Custom Search

Apr 20, 2010

หนังสือ “พลเมืองดี”


วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์






http://www.dpu.ac.th

มติชน
พฤ. 1 เม.ย. 53

มีหนังสือทรงคุณค่ายิ่งเล่มหนึ่งของไทยซึ่งมีชื่อว่า
“พลเมืองดีตอนต้น” สอนให้คนไทย
เป็นพลเมืองดีตั้งแต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน
ผู้แต่งคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล พ.ศ. 2414-2459)
อดีตเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้สร้างคุณูปการแก่
บ้านเมืองเนื่องจากมีผู้สนใจถามไถ่มาว่า
“ตอนกลาง” และ “ตอนปลาย” ของหนังสือเล่มนี้เป็น
อย่างไร ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่องจากอาทิตย์ที่แล้ว
ที่กล่าวถึงเรื่อง “หนี้แผ่นดิน” ผมขอคัดบางตอน
ของหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน
ใน “ตอนกลาง” นายเมืองมาอยู่ในเวียงแล้วจึงได้รับคำสอนในเรื่องต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองสมกับการเรียนรู้
ในเรื่อง Learn to Live คำสอนเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงประพฤติ
ผิดกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้มีชีวิตรอดนั้นมีความว่า
“....... ถ้าเราจะระวังมิให้ตัวเราเอง
เป็นผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ก็มีหลักที่เราจะพึงรักษา
ให้ปราศจากความผิดอยู่บ้างคือ
เราไม่คิดและกระทำการข่มเหงประทุษร้ายต่อผู้ใดประการหนึ่ง
เราไม่คิดคดโกงลักขโมยทรัพย์สมบัติของใคร
ประการหนึ่ง เราไม่กระทำการจลาจลอลหม่าน
ทำลายความสุขสำราญของบ้านเมืองประการหนึ่ง
เราไม่ทำการทุจริตพลิกแพลงให้ผิดจากความจริงและ
เสียความยุติธรรมประการหนึ่ง เราไม่ฝ่าฝืน
ข้อบังคับแบบธรรมเนียมและอำนาจการปกครองบ้านเมืองประการหนึ่ง
รวมใจความก็คือการสิ่งใด ๆ
ถ้าเราชั่งใจได้ว่าเราทำโดยสุจริตไม่ผิดธรรมอันควร
จะเห็นได้ในใจของเราเองแล้ว ก็จะเป็นโอกาส
อันน้อยที่เราจะต้องเป็นถ้อยความลำบาก
ให้พิเคราะห์ถึงความชอบธรรมเป็นประมาณ ข้อใด
สิ่งใดถ้าเรารู้สึกสงสัยอยู่ว่าจะไม่เป็นการชอบธรรมแล้ว
เราก็อย่าพึงทำลงโดยง่าย ๆ
ควรพินิจพิเคราะห์และหารือผู้รู้ดูให้ถ่องแท้แน่นอนเสียก่อน
ต่อเห็นว่าไม่มีผิดแล้วจึงทำ เพียงเท่านี้ก็จะพอ
เป็นเครื่องป้องกันความลำบากในเรื่องนี้ได้
ถ้าหากมีการเกี่ยวข้องต้องคดีด้วยความจำเป็นแล้ว
เราก็ต้องปรึกษาหารือผู้รู้กฎหมายซึ่งอาจจะชี้ข้อผิดข้อถูกได้.......”

ใน “ตอนปลาย” นายเมืองเติบโตขึ้นได้รับคำสอน
เกี่ยวกับศีลธรรมการดำรงตนใน
สังคม ตอนหนึ่งของคำสอนมีดังนี้
“.......คนเรานี้เกิดมาที่จะตั้งตัวให้มั่นรักษาความดี
ความเจริญให้เป็นไปตลอดชีวิตนั้น
ไม่ใช่ง่ายเลย ไหนจะศัตรูภายนอก ไหนศัตรูภายใน
คือใจและความประพฤติของตนเอง
เปรียบเทียบกับเรือที่เดินอยู่ในทะเล
ที่จะให้ตลอดรอดฝั่งไปได้วันหนึ่ง ๆ นั้นก็ไม่ใช่ง่าย
นายเมืองจึงถามว่า
“คุณลุงเปรียบอย่างไรที่ว่าคนเราเหมือนกับเรือนั้น” นายมั่นจึง
ว่า “อ้าว จะว่าให้ฟัง เมื่อแต่งงานลูกพระยาจันทบุรี
เจ้าก็ได้ไปกับลุงได้เคยเห็นเรือเห็นทะเลแล้ว
ไม่ใช่หรือ เขาเดินเรือลำบากอย่างไรเจ้าก็คงรู้
เมื่อวันผ่านช่องแสมสารคืนวันนั้นช่องก็แคบ
หินใต้น้ำก็มี มืดก็มืด พายุก็กล้า
นายเรือต้องระวังเต็มที่ทั้งภายนอกคืออันตรายเหล่านั้น และ
ภายในก็ต้องระวังเครื่องจักรกลเครื่องถือท้ายเป็นต้นและอื่น ๆ
จนกว่าจะรอดไปได้ คนเราก็ฉันนั้น
ตั้งแต่เกิดมาจะทำการงานสิ่งใดก็ต้องฟันฝ่าต่อ
ความลำบากอยู่ทั้งสิ้น ถ้าไม่ระวังรักษาให้ดีก็มีแต่จะ
พลาดพลั้ง ไม่ทางโน้นก็ทางนี้
ข้อสำคัญอยู่แก่การระวังรักษาให้รอบคอบ
ถ้าไม่ประมาทแล้วก็คง
เอาตัวรอดได้ ขอเสียแต่ต้องระวังถือท้ายให้ดีให้มีสติอยู่เสมอ
นั่นเป็นข้อสำคัญกว่าสิ่งอื่น”

คนเราที่จะกระทำการงานสิ่งใดก็ต้องอาศัยความตั้งใจ
และความมุ่งหมายที่จะให้ถึง
ประโยชน์และประสงค์โดยแน่นอน
ถ้าเป็นคนมีนิสัยใจคอเหลาะแหละเหลวไหลอยู่เสมอเช่นนั้นแล้ว
ก็จะไม่สำเร็จผลสักอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่นนี้ก็เปรียบได้เหมือนกับการเดินเรือ นายเรือจะต้องตั้ง
เข็มทิศให้ตรงต่อที่ซึ่งหมายจะไป
ถ้าเข็มทิศนั้นคลอนแคลนไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ลำเรือก็อาจจะเหหันวนเวียนกลับไปกลับมาต่าง ๆ
ที่ไหนจะสามารถไปให้ถึงตำบลที่ประสงค์จะไปนั้นได้
คนเราจะกระทำการงานสิ่งใดก็ต้องอาศัยสุจริตธรรมเป็นประมาณ
ให้มีความกระดากและครั่นคร้ามในทางที่จะประพฤติชั่วทุจริต
จึงจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้กระทำความชั่ว
ความผิดได้ ก็เปรียบได้เช่นกับการเดินเรือ
นายเรือจะต้องระวังภัยอันตรายในเวลาที่จะเข้า จะออก
ต้องคอยหยั่งน้ำดูฦกตื้น อย่าอุกอาจและมีความประมาท
จึงจะรักษาเรือให้รอดพ้นอันตรายไปได้”

คนเราที่กระทำการงานต่าง ๆ จะต้องทำด้วยความรู้
ถ้าหากไม่มีความรู้ จะทำการให้
ถูกต้องดีก็ไม่สามารถ เปรียบเหมือนการเดินเรือ
นายเรือก็จะต้องรู้แผนที่ว่าที่ไหนลึกที่ไหนตื้น
ฝั่ง และเกาะอยู่ที่ไหน ใกล้หรือไกล
หินและหาดมีอยู่ที่ไหนบ้าง กระแสน้ำ และเวลาลมเป็น
อย่างไร ถ้าไม่มีความรู้เช่นนี้ ก็ยากที่จะเดินเรือให้พ้นอันตรายได้

คนเราจะทำการงานสิ่งใดจะสำเร็จได้ด้วยความเพียร
ถ้าเป็นคนเกียจคร้านคอยแต่จะ
ย่นย่อท้อถอย ยากลำบากจะทำอะไรก็ยากที่จะสำเร็จ
เปรียบกับการเดินเรือก็ต้องอาศัยกำลัง
อย่างใดอย่างหนึ่ง คือกำลังเครื่องจักหรือกำลังลม เป็นต้น
ให้พอเพียงจึงจะพาแล่นไปได้

ถ้ากำลังอ่อนเรือก็ต้องไปได้ช้า
ถ้าขาดกำลังเมื่อใดเรือหยุดเมื่อนั้น
การงานสิ่งใดก็ต้องอาศัยสติอันหนักแน่นมั่นคง
จึงจะบังคับความคิดและอาการกิริยา
ให้เป็นเพียงที่ถูกที่ควร และเหนี่ยวรั้งไม่ให้ดำเนินไปในที่ผิดต่าง ๆ
ไม่ให้หันเหียนโลเลวอกแวกไป
ตามใจตนที่จะชักพาให้เสียประโยชน์เสียทาง
ก็เปรียบได้เช่นกับการเดินเรือ มีการถือท้ายให้ตรงลำ
ไปเสมอเป็นข้อสำคัญ ถ้าเสียหางเสือหรือเครื่องถือท้ายชำรุด
หรือคนถือท้ายเมามาย ก็อาจจะพา
เรือให้หันเหไปไหนต่อไหนได้
บางทีก็จะพาให้ไปโดนหินหรือเกยหาด
ให้เรือพินาศย่อยยับอับปางได้
คนเราจะทำการงานสิ่งใดก็ต้องอาศัยปัญญาอันฉลาด
ที่จะสอดส่อง ตรวจตรา
ให้รู้เหตุผลดีและชั่ว ตื้นลึก หนักเบาโดยถี่ถ้วนทั่วถึง
แล้วใช้อุบายประกอบกิจการงานให้สมแก่เหตุผล
ที่ควรและไม่ควร จึงจะสามารถให้การงานเป็นไปโดยสำเร็จประโยชน์ได้
ความข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน
กับนายเรือที่เดินเรือซึ่งต้องอาศัยแสงสว่าง
ถ้าแม้สุดสายตาหรือเป็นเวลามืดก็ต้องใช้กล้องส่องจึงจะ
แลเห็นทิศและทางที่จะไปได้ตลอด
ถ้ามิฉะนั้นก็ย่อมจะขัดข้องแก่การเดินเรือ
ความลำบากของคนเราที่จะประกอบกิจการงานและ
ทำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นไปโดยชอบ
ได้จริง และให้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดชีวิตไปได้นั้น
ก็เหมือนดังการเดินเรือ ที่จะต้องพยายาม
ระวังรักษาให้แล่นไปในท้องทะเลจนตลอดรอดฝั่ง
ปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่คลื่นลมพายุหาด
และหิน เป็นต้น แต่ว่าธรรมดาของคนที่มีใจเป็นนักเลง
มีมานะ และความบากบั่นในทางชั่ว
รื่นเริงอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ถือว่าความประพฤติเช่นนี้
จะเป็นเครื่องตัดทอนความเพียรพยายามในที่ชอบ
การที่คนเราเกิดมาแล้วไม่ใช้สติปัญญาและความเพียรพยายาม
ที่จะตั้งตัวให้เป็นปึกแผ่นหลักฐานเอา
ตัวรอดให้ได้ ไปแพ้ปัญญา ลดความเพียร
และปล่อยสติให้เสียไป ยอมให้ความเกียจคร้านหรือ
ความชั่วต่าง ๆ อันเป็นศัตรูของความดีความเจริญมาย่ำยีครอบงำได้
ก็ประหนึ่งว่าไม่ใช่ลูกผู้ชายเสียทีที่
เกิดมาเป็นชายชาติหนึ่งในโลกนี้ เจ้าควรจะรู้สึกว่า
ตัวเจ้าก็เหมือนกับนายเรือคนหนึ่งที่จะต้องมี
ความอุตสาหะพาเรือของเจ้าไปให้ถึงฝั่งอย่างที่อุประมาฉะนี้.......”
การมีความรู้ มีเงินมีทอง มิได้ประกันว่าจะอยู่รอด
และอยู่ดีได้ตลอดรอดฝั่งหากขาด
คุณลักษณะที่สำคัญในการดำรงตน คติธรรม
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย