Custom Search

May 28, 2010

"เมืองไทยในเงาคึกฤทธิ์"



เกษียร เตชะพีระ

มติชนออนไลน์

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553



"เกษียร เตชะพีระ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
หนีเข้าป่าจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
ลีลาการสอนที่ตื่นเต้นทำให้เขาเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาชอบมากคนหนึ่ง
มีเพื่อนคนหนึ่งเคยพูดว่า "ตอนเรียนบูชาเกษียรเหมือนพ่อ
พอเกรดออก รถจารย์แมร่งอยู่ไหนวะ"
คำว่า Thaksinomic ทักษิณาธิปไตย
เขาคนนี้ก็เป็นคนคิดขึ้น ถ้าคุณอยากจะฟังเสียงหัวเราะ
ที่นักศึกษาทั้งห้องขนลุกมาแล้ว
และข้อสอบปลายภาคคือข้อสอบที่คุณคิดเอง เสนอเอง ตั้งเอง
แต่ตอบเองได้หรือเปล่า ม่ายรุนะ"


panakorn, เว็บบอร์ด dek-d.com, 20 เมษายน 2553



ถึงจะเว่อร์ไปบ้าง (เช่นที่ว่าผมเป็น "อดีตสมาชิกพรรค..."
แหมไม่ถึงขั้นนั้นหรอกครับ ฯลฯ)
แต่คำแนะนำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนที่เกี่ยวกับผมของนักศึกษาคนนี้
ก็สะท้อนความจริงบางอย่างอยู่โดยเฉพาะที่ว่า
"ข้อสอบปลายภาคคือข้อสอบที่คุณคิดเอง เสนอเอง ตั้งเอง
แต่ตอบเองได้หรือเปล่า ม่ายรุนะ"


ในบรรดาคำถามข้อสอบไล่วิชาการเมืองการปกครองของไทยต่างๆ นานา
45 ข้อที่นักศึกษาแต่ละคนคิดตั้งขึ้นเอง/ร่างเค้าโครง-ค้นคว้าข้อมูลเอง/
เขียน ตอบเองภายใต้การตรวจแก้แนะนำคัดกรองของผม
ในภาคการศึกษา 2/2552 ที่ผ่านมา
(วันสอบไล่ 12 มีนาคม ศกนี้)
ข้อที่ช่วยฉายภาพความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน
ในแง่ระบบคิดได้เฉียบแหลม
ลึกซึ้งชวนขบคิดถกเถียงยิ่งเป็นของนักศึกษาปี 3 เลขทะเบียน 500361....


เขาค้นคว้าเรียบเรียงประยุกต์มันขึ้นมา
จากงานวิจัยเรื่องการสร้าง "ความเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
โดย ร.ศ.ดร.สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสำคัญ


เพื่อประโยชน์แก่การวิเคราะห์ระบบคิดเบื้องหลังความขัดแย้งทางการ เมืองปัจจุบัน
ผมขออนุญาตคัดลอกคำถามเอง-ตอบเองของนักศึกษาผู้นี้
มาให้อ่านโดยปรับแต่งตัดทอนเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสมดังนี้ :


คำถาม

"ความเป็นไทย" กระแสหลักที่นิยามโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ได้สร้าง "ความจริง" ทางการเมืองอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง?
"ความจริง" เหล่านั้นสามารถนำมาใช้อธิบายสาเหตุและ
เสนอวิธีการแก้ปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย
ในช่วงปี พ.ศ.2495 - ปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไร?
และท่านเห็นว่าการเสนอคำอธิบายตามแนวทาง "ความจริง" เหล่านั้น
สามารถช่วยให้เข้าใจและแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร?



หากไม่ ท่านคิดว่าเป็นเพราะอะไร?

คำตอบ

นิยาม

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน
ได้ดำเนินมาเป็นเวลา นานหลายปีแล้วและ
ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีความพยายามเสนอ
คำอธิบายสถานการณ์ความ
ขัดแย้งนี้ด้วยกันหลายแบบอย่างไรก็ตาม
คำอธิบายที่พบมากที่สุดคือ
คำอธิบายตามกรอบ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก
และจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
คำอธิบายเหล่านั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก
"ความจริง" ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดย
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนที่ทรงอิทธิพล
ในการนิยาม "ความเป็นไทย" มากที่สุด
ในที่นี้จึงจะทำการวิเคราะห์ว่า "ความจริง" เหล่านั้นได้
ให้คำอธิบายอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้บ้าง
และคำอธิบายเหล่านั้นมีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด


ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงการเสนอคำอธิบาย
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบคำนิยามศัพท์สำคัญในเรื่องนี้เสียก่อน
ได้แก่คำว่า "ความเป็นไทย" กระแสหลัก
และคำว่า "ความจริง" ทางการเมือง
ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
โดยในที่นี้ผู้เขียนจะขออ้างอิงคำนิยามที่ปรากฏใน
"บทวิจารณ์ การสร้าง "ความเป็นไทย"
กระแสหลักและ "ความจริง" ที่
"ความเป็นไทย" สร้าง"
(ฟ้าเดียวกัน, 3 : 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2548)


คำว่า "ความเป็นไทย" หมายถึง
สิ่งสร้างทางการเมืองวัฒนธรรม
เชื้อมูลที่ประกอบสร้างเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
หากเรามีสิ่งนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์
เมื่อนำมารวมกับคำว่า กระแสหลัก
จึงหมายถึง สิ่งสร้างทางการเมืองวัฒนธรรม
ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการทำความเข้าใจว่า อะไรคือไทย


ส่วนคำว่า "ความจริง" นั้น หมายถึง
สภาวะนามธรรมที่เป็นจริงโดยตัวมันเอง
อย่างไรก็ตาม "ความจริง" ในที่นี้เป็น
สกรรมสภาวะ (transitive reality) เป็นจริงเพราะ
เราเชื่อ ไม่ได้เป็นจริงโดยตัวมันเอง
แต่เรากลับเชื่อว่ามันเป็นจริงโดยตัวมันเอง
เมื่อนำมารวมกับคำว่า
การเมือง จึงหมายความว่า
แง่มุมทางการเมืองที่เราเชื่อว่าถูกต้อง
เป็นจริง ไม่เปลี่ยนแปลง


เมื่อนำ 2 คำข้างต้นมารวมกันเป็น
"ความจริง" ทางการเมืองที่ "ความเป็นไทย"
กระแสหลักสร้างขึ้น จึงอาจให้ความหมายได้ว่าเป็น
กรอบการมองการเมืองที่เป็นผลมาจาก
อิทธิพลของการทำความเข้าใจว่าอะไรคือไทย


"ความเป็นไทย"กระแสหลัก


ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
เป็นปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลในการนิยาม "ความเป็นไทย"
ในที่นี้จึงจะทำการวิเคราะห์ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ได้สร้าง "ความเป็นไทย" อะไรไว้บ้าง
เพราะถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่า "ความจริง"
ทางการเมืองนั้นมีที่มาอย่างไร
โดยประเด็น "ความเป็นไทย"
ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยามที่สำคัญๆ มีดังนี้ :-


1) การปกครองแบบไทย :
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สร้างให้การปกครองแบบไทย
เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีสำหรับ ไทย
และเหนือการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก
หลักการปกครองแบบไทยที่สำคัญต้องการ
เน้นที่อำนาจเด็ดขาดของผู้นำ
แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำในรูปแบบนี้ก็มีศีลธรรมพระพุทธศาสนากำกับ
ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการกดขี่


การปกครองแบบนี้ให้สิทธิการเข้าร่วมการปกครองตามชั้นทางสังคม
ผู้ที่อยู่ในระดับล่างไม่มีสิทธิเข้าร่วมการปกครอง
เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มี ความรู้
หากให้ร่วมใช้อำนาจด้วยก็จะเกิดความวุ่นวายในสังคมขึ้นได้


2) พระมหากษัตริย์ : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เน้นให้เห็นว่า
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นต้นแบบของผู้นำแบบไทย
และยังทรงทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมาย
กล่าวได้ว่าไทยเป็นไทยได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีพระมหากษัตริย์
โดยเฉพาะรัชกาลปัจจุบันที่ทรงบุญญาบารมีสูงสุด
พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้พระราชทานอำนาจให้กับประชาชน
ดังนั้น การปกครองที่ดีจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแล
และสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์
แนวความคิดแบบนี้ได้ก่อให้เกิด
"ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"


3) พระพุทธศาสนา : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เน้นที่ศีลธรรมแบบโลกียธรรม
พร้อมทั้งได้เน้นว่าผู้นำแบบไทยเป็นผู้นำที่ดีเพราะมีพระพุทธศาสนากำกับ
ในส่วนของประชาชนทั่วไป ยังเน้นความสำคัญของ "กรรม"
เพื่อให้ประชาชนยอมรับสถานะของตัวเองและ
ให้การสนับสนุนผู้นำแบบไทยซึ่งเป็น ผู้ที่มี "กรรม" เก่าที่ดีกว่า


4) ความสัมพันธ์ของคนในสังคม : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เน้นให้เห็นว่า
สังคมที่รู้จัก "ที่สูง - ที่ต่ำ" เป็นสังคมที่ดี
เพราะแต่ละคนทำตามหน้าที่ของตนเอง
ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น แม้จะมีความแตกต่างทางชนชั้น
แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข
เพราะมีระบบอุปถัมภ์ผู้ที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่า


5) ด้านอื่นๆ : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังได้เน้น "ความเป็นไทย" ในด้านอื่นๆ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรม
โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมชั้นสูง (High Culture)
ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามและเป็นไทยอย่างที่สุด


การเน้นแบบนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้คนในสังคม
ให้การสนับสนุนคนที่อยู่ใน "ที่สูง"
แต่ไม่เห็นค่าของคนที่อยู่ใน "ที่ต่ำ"


"ความจริง"ทางการเมือง

จาก "ความเป็นไทย" ในแง่มุมต่างๆ ที่
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้นิยามไว้ ได้ก่อให้เกิด "ความจริง"
ทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การมองว่า
"ความเงียบทางการเมือง" หรือ
"สังคมที่ไม่มีการเมือง"
เป็นอุดมคติสูงสุดสำหรับการเมืองไทย


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองที่มาพร้อมกับระบอบ
ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย
เพราะเป็นการไปทำลายระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม
แต่เดิมลง ทำให้คนที่อยู่ใน "ที่ต่ำ"
เข้ามามีอำนาจในการปกครอง
ทั้งที่คนกลุ่มนี้ไม่มีหน้าที่อย่างนั้น


การปกครองโดยคนที่ไม่สมควรได้ปกครอง
จึงทำให้ประเทศมีแต่ความวุ่นวาย ขัดแย้ง
อิทธิพลจากแนวความคิดนี้ทำให้คนไทยมองการเมือง
เพียงในแง่มุมของการต่อสู้ แย่งชิงผลประโยชน์
ของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวเท่านั้น


พร้อมกันนั้นคนไทยก็เชื่อว่าหากสามารถ
กำจัดนักการเมืองออกไปได้
บ้านเมืองก็จะดีขึ้นเป็นแน่
"ความเงียบทางการเมือง"
จึงกลายมาเป็นอุดมคติสำหรับคนไทย


ที่ว่า "ความเงียบทางการเมือง" หรือ "สังคมที่ไม่มีการเมือง" นั้นก็คือ
การปกครองแบบไทยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์
หน้าที่ในการปกครองเป็นของคนดี
ที่มีความเป็นไทยและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
(เพราะการเลือกตั้งทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมยุ่งเหยิง)
และต้องอยู่ใน "ที่สูง" ด้วย คนในชนชั้นต่างๆ
กลับไปทำหน้าที่ของตนเองตามที่ชนชั้นของตนเองกำหนด
ผู้ที่อยู่ใน "ที่ต่ำ" ก็มีเพียงหน้าที่ทำตามสิ่งที่คนอยู่ใน
"ที่สูง" กำหนดเท่านั้น ถ้าทำได้แบบนี้
บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสงบสุข
อุดมคติแบบนี้ทำให้คนไทยไม่ให้ความสำคัญกับ
ระบอบประชาธิปไตย
และมีแนวโน้มจะสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมได้ง่าย


"ความจริง" ทางการเมืองอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ
การเกิดมโนภาพว่า "เมืองไทยนี้ดี"
โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ทำให้คนไทยเชื่อว่า
เมืองไทยดีกว่าประเทศอื่นๆ
ด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งตามภูมิศาสตร์
การปกครองแบบไทย การมีพระมหากษัตริย์ ฯลฯ


มโนภาพแบบนี้ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
เพราะคิดว่าจะทำให้เมืองไทยแย่ลง
อีกทั้งยังปฏิเสธแนวทางของประเทศอื่นเพราะเชื่อว่า
แนวทางของไทยดีที่สุด อย่างไรก็ตาม
ไทยอาจจะรับแนวทางจากประเทศอื่นได้
แต่ต้องรับผ่านชนชั้นนำเท่านั้น
ชนชั้นอื่นห้ามรับโดยตรง



"ความจริง" ทางการเมืองเหล่านี้ได้กลายมา
เป็นกรอบคิดของคนไทยจนถึงปัจจุบัน
กรอบคิดนี้เป็นทั้งคำตอบในการมองปรากฏการณ์ต่างๆ
และก็เป็นทั้งข้อจำกัดในการคิดเช่นกัน
เพราะกรอบนี้มีพลังอิทธิพลอย่างมาก
จนคนในสังคมไม่สามารถคิดนอกเหนือไปจากกรอบเหล่านี้ได้
แม้แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในช่วงปี พ.ศ.2549 - ปัจจุบัน
คนไทยจำนวนมากก็ยังมองโดยใช้
กรอบ "ความจริง" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหลัก


มองการเมืองปัจจุบันผ่านกรอบคิดคึกฤทธิ์

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้
อาจนับได้ว่าเริ่มต้นเมื่อ ปลายปี พ.ศ.2548
โดยในช่วงแรกอาจถูกมองว่าเป็น
เพียงความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล
แต่หลังจากนั้นความขัดแย้งก็ลุกลามขยายไปจนอาจเรียกได้ว่า
เป็นความขัดแย้ง ระหว่าง ระบอบทักษิณ
กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


หรือนัยหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่านี่เป็น
ความขัดแย้งระหว่าง "ความเป็นไทย" แบบใหม่
ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ กับ "ความเป็นไทย"
กระแสหลักที่ได้รับอิทธิพลจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์


ความขัดแย้งครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการแตกแยก
ทางความคิดของคนในสังคมออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ


2 กลุ่มนี้ได้เข้าปะทะกันทั้งในเชิงความคิด
และเชิงกายภาพจนยากที่จะหาข้อตกลงร่วมกันได้


การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
ก็ไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาได้
แต่กลับเพาะเชื้อความขัดแย้งให้ลุกลามมากยิ่งขึ้น


ปัจจุบันเรามีมวลชนซึ่งจัดตั้งอย่างเป็นเอกเทศ 2 กลุ่ม
ที่พร้อมจะเข้าปะทะกัน ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว
ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
ก็เป็นผลมาจากการใช้กรอบการมองแบบ "ความจริง"
ทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั่นเอง


หากเราใช้กรอบของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นหลัก
เราก็อาจให้คำอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้
ว่าเป็นผลมาจากการที่
พ.ต.ท.ทักษิณได้ทำลาย "ความเป็นไทย" กระแสหลักลง


การทำลายในที่นี้คือการที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ปฏิบัติตามแนวทางผู้นำแบบไทย
เพราะมีข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้กระทำการ
อันเป็นการผิดศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาผ่านการทุจริต ในเรื่องต่างๆ


ในขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังกระทำการในลักษณะ
ที่ถูกมองว่าจะออกจากการควบคุมดูแลโดยพระ มหากษัตริย์
การพยายามออกห่างจากพระบรมฉายาของพระมหากษัตริย์
และมีหลายเหตุการณ์ที่ผู้คน ในสังคมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
กำลังกระทำตนเทียบชั้นพระมหากษัตริย์นี้
ทำให้หลายคนเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
ได้หมดคุณสมบัติของการเป็นผู้นำแบบไทยลง
เพราะพระมหากษัตริย์คือหลักอ้างอิงและ
ให้ความชอบธรรมในการเป็นผู้นำแบบไทย
เมื่อออกห่างจากพระมหากษัตริย์
จึงออกห่างจากความชอบธรรมในการเป็นผู้นำแบบ ไทยด้วย


มีข้อสังเกตว่าในช่วงแรกที่
พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจในลักษณะเผด็จการนั้น
ผู้คนจำนวนมากยังไม่มีความคิดจะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ
เพราะตามหลัก "ความเป็นไทย" แล้ว
การใช้อำนาจเผด็จการไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด
จนกระทั่งเมื่อมีกรณีกล่าวหาว่าทุจริตและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผู้คนจำนวนมากจึงได้ออกมาต่อต้าน


ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อ "ความเป็นไทย" อีกอย่างหนึ่ง
ก็คือการทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมลง
เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณได้อิงตัวเองเข้ากับประชาชนรากหญ้า
ซึ่งไม่ควรมีสิทธิมีเสียงใน การปกครอง


แม้ว่าโดยใจจริง พ.ต.ท.ทักษิณ
อาจไม่ได้ต้องการให้อำนาจแก่ประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง
แต่ก็ทำให้ผู้ที่อยู่ในที่ "สูงกว่า"
อดรู้สึกไม่ได้ว่าอำนาจของตนเองกำลังถูกท้าทาย


การเกิดมวลชน 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่อยู่สูงกว่า
และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในที่ต่ำกว่า เข้าปะทะทางความคิดกัน
ได้ทำให้อุดมคติ "ความเงียบทางการเมือง"
ของคนไทยจำนวนมากพังทลายลง
เพราะความขัดแย้งครั้งนี้เกิดจากการที่คนในตำแหน่งต่างๆ
ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง
คนในที่ต่ำไม่สมควรออกมาประท้วง


ข้อสรุปแบบนี้ได้นำไปสู่การเสนอวิธีการแก้ปัญหาแบบไทย
ตามอิทธิพลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์


วิธีการแก้ปัญหาที่หลายคนเสนอจึงเป็นการทำยังไงก็ได้ให้นำ
"ความเงียบทางการเมือง" กลับคืนมา


การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549
ก็เป็นความพยายามในการสร้าง "ความเงียบทางการเมือง"
และนำผู้นำแบบไทยที่เป็นคนดี มีความเป็นไทย
และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ให้มาเป็นผู้ปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง
และแม้การรัฐประหารจะเป็นวิธีการที่นานาชาติไม่เห็นด้วย
แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะ "เมืองไทยนี้ดี" วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จึงดีที่สุดแล้ว


ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย
ก็เป็นไปในแนวทางที่จะทำให้มวลชนฝ่าย "ที่ต่ำ" สลายไป
เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาที่จะออกมาเรียกร้อง


ส่วนฝ่าย "ที่สูง" ก็ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนไหวได้
ตราบใดที่ยังไม่ไปขัดกับ "ที่สูงสุด"


ทายาทความคิดของคึกฤทธิ์


การเสนอคำอธิบายแบบนี้เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมาก
ทั้งนี้เพราะอิทธิพล "ความจริง" ทางการเมืองที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สร้างไว้
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเองก็มีปัญญาชน
ที่เป็นผู้สืบทอดความคิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
และเป็นผู้ที่ยังทำให้กรอบ "ความจริง"
แบบนี้ยังคงอยู่ต่อไป ตัวอย่างเช่น


ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองซึ่งมักเน้นถึงเรื่องความสำคัญของ "คนดี" เป็นประจำ
และยังเน้นว่าผู้ปกครองต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์
เพราะผู้ปกครองเป็นเพียงจ๊อกกี้ ไม่ใช่เจ้าของม้า
การเน้นเช่นนี้ก็คือการสนับสนุนการปกครองแบบไทยและผู้นำแบบไทยนั่นเอง


ขณะที่ตุลาการอาวุโสบางท่านก็เคยกล่าวว่า
แม้ตุลาการจะไม่ได้มาจากการ เลือกตั้ง
แต่ก็มีสิทธิเข้าไปแก้ปัญหาบ้านเมือง
เพราะตุลาการได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์
และพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชน
ตุลาการจึงมาจากประชาชน
การกล่าวเช่นนี้เป็นการเน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์
ขณะที่ลดค่าของการ เลือกตั้งลงไป


ด้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น
ก็ได้เสนอหลักการเมือง ใหม่
ให้มีตัวแทนจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง
และให้ทหารสามารถเข้าแทรกแซงได้เมื่อมีเหตุสมควร
อันเป็นการแสดงความไม่ไว้ใจ
ในประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งยังอยู่ในวัฏจักรโง่ -จน-เจ็บ


จะเห็นได้ว่าปัญญาชนเหล่านี้ได้สืบทอดแนวทางคำอธิบายของ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์และด้วยเหตุที่ปัญญาชนเหล่านี้
มีบทบาททางการเมืองค่อนข้างมาก
ทำให้แนวทางคำอธิบายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ยังถูกใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจการเมืองในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจว่า
ปัญญาชนในปัจจุบันมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เช่น
การยอมรับ "ความเป็นจีน"
โดยในปัจจุบันลูกจีนไม่จำเป็นต้องกลายเป็นไทย
แต่สามารถเป็นทั้งจีนและไทยพร้อมกันได้
ดังเห็นได้จาก วาทกรรม "ลูกจีนรักชาติ"
ซึ่งน่าจะเป็นเพราะปัจจุบันลูกจีนจำนวนมากได้มี
บทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น
และเข้าไปร่วมมือกับชนชั้นนำ
ในด้านการเมืองมากหน้าหลายตา


อย่างไรก็ตาม "ความเป็นจีน" ในที่นี้จำกัดเฉพาะ
ความเป็นจีนที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
ขณะเดียวกันก็พบว่านอกจากจีนแล้ว
เชื้อชาติอื่นยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
อาจเนื่องมาจากยังไม่มีพลังอำนาจมากเท่ากับคนจีนก็เป็นได้


อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างก็คือปัญญาชนสมัยนี้
ได้ลดระดับมโนภาพ "เมืองไทยนี้ดี" ลงเห็นได้จาก
แม้ว่าจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร
แต่ก็ไม่กล้ากล่าวตรงๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ
โลกาภิวัตน์ทำให้คนทุกชนชั้นในสังคมสามารถรับสื่อจาก
ต่างประเทศได้โดยตรง
ไม่ต้องผ่านชนชั้นนำเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน


ทำให้ปัญญาชนจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนคำอธิบายบางส่วน
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกด้วย


วิจารณ์ข้อจำกัดของกรอบคิดคึกฤทธิ์

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเห็นได้ว่ากรอบ "ความจริง"
ทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีอิทธิพลสำคัญ
ในการสร้างความเข้าใจสถานการณ์
ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของผู้เขียน
คำอธิบายตามกรอบนี้ไม่ช่วยให้เราเข้าใจ
และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม


กรอบคำอธิบายแบบนี้มีข้อจำกัดตรงที่ว่า
เป็นเพียงการพิจารณาความไม่มี
ศีลธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น
แต่ไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวระบบซึ่งได้
เพาะเชื้อความไม่พอใจระหว่าง ชนชั้นเอาไว้


อีกอย่าง กรอบคำอธิบายแบบนี้ยังไปไม่ทันกับกระแสโลก
หากเป็นในอดีต วิธีการแก้ปัญหาตามกรอบนี้อาจได้ผล
เพราะชนชั้นนำสามารถตัดสินใจได้อย่างทันที
แต่ปัจจุบันการที่ประเทศไทยผูกตัวเองติดกับกระแสโลก
และได้รับอิทธิพลอย่าง มากจากโลกาภิวัตน์
ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรับสื่อจากต่างประเทศได้โดยตรง


อำนาจในการรับสื่อนี่เองที่กลายมาเป็น
พลังต่อกรสำคัญกับอำนาจของชนชั้นนำ
ตราบใดที่เรายังใช้รูปแบบการแก้ปัญหาแบบเก่าที่คับแคบ
และไม่ทันต่อการ เปลี่ยนแปลง
ก็ย่อมจะยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้


สำหรับวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมนั้น
ผู้เขียนยังคิดไม่ออก แต่ผู้เขียนเชื่อว่า
สังคมจะสามารถคิดออกได้แน่
หากคนในสังคมหลุดพ้นจากคำอธิบายแบบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
และหากรอบคำอธิบายแบบใหม่ๆ
นำกรอบของแต่ละคนมาถกเถียง ตกผลึก สังเคราะห์
เมื่อนั้นเราจะได้กรอบคำอธิบายที่เสนอ
สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ก็เป็นได้


แต่หาก "ความจริง" ทางการเมืองที่ "ความเป็นไทย"
กระแสหลักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างขึ้น
ยังคงมีอิทธิพลจำกัดความคิดคนในสังคมอยู่เช่นนี้
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน
ก็คงไม่สามารถหาทางออกได้
จะทำได้ก็คงแต่เพียงการกดทับปัญหาไว้เท่านั้น


ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมแต่อย่างใด