Custom Search

Dec 25, 2010

ความทรงจำที่ไม่มีวันตายของ"หนุ่มเมืองจันท์"


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2553


http://www.facebook.com/home.php?#!/boycitychanFC


ในหนังสือ "ป๋า ในความทรงจำ" ที่แจกในงานสวดอภิธรรม
"ส.ต.ต.สันติ อดุลยานนท์" ในค่ำวันสุดท้าย 5 มิถุนายน
ณ วัดเขาแก้ว อ.เมือง จ.จันทบุรี
มีข้อเขียนหลายชิ้นที่บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับป๋า

หนึ่ง ในนั้น คือ ความทรงจำของ"หนุ่มเมืองจันท์"
คอลัมนิสต์ยอดนิยมแห่งมติชนสุดสัปดาห์

ตอนหนึ่ง หนุ่มเมืองจันท์ เขียนเรื่อง
ความภาคภูมิใจ ...ตลอดเวลาผมนึกว่า
"ความภาคภูมิใจ" ที่สุดในชีวิต "ป๋า" คือสวนผลไม้

สวนที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน
จนกลายเป็น "ลูกคนที่7" ของ "ป๋า"
แต่ในงานแซยิดครบปีที่ 84 ที่จัดช้ากว่ากำหนดเพราะ
"ป๋า" ล้มเจ็บเสียก่อน "เต้ย" ทำซีดีพิเศษ

"ป๋า" 84 ปี แห่งความรักและความภาคภูมิใจ
สัมภาษณ์ "ป๋า" และ "ลูก" ทั้ง 6 คน
ซีดีแผ่นนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าผมเข้าใจผิดมาโดยตลอด
"เต้ย" ถามว่า "84 ปีที่ผ่านมา ′ป๋า′ ภูมิใจอะไรมากที่สุด"
ทุกคนนึกว่า "ป๋า" จะตอบว่า" สวน"
ลูกคนที่ 7 ของ" ป๋า"
แต่คำตอบที่ได้กลับเหนือควาคาดหมาย
"ป๋า" ไม่หยุดคิดแม้แต่นิดเดียวเมื่อได้ยินคำถาม
"ป๋า" ตอบทันที
"ภูมิใจที่ส่งลูกเรียนจบ
ได้ปริญญาทุกคน
ทุกคนมีบ้าน มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง"

คนในโลกนี้ต่างใส่"หมวก"หลายใบ
มีทั้ง"หมวก"ของความเป็น "เจ้านาย"
"หมวก"ของความเป็นเจ้าของ
หรือ "หมวก" ของความเป็น"พ่อ"
แต่ละคนนั้นให้น้ำหนักของ"หมวก"แต่ละใบต่างกัน
สำหรับ"ป๋า"เขาเลือกให้ความสำคัญ
กับความเป็น"พ่อ"มากที่สุด
"ลูก"กลายเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของชีวิต"ป๋า"

และที่สำคัญ"ป๋า"ไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้ลูกไว้สูงสุด
ขอเพียงแค่เรียนจบ
มีงานทำ
มีบ้านอยู่
แค่นั้นเองสำหรับ"ป๋า"
"ป๋า"มีลูก6 คน

"จิ๋ม" ทรงศรี จริตงาม,
"โต้ง" สุปรีดา อดุลยานนท์,
"ต่อ" อลงกรณ์ อดุลยานนท์,
"ตุ้ม" สรกล อดุลยานนท์,
"เต้ย" สกลชัย อดุลยานนท์,
"จอย" มนทิพย์ รัชตวิจิน

"เต้ย" สัมภาษณ์พี่น้องทั้งหมดให้พูดถึง "ป๋า" ในความทรงจำ
"เจ๊" เล่าถึงความรักของ
" ป๋า" ที่รักและเอาใจใส่ลูกทุกคนเป็นอย่างดี

ทุกคืนจะต้องเดินดูลูกทุกคนว่าถีบผ้าห่มออกหรือเปล่า
"จอย" บอกว่าเมื่อวันที่ทีลูกจึงรู้ว่า
"ป๋า" และ "แม่" เก่งมากที่เลี้ยงลูกได้ถึง 6 คน

"เหียโต้ง" บอกว่า
การเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้เป็นคนดีก็ยากแล้ว

แต่"ป๋า"สามารถเลี้ยงลูกทั้ง 6 คนให้เป็น"คนดี"ได้
ต้องถือว่า "เก่งมาก"
ในบ้านนี้ทุกคนเป็นคนรักการอ่านก็เพราะ "ป๋า"
ที่บ้านผมรับหนังสือพิมพ์รายวัน 1-2 ฉบับทุกวัน
หนังสือรายสัปดาห์และรายเดือนก็มีให้อ่านมากมาย
ตั้งแต่ บางกอก ทานตะวัน จนถึงสกุลไทย
ตระกูล "ฟ้า" ของ "อาจินต์ ปัญจพรรค์"
ไม่ว่าจะเป็นฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี ฯลฯ
"ป๋า" ก็เป็นแฟนประจำ

ไม่เว้นแม้กระทั่ง "มติชนสุดสัปดาห์"
ที่รับเป็นประจำตั้งแต่ฉบับแรกถึงวันนี้

เลี้ยงลูกด้วย"หนังสือ"
จนลำตัวของลูกเริ่มเป็นปล้องๆคล้าย"หนอน"

"ป๋า" ไม่เคยสอนลูกด้วย"ปาก"
แต่สอนด้วย"การกระทำ"
"พี่ต่อ" กับ"จอย" จะภูมิใจในตัวป๋า
ที่ให้ความเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวลูก

"พี่ต่อ"เคยเล่นดนตรี
ตามร้านอาหารตอนกลางคืนตั้งแต่เป็นนักเรียน

แม้ว่าจะเป็นสถานที่อโคจรแต่
"ป๋า" ก็มั่นใจว่า "พี่ต่อ" ไม่ทำตัวเหลวไหล

ส่วน "จอย" เป็นเด็กหญิงชั้นมัธยมต้น
เล่นวงดนตรีไทยของโรงเรียน
และมีงานต่างจังหวัดเป็นประจำ

ซึ่งยุคนั้นไม่ค่อยมีใครปล่อยเด็กผู้หญิงไป
แต่"ป๋า" ก็อนุญาต
ยิ่ง"ป๋า"ให้ความ"เชื่อมั่น"กับ
"ลูก" มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ลูกเกรงใจ

"ความเกรงใจ" นี้เองเป็น"กำแพง"
ที่ดีทำให้ไม่มีใครออกนอกลู่นอกทาง

ทุกคนกลัวจะทำให้"ป๋า"เสียใจ
สำหรับ"ผม"ความประทับใจในตัว"ป๋า"
ก็คือ เรื่องการให้อิสระทางความคิดกับ "ลูก"

คิดดูสิครับ "ป๋า" รักการทำสวนมากแค่ไหน
แต่ลูก 6 คนไม่มีใครเรียนด้านเกษตรเลย
ทั้งที่"ป๋า" อยากให้เรียน
"ป๋า" จะพูดเรื่องนี้ทุกครั้ง
ตอนที่ลูกเลือกคณะช่วงสอบเอนทรานซ์

แต่ไม่เคยบังคับแม้แต่ครั้งเดียว
ใครอยากเรียนอะไรก็เลือกได้ตามความสมัครใจ
"เต้ย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการในซีดีไม่พูดอะไรมาก
แต่สรุปความสั้นๆว่า
ความสำเร็จในวันนี้ต้องมี "จุดเริ่มต้น"

และจุดเริ่มต้นของตระกูล "อดุลยานนท์"
คือ "ป๋า"
ไม่ใช่แค่เป็น "จุดเร่มต้น" เพราะเป็นคนแรกที่ตั้งนามสกุลนี้
แต่ "ป๋า" เป็น "ต้นแบบ" ที่ดี
ที่ลูกทุกคนยึดถือ
งานเลี้ยงแซยิดในวันนั้นเป็นงานนรวมญาติครั้งใหญ่

ทุกคนถ่ายรูปร่วมกับ "ป๋า"
ฉายซีดีที่ "เต้ย" เป็นผู้อำนวยการผลิตให้ป๋าดู
"ป๋า" มีความสุขมาก
ยิ้มแย้มมากกว่าทุกวัน
"ป๋า"ลงมาพักที่ "ห้องใหม่" ชั้นล่าง
การปรับปรุงบ้านใหม่ครั้งนี้ทำให้ชั้นล่างน่าอยู่มากขึ้น
"ป๋า" ดูมีความสุขกับห้องใหม่ที่ใกล้สวนด้านหลังบ้าน
และเริ่มบ่นว่าห้องข้างบนที่ "ป๋า" เคยอยู่ว่างแล้ว
เวลาลูกกลับจันท์ก็มานอนที่บ้านได้แล้ว
แต่ลูกๆก็ยังไม่นอน เพราะห้องข้างบนคับแคบไปหน่อย
ช่วงนั้นสุขภาพของ "ป๋า" ไม่ดีเลย
ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา
จากนั้นไม่นาน "ป๋า" ก็เข้าโรงพยาบาล
ปักหลักวนเวียนระหว่างห้องไอซียู กับห้องพิเศษ
ลูกๆที่มาเยี่ยมเยียนก็เริ่มยึดห้องใหม่ของ "ป๋า" เป็นที่พัก
ผมคิดขำ-ขำในใจว่าสงสัยเป็นอุบายของ "ป๋า"
อยากให้ลูกๆมานอนบ้าน
ก็เลยแกล้งป่วยเข้าโรงพยาบาล
แต่...
แต่ทำไมครั้งนี้ "ป๋า" แกล้งนานจัง
ขณะที่ " ตุ้ม" สรกล อดุลยานนท์
เขียน ความทรงจำ เกี่ยวกับป๋า สั้นๆ ว่า ป๋า

"ป๋า" เป็นนักสู้ด้วยการกระทำ
สู้ไปเรื่อยๆ สู้แบบไม่ยอมแพ้
"ป๋า" ไม่ใช่ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะไม่เคยแพ้
"ป๋า" ไม่เคยถือว่า การตัดสินใจผิดพลาด
ในบางครั้ง มรสุมชีวิตที่กระหน่ำใส่ในบางครา

คือ ความหมายของคำว่า"แพ้"
ทุกมรสุมชีวิตที่ผ่านมา มันเป็นเพียงการหกล้ม
เมื่อล้มแล้วก็ต้องลุก
ลุกขึ้นมาแล้วก็เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

แค่นั้นเอง
....................
ป๋าทำให้ตุ้ม ได้รู้จัดความหมายของคำว่า"ต้นไม้" เป็นอย่างดี
"ต้นไม้"ที่พร้อมสละกิ่งก้าน
เพื่อเป็นปุ๋ยให้กับแผ่นดิน "ต้นไม้ "
ที่เป็นร่มเงา ให้กับ ชีวิตใหม่ ได้เติบโต ขึ้นอย่างแข็งแรง

ไม่อยากบอกว่า "รักป๋า"
แต่ภาษาไทยยังหาคำที่มากมายเหนือกว่าคำว่า "รัก" ไม่ได้
ถ้า"ป๋า"คิดได้ ช่วยตะโกนบอกลงมาจากฟากฟ้าด้วยครับ
ตุ้มจะพูดใหม่ อีกครั้ง
"อดุลยานนท์" อีกคนที่บันทึกความทรงจำ
เกี่ยวกับป๋า ได้อย่างลึกซึ้งคือ สุปรียา หรือ โต้ง

ที่เขียนว่า " ฝาโลงสักทองปิดลง
ปิดบังร่างของชายที่ผมรู้จัก ผูกพันมาตั้งแต่เกิด

ให้ไม่ได้พบเห็นและสัมผัสอีกแล้ว
อีกไม่นานโลกใบนี้ก็จะถูกฝังลึกลง
ไปใต้ผืนดินของสวนอันเป็นที่รักของเจ้าของร่าง

แต่ลึกลงไปในใจแล้ว
ผมและพี่น้องทุกคนรู้ดีว่า
ป๋า ไม่ได้ จากลับหายไปไหน
แต่ยังคงฝังลึกอยู่ในกาย ในใจ ในจิต

วิญญาณของพวกเราเสมอ และตลอดไป .