Custom Search

Jul 27, 2011

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ” สิ้นพระชนม์

27 กรกฎาคม 2554
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 รวมพระชันษา 85 ปี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป พร้อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพ หน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.00 น. วันนี้ (27 ก.ค.) เวลา 16.37 น.สำนักพระราชวัง อออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ ความว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ หลังจากที่ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออกโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.54 แม้คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด จนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในสำนักพระราชวังไว้ทุกข์มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.เริ่มตั้งแต่วันนี้ 28 ก.ค.54



ที่มา บันทึกจากเรื่องเล่าเช้านี้ 28 กรกฎาคม 2554 ทีวีช่อง 3



เย็นวันนี้ 27 กรกฎาคม 2554 ท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมืดครึ้ม
เหมือนฝนกำลังตั้งเค้า ประหนึ่งเป็นการอาลัยครั้งสุดท้าย
ต่อการสิ้นพระชนม์ของ "เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ"
พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หั
(รัชกาลที่ 6) ตลอดพระชนม์ชีพ 85 พรรษา
พระองค์ทรงเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์
มิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง
ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เวลา 12.52 น.
ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ก่อนที่สมเด็จพระบรมชนกนาถจะเสด็จสวรรคตในอีกหนึ่งวันต่อมา
ขณะที่ประสูตินั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอย่างหนัก
อยู่บนพระแท่น ทรงทอดพระเนตรพระราชธิดา
เป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ
เพราะในคืนนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต
พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดา
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ
คุณบุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง
เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6
เสวยพระกษิรธาราจากพระชนนี
มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน
ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6
โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร
พระนามพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดา
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น
ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 และมีคำนำพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ
(ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย)
โดยก่อนหน้านี้มีการสมโภชน์ ได้มีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่
สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี,
สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี
และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน
เมื่อทรงพระเยาว์หลังจากประสูติแล้วไม่นาน
สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะ
ในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ
พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต
ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่
การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ
ขณะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัย ใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัย
และความเป็นอยู่มาโดยตลอด
ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น
ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า
“ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ยังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”
หลังจากความวุ่นวายทางการเมือง
เมื่อเกิดเหตุการกบฎบวรเดช และ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ผ่านพ้นไป
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักที่ประทับ
สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯขึ้น บนที่ดินริมถนนราชสีมาตัดกับ
ถนนสุโขทัยแล้วเสร็จใน พ.ศ.2477
พร้อมกับพระราชทานนามตำหนักแห่งนี้ว่า สวนรื่นฤดี
เมื่อประทับในสวนรื่นฤดีได้ระยะหนึ่ง
พระนางเจ้าสุวัทนาทรงสังเกตได้ว่า พระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
มีลักษณะพิเศษ เช่น ทรงมีความสามารถทางด้านการคำนวณ
การจดจำทิศทางและความสนใจจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ที่ผิดแผกจากเด็กสามัญทั่วไป
จึงมีพระดำริจะทรงพาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯไปทรงศึกษาต่อ
และไปประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศอังกฤษ
โดยทรงประทับ ณ ตำหนัก แฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์
ครั้นเมื่อพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ดีขึ้น
และสภาวะการในประเทศไทยเป็นปกติสุขเรียบร้อย
กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วระยะหนึ่ง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ
จึงเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนพ.ศ. 2502
พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติด้วยพระวิริยภาพมาโดยตลอด
ที่สำคัญคือ การปฏิบัตพระราชกรณียกิจ
แทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในโอกาสต่างๆ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า “ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์ แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต”