Custom Search

May 21, 2007

ผู้ชาย ‘นักเล่าเรื่อง’ …กับตัวหนังสือมีลักยิ้ม

ผู้จัดการรายสัปดาห์
14 กรกฎาคม 2548 15:44 น.


น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ “สรกล อดุลยานนท์”
นักเล่าเรื่องอารมณ์ดี “หนุ่มเมืองจันท์”
ที่ประจำการต่อเนื่องใน
“มติชนสุดสัปดาห์”มายาวนานกว่า 10ปี
จากเก้าอี้หลังโต๊ะหนังสือวันนี้เขาก้าวมาสู่อีกบทบาท
เบื้องหน้าจอโทรทัศน์ ในฐานะพิธีกร
คนเขียนสคริปรายการ
ในรายการ “มุมใหม่ไทยแลนด์”
เขาอาจจะไม่ดังระดับ “ชุปเปอร์สตาร์”
ในวงการนักเขียน แวดวงโทรทัศน์
แต่หากจะวัดจากแฟนคลับนักอ่านเขาน่าจะไม่ต่างอะไรกับ
“ธงไชย แมคอินไตย”
ที่มีแฟนทุกเพศทุกวัยติดตามอย่างเหนียวแน่น

รกล อดุลยานนท์
โลดเล่นในวงการน้ำหมึกในฐานะนักหนังสือพิมพ์
และผันตัวเองสู่งานเขียนที่เจ้าตัวให้คำนิยามว่าเป็น
“นักเล่าเรื่อง” ในคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
มติชนสุดสัปดาห์ ใช้นามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์”


ความดังเกรียวกราว วัดได้จากแฟนประจำที่นับอายุได้
มีตั้งแต่ 10 กว่าขวบไปจนถึง 70 ปี
แถมยังครอบคลุมกลุ่มผู้อ่านเกือบทุกอาชีพ
ไม้เว้นพระสงฆ์ ที่ๆได้มีการหยิบยก
บางข้อความเพื่อใช้ประโยชน์ในทางธรรม

แม้ความโดดเด่นของเขาจะเกิดจากการเล่าเรื่อง
ธุรกิจการตลาด คมคิดนักบริการและแนวให้กำลังใจ
โดยถ่ายทอดภาษาง่ายๆ สบายๆ
แต่มุกแพรวพราว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มุมมองการวิเคราะห์ข่าว
ชนิดเจาะลึกและเรื่องเล่าประเภท “Behind the scene”
ในแวดวงการเมืองผ่าน คอลัมน์ X คลูซีฟ
ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
กลับสะท้อนตัวตนในฐานะ
ความเป็นคนข่าวที่ครบเครื่องเป็นอย่างยิ่ง


ด้วยเหตุผลที่ว่า“Smart Job”
จึงเลือกสัมภาษณ์เขาเพื่อถ่ายทอดมุมมองและวิธีคิด


“สรกล” กล่าวว่า ถ้าถามถึงความยากง่ายในการเขียน
เขาบอกว่า X คลูซีฟ ง่ายกว่ามาก
เพราะมีฐานข้อมูลการเมือง นำมาเขียนวิเคราะห์
ใส่ความคมคายโดยไม่ต้องมีรอยยิ้ม เมื่อเทียบกับ
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ที่ต้องผ่านการปรุงแต่ง
ซึ่งการให้มีรอยยิ้มยิ้มมันจึงยาก

“แต่ที่ดูงานเขียนออกมาสบายๆ เพราะภาษาเลื้อยได้
ไม่ต้องวางโครงให้กระชับ แต่จริงๆ
การวางโครงสำหรับผมไม่ยาก
แต่การเลื้อยยากตรงที่จะให้อิ่มตอนไหน
ให้ตกตอนไหนอย่างไร….
ใครว่าเรื่องตลกเขียนง่าย…ยาก..ก..ก..มาก”


หากย้อนกลับไป ผมเริ่มเขียนคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเกือบ 10 มาแล้ว
กว่าจะรู้ใจผู้อ่านว่าชอบใช้เวลากว่า 2 ปี เริ่มต้นก็เขียน
รายงานธรรมดา จากนั้นเริ่มนำมุขขำต่างๆ เข้ามาใช้
ผสมผสานกับภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายตั้งแต่แรกทำให้งานลงตัว

อย่างตัวละครในงานเขียน ติ๊น อมร สมชาย เป็นการทดลองเขียน
ซึ่งเรื่องที่เขียนตรงกับโจ๊กของคนกลุ่มนี้
พอลองเขียนดูเล่นกับมัน คนอ่านชอบ ก็เขียนมาเรื่อยๆ
จากเรื่องจริงก็เป็นเรื่องแต่ง


เท่าที่สอบถามกลุ่มคนอ่าน บางคนชอบแนวการตลาด
หยิบไปใช้ในงานบ้าง บางคนต้องการขำๆ
บางคนชอบเรื่องของการให้กำลังใจ บางคนชอบแง่คิดในแง่บวกดีๆ
ซึ่งกรอบที่เขียนก็จะใช้ 3-4 เรื่องนี้หมุนเวียนกันไป


“วิธีการเขียน ไม่ได้หมายความว่าคนชอบการตลาดจะไม่ชอบอารมณ์ขัน
หรือชอบเหมือนกัน บางคนอาจไม่ชอบเลย
เป็นเหมือนวงทับซ้อนกันเป็นจุดๆ พอเรื่องการตลาด 2 ตอน
ก็เริ่มไปเขียนเรื่องตัวเองบ้าง บางทีก็มาเขียนแง่คิดคมๆ บ้าง
บางที่ก็มีกำลังใจให้บ้าง ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
บางคนฉบับนี้ไม่โดน ฉบับหน้ายังมีโอกาส”


เพราะการตลาดเขียนแล้ว มีแก๊กยิ้มๆได้ตลอด
บทสรุปตอนท้ายต้องจบด้วยที่คนอ่านยิ้มนิดๆ
มองโลกด้วยแง่ดี จบแบบหลับฝันดีอย่างนี้พอแล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องการตลาด อ่านแล้วต้องมีความสุนทรีย์อยู่ในใจ
ฉะนั้นการเหวี่ยงจะมีความทับซ้อน ไม่ใช่ปฎิเสธไปเลย
หรือเป็นเรื่องการตลาดยาว 4 ตอนรวด ความเก๋าเราเริ่มรู้จักจับจังหวะ


“ถ้าจะเปรียบงานของผมเป็นสีเหลือง ที่อยู่บนพื้นสีดำ
ก็คือหนังสือการเมือง จึงทำให้งานนั้นเด่นขึ้น
และการเขียนเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ ซึ่งไม่ค่อยมีใครเขียน
คนจะรู้สึกว่าเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องยาก
การเขียนที่นำมาอธิบายง่ายๆ
ผ่านการย่อยแล้วจึงเป็นความแปลกก็เหมือนกับ

อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์


-กับความคาดหวังของคนอ่านในแต่ละตอน
มันยากต่องานเขียนของเราในแต่ละครั้งไหม


“ความยากไม่รู้ว่าเขาคาดหวังหรือเราคาดหวัง
คนอ่านไปก็จะคาดหวังก็เหมือนเราอ่านงานของใครสักคน
ฉะนั้นคนอ่านก็มีอารมณ์นี้เหมือนกัน
ความคาดหวังแบบเมื่อก่อนคือหัวเราะไปเลยมันยาก
ที่จะทำให้หัวเราะทุกตอน จึงลดระดับลงมา เป็นแค่ยิ้มๆ “

ซึ่งบางครั้งอาจจะหัวเราะก็ได้ แต่อย่างน้อย แต่ละตอนต้องมียิ้มๆ
คือสร้างตัวเอง คิดว่าคนคาดหวังตรงนี้ เราก็ให้ตรงนี้


“ตอนแรกที่เขียนผมก็ไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายว่าใครจะอ่าน
เข้ามาเขียนตามภาระหน้าที่ แต่พอทำไปเริ่มสรุปได้ว่า
กลุ่มที่เข้ามาอ่านไม่ใช่เรื่องววสัยเพราะ
ครอบครลุมผู้อ่านทุกกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า
ถ้าเปรียบก็เหมือนการตลาดยุคใหม่ที่คนอายุ 20ปี
หรือ40 ก็มีเหมือนกันได้ ผมมองว่ามันเป็นกลุ่มรสนิยม”


-พอจะมีวิทยายุทธถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจบ้างไหม


“อธิบายยากนะ…เพราะเป็นความเรียงเรื่องทั่วไป
อย่างผมรู้อย่างเดียวว่าอารมณ์ขันบรรทัดสุดท้ายต้องขำ
ลูกจบตอนท้ายสำคัญ การวางโครงเรื่องเริ่มต้นกับสุดท้ายสำคัญ
เริ่มต้นต้องให้คนอยากติดตาม ลงท้ายต้องโดน
มีคนถามมาเยอะ ว่าอยากเป็นนักเขียนทำอย่างไร
ซึ่งผมชอบคำตอบพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์)
ว่าเขียนอะไรมาบ้างแล้ว ถ้าอยากเขียนก็เขียน
เพราะเขียนเราจะเห็นความผิดพลาด ถ้าไม่เขียนเราก็ไม่รู้อะไรเลย “


-ถ้าอยากเป็นนักเขียนได้อย่าง “สรกล” ล่ะ


ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ ขยาย เช่น
ทมยันตีเขียนนิยายแนวในฝัน ต่อมาเป็นกนกเลขา
เขียนแนวตลกๆ ของเหล่านี้ต้องมีทางเริ่มต้น
แต่ทางเริ่มต้นของผมคือ “สรกล”
เขียนสกู๊ป แล้วมาสู่หนุ่มเมืองจันท์


“ พื้นฐานการอ่านหนังสือเป็นส่วนสำคัญ สมัยเด็ก
พ่อรับหนังสือทุกชนิด ทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือมาก
เหมือนภาษามันเข้าไปในตัวเราแล้วมันออกมาเองโดยไม่รู้ตัว”


นอกจากนี้อาชีพการเป็นนักข่าว เพราะการทำข่าวหลักสำคัญ
คือการเล่าเรื่องให้ง่าย ข่าวที่ยากๆ เขียนให้คนเข้าใจ
ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับเรื่องมีไม่รู้จัก ไม่เข้าใจก่อน


“ถ้าย้อนกับไป สมัยเรียนก็มีส่วนช่วยได้มาก ผมเป็นทำกิจกรรม
ซึ่งมีการประชุมบ่อยมาก หลักคือการจับประเด็นในเรื่องที่ประชุม
พอเราจับประเด็นได้ รู้ว่าเรื่องสำคัญคืออะไรก้หยิบเรื่องนั้นขึ้นมา”


พอมาถึงขบวนการเล่าเรื่อง ถ้าอ่านมาเยอะ
มีคำศัพท์ในตัวเยอะ ก็สามารถใช้คำต่างๆ มาช่วยให้มันง่ายขึ้น


“อย่างบางคนเล่าเรื่องด้วยภาษาพูดเก่งมาก
เพราะภาษาพูดในตัวเขาเยอะมากที่จะถ่ายทอด
อย่างนักเขียนเขียนดี คนส่วนใหญ่คิดว่าจะพูดเก่ง
คนพูดเก่งอาจไม่ใช่คนเขียนดี"

-แล้ว “สรกล” ล่ะ พูดเก่งหรือเขียนเก่ง

“ผมว่าเขียนเก่งกว่านะ เพราะการเขียนมันได้เรียบเรียง
มีโอกาสรีไรท์ แต่พูดแล้วมันจบ ออกมาเลยหรือมาจากสคริปที่เราร่าง
มีคนเคยบอกว่าผมเขียนหนังสือ เหมือนเล่า เหมือนพูด
ใช้ภาษาพูดในการเขียน เป็นภาษาที่คนรุ่นใหม่ชอบ
ไม่ใช่เหมือนภาษาสมัยก่อนที่ครบถ้วนกระบวนความ
เอากริยาขึ้นก็ได้เป็นตัวเล่าเรื่อง”


-ถ้าเชื่อว่าเขียนเก่งกว่า ทำไมถึงมาจับงานพิธีกร


“หลายคนก็ถามว่าทำไมกล้าจังถึงไปทำรายการทั้งที่ไม่เคยทำ
ผมตอบว่าไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้ของผมทำให้กล้าถึงไปทำ
ซึ่งการเข้าไปทำก็เหมือนการเรียนรู้เพิ่ม”


ทุกวันนี้จัดรายการ 2วันคือวันอังคารกับพุธ ช่อง 11เวลา22.30น.


การทำงานตรงนี้ไม่แตกต่างจากงานข่าวที่ทำอยู่
เป็นเหมือนการนัดแหล่งข่าวผ่านจอทีวี
ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่นัดแหล่งข่าว เขียนสคริปและสัมภาษณ์เอง


-ต้องปรับตัวยังไงบ้าง

สิ่งแรกคือการลำดับคำที่จะใช้เพื่อตั้งคำถามกับแหล่งข่าวซึ่ง
ต้องให้คนดูเข้าใจด้วย เช่นเกิร่นนำก่อนเข้าคำถาม
วิธีการถามอย่างมีเสน่ห์ เป็นคำถามที่นุ่มและได้คำตอบ


“ช่วงนี้เป็นช่วงของการเรียนรู้ ผมยังค้นหาตัวเองไม่ได้
แต่ยอมรับว่างานพิธีกรยังไม่คลีคลายเหมือนการเขียนคอลัมน์
ถ้าถามเป็นระยะเวลา ผมไม่มีเป็นเดือนเป็นปี
แต่มีเวลาในความรู้สึก คือถ้าวันไหนรู้สึกว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าคลี่คลายและผ่านก็จะเห็นถึงความก้าวหน้า”

“ช่วงแรกๆมีกำลังใจเข้ามามาก แต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของชีวิตจริงแล้ว
ต้องทำให้ได้ ซึ่งการทำงานพิธีกรมีข้อจำกัดของมันเยอะพอสมควร”


“ผมรู้สึกว่าเวลา 30นาทีที่ผมจัดมันตกตะกอนความคิดให้ผู้ชม
กรณีของคุณตันโออิชิที่แก้วิกฤตน้ำมันแพงด้วยการขยับ
เรียงกล่องสินค้าใหม่เพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในธุรกิจของตัวเองได้”


-มีความสุขกับงานนี้แค่ไหน

“ผมยังสนุกกับการเรียนรู้แต่ไม่สนุกนักกับการทำ
ไม่รู้สึกอิ่มเหมือนงานเขียน แม้ว่างานเขียนชิ้นนั้นจะพอใช้ได้
หรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ผมตั้งไว้
แต่งานพิธีกรปัจจุบันนี้ยังอยู่ในระดับกล้ำกลืนฝืนทนได้
แต่ไม่รู้สึกอิ่มเหมือนกับงานเขียน”


นี่เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ยังต้องเรียนรู้
บางคนอาจมองว่าเขาโชคดีที่มีโอกาส
แต่โอกาสในความหมายของเขา

คือการบรรจบกันระหว่างโอกาส
และความพยายาม
เป็นจังหวะที่ลงกัน