พิชามญชุ์
สกุลไทย
ฉบับที่ 2756 ปีที่ 53
ประจำวันอังคาร ที่ 14 สิงหาคม 2550
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=5742&stissueid=2756&stcolcatid=1&stauthorid=2
จากผลงานภาพถ่ายที่ปรากฏต่อสาธารณชนในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครปฏิเสธได้ถึง "ความชัดเจน" ในผลงานภาพถ่ายของ "เดโช บูรณบรรพต" ช่างภาพระดับเกียรตินิยมจากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร และรางวัลการันตีทั้งในและนอกประเทศอีกมากมาย แต่สำหรับตัวตน ชีวิตและการทำงานของเขา เบื้องหลังความงดงามน่าประทับใจของภาพถ่ายที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
เดโช บูรณบรรพต ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในแวดวงการถ่ายภาพของเมืองไทยมาเนิ่นนานหลายสิบปี ทั้งในฐานะช่างภาพมือรางวัลที่ชนะการประกวดถ่ายภาพมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะผลงานภาพถ่ายที่โดดเด่นจนสามารถสอบผ่านเกียรตินิยมระดับโลก ARPS และ FRPS ของสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Photographic Society of Great Britain) ซึ่งถือว่าเป็นสมาคมที่เก่าแก่กว่า ๑๕๐ ปี และได้รับการกล่าวขวัญว่าสอบผ่านยากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือเกียรติยศสูงสุดเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ติดตามบันทึกภาพพระราชกรณียกิจในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน
ถ้าเรานิยามเกียรติประวัติข้างต้นเป็นความสำเร็จในชีวิตก็อาจจะไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก แต่ เดโช บูรณบรรพต กลับเห็นตรงกันข้าม
"คงไม่ใช่ ผมถือง่าย ๆ ว่าตราบใดที่ผมยังแข็งแรง การถ่ายรูป คือ การได้ออกกำลัง ไปเที่ยว มันมีความสุขนะครับ ผมอาจจะตั้งเป้าชีวิตน้อยไป ผมใช้ชีวิตสบายเกินไป ผมอยากทำอะไรก็ทำ ไม่ได้ยึดติดกับอะไรมากเกินไป"
เดโชเริ่มถ่ายภาพเมื่ออายุ ๘ ขวบ จากกล้องถ่ายรูปฟูจิก้า ฮาล์ฟเฟรม ซึ่งเป็นกล้องตัวแรกในชีวิตที่ได้รับจากคุณพ่อ ทั้งนี้ได้รับอิทธิพลในเรื่องการถ่ายภาพมาจากคุณพ่อซึ่งมีความชื่นชอบการถ่ายภาพอย่างมาก
"ตอนเด็กๆผมอยู่ที่จังหวัดนครปฐม คุณพ่อผมเป็นหมอ แต่ชอบถ่ายรูปมาก แล้วก็เล่นกล้องมาตลอด พออายุ ๘ ขวบ คุณพ่อผมก็ซื้อกล้องให้ ตอนนั้นเรายังเด็กก็ถ่ายเพื่อนอย่างเดียว สมัยก่อนฟิล์มม้วนหนึ่งถ่ายได้ ๙๒ รูป ใช้เวลา ๖ เดือน กว่าจะหมดม้วน ตอนนั้นค่าล้างอัดก็แพงมาก แต่คุณพ่อก็ล้างอัดให้เอง ตอนนั้นเราถ่ายรูปก็ไม่มีหลักวิชาอะไร ก็ดูคุณพ่อ ดูจากหนังสือ เพราะที่บ้านมีหนังสือรูปเยอะ"
เดโชจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท หลังจากนั้นจึงสอบเข้าเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการถ่ายภาพกับชมรมถ่ายภาพจุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง
"บรรยากาศของชมรมถ่ายภาพตอนนั้นก็ดีครับ รุ่นพี่ก็กระตือรือร้น มีการถ่ายภาพกิจกรรมของนิสิต เราก็ไปรวมหัวกันแล้วก็ไปถ่ายรูปมา รูปที่ได้ก็เอามาติดที่ชมรม เพื่อนๆ ก็มาสั่งรูป ชมรมก็ได้เงิน มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ ซื้ออุปกรณ์ห้องมืดมาใช้บ้างเพราะว่าชมรมต้องเลี้ยงดูตัวเองพอสมควร เพราะทางสโมสรนิสิตฯ ก็มีงบจำกัดมาก สมัยนั้นผมก็รับงานถ่ายรูปบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ พอได้ค่าขนม ไปถ่ายรูปแต่งงานบ้าง รุ่นพี่รับปริญญาเราก็ไปถ่ายให้ แต่เราถ่ายตามใจเรานะครับ เขาสั่งเราไม่ได้หรอก เราถ่ายตามใจตัวเอง"
ในช่วงที่ศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นช่วงที่ได้ฝึกฝีมือการถ่ายภาพ จากสมาชิกชมรมถ่ายภาพ มาเป็นประธานชมรม และได้มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวดในระดับนิสิตนักศึกษาจนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทภาพถ่ายขาว-ดำ และได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒ ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญเงินจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทภาพถ่ายขาว - ดำจากการประกวดระดับประชาชนทั่วไป
"ภาพที่ผมส่งเข้าประกวดในระดับนิสิตฯจนได้ถ้วยพระราชทาน มี ๒ ภาพ ภาพแรกเป็นภาพภรรยาผม เป็นภาพพอร์ตเทรต ถ่ายตอนที่เขากำลังอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธสุดขีด กำลังงอนเต็มที่ มีกรรมการท่านหนึ่งวิจารณ์ว่ารูปนี้ถ้าไม่ให้รางวัล คนในรูปอาจจะออกมาฟาดเราได้ (หัวเราะ) ความโดดเด่นของภาพคือการจับอารมณ์ได้ คือการถ่ายภาพพอร์ตเทรต สิ่งสำคัญ คือ การจับคาแร็คเตอร์หรืออารมณ์ของแบบให้ได้ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพคนกำลังหยอดน้ำมันรางรถไฟ ผมเดินไปถ่ายแถวสถานีรถไฟบางกอกน้อย ภาพนั้นใช้โพรเซส (Process) ห้องมืด ซึ่งทำยากมาก ในระดับนิสิตนักศึกษาน่าจะไม่เคยมีมาก่อน
ตอนที่ผมอยู่จุฬาฯ ในเรื่องรูปขาว-ดำ ผมก็เคยไปปรึกษา คุณไพบูลย์ มุสิกโปดก สมัยท่านทำงานอยู่ที่โกดัก ตอนนี้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติด้านการถ่ายภาพ ผมก็ไปปรึกษาท่านเกี่ยวกับเรื่องการตัดส่วนรูป การดูโทนของรูป ความเข้มของรูป แล้วก็เรียนทางด้านโพรเซสห้องมืดจาก คุณอุดมศักดิ์ ตันติเมธ ท่านก็ดี สอนให้หมด จากนั้นก็ศึกษาเรื่องการอัดรูปจาก คุณไพบูลย์ ศิลปงามเลิศ คุณหว่อง จีเส่ง ก็สะสมความรู้มาเรื่อยๆ แต่สำคัญคือเราต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพเยอะเหมือนกัน เรื่องเทคนิคต่างๆ ส่วนใหญ่จะศึกษาเองได้เยอะ เพราะเมืองไทยเรามันเหมือน?ลักจำน่ะ ส่วนใหญ่ก็สอน ๆ กันมาแต่สอนไม่หมด บางทีคนสอนก็บอกว่าต้องทำอย่างนี้ แต่จริงๆ รู้ไม่หมด พอถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าต้องทำอย่างนี้ เมื่อเราอยากทราบเราก็ต้องไปอ่าน ไปศึกษาเอา โชคดีที่ภาษาอังกฤษของผมดีพอสมควร ก็เลยไม่มีปัญหาในเรื่องการหาความรู้"
จากการศึกษาเทคนิคในการถ่ายภาพจากผู้รู้และการค้นคว้าด้วยตนเอง ทำให้ฝีมือในการถ่ายรูปพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถสอบผ่านได้รับเกียรตินิยม ARPS และ FRPS ของสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักรเมื่ออายุเพียง ๓๖ ปี และเป็นคนไทยหนึ่งในหกที่ได้รับเกียรตินี้
"การสอบนี้เขาจะมีปีละ ๒ ครั้ง ในการสอบนี้ ก่อนอื่นเราต้องสอบ ARPS ให้ได้ก่อน เมื่อสอบได้แล้ว เราก็ส่งภาพชุดใหม่ไปสมัครสอบในระดับ FRPS การสอบของเขาจะไม่เหมือนเมืองไทย ของเราจะมีกรรมการ ๕ คน ถ้าได้คะแนนเสียงข้างมาก อาจจะเป็นสามในสี่ หรือสองในสามก็ผ่าน สมมติเราส่งไป ๑๘ รูป ถ้าผ่านสองใน สามก็ถือว่าได้ แต่ของเขามีกรรมการ ๙ คน ต้องให้เป็นเอกฉันท์ คือ บางทีเราส่งรูปไป บางรูปสวยมาก แต่รูปนั้นอาจจะโดดเด่นมากเกินไปในชุดนั้น ฝรั่งถือว่าฟลุคนะครับ เขาตัดออกเลย เหมือนตัดสินบัลเล่ต์หรือยิมนาสติก คะแนนต่ำสุดกับสูงสุด เขาไม่นับ และถ้ากรรมการคนเดียวยกมือไม่ให้ก็ตกเลยครับ แล้วกรรมการของเขาก็ล็อบบี้ไม่ได้เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขาเชิญใคร และเขาไม่เคยเชิญกรรมการซ้ำเลย ผมสอบผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้ได้ติดต่อกันภายใน ๖ เดือน ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยเราจะสอบในระดับ ARPS ได้เยอะ แต่ในระดับ FRPS ที่ยังมีชีวิตอยู่ เวลานี้มีอยู่ ๕ คน ตอนที่ผมสอบ FRPS ได้ เมืองไทยเราไม่ค่อยรู้สึกรู้สมเท่าไร เพราะต้องยอมรับว่ามันมีเรื่องศักดิ์ศรีค่อนข้างมาก แต่ทางฮ่องกงหรือสิงคโปร์เขาตื่นเต้นครับ เขาขอให้เราไปบรรยายที่นั่น ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ ตอนผมทำธุรกิจของผม มีอยู่ครั้งหนึ่งผมก็ไปเจอช่างภาพอังกฤษคนหนึ่ง อายุ 60 กว่าแล้ว ผมยื่นนามบัตรให้เขาซึ่งในนั้นก็ไม่ได้บอกว่าผมได้ FRPS พอเห็นชื่อผมเขาบอกว่าเขาจำชื่อผมได้ เขารู้ว่าผมได้ FRPS เขายืนมองหน้าผม แล้วก็ถามว่าผมอายุเท่าไร ตอนนั้นผมอายุ ๓๖ เขาส่ายหัวแล้วก็พาไปกินข้าวเลย เขาบอกว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่ที่จะได้ FRPS อายุจะประมาณ ๖๐"
จากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด ความโดดเด่นที่สุดประการหนึ่งในผลงานภาพถ่ายของศิลปินถ่ายภาพท่านนี้ก็คือภาพในแนว Pictorial ซึ่งหมายถึงแนวภาพที่เน้นความสวยงามและเรื่องราว ดูแล้วติดตา ประทับใจ
"เทคนิคของผมก็ไม่มีอะไรมาก ก็อยู่ที่การเลือกเครื่องมืออุปกรณ์ให้ดี จริงๆ แล้วกล้องอะไรก็ถ่ายรูปให้สวยได้ครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นงานสำคัญที่คุณพลาดไม่ได้เลย อุปกรณ์ช่วยได้เยอะ สมัยก่อนเวลาเราถ่ายรูป เราต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิค วัดแสงต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก่อนผมไปบรรยายเรื่องการวัดแสง ผมบอกว่าจะวัดแสงให้แม่นยำต้องทำอย่างนี้ๆ แต่หลังๆ ผมไปบรรยาย ผมจะบอกว่าไม่ต้องเลยนะ ถ่ายไปเลย มีคนยกมือประท้วงผมเต็มเลย แต่ก่อนคุณบรรยายคุณบอกว่าต้องสนใจเรื่องเทคนิคมากๆเลยนะ แต่ตอนนี้ทำไมคุณพูดอย่างนี้ ผมบอก ใช่ แต่นี่มันผ่านมา ๑๐ ปีแล้วนะ แต่ก่อนกล้องตัว ๒๐,๐๐๐ บาท ตอนนี้กล้องตัวละ ๕๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ คุณซื้อกล้องแพงขนาดนี้แล้วคุณยังไม่ใช้มันอีกหรือ ตอนนี้มันเก่งพอแล้ว กล้องมันฉลาดกว่าคนแล้ว ทำไมเราต้องย้อนกลับไปที่เทคนิคล่ะ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ กล้องทำให้เรา ส่วนที่เหลือผมก็เอามาบอกคุณหมดแล้ว ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการถ่ายรูปก็ คือ ดูจังหวะให้ดี ต้องคิดล่วงหน้า บางทีมุมนี้ไม่ได้ ก็วิ่งไปอีกหน่อย อย่างตอนที่ถ่ายภาพพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารครูปนี้ ช่างภาพตั้งขาตั้งกันเต็มเลย เพราะมืดแล้ว ผมเดินไปถึงก็...แชะ แล้วก็แชะอีก พวกที่ตั้งขาตั้งบอกว่า พี่เดโช ไม่ใช้ขาตั้งเหรอ มือเที่ยงขนาดนั้นเลยเหรอ ผมก็บอกว่าใช้ทำไม เรือไม่ได้อยู่นิ่ง สปีดตั้ง ๖๐ มือคุณถือไม่ได้เหรอ แต่รูปนี้ถ่ายยากนะครับ คุณดูช่องไฟ ช่องไฟต้องลงพอดี ถ้าหัวเรือไปลงที่มืด มันก็ไม่เห็นหัวเรือ ทุกอย่างต้องคิดและวางแผนก่อนที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรารอให้เรือมาถึงตรงนี้ก็ถ่ายไม่ทันแล้ว มันต้องไม่ใช้ขาตั้ง พอผมคอมเมนท์ ทุกคนเก็บหมดเลย ผมบอก เก็บทำไม (หัวเราะ) อีกอย่าง ผมไม่ใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อป โฟโต้ช็อปเป็นโปรแกรมที่อันตรายเพราะว่าทุกอย่างที่คุณทำขึ้นมา บางครั้งมันเกินจากที่ของจริงมันมีอยู่ มันเป็นของไม่จริง เพราะฉะนั้นผมจะไม่ใช้เลย"
นอกจากความสามารถในด้านการถ่ายภาพแล้ว ช่างภาพมืออาชีพท่านนี้ยังสวมหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะเจ้าของธุรกิจถ่ายภาพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ถ่ายภาพหลายสิบยี่ห้อภายใต้ชื่อบริษัทโฟโต้ ซีสเทมส์ จำกัด บริษัทอิมเมจ ซีสเทมส์ จำกัด และบริษัทแอดวานซ์ โฟโต้ ซีสเทมส์ จำกัด แม้ว่าจะมีภารกิจมากมายในการทำงานแต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอคือการออกไปร่วมกิจกรรมถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มเพื่อนรู้ใจ
"เวลาไปถ่ายรูปในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะประมาณ ๗-๑๐ วัน ข้อสำคัญคือเราต้องมีกลุ่มถ่ายรูปที่ถูกใจกันพอสมควร ไม่กั๊กกันเอง ไม่เห็นแก่ตัว ไปกับคนที่เป็นเพื่อนเราได้ ผมว่าเวลาไปถ่ายรูป ไปคนเดียวหรือสองคนมันเหงาน่ะครับ แต่ถ้าไปกันหลายคนมันก็จะได้ไอเดียที่แปลกแตกต่างไป
วิธีการทำงานของเราก็คือวางแผนก่อนว่าจะไปฤดูไหน อากาศช่วงไหนดีที่สุด คือไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป ก่อนไปเราก็ต้องศึกษาว่าแสงสวยประมาณกี่โมง การถ่ายรูป ไม่เหมือนวาดภาพ การวาดภาพนี่ถ้าเราไม่ชอบตรงไหนเราก็ตัดออกไปได้ ส่วนไหนเราชอบเราก็เน้นเข้าไป แต่การถ่ายภาพ เห็นปั๊บ ถ้าคุณไม่ได้ถ่ายไว้ ก็ผ่านไปแล้ว ถ้าคุณเห็นภาพนั้นด้วยตาเปล่าแล้วแปลว่าคุณไม่ได้ถ่ายแล้ว
ผมเป็นคนที่มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ว่า ผมเป็นคนมีความอดทนต่ำมากเลย ผมไม่ชอบถ่ายรูปธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง อย่างเขาไปซุ่มโป่ง ถ่ายรูปนก เฝ้ารังนกรังหนึ่ง แล้วก็รอถ่ายเวลานกป้อนอาหารลูก อย่างนี้ผมไม่เอาเลย แต่ถ้านกบินผ่านผม ผมถ่ายทัน แต่ถ้าไปซุ่ม ผมไม่เอา ผมบอก คนไหนถ่ายเก่งก็ถ่ายไป ผมไม่เอา แต่ถ้าไปสถานที่ซ้ำ ไปได้ เพราะทุกครั้งที่ไปผมก็จะหามุมมองใหม่ถ่าย แต่ถ้าให้ไปถ่ายอะไรที่ไม่เคลื่อนไหวเลย ไม่เอา หรือแม้แต่เวลาที่ผมถ่ายรูปคน ผมก็ถ่ายเสร็จเร็วมาก คุณเห็นผมถ่ายแล้วคุณจะกลุ้มใจ ไปถึงก็แชะ แชะ เรียกว่าผมถ่ายรูปหาเงินไม่ได้นะครับ ลูกน้องผมยังบอกเลย"
การถ่ายภาพบุคคลครั้งหนึ่งในชีวิตที่นับว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูงก็คือ
การได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เดินทางไปฉายพระรูป เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก ที่ราชอาณาจักรภูฏานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
"พระองค์ท่านมีพระราชอัธยาศัยที่ดีมาก แต่ปัญหามีอยู่ว่ามีช่างภาพไปถ่ายภาพพระองค์ท่านหลายคน แต่พระองค์ไม่โปรดถ่ายรูป แต่รูปต้องใช้เพราะต้องใช้ในการทำแสตมป์ ทำธนบัตร เพราะว่าเปลี่ยนกษัตริย์ และปีหน้าก็จะทรงมีพิธีบรมราชาภิเษก ตามกำหนดการเราจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อฉายพระรูปแค่ครั้งเดียว เพราะว่าราชเลขาฯบอกว่าจะมีโอกาสฉายพระรูปครั้งเดียวเท่านั้น แต่พอได้เข้าเฝ้า พระองค์ท่านมีพระราชอัธยาศัยที่ดีมาก เราก็ฉายพระรูปพระองค์ท่านแบบสบายๆ ให้พระองค์ท่านทำพระองค์ตามสบาย แล้วเราก็จับจังหวะเอาเอง บางครั้งก็ทูลขอให้ทรงย้ายมาประทับตรงนี้ได้ไหมเพราะแสงสวยกว่า ก็ทรงย้ายมา พอประทับปั๊บ พระองค์ท่านก็ยังมีรับสั่งกับเราอยู่เลย เราก็ถ่ายไปเรื่อยๆ พอถ่ายวันแรกเสร็จ รับสั่งชมว่ายูนี่ถ่ายรูปสนุกนะ ถ่ายรูปง่าย ไม่รู้เลยว่ายูถ่ายรูปอยู่ เราก็ถวายรูปให้ทอดพระเนตร ตามกำหนดการเราไปทั้งหมด ๕ วัน วันฉายพระรูปวันแรก ที่เหลือคือเที่ยว ไปๆมาๆ เราไปฉายพระรูปทั้ง ๕ วันเลย ทั้งเช้าทั้งเย็น พอฉายพระรูปเสร็จแล้ว เราก็กราบพระบาทท่าน กราบกับพื้น แล้วทูลว่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมได้ฉายพระรูปถวายหมดแล้ว ท่านก็ตรัสอย่างสนุกสนานว่า It's my turn ทรงถ่ายภาพทีมงานเรา เพราะจริงๆ แล้วพระองค์ท่านโปรดการถ่ายภาพ เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมาก"
ยิ่งไปกว่านั้น การทำหน้าที่ช่างภาพที่น้อยคนจะมีโอกาสได้รับและถือเป็นเกียรติสูงสุดของ เดโช บูรณบรรพต ก็คือการได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทในการติดตามบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน
"ทุกครั้งเวลาที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศ จะมีช่างภาพไปคนเดียว เมื่อมีคนเดียว ถ้าคุณถ่ายเสีย ก็เสียเลย ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องไม่ให้ภาพเสีย ต้องไม่ให้พลาด อุปกรณ์ทุกอย่างต้องเตรียมให้ดี สมัยที่ยังใช้ฟิล์ม ใช้ประมาณ ๔๐๐ ม้วน พอใช้กล้องดิจิทัลจะใช้ประมาณ ๑๖๐ กว่ากิกกะไบต์ นอกจากไม่ให้พลาดแล้วก็ต้องไม่ทำตัวเด่น การเก็บภาพทุกอย่างเราต้องนิ่งพอ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีข้อจำกัดอะไรมาก แล้วแต่พิธีทางการทูตของแต่ละประเทศซึ่งเขาจะอนุญาตให้เราเข้าได้หรือเข้าไม่ได้ยังไง อันไหนถ่ายได้ถ่ายไม่ได้ เขาก็จะมีกฎของเขาอยู่ ซึ่งพระองค์ท่านก็จะรับสั่งเสมอว่าถ่ายภาพเท่าที่ได้ ไม่ใช่ว่าเราตามเสด็จแล้วเราต้องได้พิเศษกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นความสามารถที่ว่าจะได้รูปที่พิเศษหรือไม่ได้ อยู่ที่ตัวเราแล้ว การตามเสด็จ เราต้องถ่ายภาพทุกอย่าง ถ่ายภาพพระองค์ท่าน ถ่ายให้สวย ถ่ายเรื่องราวต่างๆ ให้ครบ ถ่ายบรรยากาศรอบๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น พระองค์ท่านมีพระเมตตาสูงมากในการที่จะให้ข้าราชบริพารทุกคนได้มีโอกาส ได้ศึกษา ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น ความที่เป็นช่างภาพ เวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ที่ไหน เราก็ได้ตามเสด็จด้วย ผมเองเคยไปเที่ยวพระราชวังแวร์ซายส์มา ๓ ครั้ง แต่แวร์ซายส์ที่เราเคยเห็นกับแวร์ซายส์ที่เขาเปิดให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร เหมือนไม่ใช่วังเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีมากครับ เพราะสถานที่นั้นเขาติดป้ายตั้งแต่ปากประตูแล้วว่าห้ามถ่ายรูป แต่ครั้งนั้นผมถ่ายภาพเกือบตลอดเวลา จนกระทั่งอุปกรณ์ทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว ผมต้องไปซื้อฟิล์มกับแบตเตอรี่ใหม่ พอกลับมาถึงโรงแรม ผมพบว่ามีแบตเตอรี่ AA อยู่ในตัวผม ๒๔ ก้อน ฟิล์มเบ็ดเสร็จแล้ว ๒๕ ม้วน เสื้อสูทของผม ข้างนอกก็ดูเรียบร้อยแต่ข้างในเต็มไปด้วยสิ่งของมากมายชนิดที่ว่าคุณต่อยผมไม่โดนก็แล้วกัน โดนแต่ฟิล์ม" (หัวเราะ)
ในชีวิตการเป็นช่างภาพที่ผ่านมา เขาผ่านการกดชัตเตอร์มานับครั้งไม่ถ้วน มีผลงานภาพถ่ายจัดแสดงนิทรรศการสู่สายตาผู้ชมไปแล้วหลายร้อยรูป และล่าสุดคือนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดขึ้นในงาน Paragon Electronica Showcase 2007 ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อถามถึงผลงานภาพถ่ายที่ภาคภูมิใจที่สุด คำตอบที่ได้รับคือ...
"ผมพูดเสมอว่าเราอย่ารักรูปของตัวเองมากเกินไป ถ้าเรารักรูปนี้ พอใจเป็นพิเศษกับรูปนี้ ก็เท่ากับงานของเราจบแล้ว เราไม่ก้าวหน้าแล้ว พอมีคนมาขอภาพไปจัดแสดง เราก็ให้แต่รูปชุดนี้เพราะเราภูมิใจมากเลย มีประโยชน์ไหมล่ะครับ บางทีผมว่ารูปนี้ผมชอบมาก แต่พอดูอีกสักพักก็เฉยๆ แล้วก็ไปถ่ายใหม่ ผมคิดว่าถ้าเรารักการถ่ายรูป เราถ่ายไปเรื่อยๆดีกว่า ถ้าเราภูมิใจหรือพอใจแล้ว งานของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เหมือนกับที่ฝรั่งเขาพูดว่ารูปที่ดีที่สุดนี่คือรูปที่เรายังไม่ได้ถ่าย
...สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป ถ้าเรายังมีแรงออกไปถ่ายรูปอยู่ อย่ามัวแต่งรูปอยู่เลยครับ ออกไปถ่ายรูปดีกว่า สนุกกว่า ได้ศึกษาชีวิตมากกว่า ได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรมากกว่าเยอะ บางคนถ่ายรูปมารูปหนึ่ง เกือบๆ ดี นั่งแต่งโฟโต้ช็อป แต่งอยู่นั่นแหละ แล้วเมื่อไรมันจะดีล่ะครับ ในเมื่อเริ่มต้นที่เกือบๆ ดี ก็ถ่ายให้ดี ศึกษาเทคนิคให้ดี แล้วถ่ายให้ดีตั้งแต่ต้น แล้วก็ไม่ต้องมานั่งแต่ง ผมก็คิดนะครับว่าวันหนึ่งผมอาจจะต้องใช้โฟโต้ช็อป แต่นั่นต้องเป็นเมื่อผมแก่จนเดินไปถ่ายรูปไม่ไหวแล้ว"
แม้จะมีผลงานการถ่ายภาพมาแล้วมากมาย และได้รับการกล่าวขวัญถึงความสำเร็จแต่ชีวิตทุกวันนี้ของ เดโช บูรณบรรพต ก็ยังคงมีความสุขกับถ่ายภาพ กับทัศนคติในการใช้ชีวิตที่น่าสนใจทีเดียว
"ผมยังชอบการถ่ายรูปอยู่ ถ้าเลิกชอบเมื่อไรก็ไม่ถ่าย แต่ตอนนี้ยังชอบอยู่ ชอบที่จะได้ไปอยู่ในที่ที่ เรา?ถ้าบอกให้เราไปเที่ยว เราก็คงไม่ไป แต่บางที่เห็นแล้วอยากไปถ่ายรูปนะ ไม่ได้อยากไปเที่ยว บางแห่งที่ผมเคยไป อย่างเมืองอาป้า ใกล้ๆกับทิเบต ตกลงกันเรียบร้อยว่าพักโรงแรมชั้นหนึ่ง ห้องน้ำดีหมด เพราะหลายคนก็กลัวเรื่องห้องน้ำ ปรากฏว่ามีปัญหาอย่างเดียวครับ ไม่มีน้ำ น้ำแข็งตัวหมดเพราะหนาวจัดแล้วเราก็อยู่แบบไม่มีน้ำ ๕ วันเต็มๆ ก็ไม่เห็นมีใครบ่น ทุกคนก็มีความสุขดี
ผมถืออย่างหนึ่งว่าถ้าหาเงินมาได้ แล้วมีโอกาสไปเที่ยวก็ไปซะ ผมเคยไปเที่ยวกับภรรยาที่สวิตเซอร์แลนด์ (The Matterhorn) ไปเที่ยวภูเขา ไปเจอผู้หญิงแก่คนหนึ่ง เป็นคนสวิส ถือไม้เท้ามา เราก็นั่งรถกระเช้าขึ้นไป ๓ ต่อ พอเปลี่ยนรถกระเช้าทีก็ช่วยพยุงแกเดิน พอขึ้นไปถึงขั้นสุดท้าย กำลังจะเข้าสถานี แกก็มองยอดเขา มันเด่นมาก สวยมาก แกบอกว่าแกพอใจที่สุดในชีวิตแล้วที่ได้มาที่นี่ แกสมหวังแล้ว แล้วก็คุยให้เราฟังว่าแกเก็บเงินมาตลอดเพื่อจะมาเที่ยวที่นี่ แต่แกก็ทำใจขึ้นมาไม่ได้สักทีเพราะค่ารถกระเช้ามันแพงมาก แค่กระเช้าขึ้นไปก็ประมาณ ๔-๕ พันบาท ตอนนั้นแฟนผมยังไม่ยอมขึ้นเลยนะครับ เขาบอกว่ายืนอยู่ตรงนี้ก็เห็น แต่ผมบอกว่ามันไม่เหมือนกันหรอก เราขึ้นไปดูข้างบน พอไปถึงสถานีข้างบน เราก็พาแกลง แกก็บอกว่าเหนื่อย จะไปนั่งพักที่เก้าอี้นั่นก่อนแล้วจะไปเดินดูสวน ผมก็บอกว่าผมเป็นคนชอบถ่ายรูป ผมจะไปถ่ายดอกไม้ป่าทางนี้ ผมเดินห่างไปสัก ๒๐๐ เมตรได้ เสียงรถหวอมาเลยครับ ผมเดินกลับมาดูแก แกตายแล้วครับ
ผมเจอคนแก่เสียชีวิตวันนั้นแล้วผมรู้สึกว่าชีวิตมันก็แค่นี้ อย่างที่พระสวดน่ะถูกต้องแล้ว เห็นๆ กันอยู่เมื่อวาน วันนี้ก็ตายเสียแล้ว มันทำให้ผมไม่อยากยึดติดกับอะไรมากเกินไป ผมอาจจะตั้งเป้าชีวิตน้อยเกินไป แต่ถ้าผมย้อนกลับไปผมก็คงทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตนี้คุณอยากทำอะไร ทำเถอะ คุณไปเที่ยวตอนที่คุณยังมีแรง แล้วทำในสิ่งที่คุณอยากจะทำ เพราะคุณไม่รู้ หรอกว่าอายุสุดท้ายของคุณคือเท่าไร"
ภาพถ่ายจากฝีมือของ เดโช บูรณบรรพต คือ งานเบื้องหน้าที่ปรากฏให้เราพบเห็นและชื่นชม และดูจะเป็นข้อบ่งชี้บางประการถึงช่างภาพผู้กดชัตเตอร์อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายเหล่านี้ว่า นี่คือผลงานของคนที่ทำงานหนัก มีความมุ่งมั่นและชัดเจนในตัวตน ในเป้าหมายและในการใช้ชีวิต...เช่นเดียวกับภาพถ่ายของเขานั่นเอง
เขาทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยถ้อยคำเดียวกับในหนังสือ "My Digital Way, สาระภาพ สาระรูป" ที่พิมพ์ขึ้นในงานParagon Electronica Showcase 2007 ว่า
"ขอให้ยิ้มมาก ๆ แล้วสนุกกับการถ่ายภาพ นะครับ"