Custom Search

Dec 2, 2009

"เหลือง-แดง" แยกกันตามฐานะ?


วรากรณ์ สามโกเศศ

มติชน

วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2552


TDRI หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 เมื่ออาทิตย์ก่อน
ในหัวข้อ "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม"
ซึ่งได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจไว้มากมายในเรื่อง
"ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย"
อันเป็นผลมาจากการผูกขาดในเศรษฐกิจไทย
ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร
อำนาจหรือตลาดของบริษัทหลักทรัพย์สัมปทาน
การใช้อิทธิพลเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและป่าไม้
ตลอดจนมาตรการคลังเพื่อ
สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย ฯลฯ

ผู้เขียนได้ร่วมงานเป็นประธาน (ผู้ดำเนินการอภิปราย)
ในหัวข้อ "ทัศนะประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคม
เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม"
โดยมี ดร.สมชาย จิตสุชน และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง
จาก TDRI เป็นผู้นำเสนอผลการศึกษา
นักวิจัยทั้ง 2 ได้สำรวจทรรศนะของประชาชนทั่วประเทศ
และได้พบความจริงหลายข้ออย่างน่าสนใจยิ่ง
เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง
ฐานะทางเศรษฐกิจกับทรรศนะทางการเมือง
ตลอดจนการจัดการสวัสดิการสังคม
ตัวอย่างเช่น "กลุ่มวาทกรรมเสื้อแดงและเสื้อเหลืองมาจาก
ฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันหรือไม่?"
เพื่ออาจตอบโจทย์ในเรื่องการหาทางลดความขัดแย้งทางการเมือง
การจัดระบบสวัสดิการสังคมที่น่าจะมี
ฐานการเมืองสนับสนุนมากที่สุดคืออะไร ฯลฯ
ขอเริ่มที่การเก็บโพลของ TDRI ก่อน
นักวิจัยทั้งสองต้องการโพลที่เป็นตัวแทน
ของประชากรไทยทั้งประเทศอย่างแท้จริง
ดังนั้น จึงเก็บจาก 4,097 ครัวเรือนครอบคลุมทุกจังหวัด
ทั้งแถบเมืองและชนบท
โดยใช้หลักสถิติอย่างรัดกุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลโพลนั้นเชื่อถือได้
การสำรวจกระทำระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2552
โดยมีคำถามแนวลึกเกี่ยวกับลักษณะของครอบครัว
การศึกษาอาชีพของครัวเรือน รายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน
สถานที่อยู่อาศัย ทรรศนะต่อความเหลื่อมล้ำ
สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ
โดยอ้างอิงกับผลการสำรวจประชากรเกี่ยวกับรายได้
และหนี้สินของสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติ
สิ่งที่ผู้วิจัยระวังมากคือ การยัดเยียดคำตอบ
และความระแวงของผู้ตอบว่าจะมา "ล้วงตับ"
เรื่องความคิดทางการเมือง
ซึ่งจะทำให้ไม่ได้คำตอบที่สะท้อนทรรศนะที่เป็นจริง
ดังนั้น จึงใช้การรวมกลุ่มความเห็นเข้าด้วยกันเป็นคำตอบ
ผขสรุปผลการสำรวจโดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
(1) เมื่อถามว่าคนจนส่วนใหญ่ในบ้านเราจนเพราะอะไร
ร้อยละ 39.8 ตอบว่า เพราะเกิดมาจน ร้อยละ 16.7
ตอบว่าเพราะขี้เกียจไม่ขวนขวาย ร้อยละ 14.5
ตอบว่าไม่มีทุน อย่างละร้อยละ 9.2
ตอบว่าเรียนมาน้อยและขาดโอกาส ฯลฯ
เมื่อถามกลับกันว่าแล้วคนรวยส่วนใหญ่รวยเพราะอะไร
คำตอบร้อยละ 17.4 ระบุว่าเพราะเกิดมารวย
(ไม่ใช่กำปั้นทุบดินแต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ)
ร้อยละ 13 บอกว่าเพราะขยัน
ร้อยละ 11.1 ตอบว่ามีทุน ร้อยละ 5.5
บอกว่าเพราะมีการศึกษาสูง ฯลฯ
คำตอบแสดงให้เห็นว่าคนไทยเชื่อว่า
การรวยหรือจนนั้นเป็นผลมาจากการ "ตกทอด"
ซึ่งสื่อลักษณะของความถาวร และเมื่อดูความเห็นของคนรวยสุด
ไล่เรียงลงไปถึงจนสุด (สเกล 5 ถึง 1)
ก็มีความเห็นไม่แตกต่างกันมากนัก
ในเรื่องความจนนั้นเห็นเหมือนกันหมดว่า
การเกิดมาจนเป็นสาเหตุของความยากจนอันดับแรก
ในเรื่องความรวยเห็นตรงกันหมดทุกระดับฐานะว่า
การเกิดมารวยเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกของการเป็นคนรวย
ความขยันและมีทุนเป็นอันดับสองและสามที่ไล่มาใกล้เคียงกัน
(2) ในเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในเมือง
ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.3 ตอบว่าเป็นเรื่องน่าห่วงมาก
แต่ยังพอรับได้ ส่วนร้อยละ 34.4 ระบุว่ารับไม่ได้
ส่วนที่เหลือรวมกันไม่ห่วงมาก ดังนั้น
จึงเห็นได้ว่า 2 ใน 3 เห็นว่าช่องว่างนี้ยังเป็นสิ่งที่พอรับได้
เมื่อแยกดูตามฐานะ ก็พบว่าคนจนสุดเท่านั้นที่บอกว่า
รับไม่ได้โดยสูงกว่ากลุ่มที่บอกว่ารับได้
(ร้อยละ 40 กว่าเทียบกับร้อยละ 30)
ส่วนอีกสี่สเกลของฐานะรายได้
มีการพอรับได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าการรับไม่ได้
ข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้เรื่องช่องว่างของรายได้
เป็นเรื่องใหญ่มากและน่าเป็นห่วงของสังคมไทย
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่ายังเป็นสิ่งที่พอรับได้
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การแตกต่างของรายได้ยังไม่ได้เป็น "เชื้อไฟ"
ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม
(3) ในเรื่องการได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ
ร้อยละ 39 เห็นว่าทุกคนควรได้รับสวัสดิการของรัฐเท่าเทียมกัน
แต่คนจนควรได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มบางอย่าง
ร้อยละ 32.5 ระบุว่าทุกคนควรได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน
และอีกร้อยละ 21.4 เห็นว่าเฉพาะคนจนเท่านั้นที่
สมควรได้รับคำตอบนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทย
เกือบทั้งหมดที่มีเยื่อใยต่อผู้ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ
(4) สำหรับคำถามว่าถ้ารัฐบาลขึ้นภาษี
อยากให้เอาเงินไปทำอะไร ร้อยละ 23.7
ระบุว่าใช้เพื่อการศึกษาหรือฝึกอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงาน
(ทุกฐานะรายได้เห็นตรงกันโดยให้เป็นอันดับสำคัญสุด)
ร้อยละ 14.1 บอกว่าแก้ปัญหาหนี้สินคนจน
ร้อยละ 12.3 การรักษาพยาบาล ร้อยละ 10.6
ประกันราคาพืชผล ร้อยละ 11.5
ช่วยคนแก่ที่ยากจนและพิการ ร้อยละ 7.1
ควบคุมราคาสินค้า เช่น น้ำมัน ฯลฯ
การกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายไปก่อนของภาครัฐ
ดังที่ทำใน stimulus package (SP)
แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างไปจากการขึ้นภาษีในปัจจุบันและอนาคต
เพราะเงินที่ใช้คืนในที่สุดแล้วก็ต้องมาจากภาษีอากรที่เก็บเพิ่มขึ้น
ที่น่าสังเกตก็คือลักษณะของความต้องการสวัสดิการดังกล่าว
ดูจะตรงกับที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังทำอยู่ในแทบทุกเรื่อง
(5) เมื่อถามว่าปัญหาใดของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด
อันดับหนึ่ง ร้อยละ 23 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 17.8
ยาเสพติด ร้อยละ 16.9 ปัญหาความยากจน
ร้อยละ 13 ความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 8.8
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ร้อยละ 7.3 อาชญากรรม ร้อยละ 6.1
คอร์รัปชั่นโดยนักการเมือง ฯลฯ
คนมีฐานะในสเกล 4 และ 5
ให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสำคัญที่สุด
คนมีฐานะระดับ 1,2,3 (ค่อนไปทางยากจน)
ให้ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญควบคู่ไปกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
(6) ในเรื่องกิจกรรมทางการเมือง
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยกระทำอย่างสม่ำเสมอเป็นคำตอบสูงสุด
ร้อยละ 47.8 ติดตามข่าวการเมืองแต่ไม่บ่อย
ร้อยละ 26.3 ติดตามข่าวการเมืองอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับคำตอบในเรื่องการร่วมกิจกรรมโดยชุมนุม
เดินขบวน ประท้วง อย่างสม่ำเสมอนั้นมีอยู่ร้อยละ 0.6
และไม่บ่อยร้อยละ 1.2 ซึ่งหมายความว่า
มีจำนวนผู้อยู่ในกิจกรรมการเมืองนี้
ทั้งประเทศอย่างสม่ำเสมอประมาณ 300,000 คน
และกระทำอย่างไม่บ่อยประมาณ 600,000 คน
ประเด็นสุดท้าย เมื่อถามเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง
ร้อยละ 32.5 ระบุว่ามีสาเหตุจากนักการเมือง
และผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว
ร้อยละ 23 บอกว่าประชาชนแบ่งขั้วไม่ยอมกัน
ร้อยละ 11.1 บอกว่ารัฐบาลหรือนักการเมืองโกงมากเกินไป ฯลฯ
ผลการสำรวจสำคัญอันหนึ่งที่หามาได้อย่างแนบเนียนก็คือ
ไม่มีการแบ่งแยกชัดเจนของวาทกรรม "แดง" หรือ "เหลือง"
ตามฐานะของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อทั่วไปที่ว่า
"วาทกรรมแดง" แพร่หลายในกลุ่มคนจน และ
"วาทกรรมเหลือง" แพร่หลายในกลุ่มคนชั้นกลาง/รวย
ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ปัจจัยที่ "จุดไฟ"
ความขัดแย้งทางการเมือง แต่อาจเป็นปัจจัย
ที่ทำให้ความขัดแย้งแผ่กว้างและเสริมการแบ่งขั้ว
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยขึ้นได้
ผู้ศึกษาพบอีกว่า "เสียงเงียบ"
ที่ไม่เกี่ยวกับวาทกรรมทั้ง "เหลือง" และ "แดง"
มีจำนวนมากกว่าทั้งสองกลุ่มรวมกันอย่างท่วมท้น
ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังไม่ใช่
สาเหตุของความขัดแย้งในสังคมบ้านเรา
ไม่ว่าในด้านสังคมหรือการเมืองในปัจจุบัน
แต่เราก็ไม่ควรนอนใจเพราะหากทิ้งไว้ไม่แก้ไขอย่างจริงจังแล้ว
ในเวลาไม่นานปัญหาอาจใหญ่โตเกินกว่าจะเยียวยาก็เป็นได้

หน้า 6