Custom Search

Jan 2, 2008

คาถาแก้ปัญหา

"หนุ่มเมืองจันท์"
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่ม 10

มติชนสุดสัปดาห์


คาถาแก้ปัญหาในงานเลี้ยง
นักเขียนของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
มีรุ่นน้องคนหนึ่งที่ไม่เจอกันมานานเดินมาคุยด้วย
เขาบอกว่าอยากเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังมานานแล้ว
เป็นเรื่องที่บทสัมภาษณ์ของผม
ในนิตยสารอิมเมจเมื่อประมาณ 1-2 ปีก่อน
"ตอนนั้นหนูกำลังมีปัญหาใหญ่มากไม่รู้จะแก้อย่างไร

พอดีได้อ่านที่พี่บอกว่าปัญหาในโลกนี้มีอยู่ 2 อย่าง
คือ
ปัญหาที่แก้ได้และแก้ไม่ได้ ให้แก้ไขปัญหาที่แก้ได้ก่อน
อ่านแล้วคลิกเลย ขอบคุณมากพี่"
พูดจบเธอก็จากไป ทิ้งไว้แต่อาการ "พองโต" ในอารมณ์ของผม



ไม่น่าเชื่อว่าแนวการแก้ไขปัญหา
แบบ "กำปั้นทุบดิน" จะได้ผลจริงๆ
แล้วคำพูดนี้เป็นของ
"น้าชาติ" พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของวรรคทอง "ไม่มีปัญหา"





ถือเป็นคำเก๋ไก๋ที่เอาไปใช้แนะนำพี่-เพื่อน-น้อง
เวลาที่ช่วยหาทางออกในชีวิตให้เขาไม่ได้
เป็นข้อสรุปที่คมคาย แต่เจ็บมือน่าดูเลย
ถ้าใช้ทฤษฎี "น้าชาติ" มาใช้ในการแก้ปัญหา
ปัญหาในโลกนี้ก็จะมีอยู่ 2 แบบ
คือ
ปัญหาที่แก้ได้
กับปัญหาที่แก้ไม่ได้

ถ้าใครสะสม "ปัญหา" เป็นงานอดิเรก
หากแยกแยะปัญหาเป็นหมวดหมู่ตามทฤษฎีดังกล่าว
เราก็จะเริ่มต้นนับ 1 ได้ว่าจะเริ่มแก้ปัญหาไหนก่อน
ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ก็อย่าไปพยายามดิ้นรนหาทางแก้ไข

เพราะอย่างไรก็แก้ไม่ได้อยู่แล้วเสียทั้งเวลา
และปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิมยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์
สู้เอาเวลามาใช้กับปัญหาในหมวดที่แก้ไขได้ดีกว่า

ถ้าทฤษฎีนี้น้องๆ ยังไม่เชื่อถือ
ผมจะเริ่มเอาธรรมะเข้าขย่มทันทีด้วยการแอบอ้าง
เรื่องของหลวงปู่ชา สุภัทโท ซึ่งอ่านมานานแล้ว

แต่แปลกที่พูดกี่ครั้งก็ไม่เหมือนเดิมสักที
ใจความสำคัญถูกต้องแต่รายละเอียดจะปรับแต่ง
ตามลักษณะของปัญหาและ
ตัวบุคคลเป็นธรรมะแบบ "ดิ้น" ได้

เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งมีคนที่มีปัญหาชีวิตหนักมาก
มาขอให้หลวงปู่ชาช่วยแก้ปัญหา

เขาเล่าเรื่องราวในชีวิตให้หลวงปู่ฟัง
เป็นปัญหาที่ใหญ่โตมโหฬาร โยงใยกันวุ่นวายไปหมด
อาจารย์ชานั่งฟังอย่างสงบนิ่ง
รอให้เขาระบายความทุกข์จนหมดแล้ว
ท่านก็ชี้นิ้วไปที่ก้อนหินก้อนใหญ่มากก้อนหนึ่งแล้วถามว่า
"โยมผลักหินก้อนนี้ไหวไหม"
โยมผู้มากด้วยปัญหา ส่ายหน้า
"ไม่ไหวครับ"
"แล้วก้อนนั้นล่ะผลักไหวไหม"

อาจารย์ชา
ชี้ไปที่ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งที่เล็กกว่าก้อนแรกครึ่งหนึ่ง
เขามองแล้วตอบทันที
"ไหวครับ"

หลวงปู่ชาจึงเริ่มเทศนาธรรมว่าหินก้อนแรก
ก็เหมือนกับปัญหาของโยม ผลักก็ไม่ไหว
เคลื่อนก็ไม่ได้
ถ้าเราพยายามแข็งขืนที่จะผลักต่อไปก็เหนื่อยเปล่า
เพราะมันใหญ่เกินกว่าแรงของเรา
แต่ถ้าปล่อยให้ฝนตก ลมพัด
หินก้อนแรกก็จะกร่อนลง
จนเหลือเท่ากับหินก้อนที่สอง
เมื่อนั้นถ้าเราผลัก
หินก้อนนั้นก็จะเคลื่อนตัวได้

"ปัญหาบางปัญหาคิดไปก็เท่านั้น ทุกข์ใจเปล่าๆ
เพราะมันยิ่งใหญ่เกินแก้ไขแต่ถ้าปล่อยไว้เวลาอาจช่วยได้
อาจมีตัวแปรอื่นมาช่วยทำให้ปัญหาเบาลง หรือเปลี่ยนไป
สุดท้ายเมื่อปัญหาอยู่ในระดับที่เราแก้ไขได้
เมื่อนั้นเราค่อยคิดแก้ปัญหา
"

ประโยคสุดท้าย
อาจารย์ชาไม่ได้เทศน์หรอกครับ ผมเติมเอง
คนเรานั้นชอบมองปัญหาแบบ
"หยุดนิ่ง"
คือ สภาพคงเดิมไม่แปรเปลี่ยน
คิดว่าขนาดของปัญหาเท่าไรก็เท่านั้น
รูปร่างแบบใดก็แบบนั้นความจริง

"ปัญหา"
ก็เหมือนคน
บางวันอ้วน
อีก 3 เดือนผอม บางวันหน้าใส
บางวันสิวขึ้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

และตัวแปรต่างๆ มากมาย
เพื่อนผมคนหนึ่งอกหัก สาบานกับผม
ที่ธรรมศาสตร์ว่าต่อไปนี้จะไม่รักใครอีกแล้ว

นอกจาก "ไก่" คนเดียววันนี้มันแต่งงาน 2 ครั้งแล้ว
มันอ้างว่าเพราะมันเป็นคนรักเพื่อน
และให้โอกาสเพื่อนเสมอแต่งงานครั้งแรก
เห็นว่าผมไม่ยอมไปร่วมงานก็เลย
ให้โอกาสเพื่อนอีกครั้งด้วย
การแต่งงานใหม่กับผู้หญิงอีกคน
ในขณะที่เราใช้ "ความเปลี่ยนแปลง" มาเป็น "ยาชา"
ในการแก้ปัญหาในมุมกลับ
บางครั้ง "ความเปลี่ยนแปลง"
ก็คือ "ปัญหา"
"ปัญหา"หนึ่งที่มีคนชอบมาคุยด้วยมากที่สุด คือ
เรื่องความเปลี่ยนแปลงมีทั้งจะลาออกดีไหม
จะไปเรียนต่อดีหรือเปล่าหรือ
การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

ผมเคยบอกน้องๆ ที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเสมอว่า
คนส่วนใหญ่กลัวความเปลี่ยนแปลง
เพราะแรงเสียดทานของ "ความเคยชิน"
เมื่อมี "สิ่งใหม่" เข้ามาในชีวิต
เราจะรู้สึกกลัวเหมือนที่เรากลัว "ผี"
กลัวในสิ่งที่ไม่เคยเห็น
กลัวในจินตนาการที่เสริมแต่งของเราเอง
ทุกคนลืมประวัติศาสตร์สมัยเด็กเมื่อเราเคยอยู่โรงเรียน
พอจะย้ายโรงเรียนก็เริ่มคร่ำครวญถึงความผูกพันในวันนั้น
รักเพื่อนหนักหนา
และต่อไปเราจะเจอกันทุกสัปดาห์เข้าโรงเรียนใหม่
ได้ไม่นานก็ปรับตัวได้
เจอเพื่อนกลุ่มใหม่
และเริ่มเหินห่างเพื่อนเก่าทั้งที่วันแรก
บางคนแสนจะเหม็นหน้าเพื่อนใหม่บางคนเหลือเกิน
และถวิลหาเพื่อนเก่าเหลือหลาย
แต่เพียงไม่กี่ปี แค่เจอ "เพื่อนเก่า"
ก็ไม่รู้จะคุยอะไรกัน
เพราะไม่เจอกันนาน"ปัญหา" ไม่หยุดอยู่กับที่

ความรู้สึกของคนก็เหมือนกัน
มันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
แต่คนส่วนใหญ่ "ขี้ลืม"

ลืมไปว่าทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง
เรามักจะกลัวมันก่อนเสมอ
แต่ผลสุดท้ายเราก็สามารถปรับตัวได้เมื่อน้องๆ มาปรึกษา
ก่อนจะถึงคาถาของ พล.อ.ชาติชาย
และหลวงปู่ชา
ซึ่งผมจะใช้เป็น "คำตอบสุดท้าย"

เมื่อไม่รู้จะขุดอุโมงค์ออกจากความมืดมิดอย่างไร
ผมจะแนะน้องๆ ให้มอง "ความเปลี่ยนแปลง"

ในแง่บวกรำลึกอดีตเล็กน้อย
เพื่อให้รู้เท่าทัน "ความเปลี่ยนแปลง"

ว่าความรู้สึกวันนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็น "ของโบราณ"
ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

เพียงแค่เปลี่ยนตัวละครและฉากใหม่เท่านั้นเอง
บางครั้งก็ตลก เพราะตัวละครซ้ำ

แต่ความรู้สึกเปลี่ยนผมเชื่อว่า
การคิดแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลง
ด้วยการไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
จะเสียเวลาและเสียแรงเยอะ
แทนที่จะพยายามฝืนโลกให้หยุดนิ่ง
สู้เอาเวลามาคิดว่าจะอยู่กับ
ความเปลี่ยนแปลงใหม่ให้มีความสุขได้อย่างไรดีกว่า

ผมชอบคำพูดที่ว่า
คนที่มีความสุข ไม่ใช่คนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

แต่คือคนที่ชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

และทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้น
ให้มองตัวเราก่อนอย่าเพิ่งชี้นิ้วไปที่คนอื่น

เพราะการแก้ปัญหาที่ตัวเองจะง่ายที่สุด คนอื่นเราเปลี่ยนเขายาก
แต่ตัวเรา เราเปลี่ยนได้ง่ายที่สุด
มื่อน้องๆ เริ่มพยักหน้ารับฟังผมก็จะตบท้ายว่าปัญหานี้เป็นของคุณ
"คุณต้องแก้เอง"


สุดท้ายใครที่มาปรึกษาก็จะออกไปแบบงงๆ
เพราะไม่ได้หนทางแก้ปัญหาเลย
แต่ถ้าใครหวนกลับมาอีกหนก็จะเจอคาถา
พล.อ.ชาติชาย
และหลวงปู่ชา
"ดูหินก้อนนั้นสิ..."