ไทยรัฐ
31 มกราคม 2554
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน”
แม้ สุภาษิตนี้จะยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย
แต่ปัจจุบันการประหยัดและการอดออมเพียงอย่างเดียว
อาจยังไม่เพียงพอ สำหรับการสร้างความมั่งคั่ง
และความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้คนในยุคนี้
เพราะ การฝากชีวิตไว้กับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
ที่แม้นักเศรษฐศาสตร์ทุกค่ายจะฟันธงตรงกันว่ากำลังเข้าสู่การเป็น “ขาขึ้น”
แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยรวมของประเทศไทย
ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยต่ำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
จึงเป็นแรงกดดันให้คนทำงาน
โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนต้องหันมา
ให้ความสนใจบริหารจัดการกับเงินของตัวเอง
โดย เฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ปีนี้ จะมีการจำกัดวงเงินฝากที่ได้รับ
ความคุ้มครองเพียง 50 ล้านบาทต่อธนาคารเท่านั้น
และตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2555 เป็นต้นไป
วงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนต้องมาตระหนักและ
ให้ความสำคัญกับการบริหารเงินในกระเป๋าของตัวเองมากยิ่งขึ้น!!
เพราะ การออมเงินโดยฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว
นอกจากจะได้ผลตอบแทนต่ำแล้ว ขณะเดียวกันก็อาจมีความเสี่ยง
หากเกิดกรณีสถาบันการเงินที่ฝากเงินไว้มีปัญหา
ล้มละลายหรือถูกสั่งปิดกิจการ (แม้จะเกิดขึ้นได้ยาก
แต่ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย)
เงินที่ฝากไว้ในธนาคารก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
เต็มทั้งก้อนทั้งจำนวนเหมือน ในอดีตอีกต่อไปแล้ว
ขณะ เดียวกัน ในปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนที่หลากหลายมากมาย
ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีเงินออม สามารถนำเงินมาบริหารจัดการ
เพื่อให้เงินออกไปทำงานแทนเรา หรือ “เอาเงินไปต่อเงิน”
เพื่อให้เงินในกระเป๋าที่มีอยู่สามารถงอกเงยสร้างความมั่งคั่งให้
หากศึกษาการลงทุนอย่างเข้าใจและมีการลงทุนอย่างถูกต้องเหมาะสม
@@@@@@@
วิวรรณ เผยคัมภีร์การบริหารเงินออมหรือเงินเก็บว่า
ก่อนที่จะนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุน ให้กัน “เงินฉุกเฉิน”
หรือเรียกอีกอย่างว่า “เงินรองรัง” ออกมาก่อน
เพื่อกันไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือ
มีเหตุจำเป็นจึงจะนำออกมาใช้ เช่น กรณีตกงาน
ส่วน “เงินรองรัง” จะเป็นเงินเท่าไรนั้น มีหลักคิดคร่าวๆ คือ
ไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในแต่ละเดือน (ไม่ใช่ 3 เท่าของเงินเดือน)
สำหรับผู้ที่มีการงานมั่นคงมีรายรับเป็นเงินเดือนทุกเดือน
ส่วน ผู้ ที่มีอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ รับทำงานเป็นจ๊อบๆ เช่น
อาชีพนักเขียน ดารา จิตรกร มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ
ควรจะกันเงินรองรังไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
เงินออมที่เหลือจากเงินรองรังนี้ จึงจะนำมาลงทุนเพื่อหาดอกผลได้!!
และ เมื่อคิดจะเริ่มลงทุน ก็มีคำถามว่าจะนำเงินไปลงทุนในอะไรได้บ้าง
ซึ่งขณะนี้มีช่องทางมากมาย ที่รอให้เราเข้าไปเปิดหีบขุมทรัพย์
ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น, ทองคำแท่ง, น้ำมัน, พันธบัตรรัฐบาล,
ตั๋ว เงินคลัง, สลากออมสิน, หุ้นกู้บริษัทเอกชน, อสังหาริมทรัพย์
คอนโดให้เช่า หรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ
ที่จะมีมืออาชีพนำเงินเราไปบริหารจัดการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งจะมีผลตอบแทนและความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป
วิวรรณ บอกว่า “หัวใจของการลงทุน” คือ การจัดสรร
หรือกระจายการลงทุน เรียกให้โก้ว่า Asset allocation
ซึ่งก็คือการแบ่งก้อนของเงินที่จะนำไปลงทุนในแต่ละอย่าง
ที่ต้องจัดสรรให้เหมาะสมและตรงตามความต้องการของตัวเองมากที่สุด
เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง
โดยต้องถามตัวเองว่า ต้องการผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน
และตนเองสามารถรับความเสี่ยงได้มากเท่าไหร่!?!
เพราะ ปกติแล้วการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
ก็มีโอกาสที่จะได้กำไรหรือผลตอบแทนสูงเช่นเดียวกัน เช่น
การลงทุนในตลาดหุ้น
เรามีโอกาสที่จะได้กำไรจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเป็น “เท่าตัว”
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นก็สามารถปรับตัวลง
จนทำให้เราขาดทุนเกือบ “หมดตัว” ได้เช่นกัน
หากลงทุนโดยไม่มีความรู้และไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี
แต่ หากรับความเสี่ยงได้น้อย ไม่ต้องการให้เสียเงินต้นหรือเงินลงทุน
ก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมากกว่า เช่น
ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน
หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายคุ้มครองเงินต้น
หรือฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย
แต่โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนก็น้อยลงเช่นกัน
สูตรสำรวจความเสี่ยง
ส่วน ใครจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น วิวรรณ ได้ให้สูตร
ในการสำรวจถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน ว่าขึ้นอยู่กับ 6 ปัจจัย คือ
1. อายุน้อยรับความเสี่ยงได้มาก-อายุมากรับความเสี่ยงได้น้อย
เพราะเวลาทำงานเหลือน้อย แม้จะมีเงินออมมาก
แต่หากขาดทุนหรือหมดไปแล้ว โอกาสที่จะหาได้ใหม่ยาก
2. ความมั่งคั่งโดยรวม เช่น คนมีเงินออมที่หามาแทบทั้งชีวิต 100,000 บาท
หากหายไป 10% คือ 10,000 บาท ก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ และเดือดร้อนได้
แต่ สำหรับคนที่มีเงิน 1,000 ล้านบาท
หากหายไป 100 ล้านบาท ก็ยังมีอีก 900 ล้านบาท
ถือว่ายังมีความมั่งคั่งอีกมาก
ดังนั้น ผู้ที่มีความมั่งคั่งโดยรวมสูง
จะรับความเสี่ยงได้มากกว่าผู้ที่มีความมั่งคั่งโดยรวมต่ำ
3. ระยะเวลาในการลงทุน หากเงินที่ต้องการลงทุนในช่วงเวลาสั้นๆ
ก็จะรับความเสี่ยงได้น้อย เช่น ค่าเทอมลูกที่จะใช้ในเดือน พ.ค.
อีก 4 เดือนข้างหน้า ไม่ควรนำไปลงทุนที่มีความเสี่ยงมาก
เพราะหากขาดทุนไปแล้ว เมื่อ ถึงเวลาที่ต้องใช้อาจหากลับมาไม่ได้
หรือไม่ทัน แต่เงินออมที่ไว้ใช้หลังเกษียณ
ถือเป็นเงินระยะยาว อีก 20-30 ปีจึงจะนำมาใช้ เงินก้อนนี้
จะรับความเสี่ยงได้มากกว่า เพราะการลงทุนในระยะสั้น
อาจมีขึ้นลงผันผวน แต่ในระยะยาวเฉลี่ยแล้วยังได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
4. ภาระทางการเงินที่มีอยู่ เช่น หากยังมีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
ส่งลูกเรียนหนังสือ ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ถือว่ารับความเสี่ยงได้น้อย
เพราะหากขาดทุนหรือเงินก้อนนี้หมดไป
อาจทำให้คนที่อยู่เบื้องหลังเดือดร้อน จึงไม่ควรเสี่ยงมาก
ยิ่งมีภาระเยอะเท่าไร ยิ่งรับความเสี่ยงได้น้อย
แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีภาระทางการเงิน ไม่มีหนี้สินต้องผ่อน
ไม่ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ก็สามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า
5. ความมั่นคงของอาชีพ พวกข้าราชการ พนักงานบริษัทใหญ่ๆ
ที่มีความมั่นคง จะรับความเสี่ยงได้มากกว่าผู้มีอาชีพ
และเงินเดือนที่ไม่แน่นอนและสุดท้าย ข้อ 6. สำคัญมาก
คือความมั่นคงทางจิตใจ หรือเรียกว่าความวิตกกังวลส่วนบุคคล เช่น
บางคนอาจมีคุณสมบัติตั้งแต่ข้อ 1-5 ดีหมด
มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูง แต่มีนิสัยวิตกกังวลลงทุนไปแล้ว
เครียดนอนไม่หลับ กลัวขาดทุน หรือขาดทุนไปแล้วก็มานอนเศร้า
นั่งทุกข์ใจ ตัดใจไม่ได้ ขอแนะนำว่าอย่าลงทุนในหุ้น
หรือในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเด็ดขาด
เพราะจะทำให้ชีวิตไม่มีความสุขเมื่อชีวิตไม่มีความสุข
มีเงินเยอะเท่าไรก็ไม่มีความหมาย!!
คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
เมื่อ พิจารณาคุณสมบัติของตัวเองเพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงได้แล้ว
รู้แล้วว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ก็ลงมือจัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองได้เลย
ซึ่ง วิวรรณในฐานะนายกสมาคมนักวางแผนการเงินได้จัดพอร์ต
ทำตัวอย่างการจัดสรรการลงทุนของคนไว้ 3 ประเภท(ในตาราง) ไว้อย่างน่าสนใจ
คือ พอร์ตลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม สำหรับผู้ที่ต้องการความมั่นคงสูง
ความเสี่ยงต่ำมาก และได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ
เรียกกลุ่มนี้ว่าเงินต้นไม่หาย แต่ได้ผลตอบแทนงอกเงยกว่าแช่แป้งเงินฝากไว้ในธนาคาร
สูตร นี้แบ่งก้อน เงินออมไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพวกสลากออมทรัพย์ ออมสิน
ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลยมากที่สุดถึง 40% อีก 25% ลงทุนในกองทุนรวม
ที่เน้นลงทุนในตลาดเงิน (เงินต้นไม่หาย ผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษี)
และแบ่งไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 10%
อีก 10% ลงทุนในตลาดหุ้น และลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ 5% เช่น
ทองคำ, น้ำมัน หรือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้
ที่เหลือ 10% สุดท้าย ฝากแบงก์กินดอกเบี้ย พอร์ตนี้คาดหวังจะได้
ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4.325%
สำหรับ แบบที่ 2 เพิ่มความเสี่ยงมาอีกนิด หวังได้ผลตอบแทนเพิ่มอีกหน่อย
เรียกว่าการลงทุนแบบปานกลาง โดยลดการลงทุนในตลาดเงินจาก 25%
เหลือ 15% โดยไปเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเป็น 20%
ซึ่งพอร์ตนี้คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5.67% ต่อปี
และ แบบสุดท้าย Aggressive สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น
โดยเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นสูงที่สุดถึง 30%
โดยลดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลลงเหลือ 20%
และไปเพิ่มการลงทุนในทองคำ, น้ำมัน
หรือสินค้าโภคภัณฑ์เป็น 15% เท่ากับการลงทุนในตลาดเงิน
ขณะที่ยังลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เท่าเดิม
10% เช่นเดียวกับเงินฝากธนาคาร 10% พอร์ตนี้หวังผลตอบแทนเฉลี่ย 7.47%
สูตรสำเร็จการออม
อย่าง ไร ก็ตาม วิวรรณ ระบุว่า ก่อนที่จะลงทุนได้
ต้องเริ่มที่การออมเงินก่อน เพราะหากไม่มีเงินออมก็ลงทุนไม่ได้
การออมจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด
โดย วิวรรณ ได้เผย 5 เทคนิคการ ออมไว้อย่างน่าสนใจว่า
การออมจะเกิดขึ้นได้ข้อแรกคือ
1. ต้องมีวินัย คือมุ่งมั่นทำให้สม่ำเสมอ เช่น
ตั้งใจจะออมเงินให้ได้ทุกวัน(สำหรับผู้ที่มีรายได้รายวัน)
หรือทุกเดือน ต้องทำให้ได้สม่ำเสมออย่าได้ขาด
2. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น เช่น เริ่มปีแรก จะออมให้ได้เดือนละ 1,000 บาท
พอขึ้นปีที่ 2 เพิ่มเป็น เดือนละ 1,200 หรือ 1,500 บาทพอปีที่ 3
เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาท ต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ทุกปี
เพราะปกติแล้วเงินเดือนขึ้นทุกปี แต่เรากินเท่าเดิมหรือ
พยายามจำกัดงบใช้จ่ายประจำวันให้ได้เท่าเดิม
เพื่อให้ออมได้มากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีรายได้สูงขึ้น
และมีฐานะการเงินเริ่มมั่นคง ก็ยิ่งออมเงินได้มากขึ้น
เมื่อเก็บเงินได้มากพอก็จะทำให้สามารถนำไปลงทุนได้เร็วขึ้น
3.ให้ รางวัลกับตัวเอง เช่น เมื่อออมได้ครบตามเป้าหมาย
จะให้รางวัลตัวเอง 5-10% ของเงินที่ออมได้ เช่น
ซื้อกระเป๋าที่อยากได้ เข้าสปาหรือซื้อทัวร์ไปเที่ยว
เพื่อให้มีความสุขกับการออมและเป็นกำลังใจให้ตัวเองเดินหน้าออมเงินได้ต่อไป
เพราะการตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินอย่างเดียวโดยไม่เอามาใช้เลย
อาจทำให้เครียดและกดดันตัวเองเกินไป เรียกข้อนี้ว่าออมไปสุขไปว่างั้นเถอะ
4. อย่าใจอ่อนและท้อถอย เช่น หยุดออม ออมไม่สม่ำเสมอ
ขาดวินัยออมบ้างไม่ออมบ้าง ผัดวันประกันพรุ่ง
ยิ่งทำให้การออมล่าช้า หรือหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องหยุดออม
เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ แล้วต้องรีบกลับมาออมใหม่ให้เร็วที่สุด
ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ใจอ่อนหรือท้อถอย เพราะไม่ได้ให้รางวัลตัวเองในข้อ 3. จึงทำให้ขาดแรงจูงใจ
5. ควรจดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
เพื่อให้เห็นรายจ่ายที่จำเป็นและรายจ่ายฟุ่มเฟือยที่สามารถตัดลดได้
ซึ่งจะนำไปสู่การออมที่เพิ่มขึ้นและ
ยังทำให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่มี เหตุผลมากขึ้น
วิ วรรณ ย้ำว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการออมเงินคือ ต้อง”กันเงิน”
ที่ต้องการออมออกมาจากเงินเดือนหรือรายรับที่ได้ก่อน
ที่เหลือจากนี้จึงเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน
หรือเขียนเป็นสมการโจทย์เลขคือเงินเดือน-เงินออม=เงินสำหรับใช้จ่าย
ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเอง
ที่ว่าเงินออมคือเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายประจำเดือน
เพราะไม่เช่นนั้นคุณอาจจะไม่มีวันได้ออมเงินเลย
เพราะใช้จนไม่มีเงินเหลือให้ออม!!
เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
สุด ท้าย วิวรรณ บอกว่า เราควรตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่า
อยากมีชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณแบบไหน
ต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ และคาดว่าตัวเองจะมีอายุยืนแค่ไหน เช่น
หากมีอายุยืนถึง 80 ปี นั่นหมายถึง
เราต้องมีเงินเก็บให้พอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 20 ปี
หากต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ต้องเก็บเงินให้ได้ 4,800,000 บาท
หรือหากอายุยืนถึง 90 ปี ต้องเก็บเงินให้ได้ 7,200,000 บาท
ดังนั้น หากไม่รีบวางแผนการออมและการลงทุนตั้งแต่วันนี้
ก็อาจจะมีชีวิตที่ทุกข์ยากหลังเกษียณ
วิวรรณ แนะว่าถ้าจะให้ดีเราสามารถเริ่มต้นวางแผนการเงินได้
ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หรือเริ่มวางแผนการเกษียณ นับตั้งแต่วัน
แรก ที่เริ่มทำงาน โดยเพียงเราออมเงินเดือนละ 1,000 บาท
ตั้งแต่อายุ 25 ปี ไปจนถึงเกษียณอายุตอน 60 ปี
ถ้านำเงินออมนี้ไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนปีละ 5%
ตอนอายุ 60 จะมีเงิน 1,136,092 บาท
และในจำนวนเงินออมที่เท่ากัน
หากนำไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนปีละ 8%
ตอนเกษียณจะมีเงิน 2,293,882 บาท
และหากได้ผลตอบแทนปีละ 10% จะมีเงินถึง 3,796,338 บาท!!
แต่ ถ้าออมเงินเพิ่มขึ้นทุกปี ก็จะยิ่งทำให้มีเงินมากขึ้น
เช่นถ้าปีแรกออมเงินเดือนละ 1,000 บาท และออมเพิ่มขึ้นปีละ 10%
คือปีที่ 2 ออมเพิ่มเป็นเดือนละ 1,100 บาท ปีที่ 3
ออมเพิ่มเป็นเดือนละ 1,210 บาท เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ปีละ 10%
หาก นำเงินออมนี้ไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทน ปีละ 5%
เมื่อครบ 35 ปี หรือเมื่ออายุ 60 ปี เงินนี้จะงอกเงยเป็น 5,546,656 บาท
และหากผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มเป็น 10%
ในตอนเกษียณก็จะมีเงินสูงถึง 11,235,732 บาท!!
และ เงินจำนวนนี้ ซึ่งถือเป็นเงินออมก่อนเกษียณ
หากนำไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนปีละ 5%
จะมีเงินใช้จ่ายสำหรับชีวิตหลังเกษียณจนถึงอายุ 80 ปี
ได้ถึงเดือนละ 74,150 บาทเลยทีเดียว
วันนี้คุณได้เริ่มต้นออมเงินและวางแผน
บริหารเงินออมของตัวเองแล้วหรือยัง!
ทีมเศรษฐกิจ