เรื่อง :นันทขว้าง สิรสุนทร
giengi@yahoo.com
กล่าวอย่าง “รวบรัดตัดความ” (ที่มิใช่ “รวบหัวรวบหาง”)
เควนติน ตารันติโน เป็นหนึ่งในหัวหอกของพวก New Wave American แล้ว
เขายังเป็นพวก “ร่วมขบวน” ที่นับถือสรรเสริญยกย่องเรื่องของ “อดีต”
หรืออะไรที่มันเคยรุ่งเรือง และผ่านไป
เหมือน วู้ดดี้ อัลเลน ที่ชอบทำเรื่องหญิงร้ายชายเลวในระยะหลังๆ,
เหมือน กวั๊ก แจยัง ที่เคยคารวะใน The Classic, หรือ เควนติน
ก็เป็นแบบนั้นด้วยการ “เพียรพยายามถวิลหาอดีต” อยู่เรื่อยๆ ในหนังทุกเรื่องของเขา
แต่การรำลึกถึงอดีตของเขานั้น ไปไกลกว่าตรงที่มีแนวคิดแหกกรอบที่เคยเป็นมา
กล่าวคือไม่จำเป็นต้องเดินตามสิ่งที่เป็นมา
เช่นพระเอกนางเอกไม่จำเป็นต้องได้กัน แต่อาจตายพร้อมกันอย่างน่าสมเพช,
คนดีอาจได้รับผลเลว หรืออะไรๆ ที่มันน่าจะเป็นไปตามที่คาด
มันก็อาจจะพลิกล็อกไปหมด
เหล่านี้ถูกฟ้องอยู่แล้วในหนังของ เควนติน ตั้งแต่ Reservoir Cog
มาจนถึงมาสเตอร์พีซ อย่าง Pulp Fiction (ตรงกับคำว่า film noir ในหนัง)
หรือจาก Kill bill มาถึง Inglourious Basterds
พูดง่ายๆ จะดูหนังของเขากี่เรื่อง โครงสร้างก็ยังเหมือนเดิม
ตั้งแต่วิธีเรียงลำดับเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ต่อๆ กัน,
ตัวละครเป็นพวกคนนอกพวกมือปืน นักฆ่า มาเฟีย
และมันก็มักอบอวลไปด้วยกระสุนปืน เลือด ความรุนแรง และความตายแบบตลกร้าย
ในเรื่องล่าสุด เควนตินเล่าเรื่องของครอบครัวของสาวชาวยิว ที่
โชซานนา (เมลานี โลรองต์) ถูก ฮานส์ ลานดา (คริสโตเฟอร์ วอลต์ซ)
นายพันของกองทัพนาซีสังหาร
โชซานนา ที่เหลือตัวคนเดียวก็ลี้ภัยไปยังปารีส
และได้รับอุปการะจากผู้หญิงใจดีคนหนึ่ง
เธอจึงได้เข้าไปทำงานในโรงภาพยนตร์
ในขณะเดียวกัน กลุ่มทหารอเมริกัน-ยิวที่เรียกขานกันว่า เดอะ บาสเทิร์ดส์
นำโดยนายร้อย อัลโด เรน (แบรด พิตต์) ร่วมมือกับนักแสดงสาวชาวเยอรมัน
และสายลับคนสำคัญ บริดเจต ฟอน แฮมเมอร์สมาร์ก (ไดแอน ครูเกอร์)
ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านและโค่นล้มอำนาจของผู้นำนาซี
โชคชะตาของคน 2 กลุ่มเวียนมาบรรจบ เมื่อวีรบุรุษสงครามชาวเยอรมัน
เกลี้ยกล่อมผู้บังคับบัญชาของเขา ให้ฉายภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ
ของนาซีเรื่องล่าสุดที่โรงหนังของ โชซานนา
และเธอมองเห็นโอกาสในการล้างแค้น
คงไม่ต้องสนใจเนื้อหา แต่ให้สนใจวิธีการเอามาเล่าแบบมีอารมณ์ขันกึ่งตลกร้าย
ผมชอบฉากที่ทหารสองฝ่ายนั่งเล่นจิตวิทยาหน้าบาร์
และก่อนเข้างานดูหนังในโรงตอนท้าย มันเป็นจริตที่แดกดัน
วัฒนธรรมป๊อปหลายอย่างของคนเรา
ที่สำคัญก็คือ เควนติน ได้บอกกับคนดูอีกครั้งว่า สุนทรียศาสตร์ของคนเรา
ไม่จำเป็นต้องทำแบบที่เคยปฏิบัติกันมา (ใส่สูท, เดินพรมแดง, มีเสียงสรรเสริญ)
สุนทรียศาสตร์หรือความงาม ไม่ใช่ต้องเป็นเรื่องอ่อนโยนเสมอไป
แต่มันอาจเป็นความตาย, ศิลปะแห่งความรุนแรงแบบสร้างสรรค์ หรือ
การรื้อกฎ แหกกรอบ ไม่เล่าเรื่องไปจบอย่างที่คนดูต้องการ
ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครต่อใคร จะตายไปในหนังอย่างที่ผู้ชมคาดไม่ถึง
นั่นแหละคือการบอกของ เควนติน
อิทธิพลจากการดูหนังของเขา ที่เคยไล่มาตั้งแต่จอร์ต สตาร์เล็ต,
โกดาร์ด มาจนถึงคาวบอย สปาเกตตี และล่าสุดกับเรื่องนี้อย่าง อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก
ที่เล่นกับเรื่องจังหวะเวลา หรือ time and space นั้น
มีอยู่อย่างหนาแน่นในหลายฉาย
หนังสองเรื่องนี้ แค่ดูสองฉากอย่างตอนต้นกับตอนดวลกันในผับบาร์
ด้วยอาการกวน teen ก็คุ้มค่าการฝ่ารถติดไปดูแล้ว
แต่ถ้าจะมีอะไรที่ต้องบอกต่อกันบ้าง
ก็คือหนังเรื่องนี้มีความรุนแรงอยู่พอสมควร
มันไม่เหมาะกับกับเด็กแน่นอน
แม้ว่ามันจะเป็นสุนทรียศาสตร์ของผู้ใหญ่อย่าง เควนติน ก็ตาม
"นันทขว้าง สิรสุนทร"
giengi@yahoo.com
วันที่ 21 สิงหาคม 2552