Custom Search

Dec 17, 2009

ทำงานก็สุขได้


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

นฤตย์ เสกธีระ

max@matichon.co.th

มติชน

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552



"ก่อนหน้านี้เคยคิดว่า หนทางแห่งความสุขสงบ
มีเพียงการปลีกวิเวกไปหาสถานที่ปักกลดนั่งสมาธิเพียงเท่านั้น"
จึงรำพึงอยู่เสมอว่า ในชีวิตนี้คงหาความสงบสุขให้แก่ตัวเองลำบาก
ยิ่งชีวิตคนที่มีครอบครัว ต้องทำงานเลี้ยงชีพ ต้องส่งเสียลูกๆ
ใครจะหาเวลาปลีกวิเวกไปหาความสงบสุขเช่นว่าได้
กระทั่งวันเวลาผ่านไป ความคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยน

ยิ่งได้ฟัง ยิ่งได้อ่านหนังสือ ยิ่งได้รับข่าวสารมากๆ
ยิ่งทำให้รู้ว่าความคิดดั้งเดิมของเรานั้นผิด
ความจริงแล้ว หนทางแห่งความสุขสงบมีหลายหนทาง
อย่าง เมื่อสัปดาห์ก่อน เดินทางไปร่วมงานยักษ์ใหญ่
ส่งท้ายปีที่จังหวัดหนองคาย มีชื่องานยาวยืด
เรียกย่อๆ ว่า ""หนองคายกินดีอยู่ดีฯ""
ระหว่างทางได้อ่านหนังสือ "เล่าเรื่องมหาภารตะ"
ที่เรียบเรียงโดยคุณ "วีระ ธีรภัทร"
ได้พบข้อความหลายช่วงหลายตอนที่ดี
และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตเราได้
ข้อความในช่วงหนึ่ง เป็นช่วงเหตุการณ์วันแรกก่อนเกิด
สงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ระหว่างทัพฝ่ายเการพกับทัพฝ่ายปาณฑพ
หลายท่านคงทราบแล้วว่า สงครามในเรื่องมหาภารตะนั้น
เป็นการรบกันระหว่างคนในโคตรตระกูลเดียวกัน
ฝ่ายเการพ มีทุรโยชน์ เป็นราชัน
ส่วนฝ่ายปาณฑพ มียุธิษฐิระ เป็นราชา
ยุธิษฐิระ เป็นพี่ชายคนโต มีน้องๆ
ประกอบด้วย ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ
คนที่โดดเด่นคือ อรชุน ที่มีวิชาธนูแกร่งกล้า
และยังได้รับการสนับสนุนจากพระนารายณ์ที่อวตารมาเป็นพระกฤษณะ
ทำหน้าที่สารถีขับรถม้าศึกให้
วันแรกก่อนสงครามปะทุขึ้น อรชุนรู้สึกไม่มีใจทำการศึก
เพราะฝ่ายตรงกันข้ามล้วนแล้วแต่เป็นญาติผู้ใหญ่ และอาจารย์
ขณะที่พระกฤษณะได้อธิบายตามความเชื่อทางฮินดูว่า
สงครามที่เกิดเป็นพรหมลิขิต เป็นความประสงค์ของพระเจ้า
เมื่อสงครามยุติลง คนที่ชนะเหนือชัยภูมิ
จะเป็นเจ้าผู้ครอบครองโลก
ส่วนคนที่เสียชีวิตจะกลับคืนสู่พระเจ้า
เพราะทุกคนได้ทำหน้าที่ "นักรบ"
ตามวรรณะกษัตริย์ที่ตัวเองดำรงอยู่
ตอนหนึ่ง กฤษณะบอกว่า
"หนทางที่เข้าสู่พระเจ้านั้นมีอยู่สองทาง"
"ทางหนึ่ง คือ การบำเพ็ญสมาธิ"
อีกทางหนึ่ง คือ การทำหน้าที่

นี่ไงครับ ข้อความที่พระกฤษณะพูดในมหาภารตะ
กำลังจะชี้แนะให้เห็นว่า
นอกจากการปลีกวิเวกหาที่นั่งสมาธิแล้ว

ยังจะมีหนทางอื่นอีกที่ทำให้เราสงบสุข
หนทางนั้นออกมาจากปากของพระกฤษณะ
ในมหากาพย์มหาภารตะ

หนทางนั้นคือการทำหน้าที่ตัวเองเพื่อผู้อื่น

พระกฤษณะได้อธิบายขยายความ
เรื่องการทำหน้าที่ให้อรชุนฟังว่า
อรชุนเมื่ออยู่ในวรรณะกษัติรย์ เป็นนักรบ
พอถึงยามรบ อรชุนก็ต้องทำหน้าที่

การทำหน้าที่นั้น อรชุนไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อตัวเอง
หากแต่ทำหน้าที่เพื่อคนอื่น

"คนอื่น" ในเรื่องมหาภารตะ
หมายถึงตัวพระกฤษณะหรือองค์พระนารายณ์ หรือพระเจ้านั่นเอง

อรชุนต้องทำหน้าที่ "รบ" ตามความประสงค์ของ พระเจ้า

พระกฤษณะบอกว่า
"การทำงานเพื่อคนอื่นนี่แหละคืออีกหนทางหนึ่งแห่งความสุขสงบ"

เป็นอีกหนทางที่อยู่คนละด้านกับการบำเพ็ญสมาธิภาวนา
เท่ากับว่าการทำหน้าที่ หรือการทำงาน
ก็สามารถทำให้เราพบความสุขสงบได้
เพียงแต่การทำหน้าที่หรือการทำงานนั้น
ต้องเป็นการทำหน้าที่หรือทำงานเพื่อคนอื่น

"ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเอง"

เพราะการทำงานเพื่อคนอื่น
เป็นการเสียสละอย่างหนึ่ง
เป็นการทำเพื่อ "ให้" ไม่ใช่ทำเพื่อ "รับ"

ดังนั้น คนที่ทำหน้าที่เพื่อคนอื่นจึงทำให้ตัวเองมีความสุข
การทำหน้าที่เพื่อให้คนอื่นมีสุข ทำให้ใจของเรามีสุข
เหมือนพ่อแม่ที่ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ลูกๆ อยู่ดีมีสุข
เหมือนครูอาจารย์ที่จิตใจเป็นสุข
กับการทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ในความดูแล
เหมือนทหารหาญที่ยอมเสียสละแม้ชีวิต
เพื่อปกป้องชาติและประชาชน
เหมือนพระสงฆ์ที่อุทิศชีวิตเป็นพุทธทาส
เพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่มนุษยชาติ
เหมือนนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรม
เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
เหมือนกับอีกหลายๆ คนที่ทำเพื่อคนอื่น
การทำเพื่อคนอื่นนี้เองที่ทำให้เรามีความสุข
เพราะการทำเพื่อคนอื่น ทำให้เรามีประโยชน์ต่อคนอื่น
และเมื่อเรามีประโยชน์ต่อคนอื่น
ก็ทำให้เรารู้ตัวเองว่ามีคุณค่า
เมื่อตัวเองมีค่า ชีวิตนี้ก็มีความสุขแล้วล่ะครับ
ดังนั้น หนทางแห่งความสุขสงบ
จึงไม่ได้มีเพียงแค่การปลีกวิเวกไปนั่งทำสมาธิเท่านั้นนะ
การทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อคนอื่น
ก็เป็นการสร้างความสุขได้
ใครที่บอกว่าไม่มีครอบครัว
ไม่มีญาติพี่น้องไม่รู้จะทำงานเพื่อใคร
อยากจะบอกว่า เราสามารถทำงาน
เพื่อวิชาชีพของตัวเองได้เสมอ
คำว่า "ผู้อื่น" ในที่นี้จึงไม่จำเป็นต้องเป็น
สิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียว
หากแต่ควรจะรวมถึง "วิชาชีพ"
ที่มีจิตวิญญาณของแต่ละวิชาชีพรวมไปด้วย
คนที่ทำงานเพื่อจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ
นี่แหละครับที่เขาเรียกว่าคนมีอุดมการณ์
คนที่มีอุดมการณ์หลายคน
แม้จะลำบากกาย
แต่จิตใจภายในกลับสงบสุข
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ
เขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร
รู้ว่าตัวเองกำลังทำงานตามหน้าที่
และตามวิชาชีพของตัวเอง
วันนี้เราทุกคนจึงมีทางเลือกเพื่อชีวิตอันสุขสงบ
ใครใฝ่ใจการทำสมาธิ คือ
การนั่งสงบนิ่งแล้วตามลมหายใจเข้าออก ก็เชิญตามสะดวก
หรือใครที่ไม่ถนัด จะเลือกวิธีการทำหน้าที่ของตัวเอง
เพือจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ก็ได้เช่นกัน

ขึ้นอยู่ว่าคุณจะเลือกหนทางไหน
หวังว่าหลังจากที่ได้เลือก
และได้ปฏิบัติตามแนวทางที่เลือกแล้ว
ทุกคนจะมีชีวิตที่สุขสงบยิ่งๆ ขึ้นไป

"สวัสดีครับ"

หน้า 17