Custom Search

Jan 24, 2011

"ประพันธ์ เหตระกูล" สาวยาคูลท์เรียก "พ่อ"


มติชน
ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ-เรื่อง
กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์-ภาพ
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554




นับเป็นบุคคลที่ถือเป็นแบบอย่างของคนสู้ชีวิตอีกคนหนึ่งของสังคมไทย
ผ่าน ร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกำลังร้อนระอุ
ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายอักษะ (ญี่ปุ่น)
ที่หัวลำโพง ตอนอายุ 12 ปี ต้องวิ่งหนีระเบิดถึงสามครั้ง
แต่ด้วยอานิสงส์แห่งสงครามกลับเปิดโอกาสให้

ประพันธ์ เหตระกูล ได้ก้าวออกไปรู้จักกับโลกแห่งวิทยาการโภชนาการ

ไม่เพียงเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโกเบ

คนแรกของประเทศไทย ที่ได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ยาคูลท์ ประเทศไทย จำกัด

"ช่วงที่ทำตลาดยาคูลท์ใหม่ๆ คนไทยยังไม่รู้จัก "นมเปรี้ยว" พอเอายาคูลท์ไปทดลองแจกให้ดื่ม เมื่อเขาชิมแล้วโกรธใหญ่ เอาขวดขว้างใส่ผม และหาว่าผมเอานมเสียมาให้ดื่ม" ประพันธ์ เล่าถึงความลำบากในการต่อสู้เพื่อให้ยาคูลท์เป็นที่รู้จักในเมืองไทย จนถึงวันนี้ยาคูลท์ก่อตั้งมาได้ 40 ปีเแล้ว และสโลแกนที่ว่า "อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์ดูสิคะ"ประพันธ์ เป็นลูกชายคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 12 คน ของคุณพ่อแสง และคุณแม่ไซ้กี เหตระกูล แต่งงานกับ ประพินพร เหตระกูล มีลูก 3 คน คนโต กิตติพันธุ์ ทำงานอยู่ น.ส.พ.เดลินิวส์ คนกลาง คือ กนกพร ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ส่วนคนเล็ก กนกพรรณ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยาคูลท์ ประเทศไทย (จำกัด)

จบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัน บางรัก และชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ก่อนจะไปเรียนต่อระดับ ปวช.ที่อัสสัมชัญพาณิชยการ

"ตอนนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเลิก ผมมีอายุได้ 15-16 ปี เตรียมตัวจะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะพี่น้องคนอื่นๆ เรียนที่สหรัฐอเมริกากันหมด เตรียมเอกสารไว้หมดทุกอย่างแล้ว ซื้อตั๋วไว้แล้วด้วย แต่ปรากฏว่า เตี่ยส่งไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผมได้รู้จัก "ยาคูลท์" เป็นครั้งแรก"

ประพันธ์ สำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 ทางด้านบริหารธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกเบ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศ เพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว เป็นบรรณาธิการคนแรกของ น.ส.พ.เดลินิวส์ เมื่อปี พ.ศ.2507

และเป็นเจ้าของบริษัทยาคูลท์ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2513 หลังจากคำชักชวนของเพื่อนชาวญี่ปุ่น

ตามไปรู้จักเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายคนนี้กัน

ทำไมตกลงใจไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น?

เรื่อง นี้ต้องย้อนกลับไปช่วงสงคราม เตี่ยของผมมีเพื่อนเป็นทหารยศพันเอกของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย แต่ปรากฏว่าหลังสงครามทหารญี่ปุ่นคนนี้กลายเป็นอาชญากรสงคราม ถูกคุมขังอยู่ในคุกย่านบางบัวทอง แม้ว่าสมัยนั้นการเดินทางจะเป็นไปอย่างลำบาก ต้องนั่งเรือแล้วเดินต่ออีกเป็นระยะทางไกล แต่เตี่ยผมก็ไปเยี่ยมเขาทุกเดือนตลอด 2-3 ปีที่ติดคุกอยู่ในเมืองไทย



หลังจากถูกส่งตัวกลับประเทศญี่ปุ่นไม่นาน ช่วงนั้นผมเรียนจบอัสสัมชัญพาณิชยการพอดี คนญี่ปุ่นเพื่อนเตี่ยผมก็มีจดหมายมาหาเล่าว่า กำลังทำงานเป็นผู้จัดการที่บริษัทเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งในเมืองโอซากา อยากจะตอบแทนบุญคุณเตี่ยจึงชักชวนให้ส่งลูกไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นโดย เขาจะดูแลให้ทั้งหมด เตี่ยจึงถามผมว่า อยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นหรือเปล่า ผมก็บอกไปว่าอยากไป เพราะประทับใจในความมีระเบียบของคนญี่ปุ่น จึงตอบตกลง

ต้องเตรียมเรื่องภาษาด้วย?

ตอน นั้นที่บ้านมีโรงพิมพ์ บังเอิญว่า นายช่างประจำแท่นพิมพ์เป็นคนญี่ปุ่น ผมเลยถือโอกาสขอเรียนภาษาญี่ปุ่นจากเขาอยู่ 6 เดือน และเมื่อไปถึงญี่ปุ่น ตอนนั้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2495 ก็ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยโอซากา แผนกภาษาต่างประเทศ หลักสูตรภาษาไทย แต่ผมเรียนต่างจากนักศึกษาคนอื่นคือ คนอื่นเรียนเพื่อเอาภาษาไทย แต่ผมเรียนเพื่อเอาภาษาญี่ปุ่น เรียนอยู่ 1 ปี จึงไปสอบเข้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโกเบ

ระหว่างนั้น มีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นช่วยขอทุนจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่นให้ ผมจึงเป็นนักศึกษาไทยรุ่นแรกที่ได้รับทุนจากญี่ปุ่นก็ว่าได้ มีทั้งหมด 4 คน ผมจำได้คนเดียวคือ คุณตามใจ ขำภโต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในฐานะของประเทศที่แพ้สงคราม สภาพความเป็นอยู่ไม่น่าจะสะดวกสบาย?

ครับ ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนทุกคนต้องมีบัตรปันส่วนเพื่อรับเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาลอาหารทุกอย่างต้องปันส่วนหมด แต่สำหรับผม โชคดีหน่อยหนึ่งที่เป็นนักเรียนต่างชาติก็ได้ปันส่วนพิเศษกว่าชาวญี่ปุ่น หน่อยหนึ่ง

ได้อะไรจากการไปเรียนที่ญี่ปุ่น

สิ่ง ที่ผมได้จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโกเบนั้นมีมากมาย นอกจากความรู้จากหลักสูตรที่ศึกษาแล้ว ยังมีความรู้ด้านอื่นด้วย เช่น ความรู้เกี่ยวกับด้านแรงงาน การบริหารบุคคล ระบอบการปกครอง ฯลฯ เพราะมหาวิทยาลัยโกเบเป็นหนึ่งใน 3 แห่งของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุด โดยมหาวิทยาลัยโกเบ มีชื่อเสียงในด้านของการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในแง่ของการออกไปช่วยด้านการ พัฒนาประเทศเป็นสำคัญ

รู้จักยาคูลท์ได้อย่างไร?

จาก ประสบการณ์ของตัวเองเลย ตอนผมเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ลำไส้ไม่แข็งแรง แม่บ้านที่ดูแลบ้านพักจึงนำยาคูลท์มาให้ดื่ม ก็ดื่มบ้างไม่ดื่มบ้าง แต่รู้สึกว่าสุขภาพของลำไส้ดีขึ้นมาก จึงรู้สึกประทับใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

กลับมาก็เลยเปิดบริษัท?

ยัง ครับ ตอนที่เรียนจบกลับมา ผมทำหน้าที่เป็นคนเดินตลาดของโรงพิมพ์ที่บ้านก่อน แล้วมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโกเบ มาชวนลงทุนทำโรงงาน ตอนนี้มีกิจการหลายอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย เช่น โรงงานทำกล่องลูกฟูก ฯลฯ แต่ผมไม่มีทุนมากขนาดนั้น เพราะตอนนั้นครอบครัวของผมเองก็ทำโรงงานผลิตน้ำอัดลมอยู่

หลังจาก นั้นไม่นานเพื่อนคนเดิมก็มาหาอีก คะยั้นคะยอผมบอกว่าบริษัทยาคูลท์ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังมองหาหุ้นส่วนคนไทย เพื่อมาเปิดตลาดในเมืองไทย ตอนนั้นประมาณ ปี 2513 ตัวผมเองมีความประทับใจในคุณภาพของยาคูลท์อยู่แล้ว จึงไม่รีรอที่จะร่วมลงทุน นอกจากจะช่วยให้คนไทยได้ดื่มยาคูลท์และมีสุขภาพลำไส้ที่ดีขึ้น ยังช่วยให้คนงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก

ปีแรกเป็นอย่างไร
ขาด ทุนครับ เพราะบริษัทมีพนักงานประมาณ 200 คน แต่ละคนเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ตอนนั้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนหนึ่งแค่ 700 บาทเอง ผมลงทุนไปทั้งหมด 15 ล้านบาท ปีแรกขาดทุน 7 ล้าน ปีที่สองขาดทุน 8 ล้าน เท่ากับ 2 ปี เงินทุนผมหมดแล้ว แต่ผมก็ยังไม่ท้อ เพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่าธุรกิจเราน่าจะได้ทุนคืนในปีที่ 4

แต่ช่วงนั้นคนไทยยังไม่รู้จัก"นมเปรี้ยว"?

ครับ เราจึงพัฒนารสชาติของยาคูลท์ให้ถูกปากคนไทย เนื่องจากยาคูลท์ที่ผลิตในญี่ปุ่นไม่หวานมาก เพราะญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตน้ำตาลเองได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นรวมทั้งยาคูลท์จึงซื้อน้ำตาลได้ตามโควต้าที่จำกัดไว้เท่านั้น และคิดว่ารสชาติไม่น่าจะถูกปากคนไทยเท่าใดนัก เราจึงเริ่มทดลองว่าคนไทยชอบรสชาติแบบไหน ทดลองอยู่ 3 เดือน จึงรู้ว่าต้องให้ความหวานขนาดเท่ากับความหวานของน้ำอัดลม และในความเป็นจริงน้ำตาลที่ใส่ลงไปในยาคูลท์ ไม่ใช่ว่าจะใส่เพื่อความหวานอย่างเดียว แต่ใส่เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์

ตอน เริ่มทำการตลาดใหม่ๆ ผมเองลงพื้นที่ไปแนะนำยาคูลท์แก่ลูกค้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควรเพราะคนไทยสมัยนั้นยังไม่รู้จัก "นมเปรี้ยว" พอเอายาคูลท์ไปแจกให้ลองชิม เขาโกรธมาก เอาขวดขว้างใส่ผม หาว่าผมเอานมเสียมาให้กิน แต่ผมก็พยายามอดทน และอธิบายให้เข้าใจคุณภาพของสินค้า กว่าคนไทยจะเข้าใจใช้เวลาถึง 4 ปี

เป็นที่มาของสาวยาคูลท์?

ครับ ผมทำประชาสัมพันธ์โดยให้คนซื้อขวดต่อขวด ส่งสาวยาคูลท์ 200 คน ไปเดินแจกจนยาคูลท์เป็นที่รู้จักของคนไทย

แต่ จุดที่พลิกผันจริงๆ คือเมื่อปี 2515 เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรงแถวปากน้ำ จ.สมุทรปราการ มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ผมก็ปรึกษากับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น เขาจึงติดต่อไปทางสำนักงานที่ประเทศญี่ปุ่นให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศ ไทย มาอธิบายให้นักวิชาการในประเทศไทยถึงสรรพคุณที่บอกว่า ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาต์ บิด ไข้รากสาดหรือไข้ไทฟอยด์ ได้อย่างชะงัก

พอมาถึงก็เข้าพบนายแพทย์ใหญ่ประจำจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อพูดคุยและอธิบายสรรพคุณ นายแพทย์ใหญ่ก็มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่พาคณะของผมไปที่โรงพยาบาลปากน้ำ เพื่อเยียวยาอาการผู้ป่วย ซึ่งตอนนั้นมีที่อาการหนักอยู่ 3 คน ผมจำได้แม่นเลย ผู้ชาย 2 คนที่มีร่างกายแข็งแรง และมีคุณป้า 1 คนแก่มาก เคี้ยวหมากด้วย ทั้งสามคนมีอาการถ่ายไม่หยุด

เรามีการถามความสมัครใจ กับคนไข้ก่อน ปรากฏว่า ผู้ชาย 2 คนตอบตกลง ส่วนคุณป้าไม่ยอมดื่ม ผมก็บอกทางผู้อำนวยการว่า ถ้าผู้ป่วยจะใช้ยาคูลท์แทนยาจะต้องหยุดดื่มยาทั้งหมด และต้องดื่มยาคูลท์ต่างน้ำ เพราะอาการของอหิวาต์ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ปรากฏว่าสามชั่วโมงให้หลังคนไข้ทั้งสองคนที่ดื่มยาคูลท์หยุดถ่าย ผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิงที่ไม่ดื่มตั้งแต่แรกพอเห็นคนไข้สองคนกินแล้วหายก็มา ขอไปดื่มบ้าง ผมก็เลยเอายาคูลท์ที่นำไปด้วยประมาณ 200 ขวดให้พยาบาลไว้ หลังจากนั้น ผมก็นำยาคูลท์ไปให้กับทางโรงพยาบาลแจกไป 6 แสนขวด

ตอนนั้นเรียกว่ามั่นใจในสินค้ามาก?

ก็ มั่นใจตั้งแต่ดื่มเองจนสุขภาพลำไส้แข็งแรงขึ้นแล้ว อย่างลูกสาวคนเล็ก (กนกพรรณ เหตระกูล) ผมให้ดื่มตั้งแต่อายุได้ 5 วัน เป็นสูตรที่ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นการันตีแล้วว่าปลอดภัยต่อเด็ก ทุกวันนี้ทั้งเธอและผมก็ยังดื่มยาคูลท์ทุกวัน ไม่ใช่ฟรีนะ เสียเงินซื้อทุกขวด (หัวเราะ)

สโลแกน "อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ" ใครเป็นคนคิด

ผม เป็นคนคิดเอง เพราะผมมั่นใจในคุณภาพของยาคูลท์ พนักงานของเราต้องผ่านการอบรมก่อนจะเข้าเป็นพนักงานทุกคน และจะต้องรู้ว่าจุลินทรีย์ในยาคูลท์มีประโยชน์อย่างไร ต้องอบรมนาน 1 เดือน ต้องผ่านการพูดหน้าชั้น สอบข้อเขียนด้วย หากไม่รู้ว่าในขวดมีอะไรก็เท่ากับว่าไม่ผ่าน

ความรู้สึกเมื่อทราบว่ามหาวิทยาลัยโกเบประกาศว่าเป็นศิษย์ต่างประเทศคนแรกของมหาวิทยาลัยโกเบ

(นิ่งไปชั่วครู่ ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือที่เปี่ยมไปด้วยความตื้นตันว่า) ดีใจครับ

บั้นปลายชีวิตวางแผนไว้อย่างไรบ้าง

ตอน นี้ผมมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 4,500 คน โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานของเราประมาณ 70% ครอบครัวแตกแยก สามีทิ้ง สามีตาย สามีไม่สมบูรณ์ รายได้ของครอบครัวไม่ดี สิ่งที่ผมภูมิใจและดีใจกับพวกเขาคือ กิจการของผมสามารถทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นมีงานทำ สามารถส่งเสียลูกๆ ให้เรียนจนจบปริญญาได้

พนักงานเหล่านี้แม้จะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่ผมถือว่าเขาเป็นกำลังสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเราเลยทีเดียว

***ที่มา : หน้า 17 ,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2553