมาฟัง
แต่ตั้งใจว่าฉันอยากฟังทำยังไงก็ได้ให้ได้ฟัง
ไม่ต้องเสียตังค์ก็ยิ่งดี นั่นคือการทำลายความตั้งใจของผู้สร้างสรรค์
เพราะเขาไม่มีอาชีพอื่น
คนจะเล่นดนตรีให้เก่งต้องฝึกฝนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
เท่ากับเวลาทำงาน มันถึงจะเก่งได้
ฉะนั้น เขาก็ไม่มีเวลาไปทำงานหาเลี้ยงชีพ
ถ้าเรายังไม่ให้ตังค์ในส่วนที่เขาทำงาน มันก็จะได้
แต่นักดนตรีสมัครเล่น นี่คือสิ่งที่อยู่
ในความรู้สึกของคนที่ไม่มีใครกระตุ้นให้เขาคิดอีกทางที่ มันถูก
เขาก็ทำสิ่งนั้นเป็นขนบทำสืบทอดกันมาเรื่อย ๆ"
“ถ้าพูดถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรมของคนไทย
รสนิยมในการเสพศิลปะของคนไทยยังบกพร่อง
อย่างเพลงก็ได้ใกล้ ๆ ตัว สังคมไทยมักจะฟังเพลงกันเป็นแฟชั่น
เมื่อหมดความนิยมก็จะทิ้งและลืมไปเลย แล้วเปลี่ยนไปฟังแบบใหม่
คำที่ว่า เกิดไม่ทัน มันเป็นคำปฏิเสธของคนที่ไร้ซึ่งรสนิยม
อย่างเช่นว่าคุณเคยฟังเพลงนี้ไหม ไม่เคยก็บอกว่าไม่เคย
มันไม่แปลก ฟังแล้วชอบไหม
ไม่ชอบก็ไม่ผิด แต่คำว่าเกิดไม่ทัน
แปลว่าฉันไม่สนใจศิลปะที่ฉันเกิดไม่ทัน
ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี พูดแบบนี้บ่อย ๆ เพลงไทยของเราก็จะถูกตัดท่อน
เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมมันถูกตัดท่อน ต่อให้มันยาวหรือลึกแค่ไหน
มันก็ไม่มีทางแข็งแรง เหมือนที่เรามักจะภูมิใจเสมอว่า
วัฒนธรรมไทยมีอายุยืนยาวกว่าอเมริกา ออสเตรเลีย
หรืออีกหลาย ๆ ประเทศ แต่เราลืมมองว่าที่เราว่านานมันแข็งแรงเท่าเขาไหม”
ภูษิต บอกเล่าถึงเหตุผลที่กลับมาทำคอนเสิร์ต Once In A Lifetime
ทั้งที่ตัวเขาเองห่างจากภาพความเป็นนักดนตรีไปนานพอสมควรว่า
“นักดนตรีทุกคนก็ฝันว่าการเล่นดนตรีกับวงดี ๆ แล้วเล่นเพลงเพราะ ๆ
นั่นคือสุดยอด คือสิ่งที่เราอยากทำ เป็นความฝันของเราตั้งแต่สมัยเรียน
วงดนตรีที่เป็นวงออร์เคสตรา มีเครื่องสายเยอะ ๆ
เพราะ ๆมีเครื่องเป่าเยอะ ๆ เป็นบิ๊กแบนด์แจ๊ส แล้วเราเล่นอยู่ในนั้นด้วย
นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้มันเกิด
เป็นที่มาของคอนเสิร์ตนี้ Once in a Lifetime
แปลได้หลายอย่าง หนึ่งคือรอมานานแล้ว...ขอสักทีเถอะ
หรืออีกอย่างคือช่วงจังหวะใดจังหวะหนึ่ง
ที่คนไม่คิดว่ามันจะมี แต่มันก็เกิดขึ้นได้”
เมื่อเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกที่ฝันและรอมานาน จึงน่าสนใจไม่น้อยว่า
เขาทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์มากน้อยเพียงใด
และจะมีอะไรเกิดขึ้นในคอนเสิร์ตนี้บ้าง
“มีอยู่ 3-4 อย่างที่เป็นเป้าหมาย หนึ่งคือเราต้องเป่าแซ็ก ฯ
อยู่ในวงที่ดีที่สุดก็คือวงออร์เคสตรา นักดนตรีต้องเล่นเก่ง
ในยุคนี้นักดนตรีไทยเก่งกว่าในยุคที่ผมเป็นนักเรียนเป็นร้อยเท่า
เราอยากเล่นเพลงที่เราอาจพูดได้ว่า เพราะที่สุดในโลก
ที่พูดอย่างนั้นเพราะเป็นเพลงที่คนรู้จักต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปี
ไม่เคยเสื่อมความนิยม เพลงพวกนี้ถ้าถูกคัดเลือกมาเล่นกับวงดนตรีดี ๆ ก็น่าจะดี
เราน่าจะมีนักร้องที่มาสื่อสารภาษาที่อยู่ในเพลงนั้นด้วย
เป็นที่มาของการเชิญนักร้องที่ฝีมือดี ๆ มาร่วมคอนเสิร์ตครั้งนี้"
“อีกประการหนึ่งคือแนวดนตรีที่หลากหลาย ไม่ได้จำแนกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
ทุกอย่างสามารถหลอมรวมกันได้ ภายใต้การอะเรนจ์ การแยกแยะ
คือจับความเหมาะสมของดนตรีแต่ละแนวได้
ฉะนั้นจึงมีทั้งสแตนดาร์ดแจ๊ส ละติน ป๊อป ร็อก บัลลาด
รวมถึงเพลงแบบเฉลียง เพลงไทยคลาสสิค ...
คือเราไปแยกแยะเองว่า
พวกร็อกมาเล่นกับพวกแจ๊สไม่ได้หรอก ซึ่งไม่จริง
คอนเสิร์ตนี้จะทำให้เห็นว่า เมื่อคุณโป่ง - หิน เหล็ก ไฟ
ร้องเพลงร็อกคู่กับคุณรัดเกล้า แล้วมีเสียงแซ็กโซโฟนจะเป็นยังไง
หรือศิลปินอัลเทอร์เนทีฟตัวพ่ออย่าง ป๊อด
มาร้องเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สกับวงบิ๊กแบนด์แจ๊สจะเป็นยังไง
เบน ชลาทิศ มาร้องเพลงไทยคลาสสิคของหม่อมพวงร้อย
แล้วอะเรนจ์ให้เป็นบอสโนวาแจ๊สจะเป็นยังไง"
“เราไม่ยัดเยียดเพลงจากค่ายใดค่ายหนึ่งเพียงค่ายเดียว
ไม่ใช่เฉพาะเพลงไทย หรือเพลงฝรั่ง เพลงอะไรก็ได้ในโลกนี้
เพราะดนตรีไม่มีกำแพงกั้น ดนตรีคือภาษาสากล
บางทีฟังไม่ออกว่าเนื้อหาพูดถึงอะไร แต่รู้สึกว่าเพราะ
สนุก มีความรื่นรมย์ น่าจะเป็นรูปแบบคอนเสิร์ต
อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยมีในบ้านเรา”
สำหรับนักร้องที่มาเป็นแขกรับเชิญในงานนี้ แต๋งเป็น ผู้เลือกเองทั้งหมด
ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นรุ่นน้อง ๆ ที่ฝีมือเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว
ทั้ง โป่ง - หิน เหล็ก ไฟ, ป๊อด โมเดิร์น ด็อก, ญารินดา, บี พีระพัฒน์, เบน ชลาทิศ
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเพื่อน ๆ ที่รู้จักสนิทสนมกันมานาน คือ เจี๊ยบ, ดี้, เกี๊ยง และรัดเกล้า
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักดนตรีที่จะมาเป็น แซ็กโซโฟน แจม เซสชั่น คือ
อ.ธนิสร์, โก้ Mr.Sax Man และ ต้นไม้ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของเขาเอง
“อยากเล่นให้ดี ถึงมีคนฟัง 10 คนก็ถือว่า
10 คนนั้นได้สิ่งดีที่สุดที่เราตั้งใจทำไป
ถ้าคนดูเต็มแน่นก็คงเป็นความสำเร็จของนักดนตรีไทยที่ได้อวดฝีมือ
แต่ถ้าคนดูน้อยไปหน่อย อย่างที่ว่า 10 คน
ก็เชื่อว่า 10 คนนั้นก็ได้สิ่งดี ๆ กลับบ้านไป
ถ้ามีโอกาสก็ทำใหม่ หรือคนบางคนที่ไปนั่งอยู่ในนั้นแล้วมีแรงบันดาลใจ
เหมือนครั้งหนึ่งที่โก้ Mr.Sax Man
เขาเคยเห็นเราเล่นแซ็ก ฯ แล้วเขาเล่นตามอย่างนั้น
จนวันนี้เขาเป็นนักแซ็กเก่งที่สุดในประเทศ
นี่คือความภูมิใจ เราไม่ได้สอนเราไม่ได้สร้าง
แต่เราเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขา ก็คุ้มแล้ว
ในวันนั้นอาจมีใครสักคนเติบโตขึ้น
เป็นนักดนตรีเอกของโลกจากแรงบันดาลใจครั้งนั้น” ภูษิต ไล้ทอง ทิ้งท้าย