Custom Search

May 11, 2007

"คุณแม่" ของ สัญญา คุณากร


วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม

-พี่ดู๋โตมากับครอบครัวแบบไหน พ่อแม่เลี้ยงมาอย่างไรคะ
ผมโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่พ่อแม่เลี้ยงแบบครอบครัวขนาดเล็ก
คืออยู่กันในครอบครัว ไม่มีลุงป้าน้าอา ตายาย เมื่อพ่อแต่งงานกับแม่
เขาก็ถูกส่งไปอยู่ที่อุดรฯ เพราะตามีโรงสีอยู่ที่อุดรฯ
พ่อผมก็ไปทำงานโรงสี แม่เป็นแม่บ้าน ผมเกิดที่นั่น โตที่นั่น
มี พี่น้องสี่คน ผมเป็นคนที่ ๓ เราอยู่กันพ่อแม่กับลูกอีกสี่คน
แค่นี้เลย ไม่มีคนใช้ ไม่มีใคร ทั้งบ้านก็มีกันอยู่แค่นี้
ด้วยความเป็นครอบครัวแบบนี้ และพ่อผมก็เป็นคนที่ทำงานเจ็ดวัน
เนื่องจากไม่ได้เป็นคนที่มีต้นทุน ก็เลยต้องทำงาน
เริ่มตั้งแต่พนักงานเสมียน คนที่ทำแบบนี้คือคนที่ทำงานหนักแต่รายได้ไม่เยอะ
เพราะฉะนั้นก็ต้องทำทุกวัน เขาทำงานเจ็ดวัน เสาร์อาทิตย์ก็ทำ
ผมจำได้แม่นเลย เช้าถึงเย็น หกโมงเย็นก็กลับถึงบ้าน
แต่ที่เราเห็นก็คือ ทุกวันออกไปทำงาน แล้วก็ออกไปอยู่ที่โรงสีทุกวัน
เพื่อจะกลับมาตอนเย็น ไม่มีวันหยุดราชการ
ส่วนแม่ อย่างที่บอกเป็นครอบครัวชั้นกลาง
การเป็นแม่บ้านอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการหาเลี้ยงลูกตั้งสี่คน
แม่ก็จะเอาของมาขาย ผมเคยเห็นรูปสมัยก่อน
ตั้งแต่ก่อนผมเกิด แม่เคยเปิดร้านทอง ร้านเล็ก ๆ ไม่ได้อู้ฟู่อะไร
แม่เขาคิดทำของเขาเอง แล้วก็เคยเปิดร้านอะไหล่ยนต์
แล้วก็มาเปิดร้านสังฆภัณฑ์ ที่ยังเปิดอยู่ทุกวันนี้
ความที่พ่อไปทำงานทุกวัน เราโตมาแบบตั้งแต่เช้า
คนที่เตรียมตัวให้เราไปโรงเรียน อยู่กับเรา เตรียมอาหารสั่งสอน
ใช้ชีวิตทั้งหมดคือแม่ แม่อยู่กับเราตลอด ๒๔ ชั่วโมง
รวมไปถึงเรื่องบุคลิกด้วย พ่อผมเป็นคนซื่อ ๆ นิ่ง ๆ
ไม่มีความเหี้ยมหาญในการดำเนินชีวิต มักจะยอมคนอื่น
อะไรก็ได้ครับ ขอโทษนะครับ เวลาเราโตขึ้นมา
เราจะเห็นภาพที่พ่อยอมคนอื่นหลาย ๆ ครั้ง
แต่ส่วนแม่ผมจะเป็นคนประเภท เฮ้ย...อย่างนี้ไม่ถูก
แบบนี้ไม่ยอม ไม่ได้ แม่จะเป็นคนดูแลทั้งหมด
ผมโตขึ้นมากับสิ่งรอบตัวที่มักจะบอกว่า แม่ผมสวยมาก
แม่ผมเป็นคนหน้าตาดี และเป็นคนที่ขวนขวาย เราจะทำอันนี้ดีไหม
เรามาทำอันนี้ดีกว่า หรืออันนี้พ่อบอกว่าไม่
แต่แม่จะ...มา...ทำเถอะ เรื่องพวกนี้พ่อผมจะสู้แม่ไม่ได้
ทำให้ผมได้รับสองสิ่งมาด้วยกัน
เมื่อผมมาวิเคราะห์ตัวเองตอนโต บางสิ่งผมก็ว่าผมเหมือนพ่อ
เช่น ประนีประนอม คิดว่าการทำงานหนักเป็นเรื่องปกติ
แต่ที่เหมือนแม่ก็คือ ความอยุติธรรมในบางเรื่องเรารู้สึกว่าเรารับไม่ได้
เราไม่อยากปล่อยมันผ่านไป เราไม่อยากทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
พ่อเป็นคนชีวิตเรียบ ๆ แต่แม่เป็นคนที่ชีวิตต้องเผชิญกับโรคร้าย
แม่ผมสุขภาพไม่ดี ตอนผมเรียนจบ ป.๗
จะเข้า ม.ศ.๑ ผมมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
โรงเรียนสวนกุหลาบ แม่เริ่มไม่ค่อยสบาย
ไขสันหลังไม่ผลิตเม็ดเลือดแดง
สมมติเขาเป็นแผล แผลเขาจะหายยาก
เขาเป็นคนผิวขาว เขาก็จะเป็นปัญหา คืออยู่ ๆ ก็จะมีจ้ำ
ตอนแรกเราก็งงว่าเป็นอะไร ไปชนโต๊ะ ชนอะไรมาหรือ
อันนี้คือที่เราจะเห็น ต่อมาชีวิตของแม่ก็จะอยู่กับโรงพยาบาลศิริราชบ่อยมาก
แล้วเราก็มีความรู้สึกว่าชีวิตเขาลำบาก ต้องต่อสู้กับโรคร้าย
บางทีเราไปเยี่ยมเขา เขาก็จะบอกว่าไปเรียนหนังสือเถอะ
ไม่ต้องมาเฝ้า บางทีเขาก็นอนอยู่โรงพยาบาลคนเดียว
เพราะว่าพ่อต้องทำงานอยู่ที่อุดรฯ ไม่ได้มาด้วย

-แล้วลูกคนอื่น ๆ อีกสามคนล่ะคะ
ก็ทยอยมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ไล่ ๆ กันมา
แต่ละคนก็ผลัดกันมาดูแลแม่ แต่แม่ก็จะบอกให้ไปเรียน
ยุคหนึ่งแม่ไปโรงพยาบาลศิริราชบ่อยจนเวลาเขาขับรถเข้าไป รปภ.
นึกว่าเขาเป็นคุณหมอ เพราะเขาไปบ่อย
ถึงแม่จะเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย แต่เขาก็พยายามสอนให้ลูกรู้เรื่องนี้
ผมจำได้เลยนะ เขาสอนว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติ
มันเป็นเรื่องที่เราต้องเจอ ผมจำได้ว่าตั้งแต่เด็ก
พอรู้ว่าเขาไม่สบายแล้วเราก็เห็น เราก็สวดมนต์ อะระหังสัมมา
ตามที่เขาสอน แล้วเราก็บอกว่า ขออย่างเดียว แม่อย่าตายนะ
ผมขออย่างเดียวในโลกนี้ ผมขอให้แม่ผมไม่มีวันตาย และมันก็ไม่จริง!!
ตอนเขาป่วยมาก ๆ เขาก็เคยเขียนจดหมายเล่าให้ฟังว่า
เนี่ย ...วันนึงเขาก็ต้องตายนะ ไม่ต้องเสียใจนะ
(จบประโยคนี้ พี่ดู๋เงียบไปพักหนึ่ง ไม่อยากพูดต่อ เหมือนไม่อยากร้องไห้)
แม่ป่วยตั้งแต่ผมเรียน ม.ศ.๑ ไล่มาจน ม.ศ.๕ แล้วแม่ก็เสีย
ตอน ม.ศ.๕ ก่อนเอนทรานซ์ ก็เป็นภาวะที่แย่ วันที่เขาเสีย
ผมกำลังซ้อมกีฬาวอลเล่ย์บอล ผมเล่นกีฬาสีของโรงเรียน
เล่นวอลเล่ย์บอลเสร็จกลับมาถึงบ้าน เขาก็บอกว่าไปโรงพยาบาลกัน
ไปถึง... แม่เสียแล้ว แล้ววันนั้นก่อนที่ผมจะกลับบ้าน
ผมคุยกับเพื่อน ๆ ว่า แม่ มีปัญหาต้องผ่าตัด
ต้องการเลือดเยอะ เขาจะเอาเลือดกรุ๊ปอะไรก็ได้
ไปปั่นเอาแต่เม็ดเลือดแดงมาใส่ให้แม่
เราก็บอกเพื่อนไว้ แล้วพอเย็น กลับบ้าน...แม่เสีย
เราไปถึงโรงพยาบาล พ่อนั่งร้องไห้อยู่
แล้วเราก็แบบ...นั่นเป็นความรู้สึกที่ผมรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลวร้ายกว่านี้ในชีวิต
จนถึงทุกวันนี้ เลยนะ ผมมีความรู้สึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่า
ไม่มีใครรักเราเท่าคนคนนี้จนวันที่เราตาย
ตอนเด็ก ๆ เขาจะล้อกันว่าผมเป็นลูกคนโปรดของแม่
พ่อชอบล้อเพราะมีลูกสี่คน แต่ว่าเราอาจจะเป็นคนที่สนิทกับแม่
เยอะกว่าพี่สองคน เพราะพี่มาเรียนที่กรุงเทพฯ ก่อน
แต่ผมเกิดอุดรฯ อยู่กับแม่แล้วค่อยมาเรียนสวนกุหลาบ
ก็อยู่กันเยอะกว่า เพราะฉะนั้นจะสนิทกว่า เหมือนลูกคนโปรด
พ่อผมเขาเรียกไอ้ favorite boy ก็คือไอ้ลูกคนโปรด
ซึ่งตอนแรกผมอายนะ เฮ้ย...ไม่จริง...ไม่จริง ไม่ได้เป็น แต่ตอนนี้แบบว่า
เออ....เป็น ถูกต้อง อยากเป็นด้วย...แล้วเราก็เห็นเขาตาย
เราก็เดินเข้าไปดู เราก็รู้สึกว่า
เออ...เว้ย!!! โลกนี้มันแย่ มันเลวมาก
ไม่มีอะไรแย่กว่านี้แล้ว ตอนเดินออกมาจะงง ๆ
มันเหมือนคุณเดินจากห้องหนึ่งแล้วไปอีกห้องหนึ่ง
เป็นห้องที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน
แต่จริง ๆ ก็เป็นห้องที่คุณเคยเห็น ทุกที่ไม่เหมือน เดิมไปหมดเลย!!
บ้านอยู่ตรงไหน?? เหมือนกับโลกมันเปลี่ยนไปหมดเลย
ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว!!
นั่นคือช่วงนั้น ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คืนนั้นเราก็กลับมาบ้าน
แล้วเราก็งง ๆ ไม่รู้ชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป จะทำอะไรดี จะยังไง
เช้าไปรับศพแม่ที่โรงพยาบาล เพื่อนมาทั้งห้องเลย
พี่ชายผมก็ไปบอกเพื่อนเขา เพื่อนเขาก็หยุดเรียนมาหมดเลยทั้งห้อง
ครูประจำชั้นพามาเอง...ผมไม่ได้ พูดอะไรเลย ร้องไห้อย่างเดียว
รู้สึกแย่... แต่แม่สอนอะไรเรามากมาย แม้แต่ตอนแม่เสีย
แม่สอนเราเรื่องบริจาคเลือด
ผมมักจะบอกคุณใช่ไหมว่าผมต้องบริจาคเลือดเท่าที่ผมทำได้
-ใช่ พี่ดู๋บริจาคเลือดเป็นประจำ เพิ่งทราบว่าได้แรงบันดาลใจมาจากแม่
ใช่ ตอนเด็ก ๆ ผมคิดว่า เฮ้ย...ไม่เอาดีกว่า เจ็บ
แต่พอเราเห็นแล้วว่าชีวิตมันไม่เสถียร
ทำอะไรให้ได้ก็ทำไปเถอะ มันเจ็บไม่เท่าไหร่หรอก
ตอนหลังเวลาผมเกิดอุบัติเหตุ ตูม!! แผลที่แขน เหวอะ เย็บ ๓๒ เข็ม
ผมมองแผล ผมยังแบบ...มันจะใช้ได้อีกไหม
แต่มันไม่มีอะไรเลวกว่าการเสียแม่อีกแล้ว
ถ้าผมไม่เคยเจออะไรเลย ผมอาจจะรู้สึกว่าเรื่องอุบัติเหตุแขนเหวอะมันเลวร้ายมาก
แต่ผมคิดแค่ว่าถ้าแขนขาดก็เสียใจนะ
แต่ไม่เลวร้ายกว่าวันนั้นแล้ว
-แล้วใครปลอบพี่คะ
ไม่มี
-ตอนนั้นเรียน ม.ศ.๕ อายุประมาณ ๑๖-๑๗ ทำใจอย่างไรกับการสูญเสียครั้งนั้น
ไม่ได้ทำอะไรเลย บ้านผม...พ่อจะไม่แสดงออก ไม่กอดลูก ไม่ชวนลูกเล่น
ไม่ทำอะไร เขาไม่ใช่คนแบบนั้น แต่คนที่กอดเราคือแม่
เพราะฉะนั้นพ่อเป็นคนที่ไม่แสดงความรู้สึกเลยในชีวิต
ครั้งเดียวที่ผมเห็นเขาแสดงความรู้สึกคือนั่งร้องไห้ตอนแม่เสีย
นอกนั้นผมไม่เคยเห็นอารมณ์นี้เลย จนวันนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นอีกเลย
-พี่เข้าใจความตายโดยไม่ทุกข์ได้อย่างไร
มันเข้าใจแต่มันทุกข์ มันห้ามไม่ได้ เนื่องจากผมเคยเห็น
ความตายมาแล้ว บางทีลูกนอนหลับอยู่ ผมนอนอยู่ข้าง ๆ มองหน้าลูก...
คิดภาพตอนลูกอยู่แล้วผมตาย มันอยู่แต่เราไป
ผมยังทำใจไม่ได้ พ่อไม่สามารถไปโดยเอมยังอยู่
พ่อไปแล้วเอมจะอยู่ยังไง ผมยังทำใจไม่ได้เลย
-แต่ทุกวันนี้พี่ก็ไม่ได้ทุกข์กับการตายของแม่แล้ว
วันนี้เข้าใจแล้ว แต่วันนั้นก็ทุกข์แสนสาหัส ถึงจะไม่ตีโพย ตีพาย
จะเบลอ ๆ งง ๆ เหมือนกับว่าโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
แต่ก็ทุกข์ ผมยังดีที่แม่ไม่ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน
ผมยังได้เห็นตอนแม่ป่วย ได้เห็นจดหมายที่แม่เขียนเรื่องความตาย
ยังมีลางบอกเหตุ ได้เตรียมใจ ผมสงสารคนที่พ่อแม่จากไปเพราะประสบอุบัติเหตุ
ในความคิดของผม วิธีการทำให้ไม่มีทุกข์นั้นผิด
ไม่รู้ถูกต้องตามหลักศาสนาหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าสุขทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องมีคู่กัน
มีสุขมีทุกข์ ผมเข้าใจว่าความตายเป็นธรรมชาติ แต่ก็ทุกข์
เราเข้าใจว่าเกิดมาก็ต้องตาย ใบใม้ก็ต้องร่วง เข้าใจนะ แต่ทุกข์
เพราะมีความสุขก็ต้องมีความทุกข์ มันทำไม่ได้ที่จะไม่มีทุกข์
แต่ความเบลอ ๆ งง ๆ เวลาจะช่วยได้ เวลาทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนได้เสมอ
ทั้งสุขทั้งทุกข์มันก็เพี้ยนไปตามเวลา วันนี้ก็ไม่ทุกข์เท่าวันนั้น
-การสูญเสียแม่ในครั้งนั้นไม่ได้มีผลให้เราไปในทางไม่ดีใช่ไหมคะ
ใช่ เพราะไม่มีเหตุผล ทำไมแม่ตายแล้วเราต้องทำไม่ดี
เราเป็นคนดีได้แม้ว่าแม่จะไม่อยู่ และด้วยความภาคภูมิใจ
ทุกวินาทีที่เรานึกถึงเขาได้ แปลว่าเรามีเวลาที่มีความสุขในชีวิตได้
มากกว่าเวลาที่มีความทุกข์ตั้งเยอะ เรามีภาพให้เรานึกถึงแม่เยอะมาก
มีตั้งแต่ภาพตอนเช้าถึงกลางคืน
แต่เรามีภาพที่นึกถึงเขาแล้วมีความทุกข์น้อยมาก คือตอนที่เขาเสียชีวิต
เราน่าจะภูมิใจว่าเรามีความสุขด้วยกันได้ตั้งนาน
เสียดายแค่มันไม่นานกว่านั้นเท่านั้นเอง
ผมคิดว่าธรรมชาติของคน...ถ้าคิดผิดขออภัย
คุณจะโตมากับพ่อแม่หรือกับอะไรก็ได้
ทำไมทาร์ซานถึงเหมือนลิง...เพราะเขาโตมากับลิง
นั่นแหละ คนที่รักเขา ลิงคือพ่อแม่ของเขา
คำว่าพ่อแม่สำหรับผม ความสมบูรณ์แบบเกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
ถึงจะเป็นผู้สืบสันดาน
ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน มันสืบสันดานกันไม่ได้
ไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิแล้วก็หายไป แล้วเขาจะสืบสันดานพ่อแม่ได้
มันไม่ได้ สำหรับผม คำว่าพ่อแม่แปลว่าเลือดเนื้อเชื้อไขและอยู่ด้วยกัน
การอยู่ด้วยกันสำคัญยิ่งกว่าอีก
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าผมมีอะไรที่มาจากพ่อแม่ผม
ผมจะตอบว่า เมื่อไหร่คุณบอกว่า คุณดู๋ คุณเป็นคนดี
ผมก็จะตอบว่า เพราะผมสืบสันดานมาจากพ่อแม่ผม
ถ้ามีใครด่าผมว่าคุณชั่ว ผมก็จะเสียใจว่าสันดาน
ที่ผมสืบมาจากพ่อแม่มันไม่ดีหรือ นั่นคือเราก็ต้องแก้
ทำไมคนไทยต้องโกรธเวลาด่าพ่อแม่ เพราะมันสืบกันมาครับ
ซึ่งถ้าคุณคิดอย่างนี้ คุณก็จะไม่ทำอะไรที่ไม่ดี
เพราะมันเสียถึงคนที่คุณรัก
-หลังจากแม่เสียแล้ว ตอนไหนที่พี่ดู๋คิดถึงแม่มากคะ
ตอนสอบเอนทรานซ์ กลัวไม่ติด บนแม่ (หัวเราะ)
แล้วก็ ตอนที่เรามีลูกแล้วครับ เราเห็นเมียเลี้ยงลูก
คือผู้หญิงผู้ชายไม่เหมือนกัน ผมไม่เคยบอกว่าใครผิดใครถูก
ผมคิดว่าคนไม่เหมือนกัน คิด ไม่ตรงกัน บางอย่างที่เมียดูแลลูก
เราจะคิดว่ามันเว่อร์ แต่พอเราคิดถึงแม่แล้ว ก็เข้าใจเมียเรามากขึ้น
ว่าตอนแม่เราเลี้ยงเราก็คงเป็นอย่างนี้แหละ
เห็นพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างแล้วคิดถึงแม่
ผมคิดเลยว่า คอยดูนะ เดี๋ยวลูกผมก็เหมือนผม (หัวเราะ)
ผมว่าผมโชคดีที่แม่ผมยังอายุยืนจนเห็นผมโต
เสียดายที่ไม่เห็นว่าผมเอนทรานซ์ติด แค่นั้นเอง
แต่ว่าภาพที่เราเห็นมีหลายภาพมาก เวลาแม่อารมณ์เสีย
เราก็เห็น เวลาโดนตี แม่ก็เป็นคนตีมากกว่าพ่อ
อีกอย่างหนึ่งที่เราเห็นตลอดเวลา อันนี้มานึกตอนมีครอบครัวแล้ว
ตั้งแต่แม่เกิดจนแม่จากไป เขาไม่มีชีวิตด้านอื่นเลย
นอกจากครอบครัว เขาไม่มีชีวิตของเขาคนเดียว
ผมไม่เคยเห็นเขาไปชอปปิ้ง ไปดูหนังกับเพื่อน
หรือจะไปอะไร ๆๆ ผมไม่เคยเห็น เขาเป็นของเราตลอด
แล้วมันก็เป็นครอบครัวแบบพื้นฐานมาก ๆ
ซึ่งผมมานั่งคิดว่า เฮ้ย...แบบที่ผมโตมามันเป็นเรื่องยาก
คือคนหนึ่งไปทำงาน อีกคนหนึ่งส่งลูกไปโรงเรียน
กลับมาทำกับข้าว วันนี้จะกินอะไรกันดี
อู๊ย ...คิดทำกับข้าวยากกว่านั่งทำอีก ทำอันนี้ดีกว่า
อันนั้นมันเผ็ด ทำอะไรดี แล้วความบันเทิงที่สุดของพ่อ
คือเปิดโทรทัศน์แล้วมีเบียร์ขวดนึง เต็มที่แล้วนะ
นั่นคือเริงรมย์ที่สุดแล้ว เริงรมย์ที่สุดของบ้านมี
แค่นั้น นั่งโต๊ะกินข้าวพร้อมกันหมด คุยกันหยอกล้อกัน
สมมติไปดูหนังก็จะไปกัน อ้าว...ไปดูหนังกัน
ลูกนั่งอยู่ตรงกลาง พ่อแม่นั่งปิดหัวปิดท้าย
อ้าว...วันนี้จะไปต่างจังหวัดกัน
พอขึ้นรถก็จะแย่งที่นั่งริมหน้าต่างกัน มันก็จะมีตรงกลางสอง
ใครได้หน้าต่างซ้าย ใครได้หน้าต่างขวา พ่อขับ แม่นั่งข้างพ่อ
มันเป็นแบบ เป๊ะ ๆ หมดเลย
ทุกภาพพอมานั่งนึกตอนโต แม่ไม่มีภาพอื่นของเขาเลยนอกจากครอบครัว
ผมนั่งนึก ผมยังมี พ่อไปตีกอล์ฟนะลูก พ่อจะไปกินข้าวที่นี่
พ่อมีนัด แต่อาจจะเป็นด้วยว่าสังคมอุดรฯ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน
ด้วยธรรมชาติของเมืองมันเป็นอย่างนั้น สังคมมันดีขนาด
ว่ากินข้าวเสร็จปั๊บ...เราจะไปนั่งรถกินลม
ผมจำคำนี้ได้แม่นเลย “เราจะไปนั่งรถกินลม”
พอเราขึ้นรถแล้วผมก็เอาหัวโผล่ออกหน้าต่าง อ้าปากกินลม
ก็ทำตามพี่ชาย อ๋อ...มันต้องอ้าปากรับลมเวลารถวิ่ง
ลมมันจะได้เยอะ ต้องเอาลมเข้าท้อง แล้วไม่ได้ไปไหนไกล
นั่งรถรอบหนองประจักษ์ ขับรถดูเมืองแล้วก็กลับมาบ้าน
อาบน้ำ แต่งตัว แปรงฟัน กินนมคนละแก้ว นอน สังคมมันเป็นแบบนั้น
โทรทัศน์มีช่องเดียวขาวดำ ช่อง ๕ ขอนแก่น
-การที่แม่ไม่มีโลกใบอื่นเลย พี่คิดอย่างไรคะ คิดว่าแม่เสียสละหรือ
ผมไม่คิดอะไรกับเรื่องนี้ กลับคิดแค่ว่า
ในวันนี้เวลาผมเห็นเมียผมกับลูกผม
ผมก็คิดว่ามันคล้าย ๆ กันเข้าไปทุกทีแล้วแหละ (หัวเราะ)
ความรู้สึกที่เรารู้ว่าไม่มีใครรักคุณได้มากกว่าคนนี้
นี่เป็น ความจริง แต่เราไม่รู้ความจริงอันนี้มาตลอดจนกว่าเราจะโต
แล้วมานั่งวิเคราะห์เป็น เราโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกอื่น ๆ
ว่าก็พ่อ ก็แม่ ก็ลูก ก็ธรรมดา แต่ถ้าคุณคิดเรื่องนี้จริง ๆ
เวลาคุณเกิดความเลวร้าย ในชีวิต คุณเจอเรื่องแย่มาก ๆๆๆ
แล้วคุณรู้สึกว่าไม่มีใครรักคุณ คุณ ช่างต่ำต้อยด้อยค่า
คุณไม่ควรจะมีชีวิตอยู่บนโลก คุณ...ไม่มีค่าอะไร เลย
คุณจงอย่าลืมแม่คุณเด็ดขาด!!
เพราะรับรองว่าคุณไม่มีวันต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนโง่
คนปัญญาอ่อน คนเรียนไม่เก่ง คนติดยา หรืออะไรก็ตาม
แต่คุณจงอย่าทำลายชีวิตเพราะคิดว่าคุณไม่มีค่าสำหรับใครเลย เป็นไปไม่ได้!!
เพราะผมพิสูจน์จากหลาย ๆ คนแล้ว คุณมีค่ามาก
อย่างน้อยสำหรับคนสองคน คนหนึ่งอาจจะไม่ชัด
พ่ออาจจะไม่ชัด แต่แม่...รับรอง
แต่บางทีคุณค้นพบความจริงนี้เมื่อสายไง
ผมเคยอ่านเรื่องนักขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งบนถนน
ทำไมคุณถึงทำ? เพราะผมรู้สึกมัน เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้คนยอมรับ
เพราะผมรู้สึกว่าผมไม่เห็นมีค่าอะไร ไม่เห็นมีใครรักผม
ผมทำแบบนี้อย่างน้อย ยังมีเพื่อนรักผมเวลาผมชนะ
โอเค...ขี่ตอนอายุ ๒๐ คว่ำตอนอายุ ๒๐ ไม่ตาย
แต่เป็นอัมพาต ตอนสัมภาษณ์อายุ ๓๘ คนป้อนข้าวป้อน
น้ำคือแม่ เพื่อนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยกัน พออัมพาตกิน หายเรียบ
จากนั้นเป็นต้นมาอีก ๑๘ ปี ก็แม่คนเดิมที่เลี้ยงมา ๒๐ ปี
แล้วเลี้ยงต่ออีก ๑๘ ปี ในลักษณะที่ทารุณแม่มากกว่าเดิม
แต่แม่ก็ทำด้วยความรู้สึกว่าแม่อยากทำ
เพราะแม่รู้สึกว่าลูกคือคนที่เขารัก แล้วเขาก็ให้สัมภาษณ์ว่า
ผมรู้แล้วละ ผมเป็นคนมีค่ามาก ๆ เลย มีคนหนึ่งที่รักผมอย่างสุดดยอดเลย
ผมจะอกหักอย่างไร ผมเฉย ๆ ผมรู้ว่าคนคนนี้รักผมมาก
มารู้ตอนนี้ไง รู้ว่าเขาเลี้ยง ป้อนน้ำป้อนข้าวผมมาอีก ๑๘ ปี
ผมถึงรู้ว่านี่ไง คนนี้ไงรักผมจังเลย (ประชดสุด ๆ)
-แต่พี่ดู๋โตมากับแม่ แม่บอกว่ารัก แม่แสดงออก พี่ไม่ได้มีภาวะคึกคะนอง
ไปกับเพื่อนแล้วลืมแม่ตัวเองใช่ไหมคะ
มีหลายคนที่มีความรู้สึกว่าสมมติว่ามีใครสักคนรักคุณมาก ๆ
คุณจะไม่อยากทำให้เขาเสียใจ เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกคน
ถ้าคุณ รู้สึกได้ว่าเขารักคุณมาก ๆ
คุณจะไม่ทำให้เขาเสียใจ มันเกิดขึ้นเอง ...เฮ้ย...ไม่ดี
เดี๋ยวแม่ว่า อย่าเลย เดี๋ยวแม่ว่า เฮ้ย...อย่าเลย เดี๋ยวแม่อย่างนู้นอย่างนี้
เพราะเราจะคิดถึงแม่ตลอดเวลา หลวงพ่อคูณหรือพระหลาย ๆ องค์บอกว่า
นี่เป็นภูมิคุ้มกันขั้นสุดยอด ขั้นดีที่สุด ขั้นดีกว่ากฎหมาย
ผมไม่ทำอันนี้ไม่ใช่เพราะกลัวกฎหมาย แต่ผมไม่ทำอันนี้
เพราะว่าไม่อยากให้แม่เสียใจ ผมคิดว่าของดี ๆ
บางอย่างไม่ต้องพยายาม มันเป็นอย่างนั้นเอง แม่ไม่ได้ฝืนทำ
แม่ไม่ได้พยายามอะไรเลยในการสร้างสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตผม
สำหรับแม่น่ะ แม่ไม่ได้เสียสละอะไรเลย แม่แค่ใช้ ชีวิตของแม่
แต่นั่นคือดีที่สุดสำหรับผม ดีที่สุดเลย รับรอง
เมียผมบอกลูกชายผมว่า เอม ตั้งแต่ลูกเกิดจนลูกตาย
แม่ขอรับประกันว่าไม่มีใครรักลูกเท่าแม่ ผมนึก
ใช่ คนที่รักผมที่สุดในชีวิตตายไปแล้ว
ไม่ใช่เมียผม ไม่ใช่ลูกผม แต่เป็นแม่ผม รับรองจริง (เน้นเสียง)
-แล้วคนที่เราจะรักมากที่สุด
จะเป็นลูกเรา มนุษย์มันถึงไม่ตายหมดไง
-ตอนที่พี่ดู๋ไกลแม่ครั้งแรก ตอนมาเรียนต่อ ม.ศ.๑ ที่กรุงเทพฯ
แม่แสดงความเป็นห่วงในเรื่องอะไรบ้าง
เวลาคุณใกล้ชิดมาก ๆ ทุกอย่างมันจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องมา...โอย...ลูกจ๋า
ลูกจะไปแล้ว...มันก็แค่ไป ก็มาอยู่กรุงเทพฯ มาอยู่บ้านคุณตา
คุณตาแก่มากแล้วด้วย ตอนเด็ก ๆ อยู่อุดรฯ ปิดเทอม
มาอยู่กรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟไปกลับเอง ก็ไม่ยากนี่ พอโตมาอยู่กรุงเทพฯ
ปิดเทอมก็จะกลับอุดรฯ เวลาเจอกันก็ธรรมดา ลูบหัวลูบไหล่ ไม่ได้ โผเข้ากอดกัน
ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ ก็ทั้งบ้าน คือทุกอย่างทุกเรื่องที่เราโตมากับแม่
มันดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ปกติ
-พี่เอาวิธีการที่แม่สอนมาสอนลูกบ้างไหม หรือว่ามันซึมซับกันมาอย่างไร
ถ้าเป็นแบบผม ผมจะใช้แบบไม่สอน เพราะแม่ไม่เคยทำ... อันนี้ไม่ได้นะ
แต่แม่จะบอกเป็นกรณี ๆ ไป เช่น เราเอามือไปแหย่พัดลม แม่ก็บอกว่า
อย่าไปแหย่ พัดลมมันจะตัดนิ้ว แต่ไม่ได้ตั้งกติกา
ผมไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีระเบียบวินัยเข้มงวด เราก็อยู่ไปเรื่อย ๆ
แต่มันเกิดขึ้นเอง รู้เองว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ
เราซึมซับจากการเห็นแม่มากกว่าการที่แม่สอน เพราะแม่ไม่ได้สอน
เราเห็นว่าแม่ทำ เราก็ทำ เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เราก็ไม่ทำ
เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข เราก็ไม่ต้องไปหาข้างนอก
-เวลาที่พี่มองพี่อุ๋ย (อาทิตยา คุณากร ภรรยา) ทำให้พี่คิดถึง แม่ตัวเอง
แน่นอน
-คิดอะไร
ตอนเราโตขึ้นมา เราไม่รู้ว่า โอ้โห...ขั้นตอนกว่าจะเป็นคน
พูดรู้เรื่อง ไปไหนมาไหน เปลี่ยนกางเกงเองได้ โอ้โห...เพิ่งรู้ว่าอื้อหือ...
-ทำให้ยิ่งรักแม่มากขึ้น
ใช่ แล้วผมค้นพบว่า ธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ตัวที่ปกป้องลูก หาเลี้ยงลูก มักจะเป็นตัวเมีย ตัวที่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมด
ให้ลูกมักจะเป็นตัวเมีย ไม่ใช่ตัวผู้ คนก็อาจจะเป็นเพศแม่
-ในตอนนี้ที่พี่ดู๋สร้างครอบครัว เราเห็นว่าพี่ดู๋เป็น family man จริง ๆ
ให้เวลากับครอบครัว ตรงนี้เป็นผลที่ได้มาจากชีวิตวัยเด็กที่แม่สอนมาหรือเปล่าคะ
เขาไม่ได้ตั้งใจสอน แต่ผมรู้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องที่จะมีชีวิตที่มีความสุข
เพราะผมเห็นความสุขแบบนั้นมาแล้ว ผมถึงอยากได้ความสุขแบบนั้น
เวลาเพื่อนบอกว่าทำไมคุณไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมไม่คุ้น
ผมบอกว่าอาจจะดีก็ได้ แต่ผมไม่คุ้น เวลาที่เราพูดถึงครอบครัว
ผมไม่เคยเบลมครอบครัวคนอื่น ผมเลือกแบบนี้เพราะผมเคยเห็นแบบนี้
ไม่ได้ดีกว่าใครเลย ถ้าแบบของใครทำให้ใครมีความสุข ก็ทำ แต่ของผม
ผมเห็นแบบนี้ ผมโตมาแบบนี้แล้วมีความสุข ผมก็พยายามทำเท่าที่ทำได้
-สำหรับคนอื่นเขามีโอกาสทดแทนบุญคุณแม่ แต่พี่ดู๋ไม่มีโอกาสตรงนั้น พี่คิดอย่างไรคะ
ผมมีความคิดสองแนวครับ ตอนผมยังไม่เป็นพ่อคน ผมมีความรู้สึกเหมือนคุณครับ
เห็นไหม เรายังไม่ได้ทดแทนพระคุณแม่เลย ไม่ได้แสดงความรัก
จนวันที่แม่ตายไป แล้วเราก็เสียดายว่าเราไม่ได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
แต่จนวันที่ผมมีเมียเป็นแม่คน ผมก้าวหน้าไปอีกขั้น แม่ไม่ได้อยากได้อะไรคืน
วันที่แม่จากไป แม่ไม่ได้รู้สึกเลยว่า...ลูกเอ้ย ไม่เห็นมาทำอะไรให้แม่เลย
แม่จะไปแล้ว... ผมรับรองแม่ไม่มี ถ้าแม่จะเสียดายก็คือ
ได้อยู่กับเธอน้อยลง น้อยเกินไป
ผมรับรองว่าแม่ไม่เคยอยากให้ผมทำอะไรให้เขาเลย ไม่เคย (เน้นเสียง)
เขาจะไม่อยากได้อะไรเลย ผมมั่นใจ

   ภาพจาก ที่นี่หมอชิต 15 ส.ค. 57






เพลง   :  อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ
ศิลปิน   :  ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
คำร้อง   :  โอภาส พันธุ์ดี
ทำนอง/เรียบเรียง:  อภิไชย เย็นพูนสุข





เพลง   :  กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
ศิลปิน  :  ธงไชย แมคอินไตย์(เบิร์ด)
คำร้อง  :  สีห์ ธาราสด
ทำนอง/เรียบเรียง: สุวัธชัย สุทธิรัตน์