มฟล. ครบรอบ 12 ปี ปฏิบัติภารกิจสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำครบถ้วน
– อธิการบดี ลั่น รักษาตำแหน่งมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพและโอกาส
เล็งเพิ่มช่องทางพิเศษรับเรียนดี-ขาดทุนทรัพย์เข้าเรียน
ส่วนนศ.ทั่วไปเน้นการบริหารจัดการที่ดีแทนการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา
ด้าน รศ.ดร.เทอด เทศประทีป อธิการบดี
กล่าวว่าก้าวต่อไปของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หลังครบรอบ 12 ปี คือ การสานต่อปณิธานสมเด็จย่า ‘ปลูกป่า สร้างคน’
ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ (University of quality)
และ มหาวิทยาลัยแห่งโอกาส (University of opportunity)
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงกระแสโลกาภิวัตน์
ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันโลก
ความเป็นนานาชาตินั้นแยกไม่ออกจากเรื่องโลกาภิวัตน์
ในส่วนของสถาบันการศึกษา
การเตรียมพัฒนานักศึกษาในด้านภาษา เช่น
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
หากไม่พัฒนาการสอนให้มีคุณภาพ ให้มีองค์ความรู้
มีความคิดที่ก้าวไกล
เพราะประเด็นสำคัญในการเป็นนานาชาติคือ
ความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
ได้รับการยอมรับว่าเป็นนานาชาติไปโดยปริยาย
การแสวงหาแนวทางการจัดการศึกษาสนับสนุน
ให้นักศึกษามีความ ‘ใฝ่รู้ใฝ่เรียน’ (learning to learn concept)
เนื่องจากความรู้เปลี่ยนไปทุกนาที หากยังเน้นสอนเนื้อหา
จะทำให้นักศึกษาไม่เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จึงได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัย Aalborg ประเทศเดนมาร์ก
เพื่อทำความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนารูปแบบ
การเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)
เป็น รูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
โดยใช้สถานการณ์ปัญหาเป็นตัวกระตุ้น
ให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้เพื่อนำมาแก้
ปัญหานั้น ซึ่งในอนาคต มฟล.
จะตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ขึ้น
โดยได้รับความร่วมมือจาก
มหาวิทยาลัย Aalborg (http://en.aau.dk)
สำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาสนั้นได้สานต่อ
ตามเจตนารมณ์ของอธิการบดีผู้ก่อตั้งที่ได้ประกาศว่า
“จะไม่มีนักศึกษาคนใดที่เรียนได้จะต้องออกจาก
มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพราะความยากจน”
โดยการแสวงหาทุนการศึกษาเข้ามา
สนับสนุนนักศึกษากลุ่มที่สามารถเรียนได้ให้ได้เรียน
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มช่องทางใหม่สำหรับการรับนักศึกษา
มองกลุ่มเป้าหมายที่เรียนได้ ต้องการที่จะเรียนผลการเรียนดีพอใช้
แต่ด้อยโอกาส ขาดทุนทรัพย์ มหาวิทยาลัยก็จะรณรงค์หาทุนมาให้
ส่วนนัก ศึกษาทั่วไป ค่าธรรมเนียมการศึกษานั้น
จะพยายามรักษาไว้ในระดับที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาส
แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะบริหารงานแบบนอกระบบราชการ
ต้องหารายได้เองในส่วนหนึ่งก็ตาม
“ ในช่วงนี้เราอาจขึ้นค่าธรรมเนียมไม่ได้
แต่ เราจะสร้างรายได้จากแหล่งอื่นๆ
ซึ่งมีกระบวนการที่สำคัญคือ
ต้องใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่าที่สุด
เพิ่มการบริหารจัดการให้ดี ใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่า
ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินและบุคลากร”
รศ.ดร. เทอด กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สำคัญอีกประการ
ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในก้าวต่อไปคือ
การพัฒนานักศึกษาให้ไปสู่การพลเมืองอาเซียน
และการพลเมืองโลก ผ่านการพัฒนาด้านภาษา
และเรียนรู้ผ่านบริบทของสังคมวัฒนธรรม
เพื่อช่วยขยายโอกาสในการทำงานของบัณฑิตให้กว้างขึ้นแล้ว
และการเรียนรู้นั้นจะนำมาสู่ความเข้าใจกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
โดยการมุ่งพัฒนาทักษะด้านภาษา ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง
และสนับสนุนให้พัฒนาทักษะภาษาที่สาม โดยเฉพาะภาษาจีน
รวมทั้งเปิดให้มีรายวิชาเกี่ยวกับอาเซียน
มีเนื้อหาตั้งแต่ที่มาของความรวมตัวกันของกลุ่มอาเซียน
ไปจนกรอบการค้า และข้อตกลงต่างๆ
รวมถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก
และต่อไปจะต้องออกแบบหลักสูตร
ให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจในบริบทของโลกด้วย
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ได้รับการสถาปนาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2541
อันเป็นผลมาจากการผลักดันของประชาชนทุกหมู่เหล่าใน จ.เชียงราย
ที่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยใน จ.เชียงราย
และสืบสานปณิธานของสมเด็จย่า ซึ่งได้ทรงพัฒนา จ.เชียงราย
โดยเฉพาะพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน)
อันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวทางปลูกป่าสร้างคน
ปัจจุบัน มฟล.ได้พัฒนาจนเปิดการสอนจำนวน 10 สำนักวิชา
และยังมีศูนย์และหน่วยงานองค์กรภายในต่างๆ มากมาย มีบุคลากรทั้งหมด 915 คน
ในปี 2553 นี้ มฟล.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 946,166,490 บาท
โดยได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวน 490,074,800 บาท
ส่วนที่เหลือเป็นรายได้สมทบ
ทั้งนี้ที่ผ่านมานักศึกษาที่จบจาก มฟล
ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพและ
เข้าสู่การทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จโดยถ้วนหน้ากัน