Custom Search

Oct 11, 2008

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

มติชน
วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 09:59 น.
หมายเหตุ- เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอาคารสนม สุทธิพิทักษ์ อนุสรณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง อนาคตการศึกษาไทยใน 1 ปีข้างหน้า

ในงานเสวนาระดมความคิด 1 ปีกับการขับเคลื่อนการศึกษา : ขับเคลื่อนอะไรและอย่างไร
จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชนมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

-แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะถูกยกเลิกไปแล้ว
แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังมีผลบังคับใช้อยู่
ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้จึงเดินหน้าในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
โดยจะมีการทบทวนใน 3 ประเด็นสำคัญคือ

1.ปรับแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อนเพื่อให้ดำเนินต่อไปได้
เช่น การเยียวยาบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งมีประมาณ 10,000 คน เรื่องเงินวิทยฐานะที่รัฐยังไม่ได้จ่ายให้กับครู และเรื่องการเพิ่มเงินอุด
หนุนรายหัวนักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.การเสริมเติมเต็มในเรื่องต่างๆ เช่น ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปทั้งระบบอย่างครบกระบวนการ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ 1 ปีจะเป็นเวลาค่อนข้างน้อย แต่ผมเชื่อว่าน่าจะสามารถผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 48 ฉบับให้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้
เพราะเวลานี้เหลือเพียงสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ
3.ปรับแต่งเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เช่น เรื่องคุณธรรมนำความรู้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาได้ออกแบบมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว
ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้นำ 3 ประเด็นหลักดังกล่าวมากำหนด

เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษา 6 ประการของ ศธ.ได้แก่
1.ปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้
2.ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ให้กว้างขวาง
และทั่วถึงมากยิ่งขึ้นโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว
นักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เพียงพอ
3.พัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเริ่มจากการพัฒนาการสอนของครู
และวิธีการเรียนของนักเรียน ส่วนเรื่องปัญหาการขาดแคลนครูนั้น
จะเลือกแก้ในส่วนที่วิกฤตมากกว่าที่จะแก้ในภาพรวม
โดยจะแก้ตามพื้นที่และกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขาดแคลนมากๆ
เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
4.กระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
โดยขณะนี้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ได้ทำแผนการกระจายอำนาจลงสู่สถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาเสร็จแล้ว
และกำลังจะยกร่างกฎกระทรวง
จากนี้ไปอาจจะนำร่องใน 2,000-3,000 โรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ
ซึ่งจะต้องมีการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องประมาณ 1-2 หมื่นคนเพื่อรองรับด้วย
จึงอาจต้องอาศัยสภาคณบดีคณะครุศาศตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย
สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) และ สพฐ.
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษา
สำหรับในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังไม่พร้อมรองรับการกระจายอำนาจ
ผมได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
ไปหารือว่าจะบริหารกลุ่มโรงเรียนและจัดระบบอย่างไร
โดยอาจจะต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน
ซึ่งต่อไปอาจจะต้องมีจักรยานยืมเรียนให้กับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น
เพื่อให้เด็กขี่ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียง หรืออาจจะต้องมีระบบขนส่งนักเรียน
ซึ่งวิธีเหล่านี้จะดีกว่าการจัดหาครูให้พอเพียงกับเด็ก
เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าเราร่วมกันใช้ทรัพยากรร่วมกัน
จัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน คุณภาพการศึกษาของเด็กก็จะดีขึ้น
ทั้งนี้ การมอบให้ สพท.เป็นผู้ดูแลจะส่งผลให้ต้องมีการทบทวน
เรื่องการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษากันใหม่
ซึ่งแนวโน้มอาจจะต้องเพิ่มเขตพื้นที่ฯมากขึ้น
ประการที่ 5 การมีส่วนร่วมของประชาชน เอกชน และท้องถิ่น
จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างและทบทวนเรื่องคณะกรรมการสถานศึกษา
และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา
เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบให้มากขึ้น
แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเต็มที่
ส่วนเรื่องการถ่ายโอนสถานศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทาง ศธ.จะยังคงยึดหลักการการกระจายอำนาจไปสู่ อปท.
แต่ขณะนี้สิ่งที่ต้องทบทวนคือวิธีการถ่ายโอนว่าจะมีวิธีอื่นใดอีกหรือไม่
ที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมรับภาระแบบราบรื่น ไม่ขัดแย้ง และประสบผลสำเร็จ
โดยที่ไม่ต้องยึดรูปแบบการถ่ายโอนเพียงรูปแบบเดียว
เช่น จะให้ อปท.เข้ามาร่วมกับ ศธ. ในรูปแบบสหกิจ
หรือการลงนามข้อตกลง MOU อย่างที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต
ได้ทำร่วมกับ ศธ. และเร็วๆ นี้ทาง อบจ.อุบลราชธานีก็จะทำร่วมกับ ศธ.ด้วย เป็นต้น
6.ปัญหาการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่ง ศธ.ถือเป็นเขตพื้นที่พิเศษ ได้มอบหมายให้มีการจัดระบบรองรับ
โดยจัดตั้งศูนย์ประสานการศึกษาในระดับกระทรวง
ตั้งอยู่ที่สำนักผู้ตรวจราชการ เขต 12 จ.ยะลา
รวมทั้งมีมาตรการพิเศษอีกหลายเรื่อง
โดยขณะนี้ก็เตรียมที่จะส่งข้าราชการระดับ 10
ลงไปเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ด้านการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมสร้างความสมานฉันท์
และมีส่วนช่วยในการทำให้ภาวการณ์ในปัจจุบันกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ดังนั้น ในระยะนี้ผมจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกสัปดาห์
เพื่อที่จะดูว่าการศึกษาจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง
ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ขึ้นอีก
หน้า 26

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดวันที่ 22 ธ.ค.2477อายุ 72 ปี

ประวัติการศึกษา

-อักษรศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2502 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ครุศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2504 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-M.A.บริหารการศึกษา พ.ศ.2507 มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา
-Ph.D.บริหารการศึกษา พ.ศ.2510 มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา
-ว.ป.อ.19 พ.ศ.2519-2520 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

การทำงาน

- รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพ.ศ. 2516-2517
- รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ.2517-2530
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521-2530
- สมาชิกวุฒิสภาและประธานกรรมาธิการการศึกษา
และวัฒนธรรมของวุฒิสภาพ.ศ.2591-2534
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม
ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2534-2535
- ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ.2530-2537
- คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2536-2543
- ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2543
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2535-2543
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์