Custom Search

Mar 4, 2010

สารจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

http://www.dpu.ac.th/

1 มีนาคม 2553


นักศึกษาและเพื่อนชาว มธบ. ที่รัก

3 ปีที่แล้ว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ผมได้เขียนคำอำลา
เมื่อได้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในคำกล่าวนั้นผมได้ลงท้ายว่า Au Revoir

ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง “ลาก่อน” อันมีนัยว่า “จะได้พบกันอีก”

บัดนี้ ผมได้มีโอกาสกลับมาพบนักศึกษาและเพื่อนที่ มธบ. อีกครั้ง
โดยทำหน้าที่อธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553
ตามการพิจารณาแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ในการประชุมครั้งที่ 4 ปีการศึกษา 2552 เมื่อวันพุธที่ 23 ธันวาคม 2552

ในเบื้องต้นผมขอขอบคุณสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ที่ไว้วางใจแต่งตั้งให้ผมเป็นอธิการบดีอีกวาระหนึ่ง
และขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน
ที่ได้กรุณารับให้สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
พิจารณาแต่งตั้งเป็นอธิการบดีแทนเมื่อผมได้ลาออกไปอย่างกะทันหัน
การรับผิดชอบในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทำให้ผมได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น
จนเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถช่วย
สร้างประโยชน์ให้เกิดแก่การศึกษาของชาติ
และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ของเราได้ยิ่งขึ้น
การที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา นั้น
ผมถือว่าเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยของเราเป็นอย่างยิ่ง
และด้วยเกียรตินั้น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

จะยิ่งมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการศึกษาของเราให้สูง ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สมกับการคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองและนักศึกษาที่ได้
เลือกมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยของเรา

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว

และซับซ้อนในโลกและในสังคมของเรา
ทางโน้มอันหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนว่า
เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาก็คือการเรียนรู้
แทนที่จะเป็นการสอนแต่เพียงอย่างเดียวดังที่เคยเป็นมายาวนาน

การว่ายน้ำเป็นมิได้เกิดจากการนั่งฟังและ
รับรู้เนื้อหาวิชาการลอยตัวและเคลื่อนไหว
ในน้ำตามการสอนของครูในห้องเรียน

หากเกิดจากการได้ลงไปว่ายน้ำในสระจริง
ได้ลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูก กินน้ำอึกและหลายอึก
เรียนรู้จนสามารถว่ายน้ำเป็นในที่สุด

การว่ายน้ำเป็น เปรียบได้กับการทำงานเป็น

การสอนเนื้อหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็น
แต่มิได้ประกันว่าเมื่อนักศึกษาเรียนจบออกไปแล้วจะทำงานเป็น
การเรียนรู้ซึ่งมาจากการฝึกปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้จากห้องเรียน
จะเป็นกระบวนการสร้างนักศึกษาให้เป็นคนที่มีคุณค่า

นอกจากการปฏิบัติจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
ยังสมารถช่วยให้เกิดบุคลิกอุปนิสัยที่เหมาะสม
ต่อการทำงานและการดำรงชีวิตในระยะยาวอีกด้วย

ข้อความ “นำความรู้สู่ปฏิบัติ” ของมหาวิทยาลัยแสดงถึงความมุ่งมั่น
ที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งจะ
ทำให้นักศึกษาสามารถออกไปทำงานได้
สามารถช่วยตนเอง ครอบครัว และสังคมได้อย่างดียิ่งในอนาคตอันใกล้
ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัย

อันเป็นที่รักของเราอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมกันสร้างความก้าวหน้า
ให้มหาวิทยาลัยของเราต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
และเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่นักศึกษาของเรา

ด้วยความรักและปรารถนาดี
วรากรณ์ สามโกเศศ



วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2553
คมชัดลึก : "จากประสบการณ์การทำงาน
ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในอดีต
และการไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
ทำให้เห็นได้ว่า การผลิตคนที่มีคุณภาพไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่
แต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแผนกลยุทธ์ มีผู้นำที่ดี
มีผลประเมินที่ออกมาเป็นเลิศ มีต้นทุนที่พอดี และมีการเพิ่มคุณค่าแก่นักศึกษา
การกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งของผมในครั้งนี้
จะยึดมั่นเรื่องคุณภาพของบัณฑิต ความรู้สู่ปฏิบัติ และความรับผิดชอบต่อสังคม"

คำกล่าวข้างต้น เป็นหลักการบริหาร ของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
อธิการบดีคนที่ 4 ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)
หลังเสร็จสิ้นภารกิจและเงื่อนไขการเป็น รมช.ศึกษาธิการ
ในสมัยรัฐบาล "ขิงแก่" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ก่อนกลับสู่ตำแหน่งอธิการบดีมธบ.อีกครั้ง ด้วยอายุ 63 ปี

รศ.ดร.วรากรณ์ จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ จาก
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ปริญญาโท และปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์
จากมหาวิทยาลัยแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 37) 2537
หลังจากจบมาก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงทางการศึกษามาตลอด
โดยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ

อดีตรมช.ศึกษาธิการ, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายวิชาการ,
ประธานกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. ในประเทศไทย
ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,
กรรมการราชินีมูลนิธิ, กรรมการสถาบันคีนัน,
อาจารย์ที่ปรึกษาสถาบันพระปกเกล้า,
กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,
ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ฯลฯ

ช่วง 2 ปีแรกของการบริหาร มธบ. รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า
จะพยายามสร้างสิ่งแปลกใหม่สำหรับอุดมศึกษา
เนื่องจากอุดมศึกษาขณะนี้มีจำนวนมากขึ้น และมีปัญหามากมาย
อีกทั้งยังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงโลก และอาเซียน
ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆ
ที่สร้างความก้าวหน้า มาตรฐานที่สูงขึ้น
"ตอนนี้เราตั้งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและ
กลยุทธ์ในการกำหนดแผนกและกลยุทธ์ต่างๆ
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษา และมหาวิทยาลัย
โดยดำเนินการคล้ายกับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ
อย่าง ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล
นั่นคือ อธิการบดีต้องทำสัญญากับบุคลากร
นักศึกษาว่าต้องทำอะไรบ้าง
แต่ละหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยต้องทำงานอย่างไร
และหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ สร้างความรู้สู่ปฏิบัติ
เพราะการสอนอย่างเดียวถือเป็นกระบวนการที่ล้าสมัย
นักศึกษาต้องสามารถเรียนรู้สู่การปฏิบัติได้จริง"

ส่วนด้านวิชาการ รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวว่า
มีแผนยกเครื่องการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติทั้งหมด
เน้นเชิงปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม
คุณภาพบัณฑิตต้องมีมากขึ้น และที่สำคัญพ่อแม่
ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานมาเรียนที่มธบ.
ต่างมั่นใจในเรื่องคุณภาพ
มหาวิทยาลัยต้องรักษาความเชื่อมั่นคุณภาพนักศึกษา

การพัฒนามหาวิทยาลัย รศ.ดร.วรากรณ์
มีแนวทางในการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจโลก กับการศึกษา
คือ ตอนนี้โลกได้เข้ามาสู่เอเชียมากขึ้น
กิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหลายย้ายมาเอเชีย
มหาวิทยาลัยเปิดวิทยาลัยศูนย์จีน
รองรับการขยายการรับนักศึกษาจีนมาเรียน
ซึ่งขณะนี้มี 300 คนแล้วที่มาเรียนและจบออกไปอย่างมีคุณภาพ
แต่หลังจากนี้จำนวนจะมากขึ้น
และเปิดกว้างให้นักศึกษาจีนเรียนเอกภาษาอังกฤษ
ไม่ใช่เฉพาะเอกภาษาไทยอีกต่อไป
คาดว่าจะเปิดทำการเดือนมิถุนายน 2553 นี้

"ตลอดระยะเวลา 42 ปี มธบ.มีทิศทางการบริหารจัดการเรียนการสอน
ยึดหลักทำอะไรก็ตาม ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
และยืนหยัดอยู่บนผลประโยชน์ของบัณฑิต
และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งต้องส่งเสริมนักศึกษาเรียนรู้นำไปปฏิบัติจริง
และเตรียมพร้อมให้นักศึกษามีคุณสมบัติครบถ้วน
สำหรับการเป็นบุคลากรขององค์กรชั้นนำระดับประเทศ
โดยไม่ลืมการใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้จักให้ เสียสละ
เป็นคนดีของสังคม และมีจิตสาธารณะ"
อธิการบดีมือเก๋าคนหนึ่งของวงการอุดมศึกษาไทยกล่าวทิ้งท้าย

เพื่อให้มธบ.เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
"รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ"
มุ่งมั่นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ต้องผลิตคนที่มีคุณภาพ
ตรงกับความต้องการของสังคม
ดังนั้น ในอนาคตการเติบโตของมธบ. จะยึดมั่น "คุณภาพ" เป็นสำคัญ
หากหลักสูตรใดที่ไม่มีคุณภาพมธบ.ไม่เปิดสอน
และไม่เปิดสอนนอกที่ตั้ง
เพื่อรักษามาตรฐาน คุณภาพให้คงอยู่ต่อไป
สนใจติดต่อเยี่ยมชมมธบ.
http://www.dpu.ac.th/
หรือโทร.0-2954-7300