Custom Search

Sep 5, 2010

คิดแบบไม่คิด


ศ.นพ. ประเวศ วะสี

คุยกันเรื่องความคิด กับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ISBN 9747092182
เขียนโดย อรศรี งามวิทยาพงศ์
พิมพ์ที่ มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ปี 2543
93 หน้า น้ำหนัก 200 กรัม


หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจประวัติและรากฐาน
ความคิด รวมทั้งวิธีคิดของนักคิดชาวพุทธท่านนี้ได้
มากพอสมควรทีเดียว อีกทั้งยังได้ข้อแนะนำในการดำ
รงชีวิต การทำงาน และการพัฒนาสติปัญญา จากบท
สัมภาษณ์ต่างๆ ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ด้วย


สารบัญ
คำนำ
คุยกันเรื่องความคิดกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี
1 ความคิด 7 แบบ1
คิดแบบเปะปะ3
คิดแบบวิทยาศาสตร์5
คิดแบบอิทัปปัจจยตา (คิดเชื่อมโยง)7
คิดแบบอริยสัจ10
คิดแบบทวิลักษณ์ ( 2 ด้าน )12
คิดแบบทางบวก15
คิดแบบไม่คิด18
วิจารณ์ความคิด 2 กระแส23
ธรรมชาติของความคิด26
2 วิธีฝึกฝนคมความคิด31
พัฒนาความคิดแบบพุทธ33
ปลูกสร้างความคิดสร้างสรรค์37
ภาคปฏิบัติพัฒนาความคิด41
ฝึกฝนด้วยตนเอง46
ความคิดติดกรอบ50
3 ความคิดเพื่อคุณภาพชีวิตและการงาน53
ความหมายแห่งความสุข55
ศักดิ์ศรีที่แท้60
คิดปลงด้วยปัญญา64
ภูมิต้านทานภายใน68
กุญแจสร้างความสุข73
วางใจไว้ถูกที่77
พรหมไม่ได้ลิขิต80
เปิดใจให้กับความเมตตา86
ปัญญาในสถานการณ์วิกฤต89


ทีนี้มาความคิดแบบที่ ๗
ผมไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร
เรียกว่า ไม่คิด ที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้นมันให้คิด
แต่ข้อนี้คือ แบบไม่คิด
หรือ ไม่คิดเลยก็ได้
ผมว่า การคิดด้านหนึ่งก็มีประโยชน์
แต่อีกด้านหนี่งก็มีโทษ
อันนี้ก็ไปคาบเรื่องทวิลักษณ์ คือ
บางทีเราคิดวุ่นวาย คิดผิด เช่น
เรามีเกณฑ์ของเราอยู่ในใจ
แล้วเอาเกณฑ์ของเราเข้าไปจับ
เอาประสบการณ์จากอดีตหรือ
ความฝังใจเข้าไปจับกับเรื่องใหม่
ซึ่งเรื่องใหม่นั้นบางทีมันคนละสถานการณ์กับเรื่องเก่าแล้ว
แต่เรายังไปใช้เกณฑ์เก่าก็ใช้ไม่ได้
เพราะมันคนละเรื่องกัน
การที่เราไปฝังใจในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว
จนไม่เห็นสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน
เพราะตัวความคิดมันเข้ามาเกี่ยวข้องความคิดจากอดีตเข้ามา
ทำให้เรามองไม่เห็นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นการหยุดคิดจึงมีประโยชน์
เพราะคิดแล้วมันยุ่ง หรือว่า
คิดผิดทางแล้วก็ยังคิดอีก
มันก็ไปในทางที่ผิดเรื่อยไป
สมมุติว่ามีทางอยู่ 5 ทาง มีถูกอยู่เพียง 1 ทาง
อีก 4 ทางผิด แล้วเราเข้าไปในทางที่ผิดนั้น
มันก็ผิดไปเรื่อย

ถาม แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรครับว่า สิ่งที่คิดอยู่นั้นมันผิด

ตอบ เราไม่รู้ แต่ผลก็คือ ไม่ประสบผล
แถมยิ่งทำให้ยุ่งหนักเข้าไปอีก มันต้องย้อนกลับมา
เหมือนกับเราจะไปเชียงใหม่ แต่ดันไปทางทิศใต้ ไปเท่าไร ๆ
เปลี่ยนพาหนะต่างๆก็แล้ว มันก็ยังไปไม่ถึง
เพราะมันไปผิดทาง วิธีแก้ไขนั้น คือ
ต้องจับความคิดนั้นออกมา มันจะทำให้เรามองเห็น
แต่ว่าถ้าเข้าไปอยู่ มันก็จะคิดอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไปผิดทางตลอด
เพราะฉะนั้นการไม่คิดจะทำให้เกิดความเป็นกลาง
เกิดความสงบ แล้วตรงนี้สมองจะปรับระบบของมันได้
ทำให้ข้อมูลที่วื่งวุ่นอยู่เป็นระบบขึ้น
เหมือนเราประชุมมาทั้งวัน ข้อมูลอะไรเข้ามาเยอะ
พอตกเย็นสมองจะยุ่งเชียว เคยสังเกตไหมครับว่า
สมองช่วงเย็นจะยุ่งกว่าตอนเช้า
แล้วบางทีมันคิดไม่ค่อยออกเพราะมันวุ่นมาก
แต่พอได้นอนหลับแล้วตื่นตอนเช้า
สิ่งที่คิดไม่ออกในตอนเย็นจะคิดออกในตอนเช้า
ผมเจอแบบนี้บ่อย
เรารู้สึกว่าตอนหลับไปสมองมีการจัดระบบอะไรของมัน
เพราะมันรับข้อมูลเข้ามาอย่างไม่ค่อยเป็นระบบ

ขณะที่เรารู้สึกตัว สมองไม่เคยหยุดคิดหรอก
มันุจะคิดอยู่เรื่อย เพราะมันมีเรื่องให้คิด เช่น
ตาเราเห็นอะไร หู ได้ยินอะไร มันก็เป็นตัวที่นำความคิด
ทางอื่นก็มีอีก เช่น ทางจมูก ลิ้น สัมผัส
อีกอันคือ ตัวความจำ หรือความคิด
ที่มันค้างอยู่โดยไม่ต้องรับเข้ามาใหม่
มันก็มีอยู่ข้างในแล้ว ที่เขาเรียกว่า
เป็นการสัมผัสทางใจ ผมว่าตรงนี้คือ
ตัวข้อมูลข่าวสาร สัมผัสเก่า ที่มันเข้าไปจำเอาไว้
และยังอยู่ในความทรงจำนั้น ทำให้สมองคิดอยู่ตลอดเวลา
คิดเรื่องที่เกิดในอดีต คิดไปในอนาคต
คิดจนหยุดคิดไม่ได้ ทีนี้สมองมันก็จะทำงานหนัก
แล้วก็เนือยๆ จนไม่สามารถจะใช้ความคิดให้พุ่งไป
ก็คงเหมือนกับแสง ถ้ามันไปเปะปะทุกทิศทุกทาง
แสงมันก็อ่อน แต่ถ้าเอาแสงพวกนั้นมาเพ่งจุดลงไปที่ไหน
กำลังมันก็แรง แบบแสงเลเซอร์ ซึ่งจะมีแรงมาก
ความคิดของเราก็เหมือนกัน
ปกติมันจะเปะปะไปทางโน้นทางนี้วุ่นไปหมด
ถ้าเราหยุดคิดมันจะปรากฏการณ์เยอะเชียว
บางคนอาจจะหยุดคิดได้โดยธรรมชาติ
แต่คงมีน้อยคน ส่วนใหญ่ต้องฝึก
ถ้าคนที่ฝึกแล้วหยุดคิดได้ เขาจะเจอะอะไรหลายๆอย่าง

อย่างแรก คือ เจอความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย
คนที่ไม่เคยเจอ จะอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ
ว่าพอหยุดคิดแล้วมันเกิดความสุข
เกิดความปราโมทย์ ปิติ ความสุข
เพราะเดิมนั้นความคิดต่างๆ เข้ามาจนมีความหนัก
ความหงุดหงิดและรำคาญ เรียกว่าคิดอยู่เรื่อยแล้ว
แต่ว่าจะมีอะไรมากระทบ เรื่องอะไรมันก็หนักสมอง
พอหยุดคิดมันก็เกิดความสงบ แล้วก็เกิดความสุข
เพราะฉะนั้นอย่างที่เขาพูดว่า ความสุข คือ ความสงบ
บางทีเราอาจจะไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าใจเหมือนกันบางส่วน
ว่าคือสงบจากเสียงเอะอะต่างๆ แต่ว่าอันนี้คือ
ความสงบของความคิด เมื่อสงบจาากการหยุดคิด
รู้สึกเลยว่า มันเห็นอะไรต่างๆ ด้วยความเป็นจริงมากขึ้น
ไม่อย่างนั้นเวลาเราเห็นอะไร เราจะเอาความคิดของเราเข้าไปใส่
เพราะความคิดและความรู้สึกมันเชื่อมกันเหมือนกับที่พูดว่า
ถ้าเราเกลียดคนนี้ เราก็จะเห็นเขาเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งๆที่เขาเป็นอย่างเดียวกัน แต่เวลาที่เราชอบเราก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง
ของอย่างเดียวกันเราจะเห็นไม่เหมือนกัน
แต่เวลาหยุดคิดตรงนี้ จะเป็นกลาง ไม่ได้รู้สึกชอบ หรือ ไม่ชอบ
แต่จะเห็นเขาตามที่เป็นจริงมากขึ้น ปัญญา จะเกิดที่ตรงนี้
แล้วเวลาจิตสงบ จะเกิดปรากฏการณ์ว่า สิ่งที่คิดไม่ออก
ก็จะคิดขึ้นมาได้เอง ที่จริงมันคงจะมีกระบวนการอะไรข้างในสมอง
ที่ว่าจะจัดระบบอะไรของมันแล้วสังเคราะห็อะไรขึ้นมา
เมื่อคนได้อยู่สงบจึงมักคิดอะไรออก ท่านกฤษณมูรติ
ก็พูดเรื่องนี้เรื่องเดียว
ถ้าไปอ่านงานของกฤษณมูรติกี่เรื่องๆ ก็พูดเรื่องนี้ คือ
เรื่องไม่คิด ของท่านจะเป็นธรรมชาติหรือไง ไม่ทราบ
เพราะท่านไม่ได้บอกเลย ว่าทำอย่างไรจะไม่คิด
แต่ท่านบอกว่า ความคิดทำให้เกิดอะไรๆ ได้
รวมทั้งความรุนแรงต่างๆ ก็เกิดจากความคิด

การไม่คิดก็คือ การเจริญสติ ซึ่งทำให้เรารู้ และอยู่กับปัจจุบัน
รวมทั้งไม่เข้าไปสู่ความคิด แล้วยังเชื่อมโยงไปสู่ปัญญา
ทำให้เกิดความสุข ความรู้สึกอีกอันหนึ่ง
ที่ปรากฏขณะที่สมองหยุดคิดและรู้อยู่กับปัจจุบัน
คือเวลาที่เราไปสัมผัสกับอะไร มันจะเป็นความปิติชื่นชมไปหมด
มันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่างๆ
เพราะบางครั้งเวลาเราสัมผัสสิ่งต่างๆ
บางทีเราไม่รู้เรื่องเลยหรือไม่รู้สึกตัวเลย
เพราะเราเข้าไปอยู่ในความคิดหมด ไม่เห็นถึงต้นไม้ ดอกไม้
หรือความงามตามธรรมชาติ เพราะเวลาคิด มันไม่รู้สึก
ดังนั้นเวลาเราเจริญสติ การหยุดคิดทำให้เห็นอะไรงามไปหมด
เห็นใบไม้ เห็นมด เห็นกิ่งไม้มันเกิดความรู้สึกอย่างนี้
ผมเคยถามคุณเนววรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เพราะสงสัยว่า
คนที่เป็นศิลปิน จิตจะต้องต่างจากคนอื่น
ผมเองนั้นไม่มีหัวทางศิลปะเลยตั้งแต่เด็กๆ
ไม่ว่าจะวาดรูปหรือร้องเพลง ก็ไม่มีหัวเลย
แต่เวลาเราเจริญสติ มันจะเจอสภาพจิตใหม่
ที่เห็นอะไรงามไปหมด เวลาเดินจงกรม คือ
การเจริญสติ โดยการเดิน แบบรู้ตัว
ผมจะรู้สึกว่าเห็นใบไม้ ดอกไม้ มดตัวหนึ่ง
มันก็รู้สึกเป็นความปิติ ความชื่นชม
ผมก็เลยนึกว่าจิตใจของศิลปิน
จะต้องมีอะไรที่ต่างจากคนธรรมดา
สามารถเห็นความงามของอะไรๆได้
คุณเนาวรัตน์ บอกว่าต้องมีสมธิ สูงมากตอนที่วาดรูป
เพื่อที่จะทำอะไรแล้วเห็นความงามของมัน
และสะท้อนออกมา เขาใช้คำว่า สมาธิ
ผมใช้คำว่า สติ สมาธิ คือ การเพ่งเล็งที่จุดเดียว
เวลาที่เราเจออย่างนี้ก็นึกอยากให้คนอื่นได้เจอบ้าง

ถาม อาจารย์ครับ แล้วที่บางคนทำสมาธิแล้วหงุดหงิด คือ
เห็นอะไรแล้ว แทนที่จะสงบ กลับขวางหูขวางตาไปหมด
ว่ามันกวนสมาธิของเขานั้น เป็นเพราะอะไรครับ

ตอบ อันนี้เพราะเขาไปเล่นกับสมาธิ
ที่ผมเรียกคือ สติ สมาธิ พยายามจะไปโฟกัสจิตอยู่จุดเดียว
ทีนี้พอโฟกัสไม่ได้ เพราะมีอะไรมาดึง มันก็หงุดหงิด
เพราะไปพยายามจะเพ่ง มันก็เลยเครียด
ทีนี้การเจริญสติ มันไม่เหมือนกันเพราะ ไม่เพ่งอยู่จุดเดียว
จะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ตามรู้ตลอดเวลา
คือ ไม่พยายามยึดเอาไว้ที่จุดเดียว มันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง
ปล่อยมันไปตามนั้น การเจริญสตินี้จึงไม่เครียด คือ
เพียงแต่ตามรู้ เพราะตามปกติ ขณะที่คิดเราไม่รู้ตัว
เหมือนที่เราหายใจเข้า หายใจออก เราก็ไม่รู้ตัว
เพราะเราคิด บางทีคิดไปจนไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่
นั่งอยู่ หรือกินน้ำก็ไม่รู้ตัว เพราะคิดอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ โดยไปอ่านหรือไปศึกษาเกี่ยวกับสติ
ซึ่งพระพุทธเจ้าพูดไว้มาก จะเน้นอานาปานสติก็ดี
มหาสติปัฏฐาน ๔ ก็ดี จะเห็นความมหัศจรรย์ของสติ
ซึ่งท่านพูดไว้ละเอียดมาก และถ้าปฏิบัติด้วยแล้ว
มันจะเป็นจริงตามที่ผมพูด
แต่ถ้าไปอ่านอย่างเดียวก็จะไม่รู้ว่ามันดีอย่างไร
ต้องปฏิบัติจึงจะเห็น แล้วกลับไปอ่านที่ท่านพูดไว้
จะเข้าใจได้ละเอียดยิ่งขึ้นอีก
และจะเห็นความมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก
เป็นธรรมดาที่เราไปเจออะไรว่ามีประโยชน์
หรือเจอความสุขความสงบก็อยากให้คนอื่นเจอ

คิดดู สิว่า ที่เกิดมาก็อยู่ไม่นานเท่าไร เพียง ๖oปี ๗oปี หรือ ๑oo ปี
ถ้าอยู่แล้วต้องทุกข์ เสียใจ เดือดร้อนเรื่องต่างๆ ไปเรื่อย ชีวิตก็ขาดทุน
แต่ถ้าทำงานที่มีประโยชน์ และมีความสุขไปด้วย
ก็จะเป็นชีวิตที่ดี ผมรู้สึกอยากให้คนอืนเจอตรงนี้
เพราะมันเป็นความสุขจริงๆ
และอย่างที่พูดว่ามันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ชัดเจน
ให้สัมพันธ์กันด้วยสันติมากกว่าเดิม
มนุษย์นี่มีสิ่งที่ผมเรียกว่าทุกขสัมพันธ์
คือสัมพันธ์แบบมีความขัดแย้ง การคิดในแง่ดี
มันจะเกี่ยวกับตรงนี้เยอะ เพราะอะไรๆ หลายเรื่องขึ้นกับการมอง
และการคิดของเรา อย่างอิธัปปัจจยตา
ถ้าพูดเป็นทฤษฎีก็ยังไม่ซึมซาบ
แต่พอปฏิบัติเข้ามันก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น
ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีเหตุปัจจัย
แต่เวลาเราเรียนรู้อะไร พอถึงเวลาที่เรื่องนั้นเกิดขึ้นจริง
เราเอามาใช้ไม่ทัน แต่ถ้าเราฝึกเจริญสติ
จะทำให้เอาปัญญามาใช้ได้ทันมากขึ้นๆ และถ้าฝึกได้สมบูรณ์
ก็ใช้ทันอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเรื่องอะไรมสัมผัสปั๊ป
มันก็สัมผัสด้วยปัญญาจริงๆ จึงไม่เกิดความทุกข์ขึ้น
อันนี้ก็เป็นความคิดอันสุดท้าย คือ การไม่คิด