Custom Search

Oct 5, 2008

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของคุณภาพการศึกษา

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายวัน
วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11149

การปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ของวาระแห่งชาติของ
เกือบทุกประเทศในโลก
รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ทุ่มเงินรวมกันมหาศาล
ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านๆเหรียญสหรัฐ
สำหรับการศึกษาในปี 2006 นอกจากนี้ยังพยายาม
ยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ
แต่ก็น่าประหลาดใจที่คุณภาพการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้น
แต่ละประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันมาก
มันน่าจะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างของคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน
ได้แก่สถิติที่ว่าต่ำกว่าร้อยละ 1 ของเด็กในแอฟริกาและตะวันออกกลาง
มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าสัมฤทธิผล
โดยเฉลี่ยของเด็กสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ใช้จ่ายเงินสำหรับการศึกษาใน
ชั้นประถมศึกษาต่ำกว่า 27 ประเทศในสมาชิก 30 ประเทศ ของกลุ่ม OECD


Mckinsey & Company
ได้ทำงานวิจัยระหว่างพฤษภาคม 2006 ถึงมีนาคม 2007
เพื่อค้นหาว่าเหตุใดบางระบบการศึกษาในโลก
จึงประสบความสำเร็จอย่างอยู่เหนือระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ
อย่างไม่อาจเทียบกันได้
ข้อเขียนในวันนี้ขอสรุปสิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ค้นพบ
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากผลการสอบของเยาวชนวัย 15 ปี
ในภาษาของตนเองโดยทดสอบความสามารถในการอ่าน ความรู้ด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสอบที่จัดโดย OECD
และมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมสอบด้วย มีชื่อดังที่รู้จักกันว่า PISA
(OECD"s Programme for International Student Assessment)
งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกว่าร้อยคน
อีกทั้งไปเยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆ จำนวนมากในทุกทวีปงานศึกษาพบว่ามีอยู่ 3 สิ่ง
ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นระบบการศึกษาชั้นยอด
ซึ่งได้แก่
(ก) หาคนที่เหมาะสมมาเป็นครู
(ข) พัฒนาครูเหล่านี้ให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ
(ค) สร้างระบบการศึกษาที่มั่นใจได้ว่าสามารถให้การสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
แก่เด็กทุกคน
ผู้ศึกษาพบว่าทั้ง 3 สิ่งนี้


เป็นจริงสำหรับทุกวัฒนธรรม สามารถช่วยให้เกิดพัฒนาการให้ด้านคุณภาพอย่างเห็นผล
ในระยะเวลาสั้นและสามารถช่วยแก้ไขระบบการศึกษาที่ล้มเหลวได้


ในประเด็นแรกคือหาคนที่เหมาะสมมาเป็นครูนั้น
รายงานระบุว่า "คุณภาพของระบบการศึกษาหนึ่งจะไม่มีวันสูงไป
กว่าคุณภาพของครูของระบบการศึกษานั้นไปได้"
(The quality of an education system cannot exceed
the quality of its teachers)
"คุณภาพของครู" คือหัวใจของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ
ถ้าครูไม่มีคุณภาพการศึกษาก็ไม่มีคุณภาพ
ประเทศตัวอย่างที่รายงานนี้ระบุและผู้เขียนเองเคย
ไปดูด้วยตาตนเองก็คือ
ฟินแลนด์ เด็กในประเทศนี้จะไม่เรียนหนังสือ
จนกว่าอายุ 7 ขวบ
เรียนหนังสือวันละ 4-5 ชั่วโมง
ตลอด 2 ปีแรกที่เข้าโรงเรียน
แต่พอถึงอายุ 15 ปี เด็กฟินแลนด์สอบ PISA
ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดของโลก
ในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน
และการคิดแก้ไขปัญหาในฟินแลนด์ผู้ที่จะเป็นครู
ได้ต้องสอบแข่งขันผ่านการคัดกรองมาอย่างดี
ได้รับรายได้สูงกว่าหรือทัดเทียมวิศวกร
ปีหนึ่งทำงาน 9 เดือน แต่ได้รับเงินเดือนเต็ม 12 เดือน
แม้แต่ชั้นประถมศึกษาครูทุกคนต้องจบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาโท
ห้องหนึ่งจะมีนักเรียนประมาณ 15-20 คน
ในบางวิชาจะใช้ครู 2 คนช่วยกันดูแลการเขียนหรือ
ทำแบบฝึกหัดของนักเรียนระบบการศึกษาชั้นยอดของโลกเช่น
ฟินแลนด์ได้คนที่มีคะแนนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ แรกของผู้เรียนจบมาเป็นครู
เกาหลีใต้ได้คนจบ 5 เปอร์เซ็นต์แรก สิงคโปร์และฮ่องกง
ได้คนจบ 30 เปอร์เซ็นต์แรก ฯลฯ


ประเทศเหล่านี้ "หมายหัว" คนเรียนเก่งและมีความเหมาะสมในด้านต่างๆ
เช่น อุดมการณ์ อุปนิสัยใจคอ อารมณ์ จริยธรรม ฯลฯ
รายงานอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งว่า
"คนๆ หนึ่งไม่สามารถให้ (ความรู้) ในสิ่งที่เขาไม่มี (ความรู้) ได้"
(One cannot give what one does not have.)


ประเด็นที่สอง "สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน"
นั้นสำคัญที่สุดถ้าต้องการสร้างคุณภาพการศึกษา
ถึงแม้จะได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครูแล้วก็ต้องมีการฝึกฝนให้เป็นผู้สอน
ที่มีประสิทธิภาพด้วยรายงานระบุว่า
ไม่ว่าจะมีหลักสูตรที่เป็นเลิศ มีอาคารโรงเรียนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเลิศ
หรือมีนโยบายการศึกษาที่เป็นเลิศเพียงใดก็ตามที
หากไม่มีครูที่ทุ่มเทให้การสอน
ไม่เป็นครูที่มีความสามารถในการถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
คุณภาพการศึกษาไม่มีวันดีขึ้นได้เลย ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายอยู่ทั่วโลก
"สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน" เกิดขึ้นได้จากการทำให้ครูได้เป็นครูอย่างแท้จริง
ครูได้รับผลตอบแทนเพียงพอ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทุ่มเทให้นักเรียน
ครูมีเวลาเพียงพอต่อการเตรียมตัวสอน สอนอย่างมีคุณภาพ
และได้รับรางวัลตอบแทนจากการเป็นครูผู้สอน
ไม่ใช่จากการเป็นครูผู้บริหารเพียงอย่างเดียว


ประเด็นที่สาม สร้างระบบการศึกษาที่แน่ใจได้ว่า
สามารถให้การสอนที่ดีที่สุดแก่เด็กทุกคนอย่างเสมอหน้า
"ความทั่วถึงของคุณภาพการศึกษาแก่เด็กทุกคน"
เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของระบบการศึกษา
ในสังคมประชาธิปไตยเด็กทุกคนต้องได้รับ
คุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน
ในบางประเทศเช่น ฟินแลนด์กฎหมายห้ามมิให้แบ่งเด็ก
ที่มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่างกันไว้คนละห้อง
ห้องเรียนจะต้องคละกันทั้งเด็กเก่งและไม่เก่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษา
ที่มีคุณภาพดีที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน
การแบ่งเด็กอาจทำให้เด็กห้องไม่เก่งถูกละเลยทอดทิ้งได้
ระบบการศึกษาที่ทำให้แน่ใจได้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเท่านั้น
จึงจะเอื้อให้เกิดคุณภาพขึ้นได้กล่าว


โดยสรุป คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสามสิ่งเกิดขึ้นด้วยกัน
ทั้งสามสิ่งนี้แขวนอยู่กับการ
ได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครู การพัฒนาครู
และเด็กทุกคนได้รับการสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เสมอหน้ากัน
รายงาน Mckinsey ยืนยันว่า
"คุณภาพของการศึกษาของโรงเรียนใดก็ตามโดยแท้จริงแล้วก็คือ
ผลรวมของคุณภาพการสอนที่ครูทั้งหมดของโรงเรียนนั้นมอบให้แก่นักเรียน"