Custom Search

Apr 27, 2010

ปณิธาน 3 ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นวิกฤต


ประเวศ วะสี
โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

NewConsciousness@thainhf.org

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์
มติชน
ฉบับวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548

ปีที่ 27 ฉบับที่ 9800 หน้า 8


ในสมัยโบราณมนุษย์อยู่กันตามกระเปาะทางวัฒนธรรม (cultural pockets)
ตามสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย เรียกว่า
มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ความหลายหลายทางวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติ
เพราะวัฒนธรรมสัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งแตกต่างกัน เช่น
คนที่ขั้วโลก คนในทะเลทราย คนในเขตหนาว
คนในเขตร้อน คนบนเขา คนริมทะเล
ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน


กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ๆ เรียกว่า “อารยธรรม” เช่น
อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห เป็นต้น


เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์
แล้วนำวิทยาศาสตร์มาสร้างอาวุธที่มีอำนาจมาก เช่น
เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล ทำให้เกิดอำนาจมหาศาล
อย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
อารยธรรมใหญ่ ๆ ที่มีอายุประมาณ 5,000 ปี
อย่างอารยธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีน
ไม่สามารถต้านทานอำนาจการยิงอันมหึมาของชาวยุโรปได้


อำนาจอันรุนแรงของชาวยุโรป
ทำให้โลกมีโครงสร้างใหม่แทนที่ความหลากหลายทาง วัฒนธรรม
โลกทั้งโลกถูกบังคับให้มีอารยธรรมเดียว
จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์หรืออะไรก็ตามที

แต่แก่นแกนของมันคือ
อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยม


อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมได้เข้า ครอบงำโลก
ทั้งในด้านโลกทัศน์และวิธีคิด การศึกษา โครงสร้างทางสังคมต่าง ๆ


ในอารยธรรมนี้ได้เกิดขนาดเงินอันมโหฬารอย่างที่แต่ก่อนไม่มี
และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่
เงินจำนวนมหาศาลนี้วิ่งรอบโลกด้วยความเร็วของแสง


เงินอันมหึมานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ทาง เศรษฐกิจ
แต่ไปดูดเงินที่มีน้อยกว่าของส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
และมีการจัดการไม่ดี เท่า เงินอันมหึมาได้เข้าทำลายคุณค่าต่าง ๆ เช่น
ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม
จิตวิญญาณ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


โลกที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดก่อให้เกิดระบบซับซ้อน (complex system)
ที่ขับเคลื่อนด้วยโลภจริตขนาดใหญ่ สภาพโกลาหล (chaos)
และวิกฤตการณ์จึงเป็นปรากฏการณ์ถาวร


คนทั้งโลกถูกโครงสร้างโลกครอบงำ กดทับ บีบคั้น
จึงเกิดความเครียด ความทุกข์ ความท้อแท้สิ้นหวัง
เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดยาเสพติด
มีความรุนแรง ขาดอิสรภาพ
ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีเพื่อสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรเป็น

อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมกำลังพาโลกทั้ง
โลกไปสู่สภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง


นักปราชญ์ตะวันตกได้มองเห็นวิกฤตการณ์
ของอารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมแล้วในขณะนี้
แต่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งเห็นมาก่อนใคร
ตั้งแต่ พ.ศ.2547 โน่นแล้วที่ใคร ๆ ยังมองไม่เห็น
ท่านได้พยายามตะโกนบอกเพื่อนมนุษย์เป็นอเนกปริยายว่า

"วิกฤตแล้วโว้ย ๆ"
ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษร่วมสมัยกับเรา คือ
ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถร แห่งสวนโมกขพลาราม
ซึ่งมรณภาพไปเมื่อ พ.ศ.2536
และจะครบ 1 รอบศตวรรษแห่งชาตกาล
ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 นี้


ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ฝากปณิธานไว้ 3 ข้อ โดยความดังนี้

1. ขอให้ศาสนิกของแต่ละศาสนา
เข้าถึงหัวใจของหลักธรรมของศาสนาของตน ๆ

2. ขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา

3. ขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม


ในช่วงที่โลกก็วิกฤต ไทยก็วิกฤตไปตามโลกด้วยอย่างไม่มีทางออก
และเรากำลังจะเข้าสู่ 1 ศตวรรษแห่งชาตกาลของท่านมหาเถระ
คนไทยน่าจะพากันศึกษาปณิธานทั้ง 3 ประการกันอย่างจริงจัง
อันจะทำให้พบทางออกจากวิกฤต


การคิดภายใต้ความครอบงำของสภาพที่ดำรงอยู่
ไม่ทำให้พ้นวิกฤตได้ แต่มนุษย์สามารถหลุดจากมายาคติทั้งปวง
ไปสู่อิสรภาพและประสบความจริง ความงาม
ความถูกต้องได้โดยการเข้าถึงศาสนธรรม


ปณิธาน 3 ประการของอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ

อาจถอดออกเป็นการปฏิบัติและการสนับสนุนการปฏิบัติได้ 4 ประการ ดังนี้

1. ทุกคนควรพยายามศึกษาศาสนธรรมของศาสนา
ที่ตนนับถือให้มากเป็นกิจวัตร จะทำให้พบอิสรภาพ ปัญญา และสันติ

2. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรส่งเสริมการเจริญสติเป็นวิถีชีวิต
โดยส่งเสริมให้มีสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ดีให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย
กับส่งเสริมให้ระบบการศึกษาทุกระดับมีหลักสูตรพัฒนาจิตภาคปฏิบัติ

3. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิต
ที่จะให้นิสิตนักศึกษามีการพัฒนาจิต
ด้วยวิธีที่แตกต่างหลากหลายอันถูกจริต
ของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ควรจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการสานเสวนา (dialogue)
ระหว่างศาสนาต่าง ๆ และมีการเผยแพร่การเสวนานั้นให้แพร่หลาย

4. กรมการศาสนาควรจะทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมข้อ 1-3 ข้างต้น
รวมทั้งให้มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาทาง
วิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ

มนุษย์สามารถประสบความสุขและอิสรภาพจากการ
เข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นความสุขอันประณีต ก็จะค่อย ๆ
ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางจิตใจ
(mental transformation)
จะไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม
อันจักเป็นไปเพื่อความสุขและศานติ