Custom Search

Oct 1, 2008

สาเหตุวิกฤต"แฮมเบอเกอร์"







วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายวัน
วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2551
ปีที่ 31
ฉบับที่ 11163

มีผู้คนเขียนถึงวิกฤต "แฮมเบอเกอร์" กันมากมายแล้ว
ในเรื่อง What? และ How?
แต่ Why? นั้นดูจะพูดถึงกันไม่มากนัก

คำตอบสำหรับ Why? นั้นไม่ง่ายเพราะมีหลายสิ่งที่ผสมปนเปกัน
จนเสมือนทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในทะเล
และอาจกำลังก่อตัวเป็นสึนามิขนาดมหึมากระทบชาวโลกก็เป็นได้
ที่น่ากลัวก็คือผู้ควบคุมดูแลชายฝั่งในบางประเทศมือยังอ่อนหัด
และยังปล่อยให้ประชาชนเล่นน้ำทะเลกันอยู่วิกฤต "แฮมเบอเกอร์"
ต่างจากวิกฤต "ต้มยำกุ้ง"

เมื่อสิบปีที่แล้วตรงที่ครั้งก่อนมีสาเหตุจากความผิดพลาด
ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย
จนมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ กอปรกับสถาบันการเงินมีปัญหา
ดังนั้น มันจึงลุกลามไปถึงประเทศอื่นด้วย
แต่ครั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดพลาดของสหรัฐอเมริกา
ในการจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
และกำกับดูแลกลุ่มวาณิชธนกิจ (investment banker) อย่างไม่รัดกุม
จนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและลุกลามคุกคามความมั่นคงของสถาบันการเงิน
โดยขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)
ของสหรัฐอเมริกามากเพียงใดและจะส่งผลกระทบออกไปนอกประเทศ
จนเกิดปัญหาความมั่นคงของภาคการเงิน
และเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างรุนแรงหรือไม่สาเหตุแรกของวิกฤต "แฮมเบอเกอร์"
ก็คือสหรัฐอเมริกามีทุนไหลเข้าไปในประเทศมาก
จนล้นออกไปในภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดฟองสบู่เก็งกำไรกันขึ้น

ต้นเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีเงินทุนไหลเข้ามากและได้มาในราคาต่ำกว่าชาวโลกอื่นๆ
ก็เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักซึ่งเป็นที่เชื่อถือของชาวโลกมายาวนาน
ระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง ค.ศ.1971
ดอลลาร์มีทองคำหนุนหลังร้อยเปอร์เซ็นต์
(เอาดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำบริสุทธิ์ได้เสมอ
ในอัตรา 1 เหรียญต่อ 1 ใน 35 ทรอยเอาซ์)
แต่ถึงแม้ยุคนั้นจะหมดไป ดอลลาร์ก็ยังคงได้การยอมรับ
ว่าเป็นสิ่งมีค่าอันควรใช้เป็นเงินสกุลหลักเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่น
ในการค้าขาย
(เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใหญ่ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก)
รัฐบาลอเมริกาสามารถขาดดุลงบประมาณได้ถึง 1 ใน 3
ของงบประมาณเพราะส่วนที่ขาดดุลสามารถชดเชย
ด้วยการขายตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ
(U.S.Treasury bills ที่ถือกันว่ามั่นคงสุดสุด)
และดอลลาร์เหล่านี้ที่ได้มาจากต่างประเทศ
ก็คือดอลลาร์ที่มาจากการพิมพ์ธนบัตรของสหรัฐก่อนหน้า
โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์หนุนหลัง
และไหลเวียนอยู่ในต่างประเทศ
(การบริโภคของคนอเมริกาจนขาดดุลการค้าต่างประเทศทุกปี
ทำให้ดอลลาร์จำนวนมากไหลไปอยู่ในต่างประเทศ)
เงินจากต่างประเทศที่ได้รับนี้ก็ไม่มีต้นทุนในการแลกเปลี่ยนข้ามสกุล
และที่สำคัญเมื่อสหรัฐจะใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยก็ทำได้ด้วย
การพิมพ์ธนบัตรให้เงินทุนจากต่างประเทศเหล่านี้เปรียบเสมือนเงินกู้ที่จ่าย
ในอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ และใช้คืนด้วยกระดาษ
และเงินเหล่านี้ก็กลายมาเป็นเงินทุนของภาคเอกชนราคาต่ำอีกครั้ง
โดยไหลมาจากการใช้จ่ายของงบประมาณภาครัฐและการให้กู้ยืมต่างๆ แก่เอกชน
ทั้งหมดนี้สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ทำได้เพราะดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก
มีคนเรียกสิ่งนี้ว่า exorbitant privilege (อภิสิทธิ์เกินกว่าสมควร)
ของสหรัฐปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐมีหนี้อัน
เนื่องมาจากการกระทำข้างต้น 3 ล้านล้านดอลลาร์
เฉพาะดอกเบี้ยต้องจ่ายวันละ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือเท่ากับจ่าย 1 ล้านเหรียญต่อคนต่อวันและ
การจ่ายเงินคืนก็มาจากการพิมพ์กระดาษให้ซึ่งตราบเท่าที่มี
คนยอมรับก็ไม่เป็นปัญหา

(ปัจจุบันธนบัตรสหรัฐไหลเวียนอยู่ทั้งหมด
ประมาณ 760,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สองในสามไหลเวียนอยู่ในต่างประเทศ)

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 9/11
และการมีทุนมากคือสาเหตุที่ทำให้ช่วงเวลา 5-6 ปี ก่อน 2007
ผู้คนในสหรัฐกู้เงินผ่อนบ้านกันได้ง่ายดายเหลือเกิน
เกิดการเก็งกำไรจนเป็นฟองสบู่ราคาบ้าน
ยัดเยียดให้กู้ทั้งที่ไม่ปัญญาผ่อนส่ง
แต่ก็ไม่กลัวกันเพราะมั่นใจว่าราคาบ้านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
กำไรจากราคาบ้านจะคุ้มดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
นักค้าเงินทั้งหลายรื่นเริงกับความร้อนแรงของธุรกิจ mortgage
(จำนองอสังหาริมทรัพย์) โดยไม่กังวลว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตก

สาเหตุที่สองคือความโลภ ในธุรกิจ mortgage
ผู้ทำธุรกิจไม่ว่าธนาคารเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงิน
บริษัทประกันภัย วานิชธนกิจ ฯลฯ คิดประดิษฐ์
ตราสารไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้
หุ้นหรือ อนุพันธ์ (derivatives) ประหลาดๆ
ออกมากมายหลายตัวที่ไม่มีใครเข้าใจถึงผลกระทบ
หากว่ามันมีการผันผวนไปในทางลบตราสารเหล่านี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงและป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
วิธีการหนึ่งที่นิยมกันมากของผู้ค้าเงินก็คือ leveraging (การกู้เงินมาเพื่อต่อเงิน)
เครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือตราสารที่เรียกว่า CDS (credit-default swap)
ตราสารนี้บริษัทประกันใหญ่คือกลุ่ม AIG เป็นผู้ออกรายใหญ่ของโลก
การหาเงินก็ทำง่ายๆ ด้วยการขายตราสาร CDS นี้ให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ (ลงทุน)
เช่น A ซื้อหุ้นกู้ 10 ล้านเหรียญ จากวาณิชธนกิจ B และ A
กลัวว่าจะไม่ได้เงินต้นคืนก็มาซื้อ CDS มูลค่า 10 ล้านเหรียญจาก AIG
เพื่อให้แน่ใจว่ายังไงเสียหากผู้ขายหุ้นกู้ B ไม่จ่ายเงิน AIG ก็จะจ่ายแทนให้
นอกจากซื้อ CDS แล้ว A ก็ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีก CDS ของ AIG นี้
ก็จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกทีเพื่อให้แน่ใจว่า
มีปัญญาจ่าย 10 ล้านเหรียญให้ A หากมีปัญหาเกิดขึ้นปัญหาที่เกิดขึ้น
ก็คือหุ้นกู้ 10 ล้านเหรียญที่ออกโดยวาณิชธนกิจ B
ซึ่งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมก็คือธุรกิจจำนองบ้าน
โดย B ดำเนินการด้วยการซื้อหนี้การจำนองบ้านมาอีกที
กล่าวคือจ่ายเงินให้สถาบันให้กู้ซื้อบ้านแต่แรกและ B เอามาเป็นธุรกิจของตน
(ถ้าคนผ่อนบ้านหมดปัญญาผ่อน B ก็ยึดบ้านมาเป็นทรัพย์สินของตนเอง
และตราบใดที่ผ่อนได้ก็ยังได้รายได้มาด้วย) วาณิชธนกิจ B
ก็เอาหลักทรัพย์หนุนการจำนองบ้านหลายหลังที่ซื้อมาเหล่านี้มารวมกัน
และจัดเป็นหลักทรัพย์
(ดังที่เรียกว่า securitization)
ค้ำประกันหนี้ที่ออกให้ A กู้ 10 ล้านเหรียญวาณิชธนกิจ 5 บริษัทใหญ่
คือ Bear Sterns/ Merrill Lynch/ Lehman Brothers/ Goldman
Sachs/ Morgan Stanley ทำธุรกิจเช่นนี้
(ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกรรมทำเงินของบริษัท)
โดยขาดการควบคุมเข้มงวดจากรัฐเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป
ที่มีแหล่งเงินทุนจากเงินฝาก
ในขณะที่วาณิชธนกิจอยู่ได้ด้วยการกู้เงินมาต่อเงิน
เมื่อทุกอย่างสะดุด กู้เงินอีกก็ไม่ได้ หุ้นก็ตก (ถึงกู้ได้ก็แพงกว่าเก่า)
ก็ขาดสภาพคล่องซึ่งเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจ
ถ้าไม่มีใครเอาเงินมาช่วยใส่ให้ ม่านก็ต้องปิดลง
หรือถ้าดีกว่าหน่อยก็ถูกเทกโอเวอร์ปัญหาที่ทำให้สะดุด

ก็คือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก
(เกิดขึ้นเมื่อไม่มี "คนโง่" คนถัดไปที่จะมาซื้อบ้านโดยมั่นใจ
ว่าจะขายได้ในราคาสูงกว่าที่ซื้อมา)

เมื่อผู้บริโภคไม่มีปัญญาผ่อนบ้าน บ้านถูกยึด
บ้านเหล่านี้ก็เข้าสู่ตลาด
ยิ่งทำให้ราคาบ้านตกยิ่งขึ้น
ดังนั้น มันก็ไล่พังกันเป็นลำดับ
หุ้นกู้ที่ออกโดย B ก็มีมูลค่าลดลงหรือว่าเป็นศูนย์
(เพราะมีโอกาสไม่ได้เงินกู้คืน)
บริษัท B มีรายได้ลดลง ราคาหุ้นก็ตก
หาเงินกู้เพิ่มได้ยาก
สำหรับ AIG ก็ต้องจ่ายเงินประกันกันหัวโต
ราคาหุ้นบริษัทก็ลดลง
ต้องหาเงินมาชดใช้สัญญาหลากหลายประเภทที่ถูกบอกเลิก
ต้องหาเงินกู้เพื่อมาจ่ายเงินประกันด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
แถมหลักทรัพย์ค้ำประกัน CDS เดิมก็มีมูลค่าลดลง
เพราะอาจเป็นหุ้นกู้ที่ตนเองซื้อมาจากบริษัททำธุรกิจ mortgage
รายอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายกันซึ่งหมายความว่าต้องหาเงินทุนมาค้ำประกัน CDS
เพิ่มเติมทั้งหมดนี้ว่ากันอีนุงตุงนังพันกันเพราะไม่รู้ว่าใครซื้อใครไว้มากน้อยแค่ไหน
รู้แต่ว่ามันพิงกันอยู่ หากปล่อยให้รายใหญ่เช่น AIG ล้มไป
ก็อาจเกิดผลกระทบกว้างไกลได้

สาเหตุที่สาม ความไม่รู้และงมงายของคนซื้อตราสารใหม่ๆ (ลงทุน)
เพราะให้ผลตอบแทนสูงและดูปลอดภัย
ปัจจุบันนวัตกรรมตราสารมีพิสดารกว่านี้มากมาย
(เช่น เอาไปผูกไว้กับดัชนีหุ้น ดัชนีน้ำฝน ราคาน้ำมัน ฯลฯ
เพื่อประกันความเสี่ยง) อย่างไม่เข้าใจท่องแท้

ดูแต่การให้อันดับของ S & P หรือ moody
ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็ให้อันดับแบบที่เรียกได้ว่า "มั่วพอควร"
(ไม่กี่วันก่อนหน้าวิกฤต อันดับของหลายบริษัทก็ยังไม่น่าเป็นห่วง)
คน Wall Street ผูกพันกับวาณิชธนกิจมายาวนาน
พึ่งพาอาศัยกัน และทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยงก็ยังบอกคนนอกว่าไม่เสี่ยงมาก
(Warren Buffet เคยเตือนมานานแล้วว่าตราสารใหม่ๆ
ที่ซับซ้อนนี้วันหนึ่งจะเป็น financial weapon of mass destruction)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า leveraging (เงินกู้เพื่อมาต่อเงิน)
ความไม่รู้จริง ความโลภ การอยู่ "เกินตัว"
(ผ่อนบ้านหลังใหญ่เกินตัวและใช้จ่ายสนุกจนมีเงินไม่พอผ่อนบ้าน)
คือจุดจบบางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่มีใครออกมาเตือนก่อนหน้านี้
ความจริงก็คือก็มีเหมือนกัน แต่ความโลภมันบังตาก่อนฟองสบู่แตกเสมอ
ที่เราเห็นกันชัดตอนนี้ก็เพราะ "ทุกคนฉลาดเมื่อมองอดีต"
ทั้งนั้นแหละครับ
หน้า 6