Custom Search

Jan 21, 2010

CEO กับความรัก (2)





วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

"CEO กับความรัก" ของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
CEO ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ที่แนะนำเบื้องต้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น


ในบท "ร่วมทุกข์ง่าย ร่วมสุขยาก" มีคติให้คิดอย่างน่าสนใจ
คุณก่อศักดิ์เขียนไว้ดังนี้ "ฟังดูเหมือนแปลกๆ
ที่ว่า "ร่วมทุกข์ง่าย ร่วมสุขยาก"
เพราะคนทั่วไปน่าจะอยาก "ร่วมสุข"
มากกว่า "ร่วมทุกข์" ด้วยกันทั้งนั้น
แต่ผมก็มีข้อสังเกตและเหตุผลที่แตกต่างออกไป

ผมเขียนไว้ในหนังสือ "รัฐศาสตร์ถังไท่จง"
ว่าโชคดีที่ถังไท่จงอายุไม่ยืนนักคือ
เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 52 ปี (หนุ่มกว่าผมตอนนี้เสียอีก)
เพราะถังไท่จงยิ่งแก่ยิ่งเหลวไหล
ทำอะไรก็เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้ง
จนพลาดพลั้งเสียหายอย่างใหญ่หลวง
โดยเฉพาะการนำทัพบุกเกาหลีจนเกือบถูกจับตัวเป็นเชลย
โชคดีที่ยังมีขุนพลหนุ่มซิยิ่นกุ้ยช่วยเหลือไว้ทัน

ในอดีต ถังไท่จงเป็นเจ้าชายหนุ่มนำทัพออกรบ
ได้ชัยชนะทุกครั้งด้วยวัยไม่ถึงสามสิบปี
เนื่องจากทีมงานประสานเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวสามัคคี
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
ถังไท่จงกลายเป็นฮ่องเต้ผู้ทรงอำนาจความใกล้ชิด
กับทีมงานก็ถูกถ่างให้กว้าง ออกไปเรื่อยๆ ด้วย

กฎมณเฑียรบาลโบราณราชประเพณี
ทำให้สถานะของโอรสสวรรค์อยู่สูงสุดเอื้อม
ข้าราชการรุ่นหลัง ซึ่งไม่เคยคลุกคลีร่วมกันมาก่อน
ก็ยิ่งมองเห็นถังไท่จงเป็นเทพยดา
รวมทั้งพวกปากสอพลอผสมโรงป้อยอจนถังไท่จงหลงลืมตัว
การตัดสินใจในเรื่องสำคัญและการวางกลศึก
จึงเป็นไปในแบบของวันแมนโชว์
ทำให้ขาดความรอบคอบรอบด้าน
เพราะขาดทีมงานช่วยคิดวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา เช่น
ในวัยหนุ่ม การทำศึกอย่างไม่รู้เขาไม่รู้เรา
รบร้อยครั้งย่อมมีโอกาสปราชัยไม่น้อยกว่าเก้าสิบเก้าครั้ง

ก่อนประสบความสำเร็จ
ทั้งนายและลูกน้องจะมีเป้าหมายร่วมกัน
เป็นธงชัยเห็นอยู่ลิบๆ เบื้องหน้า
ทุกคนพร้อมจะร่วมทุกข์กันอย่างเต็มที่
ยินดีเสียสละและอดทน
มองข้ามความบาดหมางเล็กน้อย
และเรื่องปลีกย่อยต่างๆ เพื่อร่วมกันฝ่าฟันไปสู่หลักชัย

ครั้นเมื่อประสบความสำเร็จดังมุ่งหวัง
เป้าหมายที่เคยมีร่วมกันก็แตกสลายกลาย
เป็นเป้าหมายเฉพาะของแต่ละคนที่
ประสงค์จะไขว่คว้าสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเอง

หัวหน้าที่ได้เสวยสุขอยู่ก็เริ่มมีอีโก้ใหญ่ขึ้นทุกที
เพราะมีคนใหม่ๆ มาคอยประจบเอาใจ
ลูกน้องเก่าก็จะถูกหมางเมินเหินห่างกันไป
ยิ่งถ้าลูกน้องเก่าซึ่งคุ้นเคยรู้เช่นเห็นชาติกันมานมนาน
ไม่ค่อยแสดงความเคารพนับถืออย่างเต็มที่
เหมือนพวกลูกขุนพลอยพยัก หัวหน้าก็ชักจะทนไม่ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์จีนก็คือ
จูหยวนจางซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิง
ที่ทนรับท่าทีของลูกน้องเก่าไม่ ได้
ประกอบกับจูหยวนจางมีปมด้อยในอดีตตกต่ำยากจนต้องเป็นขอทาน
และช่วงหนึ่งต้องหลบไปบวชเป็นหลวงจีน
เพื่ออาศัยข้าววัดประทังชีวิต
จูหยวนจางต้องการลบล้างเรื่องราวอัปยศเหล่านี้
จึงตัดสินใจกำจัดลูกน้องทุกคน
ที่มีส่วนช่วยสร้างราชวงศ์มาแต่ต้น

บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจเพียงจะย้ำเตือน
"ผู้เป็นนาย"ทั้งหลายไม่ให้หลงผิดติดบ่วงอีโก้ของตนเอง
แต่ยังอยากบอกไปถึงลูกน้องเก่าแก่ทั้งหลาย
ซึ่งมีโอกาสได้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาพอตัวในอาณาจักรเล็กๆ
ของตนก็จะมีลูกน้องอีกรุ่นหนึ่ง
มาคอยพะเน้าพะนอยกยอปอปั้นเช่นเดียวกัน

อันที่จริงก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ชอบคนมาคอยเอาอกเอาใจ
แต่เราต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลสตัวนี้
จนทำให้เสียผู้เสียคนและเสียสัมพันธภาพที่ดี
กับ "ทีมงานเก่าแก่" ที่เคยบากบั่นร่วมกันมา
คนที่เคย "ร่วมทุกข์" ถ้าไม่ตกเป็นเหยื่อของการลืมตน
ก็น่าจะมีโอกาสได้ "ร่วมสุข" ด้วยความปลอดโปร่งใจให้นานที่สุด
เท่าที่จะทำได้ไม่ต้องเสียเวลามาคอยกำจัด
กันและกันให้พ้นทาง
เพราะธรรมชาติก็จะกำจัดเราทุกคน
ให้พ้นไปจากโลกนี้อยู่แล้วตามกฎ แห่งอนิจจัง?."
บทที่น่าอ่านอีกบทหนึ่งคือบท "CEO กับความรัก"
คุณก่อศักดิ์เขียนไว้ ดังนี้
"CEO ก็เป็นมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับปุถุชนทั่วไป
ภาพลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏอาจจะดูเคร่งขรึมจริงจัง
แต่ภายในก็มีหัวใจเหมือนคนทั้งหลายในโลก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้า CEO จะสนใจเรื่องความรัก

ผมอ่านหนังสือหาข้อมูล และสอบถามผู้รู้ด้วยความสงสัยว่า
ทำไมหนุ่มสาวบางคนได้พบกันครั้งแรก
แต่ไม่รู้สึกแปลกหน้า
กลับคลับคล้ายคลับคลาว่ารู้จักผูกพันมาเนิ่นนาน
นั่นก็แสดงว่า ได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตั้งแต่อดีตชาติ
ส่งผลให้เกิดอาการรักแรกพบในชาตินี้
ส่วนผู้ที่พอพบหน้าก็รู้สึกไม่ถูกชะตา
แม้ว่าจะมีเวลาอยู่ด้วยกันนานเท่าใด
ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน
เข้าข่ายยิ่งใกล้ยิ่งเกลียด คาดว่า
คงจะเป็นเพราะมีความโกธรแค้นฝังแน่น
ต่อเนื่องมาจากชาติภพก่อนๆ
บางคนเราเจอแล้วถูกใจมาก
อยากจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งเพิ่มขึ้น
แต่จีบอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ประเภทนี้ถือว่า
"มีบุญแต่ไร้วาสนา"
คงจะทำบุญร่วมกันมาไม่มากพอ
ภาษาไทยเรามีคำศัพท์ที่คุ้นเคยอยู่ทั่วไปคือคำว่า
"คู่บุญ-คู่กรรม" คนสองคนที่มาพบกันโดยบังเอิญ
และครองรักอย่างเป็นสุขจนตายจากกันอย่างนี้เรียกว่า
"คู่บุญ" หรือ "คู่สร้างคู่สม"
คือคู่ที่สร้างสมบุญบารมีร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน
"คู่กรรม" ไม่ได้หมายถึงโกโบริกับอังศุมาลิน
แต่เรียกย่อมาจาก "คู่เวรคู่กรรม"
คือคู่ที่ผูกเวรจองกรรมกันมาในอดีตภพ
ต้องมาทนทรมานชดใช้กรรมอยู่ด้วยกัน
จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมต่อกัน
ยังมีคู่ผูกพันอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า "คู่สัญญา"
ก็คือคู่ที่มีสัญญาใจต่อกันในอดีตชาติว่า
จะเป็นคู่ครองกันในชาติภพต่อไป
เพราะอาจจะมีอันเป็นไปเสียก่อน เช่น
จากอุบัติเหตุโรคภัย ไปรบในสงคราม
หรือมีอุปสรรคกีดกันต่างๆ
ที่ทำให้ไม่สมหวังในความรัก
ก็จะตั้งจิตอธิฐานมุ่งมั่นขอให้ได้อยู่ครองคู่กันในอนาคต
คู่สัญญานี้ก็จะได้กลับมาพบกันอีก
แต่จะอยู่ร่วมกันได้นานแค่ไหน
ก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอื่นๆ
ประกอบและถึงแม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนจีรัง
แต่ก็ไม่ได้สร้างความทุกข์ทรมานต่อกัน
เช่นเดียวกับประเภท "คู่เวรคู่กรรม"
ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องงมงาย
แต่มันอธิบายเหตุผลได้ยากจริงๆ ว่า
ทำไมผู้หญิงที่เพียบพร้อมบางคน
ถึงได้เลือกผู้ชายที่ไม่ได้เรื่องมาเป็นสามี
และผู้ชายแสนดีบางคน
ต้องทนใช้ชีวิตคู่อยู่กับภรรยา
ที่ไม่เหมาะสมกันด้วยประการทั้งปวง

เรื่องแบบนี้ คำว่า "บุพเพสันนิวาส"
อธิบายได้ดีกว่าวิชา "วิทยาศาสตร์"
แต่ก็มีบางเรื่องที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถไขความลับของธรรมชาติ
ที่ชวน สงสัย อย่างเช่นเรื่อง "7 YEARS ITCH" เป็นต้น

อาการ "7 YEARS ITCH" แปลตรงๆ ก็คือ
อาการ "คัน" หลังจากอยู่กันมาครบ 7 ปี
เป็นความรู้สึกกระวนกระวายอยากลิ้มลองของแปลกใหม่
เพราะเบื่อหน่ายรสชาติเก่าๆ เขาว่ากันว่า
พฤติกรรมนอกใจคู่สมรส
จะมีแนวโน้มเกิดขึ้นสูง ตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ วิทยาศาสตร์อธิบายว่า
เมื่อเราพบเจอคนที่ถูกใจ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีตัวหนึ่ง
ซึ่งช่วยสร้างอารมณ์แห่งความรักใคร่ถวิลหา
สารเคมีตัวนี้จะออกฤทธิ์อยู่นานประมาณ 5-7 ปี
และค่อยๆ เสื่อมลงไปจนไม่เหลือหลอ

สารเคมีนี้ จะมีอิทธิพลให้เกิดความสุขยามที่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน
ถึงขนาดรู้สึกว่ากลิ่นตัวของอีกฝ่ายหนึ่งหอมหวนยั่วยวนใจเป็นอย่างยิ่ง
แต่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ความรู้สึกหลงใหลจะค่อยๆจางคลายลง
จนกลิ่นหอมนั้นก็ดมไม่เจออีก
ต่อให้ใส่น้ำหอมราคาแพงแค่ไหน
ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

มีเรื่องเล่าว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งได้รับโถแก้วคริสตัล
เป็นของขวัญวันแต่งงาน ทั้งสองตกลงกันว่า
เมื่อมีเพศสัมพันธ์กันหนึ่งครั้ง
ก็จะหยอดลูกแก้วลงไปในโถแก้วหนึ่งลูก

ไม่นานนัก โถแก้วก็เต็มจนแทบจะล้น
ทั้งสองจึงเปลี่ยนกติกาใหม่ว่า
ถ้ามีเพศสัมพันธ์กันหนึ่งครั้ง
ก็จะหยิบลูกแก้วออกจากโถแก้วหนึ่งลูก
ปรากฏว่า อยู่กันมาจนเสียชีวิตก็ยังหยิบออกไม่หมด!

คู่ที่ข้ามพ้นอาการ 7 YEARS ITCH ไปได้
ก็เพราะมีลูกเป็นโซ่ทองมาคล้องใจ
เปลี่ยนจากอารมณ์พิศวาสมาเป็นความอาทรห่วงใยกัน
ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบครอบครัว
มากกว่าความโรแมนติคแบบหนุ่มสาว

แม้ว่าความรักจะเป็นอนิจจัง
ไม่ได้คงทนถาวรชั่วฟ้าดินสลาย
แต่ผมก็ไม่อยากให้ผู้คนหวาดกลัวความรัก
ตามอย่างที่พูดกันทั่วไป "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

คนที่มีทุกข์เพราะความรัก
เกิดจากความอยากจะครอบครอง
อยากจะเอาชนะ อยากจะสนอง
แต่ความต้องการของตนเอง
กลัวการถูกปฏิเสธเพราะกลัวจะเสียหน้า
แต่ถ้าเราเชื่อว่า "ความรักคือการให้"
เช่นเดียวกับที่พ่อแม่สุขใจเมื่อให้ลูก
โดยไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน ก็ไม่มีสิ่งใดจะเป็นปัญหา....."

ไม่ว่าจะเป็น CEO หรือลูกน้องธรรมดา
ก็หนีไม่พ้นปัญหาความรัก
ถ้ารู้แจ้งในความจริงแห่งความรัก
ก็จะเกิดสติและอาจเห็นด้วยกับคำกล่าวของ
Pierre Reverdy กวีเอกชาวฝรั่งเศส (ค.ศ.1889-1960)
ที่ว่า there is no love ; there are only proofs of love
(สิ่งที่เรียกว่าความรักนั้นไม่มี จะมีก็แต่สิ่งที่พิสูจน์ความรัก)


ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11639