วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553
สิ่งที่คลาสสิคไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก หรือซับซ้อน
หรือมีราคาแพง
ดินสอธรรมดาๆ นี่แหละคลาสสิคอย่างแท้จริง
ถึงแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 400 ปี
แล้วก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตอย่างมีบทเรียนให้ขบคิด
ในสมัยอียิปต์และโรมันเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว
มีการใช้แท่งโลหะบางๆ
เป็นวัสดุเขียนอักษรลงบนกระดาษยุคแรกที่ทำจากต้นกก (papyrus)
คำว่า pencil มาจากคำในภาษาละตินว่า
pencilius ซึ่งหมายถึง "little tail"
(เข้าใจว่าวัสดุที่ใช้เขียนคงเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวคล้ายหางกระมัง)
ดินสอที่เรารู้จักกันทุกวันนี้มาจากการค้นพบแหล่งของ
graphite (หินถ่านรูปหนึ่ง)
ขนาดใหญ่ในประมาณ ค.ศ.1565
แคว้น Barrowdale เมือง Cumbria ในอังกฤษ
ชาวบ้านพบว่าเมื่อเอามันมาตัดเป็นแท่ง
แล้วก็สามารถใช้เขียนเครื่องหมายบนตัวแกะได้ดี
ความบริสุทธิ์และเป็นแท่งนิ่มไม่เปราะทำให้สะดวกในการใช้
จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก
ขณะนั้นวิชาเคมียังอยู่ในขั้นอนุบาล ผู้คนเข้าใจว่า
มันเป็นวัสดุคล้ายตะกั่วจึงเรียกว่า lead ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
ปัจจุบันในภาษาอังกฤษก็ยังเรียกไส้ดินสอว่า lead
ถึงแม้ว่าจะไม่มีตะกั่วปนอยู่ด้วยแต่อย่างใด
ประโยชน์ของดินสอชนิดนี้แพร่
ไปยังการใช้ในเรื่องต่างๆ ของชีวิตประจำวัน
จนมีการควบคุมการใช้โดยทางการ
ชาวบ้านก็ขโมยจากแหล่งใหญ่นี้มาใช้งาน
เนื่องจากแท่ง graphite ค่อนข้างนิ่ม
จึงเอาหนังสัตว์หุ้มเพื่อให้เขียนได้สะดวก
แหล่ง graphite ที่อังกฤษนี้เป็นแหล่งค้นพบเดียว
ที่มีความบริสุทธิ์และมีคุณภาพสูง
ดังนั้น อังกฤษจึงผูกขาดดินสออยู่ได้เป็นเวลาหลายปี
จนมีผู้คิดค้นเอาผง graphite
ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากแหล่งคุณภาพสูง
ผสมกับซัลเฟอร์และพลวง (antimony)
และปั้นขึ้นมาเป็นแท่ง ใน ค.ศ.1662 ในเมือง Stein
ใกล้เมือง Nuremberg เยอรมนี
ดินสอยี่ห้อ Faber-Castell (http://www.faber-castell.com)
สืบทอดมาจากการคิดค้นนี้จนถึงปัจจุบัน
ผู้ที่คิดเอาไม้มาหุ้มรอบแท่ง graphite
เป็นสามีภรรยาชาวอิตาลีชื่อ Simonio
และ Lyndiana Bernacotti
โดยมุ่งใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช่างไม้
ลักษณะดินสอเป็นไม้รูปไข่และ
เป็นแท่งสั้นซึ่งใช้ในวงการช่างไม้มาจนทุก วันนี้
เมื่อเห็นดินสอหุ้มด้วยไม้เข้าท่า
ก็มีผู้พัฒนาขึ้นโดยใช้ไม้กลวงสองซีกประกอบแท่ง graphite
และใช้กาวติดไม้ทั้งสองชิ้น วิธีผลิตนี้ยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ความก้าวหน้าครั้งสำคัญของดินสอเกิดขึ้นในสงครามนโปเลียน
เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เมื่อกองทัพนโปเลียนถูกปิดล้อม
เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสด้วยกองทัพเรือ
ไม่สามารถนำเข้าแท่ง graphite มาใช้เป็นดินสอเพื่อคำนวณตัวเลข
เขียนแผนรบ ขีดเส้นจุดที่วางปืนใหญ่ได้
ทหารของนโปเลียนจึงประดิษฐ์ดินสอขึ้นใช้เอง
ในปี ค.ศ.1795 Nicholas Jacques Conté
ค้นพบการเอาผง graphite ชนิดเลวที่นำเข้าจากเยอรมนี
มาผสมกับดินเหนียว แล้วปั้นเป็นแท่งยาว
เอาไปเผาในเตาก็ใช้เป็นไส้ดินสอได้
วิธีการผลิตนี้ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
ดินสอหุ้มไม้ซีดาร์แดง (Red Cedar)
เป็นที่นิยมในยุโรปและอเมริกามาก ในศตวรรษที่ 19
เฉพาะในอเมริกาดินสอ 240,000 แท่งถูกใช้ในแต่ละวัน
ไม้ชนิดนี้ไม่มีเสี้ยนและมีกลิ่นหอม
ในต้นศตวรรษที่ 20 ไม้ Red Cedar
ลดปริมาณลงมากจนต้องเลาะเอามาจากโรงไม้เก็บของ
และรั้วมาใช้ อังกฤษไปสุดโต่งถึงขนาดออกกฎหมาย
ห้ามใช้กบเหล่าดินสอเพื่อไม่ให้เหลาดินสอ
อย่างไม่จำเป็นจนเปลืองไม้ Red Cedar
"ความจำเป็นเป็นแม่ของประดิษฐกรรม"
เป็นความจริงเสมอ เมื่อ Red Cedar ขาดแคลน
จึงหันมาใช้ไม้ Incense Cedar
ที่มีอยู่มากมาย้อมสีและกลิ่นแทน
ปัจจุบันนี้ดินสอขั้นดีส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ไม้ชนิดนี้ในการผลิต
เดิมดินสอนั้นกลม เพิ่งเป็น 6 เหลี่ยมเมื่อ Lothar von Faber
หลานทวดของผู้ก่อตั้งบริษัท Faber-Castell
ผู้เข้ามาคุมบริษัทใน ค.ศ.1839 เสนอนวัตกรรมนี้
ซึ่งทำให้ดินสอไม่กลิ้งตกไปจากโต๊ะ
ปัจจุบันมีการผลิตดินสอในโลกประมาณปีละกว่า 15,000-20,000 ล้านแท่ง
(ครึ่งหนึ่งผลิตในจีน) ไม่ว่าปากกาหมึกซึมและ
ปากกาลูกลื่นสารพัดชนิดจะเป็นที่นิยมอย่างไร
ดินสอก็มีเสน่ห์ไม่คลาย
ที่น่าแปลกใจก็คือเรื่องสีของดินสอส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆ
ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง เยอรมนีและบราซิล
มักเป็นสีเขียว ยุโรปทางใต้เช่นสเปน อิตาลี
เป็นสีแดงเข้มหรือดำโดยแซมด้วยเส้นสีเหลือง
ออสเตรเลียมักเป็นสีแดง โดยอีกด้านหนึ่งเป็นแถบสีดำ
ในอินเดียดินสอที่ใช้กันทั่วไปเป็นสีแดงเข้มและมีเส้นสีดำสลับ ฯลฯ
ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
ไส้ดินสอก็ยังคงเป็น graphite ผสมดินเหนียวแล้วเผา
(ไส้จะดำ จะอ่อนหรือจะนิ่มอยู่ที่ส่วนผสมและความร้อนที่เผา)
ไม้ส่วนใหญ่สำหรับดินสอชั้นดีก็ยังคงเป็นไม้ Incense Cedar
และอีกปลายด้านหนึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นยางลบซึ่งรัดด้วยแถบโลหะ
ในจำนวนผู้ผลิตดินสอรายใหญ่ของโลก Faber Castell
ซึ่งมีสีเขียวเป็นยี่ห้อประจำตัวคงความเกรียงไกรตลอดเวลาเกือบ 400 ปีที่ผ่านมา
นวัตกรรมในการนำเอายางลบติดที่ปลายดินสอก็เป็นของบริษัทนี้
เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้วเป็นคดีในศาลสูงของสหรัฐอเมริกา
และก็ชนะคดีในการใช้ยางลบติดที่ปลาย ดินสอ
ผู้มีสิทธิบัตรเป็นฝ่ายแพ้เพราะศาลตัดสินว่า
ไอเดียนี้มันชัดจนไม่น่าเอามาจด เป็นสิทธิบัตรได้
Faber-Castell ผลิตดินสอประมาณปีละ 2,200 ล้านแท่ง
ในราคาถูกเพื่อใช้กันทั่วโลกด้วยนวัตกรรมดินสอหกเหลี่ยม
ยางลบที่ปลายดินสอ สีเคลือบดินสอที่ไม่เป็นพิษ
จุดมียางบนดินสอเพื่อให้เด็กจับได้โดยไม่ลื่น
ตลอดจนดินสอเป็นแท่งสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมของเด็ก
จนถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการดินสออย่างแท้จริง
ผู้ผลิตดินสอมักร่ำรวยคล้ายกับผู้ผลิตเข็มเย็บผ้า
เพราะไม่เคยมีใครใช้ดินสดจนหมดแท่ง
(ไม่เคยมีเด็กที่ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของ
ธนาคารออมสินหมดเกลี้ยงเช่น กัน)
และไม่เคยมีใครใช้เข็มจนหัก ส่วนใหญ่ก็มักหายไปก่อน
ดินสอนั้นคลาสสิคเสมอ ด้วยความง่ายไม่ซับซ้อน
เหมือนปากกาดินสอ แถมมีราคาถูกใช้ง่ายในทุกสภาวะ
(นักวิจัยอเมริกันของ NASA เสียเงินนับสิบล้านเหรียญ
เพื่อประดิษฐ์ปากกาลูกลื่นใช้ในยานอวกาศ
แต่นักอวกาศรัสเซียใช้ดินสอ)
ถึงแม้ว่าจะไม่มีนวัตกรรมออกมาบ่อยก็ตาม
ในประวัติศาสตร์กว่า 400 ปี
ความเป็นคลาสสิคของสิ่งใดนั้นอยู่ที่คุณค่าของมันเอง
หาได้อยู่ที่ราคาของมันไม่
ถ้ามนุษย์ทำตัวเหมือนดินสอปนเทียนไข
โลกคงเต็มไปด้วยปัญญาและความสว่าง