Custom Search

Oct 11, 2008

คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธรรม 10 คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
มติชน
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งคือ คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
อันนับเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ว่ากันว่าชีวิตคนเรานั้น มีอยู่ชั่วขณะจิตเดียว ไม่ได้ยืนยาวอะไรดังที่เราหลงเข้าใจกัน
อ้าวไม่ได้พูดเล่นนะครับ พระท่านว่า คนเราเกิดแล้วตาย
เกิดแล้วตายสืบต่อเนื่องกันไปทุกขณะจิต
ระยะเวลาระหว่างเกิดไปถึงตายนั้น กินเวลาชั่วขณะจิตเดียว
อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ชีวิตมีอยู่ชั่วขณะจิตเดียวอย่างไรได้

จริงไหมทั้งๆ ที่คนเราตายวันละไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน แต่ที่ไม่ตายจริงๆ ยังดำรงอยู่ได้นั้น
ก็เพราะเมื่อมันตายแล้ว มันเกิดใหม่ทันที "ความถี่" มันสูง มันติดต่อเป็นกระแสเดียว
มันก็เลยดูเสมือนไม่มีเกิดไม่มีตาย ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้
ท่านยกตัวอย่างเหมือนเปลวไฟที่ลุกไหม้อยู่ต่อหน้าเรา
(สมมุติว่าเราก่อกองไฟผิงในยามหนาว แหมยกบรรยากาศ "คันทรี" เชียว)

เรานึกว่ามันเป็นเปลวเดียวแท้ที่จริงแล้วมันไม่รู้กี่เปลวต่อกี่เปลว ลุกแล้วดับ ลุกแล้วดับ
อยู่อย่างนั้น ที่สายตาเราเห็นเป็นเปลวเดียวก็เพราะความถี่ของเปลวที่ลุกดับนั้นมันสูงมาก
ฉันใดก็ฉันนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วจะไม่กังขาเลย
เมื่อพระท่านว่าคนเรานั้นเวียนว่ายตายเกิด วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นพันชาติ
ภายในวันเดียวท่านหมายเอาการเกิดและตายชั่วขณะจิตนี้เอง
และเมื่อเราเข้าใจการตายเกิดแบบนี้
เราก็จะเข้าใจถึงหลัก "อนัตตา" คือภาวะที่ไร้ตัวตน
คือเข้าใจว่าเมื่อมันเกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ตลอด แล้วมันจะหา "ตัวตน" ได้ที่ไหน
ไอ้ที่เราเรียกกันว่า "ตัวตน" (แขกว่า อาตมัน, วิญญาณ, ฝรั่งว่าโซล) นั้น
เรา "นึก" ว่ามันมีเท่านั้นเอง
แท้ที่จริงมันไม่มีพูดมาถึงตรงนี้บางท่านอาจแย้งว่า
แล้วที่ว่าเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดในแง่ที่ตายจากโลกนี้แล้วเกิดในชาติหน้าก็ไม่มีละสิ
ขอตอบว่า มีการตายและการเกิดชนิดที่ข้ามภพข้ามชาติอย่างนี้
พระพุทธศาสนาก็สอนไว้ เพียงแต่ว่าไม่ได้สอนว่าร่างกายตายแล้ว "ตัวตน"
หรือ "วิญญาณ" มันไม่ตายด้วย มันออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ ไม่ได้สอนแบบนี้
เพราะ "วิญญาณ"ในทรรศนะพระพุทธศาสนามิใช่สิ่งที่เป็นอมตะดังที่เราเข้าใจ
มันก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา
มันเองก็หาตัวตนมิได้และเวลาที่นาย ก. ตายไปเกิดเป็นนาย ข. มิใช่ว่านาย ก.
(วิญญาณของนาย ก.) เป็นอมตะ ละร่างเก่ามาสิงร่างใหม่
ดุจดังคนถอดเสื้อตัวเก่า มาใส่เสื้อตัวใหม่ อะไรทำนองนั้น
มันเป็นเพียงการสืบเนื่องระหว่าง นาย ก. กับ นาย ข.นาย ข. สืบเนื่องมาจาก
นาย ก. มิใช่คนเดียวกัน และมิใช่คนละคนเอ๊ะ พูดยังไง ไม่รู้ฟัง รู้สิครับ
ถ้าคิดให้ลึกในอดีตพระเถระนามว่า นาคเสน ได้วิสัชนาให้พระยามิลินท์ (กษัตริย์กรีก)
เมื่อประมาณ พ.ศ.600 ฟังโดยยกอุปมาอุปไมยมาแถลงว่าสมมุติว่า นายเบื๊อก
(นามสมมุติ ผมสมมุติเอง) เอาเมล็ดมะม่วงเพาะไว้
ต่อมามันก็งอกขึ้นเป็นลำต้นใหญ่ให้ดอกให้ผล นายบ๊อง (สมมุติอีกครับ)
แกย่องไปขโมยผลมะม่วงไปกินผลหนึ่งถูกจับได้ นายบ๊องก็แก้ตัวว่า
เขามิได้ขโมยมะม่วงของนายเบื๊อกนายเบื๊อกบอกว่า
มะม่วงนี้เป็นของเขา เพราะเป็นคนปลูกมันไว้ นายบ๊องเถียงว่า
เมล็ดที่นายเบื๊อกปลูกนั้นมันคนละเมล็ดกับมะม่วงผลที่เขาเอาไป
จะหาว่าเขาขโมยมะม่วงของตนได้อย่างไรพระนาคเสนหันมาถามพระยามิลินท์ว่า
คำแก้ตัวของนายขี้ขโมยนั้นฟังขึ้นหรือไม่ พระยามิลินท์ตอบว่า ฟังไม่ขึ้น
ก็ผลที่เขาขโมยก็สืบเนื่องมาจากเมล็ดที่เจ้าของเขาปลูกไว้นั้นเอง
พูดให้เป็นปรัชญาก็ว่ามะม่วงผลนั้นกับเมล็ดที่เขาปลูกไว้
จะว่าเป็นเมล็ดเดียวกันก็ไม่ใช่ คนละเมล็ดก็ไม่เชิง
เมื่อเข้าใจการตายเกิดแบบนี้แล้ว จะไม่มีข้อกังขาว่า
นาย ก. ทำกรรมไว้ในชาติก่อน
ทำไม นาย ข. ในชาตินี้จึงต้องมารับผลกรรม
ทั้งๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร
ถ้าเข้าใจแล้วก็ร้องได้คำเดียวอย่างที่อดีตนายกฯ นักซิ่งชอบพูดบ่อยๆว่า
"ไม่มีปัญหา"
ผมก็ฝอยมาเสียยืดยาวเพียงแต่จะบอกว่าชีวิตเรานั้นสั้นนิดเดียว
เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จัก "อยู่กับชีวิต" อันสั้นนี้ให้คุ้มค่า
การจะอยู่กับชีวิตอย่างคุ้มค่า หรือรู้จักมีชีวิตอยู่อย่างคุ้มค่าก็คือ
อยู่ปัจจุบันคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
ท่านผู้รู้ได้อธิบายความหมายของการคิดแบบอยู่ในปัจจุบันไว้ลึกซึ้งมาก
ขอนำมาถ่ายทอดดังนี้
(ต้องอ่านอย่างพินิจพิจารณาหน่อยนะครับ จึงจะแจ่มแจ้ง
ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ
เกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ก็คือ การที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน
หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ โดยเห็นไปว่า
พระพุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า กำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น
ไม่ให้คิดพิจารณาเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต ตลอดจนไม่ให้คิดเตรียมการหรือวางแผนงาน
เพื่อกาลภายหน้า เมื่อเข้าใจผิดแล้ว
ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติผิดจากหลักพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นบุคคลภายนอกมองเข้ามา
ก็เลยเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดจากความเป็นจริง
กล่าวโดยสรุป ความหมายที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับปัจจุบัน อดีต และอนาคต
สำหรับการใช้ความคิดแบบที่ 9 นี้มีดังนี้
ลักษณะสำคัญของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คือ ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น
หรือพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ว่า ตกอยู่ในอำนาจอารมณ์
โดยมีอาการหวนละห้อยโหยหา อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
เพราะความเกาะติดหรือค้างคาในรูปใดรูปหนึ่ง
หรือเคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่ฝันเพ้อปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานแห่งความเป็นจริง
ในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพที่ประสบอยู่
ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบันส่วนความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มีลักษณะที่พูดสั้นๆ ได้ว่าเป็นการคิดในแนวทางของความรู้
ความคิดด้วยอำนาจปัญญาถ้าคิดในแนวทางของความรู้หรือคิดด้วยอำนาจปัญญาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้ว
หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น
ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ความรู้ การคิด การพิจารณาด้วยปัญญาเกี่ยวกับเรื่องอดีตปัจจุบัน
หรืออนาคตก็ตาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และมีความสำคัญตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในทุกระดับว่า
โดยความหมายทางธรรมนั้น การฝึกอบรมทางจิตใจ
ที่แท้จริง คำว่าอดีต ปัจจุบันและอนาคต
ก็ไม่ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่าปัจจุบัน ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
มักครอบคลุมกาลเวลาช่วงกว้างที่ไม่ชัดเจน
ส่วนในทางธรรม เมื่อว่าถึงการปฏิบัติทางจิตปัจจุบันหมายถึง
ขณะเดียวที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอยู่ ในความหมายที่ลึกซึ้งนี้เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หมายถึงมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้ เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ในเวลานั้นๆ แต่ละขณะทุกๆ ขณะ
ถ้าจิตรับรู้สิ่งใดแล้วเกิดความชอบใจ หรือไม่ชอบใจขึ้น
คิดข้องวนเวียนอยู่กับภาพของสิ่งนั้นที่สร้างขึ้นในใจก็เป็นอันตกไปอยู่ในอดีต
ตามไม่ทันหลุดหลงไปจากขณะปัจจุบันแล้ว
หรือจิตหลุดลอยจากขณะปัจจุบันเกาะเกี่ยวกับภาพสิ่งที่ยังไม่มา
ก็เป็นอันฟุ้งไปในอนาคต
โดยนัยนี้แม้แต่อดีตและอนาคตตามความหมายทางธรรม
ก็อาจยังอยู่ในขอบเขตแห่งเวลาปัจจุบัน
ตามความหมายของคนทั่วไปตามเนื้อความที่กล่าวมาแล้วนี้
จะมองเห็นความหมายสำคัญแง่หนึ่งของคำว่าปัจจุบันในทางธรรมว่า
มิใช่เพ่งเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกภายนอกแท้ทีเดียว
แต่หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นๆ เป็นสำคัญ
ดังนั้น มองอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ตามความหมายของคนทั่วไปว่า เป็นอดีต หรือเป็นอนาคต
ก็อาจกลายเป็นปัจจุบันตามความหมายทางธรรมได้เช่นเดียวกับที่ปัจจุบันของคนทั่วไป อาจกลายเป็นอดีต หรืออนาคต
ตามความหมายทางธรรมดังได้กล่าวมาแล้วสรุป
ก็คือ การคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน มิได้หมายถึงว่าไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต
การนำอดีตมาเป็นบทเรียนและวางแผนในอนาคต ด้วยสติ
ด้วยความรอบคอบนั้นแหละเรียกว่า คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
พระท่านจึงสอนว่า การจะอยู่ในปัจจุบันให้ได้ดี
จะต้องมีสติสัมปชัญญะกับการเคลื่อนไหวทุกอย่างและคนที่อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ
เป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพ และเป็นคนมีความสุขอีกต่างหากด้วย
หน้า 6