Custom Search

Jul 8, 2011

รำลึกคุณูปการ"หมอเสม พริ้งพวงแก้ว"

รำลึกคุณูปการ"หมอเสม พริ้งพวงแก้ว"แพทย์ผู้มากบทบาท "พ่อเสม-หมอตลอดกาล"ของทุกคน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310112355&grpid=01&catid=&subcatid= มติชน

เป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าเศร้าสำหรับวงการแพทย์ สาธารณสุข และสังคมของไทย เมื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว หรือพ่อเสม ผู้บุกเบิกวงการการแพทย์ชนบท
และการแพทย์สมัยใหม่ ได้สิ้นลมลงจากโลกใบนี้ไปอย่างสงบ
เมื่อเวลาประมาณ 04.50 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยโรคชราภาพ และติดเชื้อในกระแสโลหิต
สิริอายุรวมได้ 100 ปี 37 วัน หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี
ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งในเวลา 15.00 น. วันเดียวกันนี้
จะมีกำหนดพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลราชวิถี
ก่อนจะเคลื่อนศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 18 วัดธาตุทอง
ในวันที่ 9 กรกฎาคม กำหนดสวดพระอภิธรรม 7 วัน
และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้เอง องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน
เพิ่งจะร่วมกันจัดงาน"๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว"
ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติ
และคุณงามความดีของหมอเสม เนื่องในโอกาสอายุครบรอบ 100 ปี สู่คนไทยรุ่นหลัง
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติอย่างการได้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ทั้งยังเป็นผู้มีคุณูปการด้านสาธารณสุข
และเป็นผู้วางรากฐานในการส่งเสริมโรงพยาบาลอำเภอ
รวมถึงยังบุคคลแรกที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผ่าตัดแฝดสยามหญิงของไทย
เป็นรายแรกได้อย่างประสบผลสำเร็จ
เส้นทางชีวิต "หมอเสม"
นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ที่บ้านเลขที่ 2245 ถนนรองเมืองซอย 4 (ปัจจุบันเรียกซอย 1) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ศึกษาชั้นเรียนประถมที่โรงเรียนวัดบรมนิวาสใกล้บ้านเป็นเวลา 4 ปี และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์อีก 8 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 8 ในระหว่างเรียน นายเสมได้รับทุนการเรียนประเภทหมั่นเรียนมาโดยตลอด เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ นายเสมได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) เป็นเวลา 6 ปี ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ ปี พ.ศ. 2478 หลังจบการศึกษาแพทย์ปริญญาแล้ว นายแพทย์เสม ก็ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษและประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้ไปร่วมประชุมและดูงานในประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากด้านการแพทย์แล้ว นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ยังได้ศึกษาด้านทันตกรรมเพิ่มเติมจากศาสตราจารย์สี สิริสิงห์อีกด้วยเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในชนบทได้ด้วย การทำงานในระยะแรกแห่งชีวิตหลังจบการศึกษาด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2478 นายแพทย์เสม ก็ได้ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดทันที่โดยไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นที่อำเภออัมพวา สมุทรสงครามเพื่อต่อสู่กับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจนโรคสงบลง ในปีต่อมาก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์เป็นเวลา 2 ปี และที่นี่เองที่ท่านได้เริ่มงานศัลยกรรมและงานทันตกรรมเป็นครั้งแรกในชนบท ช่วงชีวิตที่สมบุกสมบันและลำบากที่สุดในการทำงานของท่านคือที่จังหวัดเชียงราย เมื่อย้ายมาประจำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2480 ก็ต้องมารณรงค์ร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัดคือพระพนมนครานุรักษ์และกรรมการจังหวัด รวมทั้งธรรมการจังหวัดคือ บ. บุญค้ำ เพื่อนร่วมงานบุกเบิกซึ่งต่อมาท่านได้ช่วยชีวิตไว้ระหว่างสงคราม ร่วมกับพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนเป็นผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลามากกว่ 10 ปี โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคของประชาชน 100 % ผลงานโดยสังเขปที่จังหวัดเชียงรายเชียงรายเมื่อ 70 ปีก่อนนั้นขาดแคลนนายแพทย์มาก บ้านเมืองและโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม ข้าราชการ โดยเฉพาะคณะกรรมการจังหวัดในสมัยนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2488 นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้วต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นนายแพทย์ที่ทุกคนต้องพึ่งพา แม้กระนั้น ท่านก็ยังสามารถวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้มาก นายแพทย์เสม เป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงรายอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ความมุมานะและความคิดริเริ่มต่างๆทำให้เชียงรายมีความเจริญด้านการแพททย์มากขึ้น จึงนับเป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ออกคำสั่งย้ายนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง หน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลราชวิถี) และได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ การเป็นแพทย์เวชปฏิบัติส่วนตัวการปฏิบัติวิชาชีพแพทย์ทั้งในภูมิภาคและในกรุงเทพฯ ที่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมานานทำให้นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ตัดสินใจออกจากราชการมา เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2506 – พ.ศ. 2516) โดยมีสำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 103 ถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 5 และซอย 7 โดยแบ่งพื้นที่ชั้นบนให้บุตรชายที่เป็นสถาปนิกใช้เป็นสำนักงานออกแบบ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในชื่อของ “บริษัทดีไซน์ 103” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน และในช่วงนี้เอง ท่านก็ยังได้ใช้ชีวิตในปัจฉิมวัยทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษาและการเมือง อ ผลงานด้านการเมืองเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2517เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, สมาชิกวุฒิสภา , ประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000)สนับสนุนหลัก 10 ประการของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543 จัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมใช้เป็นหลัก นายแพทย์เสม สมรส สมรสกับ คุณแฉล้ม พริ้งพวงแก้ว พยาบาลคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 70 ปี มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน และบุตรหญิง 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามฯเจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทดีไซน์ 103 ที่มีชื่อเสียง โดยเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา คุณแฉล้ม พริ้งพวงแก้ว เพิ่งถึงจากไปด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2549 ตลอดระยะเวลาในช่วงชีวิตที่ผ่านมา หมอเสม นับเป็นผู้มีสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจที่ดีเยี่ยม ด้วยวัยเฉียด 100 ปี ท่านยังเดินเหินเป็นปกติและยังสามารถเข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ อยู่มิได้ขาด ท่านเป็นผู้มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอจึงกลายเป็นที่รักนับถือของบุุคลทั่วไป

เรื่องเล่า "พ่อเสม" ในแถลงข่าวงาน "๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว"
ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกเจ้าของบริษัทชัชวาลย์ เดอเวเกอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
วัย 72 ปี ซึ่งเป็นทายาทคนที่ 2 จากทั้งหมด 5 คนของ ของหมอเสม กล่าวถึงพ่อว่า
"ผมคงเป็นคนที่มีพี่น้องเยอะที่สุดในโลก" เพราะใครๆ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักต่างก็เรียกพ่อของเขาว่า "พ่อเสม" ส่วนที่ใครๆ ก็เรียกพ่อเสม ลูก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการจัดงาน ๑ คนยืนหยัดฯ กล่าวว่า "สมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ท่านผลักดันให้เกิดโรงเรียนพยาบาลหลายแห่งในต่างจังหวัด เช่น โคราช อุบล พิษณุโลก ซึ่งการเรียนพยาบาล จะเอาเด็กผู้หญิงที่จบ ม.6สมัยนั้นหรือ ม.4 สมัยนี้ มาเป็นนักเรียนประจำ จึงต้องมีคนดูแล ท่านซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงต้องเป็นคนดูแลนักเรียน และทำหน้าที่เสมือนพ่อของนักเรียนพยาบาลทุกคน ด้วยความผูกพัน นักเรียนทุกคนก็จะเรียกผอ.ว่าคุณพ่อ เพราะท่านจะทำหน้าที่เป็นพ่อจริงๆ ดูแลลูกรุ่นหนึ่ง 30-50 คนเป็นอย่างดี นี่น่าจะเป็นจุดตั้งต้นของการเป็นคุณพ่อ และท่านเองก็จะเรียกทุกคนที่ท่านเมตตาว่า ลูก" ทายาทคนที่ 2 หมอเสม อย่าง ชัชวาลย์ ยังเล่าถึงพ่อเสม ต่อว่า "ตอนคุณพ่อรับราชการ คุยกันแทบนับคำได้ คุณพ่อจะทำงาน 6 วันครึ่ง วันอาทิตย์เป็นวันที่เราจะได้ทานข้าวกลางวันกัน จะมีเวลาได้คุยกันตอนนั้น พอบ่ายสองท่านก็จะไปอ่านหนังสือ อีกทีก็ตอนกลับจากทำงาน ประมาณสามถึงสี่ทุ่ม ผมกับน้องชายจะไปนวดคุณพ่อ เพราะท่านทำงานหนัก ยืนตลอด เลยเป็นคนขี้เมื่อย เราจะนวดจนท่านเริ่มง่วง กรนแล้วค่อยๆ เดินออกมา แต่บางทีคุณพ่อยังไม่หลับก็ตะโกนไล่หลังมาว่า ไปแล้วเหรอลูก เราก็ต้องกลับมานวดใหม่ ถึงเราจะไม่ได้คุย แต่เราก็ติดต่อด้วยการสัมผัสกันครับ"ชัชวาลย์เล่าไปยิ้มไป ในงานแถลงข่าววันนั้น "สามข้อ ความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญู และความซื่อสัตย์สุจริต ท่านจะเน้นมากสมัยเรียน ตอนทำงานแล้ว ท่านก็จะให้ปรัชญาในการดำรงชีวิตว่า ในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่าคิดคนเดียว มันคิดไม่ออก เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ทำอะไรให้ทำกันเป็นทีม ใครถนัดทางไหนก็ทำตามนั้น แล้วถ้าสำเร็จหรือได้รับรางวัล อย่าไปรับรางวัลคนเดียว เพราะความสำเร็จไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำ ที่ผ่านมาผมเลยไม่ค่อยทำงานหนัก เพราะมีแต่คนช่วย(ยิ้ม)" ประธานกรรมการบริษัทชัชวาลย์ เดอเวเกอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าคำพ่อ "ท่านจะพูดตลอดเวลาว่า ความสำเร็จมักแฝงมากับอุปสรรค ฉะนั้นอย่าไปกลัวอุปสรรค อุปสรรคเล็ก ความสำเร็จก็เล็ก อุปสรรคใหญ่ความสำเร็จจะยิ่งใหญ่" ตลอดเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล คุณหมอเสมมักจะปรารภอย่างห่วงๆ บ่อยๆ ว่า "บ้านเมืองเราจะไปไม่รอด ถ้าสังคมเรายังเป็นอยู่อย่างนี้ สังคมตอนนี้เหมือนสังคมแมลงวัน มันไม่มีหมู่ มีคณะ ต่างคนต่างอยู่ อยู่ในที่ที่มีสิ่งปฏิกูล ท่านอยากเห็นสังคมเป็นสังคมของผึ้งที่มีแต่ความสะอาด สามัคคี ขยันหมั่นเพียร และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง" ชัชวาลย์ยังย้อนอดีตไปเมื่อหลายปีก่อนถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คุณพ่ออาการทรุดลงเรื่อยๆ

"ช่วงนั้นกำลังหาเสียงเลือกตั้ง คุณพ่อชอบนโยบายของนักการเมืองคนนั้นมากที่ชูเรื่อง 30บาทรักษาทุกโรค ท่านเลยไปคุยกับคุณหมอประเวศ (วะสี) ว่าจะเอายังไงกันดี อยากรู้ว่าประชาชนคิดยังไง เลยประกาศออกสื่อถามชาวบ้านว่ารู้สึกอย่างไรต่อการเมือง ต้องการ/ไม่ต้องอะไร อยากเห็นสิ่งใดบ้าง ปรากฎว่ามีจดหมายส่งมาที่บ้านคุณพ่อล้านกว่าฉบับ" ทุกฉบับคุณหมอเสมเป็นคนอ่านเอง โดยมีผู้ช่วยเก็บเป็นข้อมูลให้ แล้วก็สร้างศาลาจัดเก็บจดหมายเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี วันหนึ่งเมื่อนักการเมืองซึ่งได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนนั้นมากราบสวัสดีที่บ้านและเห็นภูเขาจดหมายเหล่านั้น จึงขออนุญาตนำกลับไปโดยให้เหตุผลว่าจะนำไปวิจัยพัฒนานโยบายพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

"ด้วยเหตุผลนี้คุณพ่อเลยขัดไม่ได้ ทั้งที่ท่านตั้งใจจะนำจดหมายพวกนี้เผาไปพร้อมกับท่านเมื่อเสียชีวิตลง ก่อนจากไปนายกฯ คนนั้นยังรับปากกับคุณพ่อด้วยว่าจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง" ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้และแก้กฎหมายเพื่อเอื้อธุรกิจตัวเอง "ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ทรุด ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของท่าน" ชัชวาลย์ กล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ หาก 100 ฝน 100 หนาวที่คุณหมอเสม พ่ออุ้ยเสม พ่อเสม หรือ คุณพ่อหมอเสม ผ่านมา ก็ยังมีความภูมิใจที่ท่านทิ้งไว้ข้างหลังมากมาย โดยเฉพาะ "ลูก" "ท่านมีลูกเป็นพันเป็นหมื่น นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าท่านภูมิใจอย่างยิ่ง และท่านจะเรียกคนเหล่านั้นว่า อภิชาตบุตร ตามคำสอนที่ท่านให้ไว้แก่คู่แต่งงานใหม่เสมอๆ ว่า ต้องทำให้ลูกที่เกิดมาแล้ว ดีกว่าเราให้จงได้"


ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากวิกิพีเดีย,หนังสือ "เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง : ชีวิตและผลงานศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว" และ จากผู้ร่วมงาน "หนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว ได้ในวันพรุ่งนี้ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย")