Post Today
21/7/2011
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาขายทองคำแท่งในประเทศขยับขึ้นรวมเบ็ดเสร็จไปแล้ว 650 บาท เฉียดบาทละ 2.3 หมื่นบาท
เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ มาตรการเข้าพยุงเศรษฐกิจรอบที่ 3 (QE3)
ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะออกมาหน้าตาแบบไหน
ทำเอานักลงทุนต่างตื่นตระหนกแห่ขายเงินเหรียญสหรัฐ และเข้าถือทองคำแทน
เนื่องจากมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าถือธนบัตรสหรัฐในยามนี้
แต่ดูเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหนักขึ้นอีก เมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส
ออกมาเตือนว่า มูดี้ส์ฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือ AAA ของสหรัฐ
โดยมีแนวโน้มปรับลดลงสู่กรอบ AA หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้ของประเทศ
จากระดับ 14.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้
ห้วงเวลานี้จึงเหมือนฝันร้ายของประธานาธิบดี บารัก โอบามา
เพราะหากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องงบประมาณและ
เพดานหนี้ได้ทันก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 2 ส.ค.นี้
นี่จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศมหาอำนาจ
ที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในรอบกว่า 90 ปี
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 หรือ พ.ศ. 2460
กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำของ โอบามา
ผู้นำคนแรกของประเทศที่มีชื่อเสียงติดอยู่กับช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐ
ที่ผ่านมา บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ได้ปรับแนวโน้มอันดับ
ความน่าเชื่อถือ AAA ของสหรัฐเป็น Negative ไปแล้ว
เมื่อเดือน เม.ย. และกล่าวเตือนว่า
หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ อันดับเครดิตก็จะถูกปรับลงไปที่ D
หากเป็นเช่นนี้จริง ย่อมมีผลรุนแรงมากขึ้นต่อเศรษฐกิจ
และการระดมทุนของสหรัฐ
โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนความสูญเสีย
ที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก
ประเด็นดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า
การที่สหรัฐจะถูกพิจารณา
เพิ่มอันดับเครดิตกลับไปที่อันดับสูงสุดใหม่อีกครั้ง
หากถูกปรับลดอันดับลงแล้วถือเป็นเรื่องที่ยาก
และอาจกินเวลายาวนาน
การที่เงินเหรียญสหรัฐ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอ่อนค่าลงนั้น
จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ อาจเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก
จากบรรดานักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงในทรัพย์สิน
และผลตอบแทนที่ดีกว่า
โดยเฉพาะในระยะสั้น
ขณะที่สกุลเงินที่มีความปลอดภัย เช่น เงินเยน และเงินฟรังก์สวิส
อาจปรับแข็งค่าขึ้นพร้อมๆ ทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการศึกษาด้วยว่า หากอัตราผลตอบแทน
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.50%
ก็จะกดดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐลดลงถึงประมาณ 0.4%
ดังนั้น หากวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับไทยและประเทศในเอเชียขณะนี้
ก็พอเห็นเค้าลางคร่าวๆ ว่า ตลาดเงิน ตลาดทุน
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดความผันผวนอย่างหนักแน่
เช่นเดียวกับตลาดโภคภัณฑ์ที่จะมีความอ่อนไหวกับข่าวเหล่านี้
อันดับแรก เงินทุนจะไหลเข้าไทยและประเทศในเอเชีย
จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมาก
ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 00.25%
ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 3.25%
เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2553
แน่นอนว่า ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ห่างกันถึง 3%
ย่อมทำให้ “ผู้ที่เล่นกับเงิน”
จะมองเห็นโอกาสในการให้เงินทำงานด้วยการวิ่งเข้าใส่
ประเทศที่สามารถแสวงหาผลตอบแทนได้ดีที่สุด
ไทย คือ ประเทศที่มีสถานะเป็นเช่นนั้น มากกว่า ญี่ปุ่น สิงคโปร์
ซึ่งก็เท่ากับว่า นับจากนี้จะเห็นเงินบาทเกิดอาการผันผวน แข็งค่าขึ้นอีก
ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะเห็นบาท
แตะระดับที่ 29 บาท/เหรียญสหรัฐ
ขณะที่สัปดาห์นี้หลายฝ่ายยังคงจับตาเงินบาทหลุด
กรอบ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ค่อนข้างเป็นไปได้สูง
เมื่อเงินบาทแข็งค่า ผลที่จะเกิดตามมาคือ
ปัญหาของผู้ส่งออกของไทยที่กินส่วนแบ่ง
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศกว่า 70%
จะกระทบหนักไปโดยปริยาย
แม้ตัวเลขการส่งออกของไทยยังพุ่งฉิว
แต่หากเปิดไส้ในรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก
ก็จะพบว่า รายได้ในส่วนที่เป็นกำไรลดลงมาก
เพราะรายได้จากการค้าขายส่งออกที่แปลงเข้ามา
ในรูปเงินบาทจะได้น้อยลงกว่า
เดิมตามสัดส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
คิดง่ายๆ ลำพังแค่เงินบาทในอนาคตแข็งค่าขึ้นจาก
ปัจจุบันแค่ 1 บาท/เหรียญสหรัฐ
ก็ทำให้รายได้ที่แปลงเข้ามาเป็นเงินบาท
ที่มาสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ
หายไปปีละ 8.59.5 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างต่ำแล้ว
สิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออกจะทำได้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนอีกรอบ
คือการป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อป้องกันความเสี่ยง
ค่าเงินบาทไว้เพิ่มขึ้น
เพื่อรองรับแรงกระเพื่อมจากค่าเงิน
แต่การซื้อป้องกันความเสี่ยงก็ถือเป็นภาระหนึ่ง
ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม
โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสายป่าน
สั้นกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่
ในทางกลับกัน ธนาคารพาณิชย์ที่ทำหน้าที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง”
ก็จะมีรายได้จากการทำป้องกันความเสี่ยง
ค่าเงินกันอู้ฟู่ในช่วงที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าก็ช่วยพยุงต้นทุน
ที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันได้เปลาะหนึ่ง
เพราะน้ำมันถือเป็นต้นทุนการผลิตในทุกภาคส่วน
เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ติดอันดับ
การนำเข้าพลังงานมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
ส่วนนี้อาจช่วยผู้ประกอบการได้บ้าง
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย
เพราะน้ำมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ความสงบในประเทศตะวันออกกลางด้วย
แต่หากมองมุมกลับกัน ก็ไม่แน่ว่า
นี่อาจเป็นความเลวร้ายของผู้ประกอบการอีกก็เป็นได้
เพราะหากตราสารหนี้ต่างๆ
ของสหรัฐไม่มีนักลงทุนใดต้องการถือครอง
เกิดการเทขายอย่างหนัก
เงินเหล่านี้ก็จะถูกนำไปลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์
หนึ่งในนั้นก็คือ น้ำมัน ที่กำลังถูกจับตามอง
ก็เท่ากับว่า หากนักลงทุนแห่ไปลงทุนในน้ำมัน
ก็จะดันให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวดได้อีก
ผลกระทบก็ตกถึงผู้ที่ใช้น้ำมันในการผลิต
และผู้ใช้น้ำมันทั่วไป เพราะราคานำเข้าก็จะสูงขึ้น
เช่นเดียวกับทองคำที่จะกลายเป็นสินทรัพย์อันทรงพลัง
เมื่อการถือกระดาษหรือตราสารหนี้
พันธบัตรในสหรัฐแทบไม่มีราคาค่างวดแล้ว
นักลงทุนทั่วโลกก็จะหันมาเล่นตลาดทองคำกันมากขึ้น
ทองคำจะทะยานขึ้นมาให้คนชะเง้อหาก็เป็นไปได้
เพราะหากย้อนกลับไป 10 ปีมานี้ การลงทุนทองคำถือว่า
ชนะการลงทุนทุกอย่างในด้านผลตอบแทน
นั่นก็เท่ากับว่า ราคาทองคำในตลาดโลกจะมีความผันผวนอีกระลอก
ส่งผลมายังตลาดทองคำในประเทศ ซึ่งกูรูทองมองว่า
ภายในปีนี้ราคาทองคำแท่งในไทยจะแตะระดับ 2.3 หมื่นบาท
ก็ไม่แน่ว่าราคาระดับนี้อาจเห็นได้ก่อนสิ้นปีหรือไม่
หากสถานการณ์ในสหรัฐเลวร้ายลงอีก
ช่วงนี้สำหรับคนที่ลงทุนทองคำอยู่แล้วจึงเป็นช่วงขาขึ้น
เพราะราคามีแต่จะพุ่งเอาๆ
แต่ถ้ามองอีกมุม หากเงินบาทไม่แข็งค่าอย่างนี้
ราคาทองคำมีโอกาสทะยานได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ
ยกเว้นสำหรับคนที่คิดจะซื้อทองคำอาจต้องเบรกตัวเองอีกระยะ
ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อตลาดโภคภัณฑ์ฟูฟ่อง ทองคำ น้ำมัน
มีการลงทุนหนาแน่น
ก็ยิ่งเป็นแรงผลักให้เงินเฟ้อที่เป็นตัวสะท้อนดัชนีราคาขยับตัวสูงขึ้น
ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นโจทย์หนักของธนาคารกลางในทุกประเทศ
ให้ต้องหาทางรับมือกับราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น
ไม่ต้องพูดถึงธนาคารกลางของไทย
ที่ต้องงัดอาวุธออกมาเพื่อเข้าไปดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ด้วยการใช้นโยบายการเงินที่เข้มข้นกว่าเดิม
นั่นหมายถึงว่า จะมีการใช้ดอกเบี้ยมาเป็นตัวหลักในการดูแลเศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด
ระยะเวลาเกือบ 1 ปี ก็จะทะยานขึ้นต่อไป
ต้นทุนทางการเงินของบรรดาผู้ประกอบการผลิต
ต้นทุนชีวิตของมนุษย์เงินเดือนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้านจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
คุณอาจจะจินตนาการไม่เห็นภาพชัดเจนนักเมื่อเสือกลายเป็นแมว
แต่เชื่อเถอะว่า
ยามประเทศมหาอำนาจของโลกกำลังเผชิญศึกหนัก
ทุกประเทศไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล
จะเล็กหรือใหญ่
ย่อมหนีไม่พ้นต้องสะเทือนสะท้านกับ
การหาทางรับมือของยักษ์ใหญ่
ในสถานะเช่นนี้ ไม่เฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น
ที่ต้องตั้งรับเงินร้อนที่จะไหลเข้า
มาสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงิน ตลาดทุน นับจากนี้ไป
บรรดาคนเดินดินกินข้าวแกงก็ได้รับผลกระทบ
จากอาการไข้ของยักษ์ใหญ่ของโลก
โดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน