Custom Search

Mar 5, 2010

วิกฤติ “ล่ามภาษามือ” สะพานสู่โลกแห่งการได้ยิน




มติชนออนไลน์
วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ถึงแม้ว่าความพิการทางการได้ยินจะเป็น
อุปสรรคสำคัญต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ทว่าผู้พิการประเภทดังกล่าว ก็ยังสามารถใช้
“ภาษามือ” ในการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มผู้พิการของพวกเขาได้
แต่ในขณะเดียวกันโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมที่ประกอบด้วย
คนทุกประเภทการติดต่อสื่อสาร
จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินเท่านั้น
ดังนั้นการสื่อสารของผู้พิการทางการได้ยิน
จึงจำเป็นต้องมี “ล่ามภาษามือ”
เป็นสะพานในการเชื่อมโยงการสื่อสารไปสู่สังคมภายนอก


ปัจจุบันนี้ประเทศไทยถือว่ามีล่ามภาษามือไม่มากนัก
เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการหรือจำนวนของผู้พิการทางการได้ยิน
นั่นหมายถึงเกิดภาวะวิกฤติในการขาดสะพานเชื่อม
การสื่อสารระหว่างผู้พิการทางการได้ยินกับสังคมภายนอกได้อย่างเข้าใจ
นอกจากล่ามภาษามือ แบบเป็นทางการแล้ว
ปัญหาการขาดแคลนล่ามภาษามือชุมชน
ที่จะช่วยถ่ายทอดการสื่อสารแบบไม่เป็น
ทางการภายในชุมชนของผู้พิการทางการได้ยิน
ก็นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ
เพราะชุมชนรอบกายของผู้พิการทางการได้ยิน
คือ สังคมแรกที่ผู้พิการทางการได้ยิน
ควรได้รับการยอมรับและ
สามารถสื่อสารโต้ตอบกับ
คนในชุมชนได้อย่างเข้าใจ ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้พิการ
ทางการได้ยินเข้าถึงสวัสดิการ
และการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น


พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ
กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า
“ศูนย์บริการล่ามภาษามือชุมชนเป็นโครงการที่
สถาบันสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ
สนับสนุนสมาคมคนพิการ
ในการสร้างระบบบริการล่ามภาษามือ
ชุมชน โดยหวังว่าจะเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับ
และสนับสนุนให้เป็นหน่วยบริการ
ในพื้นที่นอกจากนั้นยังจะเป็นต้นแบบในการจัด
บริการล่ามภาษามือไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการ”



การเสวนาได้ข้อสรุปถึงความต้องการบริการล่ามภาษามือ คือ
ควรที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการล่ามของรัฐ ในทุกชุมชน หรืออย่าง
น้อยในทุกจังหวัดในรูปของรัฐสวัสดิการ
คือผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ในการใช้บริการซึ่งจำนวนล่ามเหล่านี้จะต้องมีตาม
อัตราส่วนจำนวนผู้พิการทางการได้ยินที่ต้องการใช้บริการล่าม
รวมถึงล่ามภาษามือต้องมีความเป็นมืออาชีพ
สามารถที่จะถ่ายทอดภาษามือได้และเป็นสื่อกลางในการสนทนาได้อย่างดี
ซึ่งการแปลแต่ละครั้งของล่ามภาษามือที่
ต้องใช้เวลามากว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไปควรที่จะมีล่าม
อย่างน้อย 2 คน และสามารถแปลเป็นภาษาพูดได้อย่างชัดเจน
เหมือนอย่างที่ผู้พิการทางการได้ยินรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการใช้
บริการ ในกรณีที่เป็นล่ามที่ศาลก็สามารถใช้ภาษากายสื่อสาร
ให้คนหูหนวกได้เข้าใจ รวมถึงความสามารถในการแปลคำพูดจาก
ภาษาอังกฤษเป็นภาษามือไทยอีกด้วย

ทั้งนี้คนพิการทางการได้ยินหรือผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน
มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือเพื่อการเข้าถึงในบริการต่างๆ
ที่สำนักงานในพื้นที่ อาทิ สำนักงานส่งเสริมและ
พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
หน่วยบริการในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรบริหารส่วนตำบล เทศบาล
หรือองค์กรอื่นตามที่ผู้ว่าราชการกำหนดขึ้น
ในเรื่องต่างๆ เช่น การใช้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณะสุข
การสมัครงานในการติดต่อประสานงานด้านอาชีพ
การร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือ การเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน
การเข้าร่วมประชุม สัมมนา ฝึกอบรม
และบริการอื่นๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็น
ความต้องการในเบื้องต้นในการดำรงชีพ
ของผู้พิการทางการได้ยินแทบทั้งสิ้น

นอกจากในวงเสวนายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับ
การพัฒนาล่ามหูหนวกซึ่งเป็นล่ามที่มี
ความพิการทางการได้ยินและไม่ใช้ภาษามือใน
การสื่อสารแต่จะใช้ภาษากายและความรู้สึกในการสื่อสาร
แทนซึ่งการสื่อสารจะแตกต่างกับล่ามภาษามือ
ล่ามหูหนวกจะมีความจำเป็น
สำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่ไม่ได้เรียนหนังสือ
หรือไม่รู้ภาษาเขียนและภาษามือ
ซึ่งถือว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ในสังคมของผู้พิการทางการได้ยิน

ถ้า มีการผลิตล่ามหูหนวกเพิ่มมากขึ้นทำให้
ผู้พิการทางการได้ยินที่ไม่รู้ภาษามือ
สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้พิการได้ดียิ่งขึ้น
รวมถึงการเสนอให้มีการพัฒนาคนหูตึงที่มีความสนใจในภาษามือ
และมีความสามารถหรือทักษะในการสื่อสารกับคนหูหนวกได้ซึ่ง
อาจจะเน้นหนักไปในการสื่อสารแบบตัวต่อตัวระหว่างคนหูหนวกเท่านั้น
ไม่ใช่การสื่อสารในเชิงสาธารณะเพราะเนื่องจากคนหูตึง
หลายคนมีระดับการศึกษาที่ดี
ถ้ามีการสนับสนุนในเรื่องนี้ผลที่ตามมาอีกอย่าง
คือจะทำให้คนหูตึงปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนิน
ชีวิตให้มีความสุขขึ้นเนื่องจากได้รับรู้ว่า
มีคนที่พิการทางการได้ยินเหมือนตนอีกจำนวนมากในสังคม

นายไพโรจน์ เจริญวิไลศิริ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
และเป็นหนึ่งในผู้พิการทางการได้ยินได้
บอกเล่าถึงผู้พิการทางการได้ยินว่า
“คนหูหนวกไม่สามารถที่จะสื่อสารได้ด้วยภาษาพูดอย่างคนปกติ
และการสื่อสารด้วยการเขียนด้วย
ภาษามือในการเป็นตัวอักษรก็ยังเป็นการเขียนในลักษณะที่กลับไปกลับมา
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีล่ามภาษามือเป็น
ตัวกลางในการช่วยในการสื่อสาร
ระหว่างคนหูหนวกและคนปกติ
ซึ่งปัจจุบันนี้ผมคิดว่าล่ามภาษามือในประเทศไทยมีจำนวนจำกัด
ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้พิการ
ถ้ามองในส่วนขององค์กรสมาคม
ในส่วนกลางที่ให้บริการ
ในพื้นที่ภาคเหนือมีล่ามภาษามือ3 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คน
และภาคกลาง 2 คน
ดังนั้นผมจึงมีความคาดหวัง
ในการเสวนาครั้งนี้ว่าล่ามภาษามือจะมี
เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 พันคน
มีล่ามภาษามือในพื้นที่จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 2 คน
ผู้พิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิของผู้พิการเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลข่าวสารซึ่งผู้พิการทางการได้ยินสามารถ
เข้าถึงข่าวสารในปัจจุบันได้เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ยิ่งถ้าเป็นสื่อที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว
คนพิการทางการได้ยินแทบไม่สามารถเข้าถึงได้เลยเนื่องจาก

การศึกษาส่วนใหญ่ของผู้พิการทางการได้ยินจะสำเร็จการศึกษา
เพียงแค่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือชั้นประถมศึกษาเท่านั้น
และที่สำคัญภาษาเขียนไม่ใช่ภาษาแม่ของผู้พิการทางการได้ยินอีกด้วย
ซึ่งการเข้าใจในภาษาเขียนจะเข้าใจเป็นคำๆ เท่านั้น
แต่ถ้าจะสื่อให้คนพิการในการได้ยินได้รับสารได้ดี
และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในสื่อสิ่งพิมพ์คือ
ในเรื่องของภาพเท่านั้น จึงทำให้บางครั้งคนพิการเข้าถึง
ในเรื่องสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตนเองได้น้อยมาก
นาย ไพโรจน์ เจริญวิไลศิริ
กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
ชายผู้พิการทางการได้ยิน
บอกเล่าเรื่องราวด้วยภาษามือ ผ่านล่าม

มือที่แสดงออกถึงท่าทางในการสื่อภาษาของผู้พิการทางการได้ยิน
สะท้อนถึงความพยายามในการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้พิการกับคน
ทั่วไป ในสังคมได้อย่างปกติสุข ช่องทางการสื่อสาร
ที่เป็นทางออกสำคัญของผู้พิการประเภทนี้
ทั้งล่ามภาษามือ ล่ามภาษามือชุมชนและล่ามหูหนวก
ควรจะได้รับการสนับสนุนและลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ
เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน
ในฐานะที่ผู้พิการก็เป็นพลเมืองของประเทศ
และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่นในสังคม