Mar 20, 2010
การใช้เทคโนโลยี 'ไวแมกซ์' พัฒนา ชุมชนในถิ่นห่างไกล
ปิยุบล ตั้งธนธานิช
itdigest@thairath.co.th
ขณะนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า
เทคโนโลยีด้านไอซีทีที่ก้าวหน้าสุดล้ำสมัย
ได้เข้ามามีบทบาทในการติดต่อสื่อสารและ
ใช้ชีวิตประจำวันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของ
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
หรือ กทช. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี
เพื่อนำมาพัฒนาความรู้และชุมชน
จึงร่วมกับกลุ่มกิจการค้าร่วม และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
จัดทำ โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา
และได้ทำการส่งมอบระบบไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 51 ที่จังหวัดเชียงราย
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์
ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเกิดจากความความร่วมมือระหว่าง กทช.และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ที่ต้องการส่งเสริมและขยายโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ
รวมถึงองค์ความรู้ของครู นักเรียน และประชาชน
ที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ
ผ่านเครือข่ายและความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา
หน่วยงานการปกครองท้องถิ่น
และหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม
โดยทำการคัดเลือกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบ
ของม.แม่ฟ้าหลวงกว่า 21 โรงเรียน
เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยงบประมาณจาก กทช.กว่า 70 ล้านบาท
ภายใต้ระยะเวลา 3 ปีในการดำเนินงาน
เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ครู นักเรียน และชุมชน
ด้าน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า
ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองในระยะที่ผ่านมา คือ
การที่นักเรียนไม่มีคุณภาพ เนื่องจากครูและโรงเรียน ไม่ได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ
จึงไม่สามารถสอนนักเรียนได้อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดารหรือชนบทที่อยู่ห่างไกล
ทำให้เกิดช่องว่างในด้านความรู้ความสามารถ
ระหว่างนักเรียนในชนบทกับนักเรียนในเมือง
จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว
เพื่อช่วยให้ครูและโรงเรียนได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง
และเป็นตัวช่วยในการเตรียมความพร้อม
เพื่อพัฒนาชุมชนและราษฎร
ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต่อว่า
งบประมาณ 70 ล้านบาท ที่ม.แม่ฟ้าหลวงได้รับจาก กทช.นั้น
จะถูกแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ จำนวน 30 ล้านบาท
และใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาสื่อ การฝึกอบรม
และเป็นค่าบริหารโครงการฯ จำนวน 40 ล้านบาท
ภายในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี
โดยจะมีการประเมินผลโครงการฯ ทุก 6 เดือน
เพื่อประเมินระบบ นักเรียน และชุมชน
เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนาคุณภาพครู โรงเรียน และนักเรียน
ที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ชัดเจน และ เป็นรูปธรรมมากขึ้น
นาวาอากาศเอก ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์
คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า
ระบบไวแมกซ์ (WiMax)เป็นเทคโนโลยีใหม่
ที่น่าสนใจและมีประโยชน์มาก
เนื่องจากมีราคาถูกและติดตั้งง่ายกว่าเทคโนโลยีระบบอื่นๆ
เพราะระบบไวแมกซ์
ขยายเครือข่ายการสื่อสารไปได้ในวงกว้าง
แต่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด
โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน
ขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้น คือ
1.การวางโครงสร้างและทิศทางในระบบไอซีที
2.การพัฒนาบุคลากร
3.การพัฒนาสื่อการสอนและองค์ความรู้ต่างๆ
4.การพัฒนาเครือข่ายทางสังคม
ที่ประกอบด้วยโรงเรียน มหาวิทยาลัย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ และ
5.การเกิดผลผลิตที่ยั่งยืน
เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาชุมชน
“โครงการต้นแบบศูนย์การศึกษาและพัฒนา ชนบท
ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อขยายผลการสื่อสารด้านไอซีที
แต่เราคาดหวังผลด้านการศึกษา
การพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น
โดยมุ่งเน้นการสร้างอาชีพสร้างรายได้
การให้ข้อมูลในการประกอบอาชีพและอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ
เพื่อให้เกษตรได้รับข้อมูล และ ในไปใช้พัฒนาอาชีพได้ต่อไป
ถือเป็นการกระจายความเจริญและความเข้มแข็งไปสู่ชนบท
และทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
แม้จะสิ้นสุดโครงการไปแล้วก็ตาม”
คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าว
ส่วน นายธีรศักดิ์ จีรอัศวพงศ์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)
กล่าวในฐานะผู้ให้บริการด้านไอซีทีแก่โครงการ ว่า
โครงการดังกล่าว เป็นการสื่อสารทางไกล
ที่จะทำให้นักเรียนและชาวบ้าน
ที่อยู่บริเวณโดยรอบ ได้รับประโยชน์
และสามารถพัฒนาความรู้ได้มากขึ้น
จากเครือข่ายไวแมกซ์ที่ใช้งานได้จริง
โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทกิจการค้าร่วมและ
บริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
แม้ว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ จะไม่ได้ทำให้บริษัทฯ
มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ถือเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือ
ทางการศึกษาให้แก่สังคม
เพื่อทำให้เด็กไทยในชนบทได้มีโอกาสใช้เครื่องมือ
ที่มีมาตรฐานอยู่ในระดับสากล
เช่น นายสมบัติ จักรสมศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ข้าวต้มท่าสุด
ผู้รับประโยชน์จากการใช้ระบบไวแมกซ์
ในโครงการต้นแบบศูนย์การศึกษาและพัฒนาชนบท
กล่าวว่า โครงการดังกล่าว
ช่วยสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากไอซีที
และทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
แตกต่างจากอดีต ที่โรงเรียนมีหน้าที่เพียงแค่สอน
ให้เด็กรู้จักวิธีการใช้คอมพิวเตอร์
แต่ขณะนี้ เด็กนักเรียนใช้คอมพิวเตอร์
เพื่อสืบค้นข้อมูลประกอบการเรียนได้เกือบทั้งหมด
ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่
ต้องรู้ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้จากที่ใด
การสอนให้เด็กรู้จักคอมพิวเตอร์
แต่ไม่อาจใช้สืบค้นข้อมูลได้
ก็เป็นการสอนที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์แต่อย่างใด
“การพัฒนาสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดภายใน โรงเรียน
คือการพัฒนาครู การใช้โปรแกรม การดูแลระบบ
และเครื่องคอมพิวเตอร์ หลังจากมีการอบรม
ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ทางโรงเรียนก็นำมาขยายผลต่อไปยังนักเรียน
เราไม่ได้สอนให้เด็กใช้คอมเป็น
แต่เราจะสอนให้เด็กไปแสวงหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง
ขณะที่ครูก็สามารถทำสื่อการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะนี้ครูกว่า 70% ในโรงเรียน ก็สามารถทำอีบุ๊คเป็นแล้ว
เรื่องต่อไป คือ การขยายผลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์
ด้วยการผลักดันให้นักเรียนได้ฝึกจัดรายการวิทยุ
เพราะตนเชื่อว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงดังกล่าว
จะช่วยสร้างและเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชุมชนได้”
ผอ.โรงเรียนแม่ข้าวต้มท่าสุด กล่าว
พระมหาวิษณุรักษ์ วิโรธรังษี รองเจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น
ครูใหญ่โรงเรียนวัดฝั่งหมิ่นวิทยา
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ
ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
และเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ได้ใช้ระบบไวแมกซ์
กล่าวว่า ระบบไวแมกซ์เป็นระบบใหม่ที่ช่วยพัฒนาครู พัฒนาชุมชน
แม้จะเป็นการพัฒนาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนในชุมชนชนบท
แต่ทุกคนควรรู้จักปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตามยุคสมัย
“ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยทำให้
เกิดการรับรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้น หากต้องการรู้
หรือค้นหาข้อมูลเรื่องต่างๆ ก็สามารถพิมพ์และค้นหาได้ทันที
ส่วนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิดนั้น
ขึ้นอยู่กับความคิดและวิจารณญาณของผู้ใช้
ว่าจะทำให้เกิดประโยชน์หรือโทษแก่ตนเอง”
รองเจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น
ครูใหญ่โรงเรียนวัดฝั่งหมิ่นวิทยา กล่าวทิ้งท้าย
โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการ ศึกษาและพัฒนาชนบท
ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายนั้น ถือเป็นการนำร่องในการนำเทคโนโลยีมาใช้
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความรู้ของคนในชนบท
ที่อยู่ห่างไกลความเจริญได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านงบประมาณที่จะสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง
ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่อย่าง
“ไวแมกซ์” รวมถึงการเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ
ก็ถือเป็นอุปสรรคขั้นสำคัญ
ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องร่วมกันพิสูจน์และแสดงศักยภาพ
เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ
จนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วาดหวังไว้ได้หรือไม่...
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มฟล.จับมือ กทช.ตั้งศูนย์ทางไกลในโรงเรียนชนบททั่วเชียงราย
เชียงราย – มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจับมือ กทช.
พัฒนาโรงเรียนชนบท เผย 2 ปีของโครงการ
ติดเน็ตความเร็วสูง พร้อมอุปกรณ์ให้ 21 โรงเรียน
ห่างไกลของเมืองพ่อขุนฯแล้ว
หนุนพัฒนาการศึกษา – ยกระดับครูผู้สอน
รายงานข่าวแจ้งว่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)
ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ดำเนินโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษา
และพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อนำเทคโนโลยีชั้นสูงจาก กทช.
โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตระบบวายเม็กเข้าไปสนับสนุน
การเรียนการสอนให้กับ โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ชนบท
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับนักเรียน
นาวาอากาศเอก ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์
คณบดีสํานักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล.
เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือน ก.ย.2550-ก.ย.2552 ที่ผ่านมา
ได้มีการใช้งบประมาณดำเนินการไปแล้วจำนวน 43,746,240 บาท
จากทั้งหมดจำนวน 55,312,400 บาท
ทำให้คงเหลืองบประมาณดำเนินการประมาณ 11.6 ล้านบาท
โดยได้เข้าไปดำเนินการใน 21 โรงเรียนชนบทของ จ.เชียงราย
เพื่อนำเทคโนโลยีทางไกลเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา
โดยเฉพาะการนำเอาระบบอินเตอร์ความเร็วสูง มาใช้ประโยชน์
มีการถ่ายทอดข้อมูลไปสู่โรงเรียนในชนบทโดยตรง
เพื่อให้ครูอาจารย์และนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ
นำไปใช้ในการส่งเสริมการเรียนการสอนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังได้นำระบบดังกล่าวไปร่วมกับ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องด้วย
การดำเนินการที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงหรือ
ติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง
จัดทำศูนย์ทางไกล ณ โรงเรียนในโครงการทั้ง 21 แห่ง
โดยศูนย์ทางไกลแต่ละศูนย์ประกอบ
ด้วยอุปกรณ์เครือข่าย คอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่อง และเครื่องพิมพ์ 1 เครื่อง
นอกจากนี้ มฟล.ยังได้รวบรวมและพัฒนาแหล่งข้อมูล
และสื่อการสอนต่างๆ เช่น สื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลของเครือข่าย
ติดตั้งระบบให้โรงเรียนในเครือข่ายสามารถใช้ประโยชน์
ทรัพยากรต่างๆ จาก มฟล.
และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
มีการอบรมครูและบุคลากรให้สามารถใช้ทรัพยากร
และสื่อการศึกษาต่างๆ ในระบบ
ตลอดจนสามารถดูแลบำรุงรักษาระบบ
อบรมและชี้แจงครู นักเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และประชาชนในพื้นที่ ให้ทราบและเข้าใจการใช้ประโยชน์
จากระบบเครือข่าย และเครือข่ายชุมชน
ที่เกิดขึ้นจากโครงการ
และมีการติดตามตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการอย่างต่อเนื่อง
ด้าน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ประธานกรรมการอำนวยการ มฟล.กล่าวว่า
ในพื้นที่ชนบทห่างไกลยังมีโรงเรียนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กไม่เท่าเทียมกัน
จนทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงของชาติ
ดังนั้นโครงการนี้จึงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพให้กับครูอาจารย์เป็นหลัก
เพราะเราเห็นว่าการจะพัฒนาเด็กนักเรียนได้ต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาครูหรือ
แม่พิมพ์ก่อน แต่ที่ผ่านมาปัญหาที่พบคือครูอาจารย์ในชนบทขาดแคลน
สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย
ดังนั้นโครงการจึงเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว
ขณะ เดียวกัน มฟล.ยังมีโครงการพัฒนาครู
ในโรงเรียนชนบทชายแดนหรือโรงเรียน ตชด.อีกด้วย
โดยตั้งเป็นมูลนิธิพัฒนาครูปัจจุบันมีงบประมาณอยู่ราว 10 ล้านบาท
มุ่งเน้นให้ครูนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้นักเรียน
เพื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่โครงการทั้งหมดก็เป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น
ซึ่งคาดหวังว่ากระทรวง ศึกษาธิการจะนำไปเป็นต้นแบบ
ในการไปดำเนินการทั่วประเทศ
เพื่อยกระดับคุณภาพของนักเรียนชนบทต่อไป
Mar 19, 2010
อาจารย์ ศุภวรรณ พิพัฒนวงศ์ กรีน
- http://www.supawangreen.in.th/forum/viewtopic.php?t=1029
- http://www.supawangreen.in.th/upload_files/Download/ex_user_moraldiet.pdf
- http://teetwo.blogspot.com/2009/09/blog-post_2401.html
in the bathroom, We know the three bedrooms
are next to the bathroom
and the living room is downstairs and
our children are watching television,
but although we know they are facts,
they are not reality.
Reality is our immediate sensory experience,
which is everything we can sense In the bathroom.
Everything apart from that, although they are facts,
they are not real and therefore
they can be faulty because our children
could not be in the kitchen instead and
our living room might be on fire or flooded.
We can see that the immediate
event of the bedrooms and the living room exist only
in our thoughts and memory and therefore not reality.
Consequently, all the thoughts which are too far away
like thinking about yesterday, tomorrow or thinking about
our intellectual knowledge and so on
are not reality according to this meaning I put forward.
They are not reality because they are not
our immediate sensory experience.
We can subsequently see that reality
in this meaning moves with ourselves.
As a result, reality as the immediate
moment is a constant dynamic moment,
which exists exactly like
the second hand of a clock, which doesn’t stop.
Once we finish our business in the bathroom
and walk into the bedroom, our reality changes.
The bathroom becomes a dream and the bedroom
becomes reality.
We later come downstairs and into the living room,
our immediate reality moves along with us.
If we want to understand the Ultimate reality or
Nirvana that the Buddha talked about,
we must first of all understand
reality in this simple meaning.
.......... สมมติว่าเรากำลังทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำ
เรารู้อยู่ว่ามีห้องนอนสามห้องอยู่ติดกับห้องน้ำ
และ ห้องนั่งเล่นอยู่ที่ชั้นล่าง
และลูกๆกำลังดูโทรทัศน์กันอยู่
สิ่งต่างๆเหล่านี้เรารู้ว่ามันมีอยู่ แต่มันก็ไม่ใช่ "ความจริง"
"ความจริง" คือสิ่งที่เราประสบและสัมผัสอยู่เฉพาะตรงหน้า
ซึ่งก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เรารับรู้ได้ในห้องน้ำที่เรากำลังทำธุระอยู่
ทุกสิ่งทุกอย่าง "ความจริง"
ดังนั้นก็อาจจะผิดไปจากที่เรารู้ก็ได้ เช่น
ลูกๆของเราอาจจะอยู่ในห้องครัว
แทนที่จะอยู่ที่ห้องนั่งเล่น
หรือว่า ห้องนั่งเล่นของเรากำลังถูกไฟไหม้ หรือ
ถูกน้ำท่วมจะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ของห้องนอน
หรือ ห้องนั่งเล่น มีอยู่ก็เฉพาะในความคิด
หรือ ในความทรงจำของเราเท่านั้น
นั่นก็คือ มันไม่ใช่ "ความจริง"
ดังนั้น บรรดาความคิดทั้งหลายที่ห่างไกลออกไปจากตัวเรา
อย่างเช่นการคิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้
การคิดถึงเรื่องพรุ่งนี้ หรือ การคิดคำนึงเกี่ยวกับ
ความรู้ความจำทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ "ความจริง"
ในความหมายที่จะหมายถึง
มันไม่ใช่ความจริง เพราะมันไม่ใช่การรับรู้
จากประสาทสัมผัสเฉพาะหน้าของเรา
เราจะเห็นได้ว่า "ความจริง"
ในความหมายนี้ เคลื่อนไปพร้อมๆกับเรา
"ความจริง" ของขณะเฉพาะหน้านี้
เป็นปัจจุบันขณะแห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งปรากฏอยู่คล้ายดั่งเข็มวินาที ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
เมื่อเราเสร็จธุระของเราในห้องน้ำและ
เดินเข้ามาในห้องนอน "ความจริง"
ของเราก็เปลี่ยนแปลงไป
ห้องน้ำกลายเป็นความฝัน
และห้องนอนกลายเป็นความจริง
แล้วเราก็เดินลงบันได เข้าไปที่ห้องนั่งเล่น
ความจริงเฉพาะหน้า เคลื่อนตามเราไป
ถ้าเราต้องการเข้าใจความจริงอันสูงสุดของ "พระนิพพาน"
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
เราต้องทำความเข้าใจกับ
"ความจริง" ในความหมายเรียบง่ายอย่างนี้ก่อน
..............
Mar 18, 2010
แด่...บุญชู ด้วยดวงใจ
เสี้ยวหนึ่งของ บุญชู บ้านโข้ง คือ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
บุคคลในโลกเซลลูลอยด์ที่จากไป
ใครๆ ที่เคยร่วมงานกับเขา ต่างเสียน้ำตาให้กับ ..บุญชู ตัวจริง
•อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
"อาคือตำนาน"
อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารบริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
รุ่นปัจจุบัน ผู้สืบทอดกิจการค่ายหนังที่ให้ทุนสร้างมา
ตั้งแต่ "คู่วุ่นวัยหวาน" ปี 2529 ผลงานกำกับเรื่องที่ 4 ของบัณฑิต
หลังจากทางเจริญ เอี่ยมพึ่งพร
ผู้บริหารรุ่นพ่อได้ช่วยปลดหนี้จากการทำหนังของบัณฑิตยุคเริ่มแรก
(หนังเรื่องแรกของบัณฑิต ออกฉายปี 2527
เรื่อง คาดเชือก และ มือเหนือเมฆ ต่อด้วย
"คนดีที่บ้านด่าน" ปี 2528
ซึ่งเป็นการลงทุนทำหนังเองด้วยการกู้ยืม)
โดยอภิรดีได้ร่วมงานกับบัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้กำกับคนนี้ด้วย
"เป็นความคุ้นเคย เวลาทำงานในฐานะผู้บริหารกับคนทำหนัง
เราก็รู้สึกเหมือนทำงานกับญาติผู้ใหญ่
เพราะเรารู้จักอามาตั้งแต่จำความได้
และโตมากับหนังของอาบัณฑิต เป็นหนังไทยที่ติดตาคนไทย"
อภิรดี เผยความรู้สึกส่วนตัว
ก่อนจะแจกแจงจุดเด่นที่ประทับใจในการทำงานร่วมกับบัณฑิตไว้ดังนี้
ความชัดเจน
"อาบัณฑิตเป็นผู้กำกับที่มีความชัดเจนด้านจุดยืน
การทำงานร่วมกันได้ง่าย เพราะอาจะบอกทันที
โดยไม่อ้ำอึ้งว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไร
และรับผิดชอบกับทุกอย่างที่ตัวเองทำลงไป
และเป็นผู้กำกับที่มีความรู้ความสามารถ
พยายามหยิบยื่นอะไรที่นึกไม่ถึงให้อยู่เสมอ
จากอดีตที่อาเคยเป็นนักข่าว มาก่อน
สิ่งที่น่าเป็นแบบอย่างให้ผู้กำกับรุ่นหลัง
คือ การทำการบ้านมาอย่างดีในงานที่ทำ
และสามารถร่วมงานกับคนอื่นได้ดี
มี vision
"ในแง่การมองนักแสดง อาได้สร้างนักแสดงจากเด็กธรรมดาคนหนึ่ง
จนมีชื่อเสียงได้ เพราะอาเชื่อว่าเด็กคนนั้นทำได้
อย่างกรณีของอาร์ตี้ ธนฉัตร เด็กหนุ่มจากขอนแก่น
ที่กลายเป็นดาราใหม่ตัวเอกของค่ายไฟว์สตาร์"
มีความเป็นไทยสูง
"อาบัณฑิต เป็นคนที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านงานหนัง
อย่างชัดเจนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นดาราที่อาสร้างมาจะหน้าไทยๆ
ตั้งแต่ สันติสุข-จินตหรา จนถึง อาร์ตี้
รวมถึงคาแรคเตอร์ด้วย และเรื่องราวชีวิตไทย
ที่ผ่านหนังอย่าง "ด้วยเกล้า" หรือกระทั่งหนังอย่าง
"14 ตุลา วันมหาสงครามประชาชน"
และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง
อย่างตัวละคร "บุญชู" ก็เป็นตัวอย่างตัวละคร
ที่ถูกสร้างจากบุคลิกเด็กหนุ่มบ้านนอกหน้าซื่อใจใส
ให้กลายมาเป็นตัวละครที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคย
ทำงานอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารไฟว์สตาร์มองว่า บัณฑิตเป็นผู้กำกับที่เป็น
"ตำนาน" ไม่ใช่เพราะอยู่นาน
แต่เป็นเพราะการสร้างงานแบบต่อเนื่อง
"อาเป็นผู้กำกับที่เป็น Legend เพราะการทำงานที่ต่อเนื่อง
ไม่ใช่ครั้งเดียวที่จบไป การสร้างหนังเรื่องเรื่องหนึ่ง
ที่สร้างตัวละครมาแล้ว มันมีเรื่องราวต่อมาในอีกหลายๆ ภาค"
หนังที่เข้าข่ายนี้รวมถึง โก๊ะจ๋า ป่านะโก๊ะ,
อนึ่งคิดถึงพอสังเขป และ "บุญชู" ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531
โดยบัณฑิตเป็นคนเขียนบทจากแรงบันดาลใจชีวิตตัวเอง
ที่มาจากต่างจังหวัด และตัวละครนี้ถูกเล่าเรื่องราว
ต่อเนื่องมาจนถึงภาคที่ 9 ใน "บุญชู ไอ-เลิฟ-สระอู"
ออกฉายเมื่อปี 2551 และในระหว่าง
การเตรียมงานเปิดกล้อง "บุญชู 10" ในปลายปีนี้
หลังจากเขียนบทเสร็จเรียบร้อยเหลือเพียงรอเวลาฟ้าฝนเป็นใจ
และรอจังหวะสุขภาพของผู้กำกับเอื้ออำนวย
แต่ทว่าวันอำลาก็มาถึงก่อนกาล
อย่างไรก็ตาม ทางไฟว์สตาร์เผยว่า
อาจจะพิจารณาดำเนินงานสร้างต่อไป
เพื่อ "สานต่อตำนาน"
บนแผ่นฟิล์มของผู้กำกับที่ล่วงลับให้สมบูรณ์
•อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร
"อาแก่แต่เก๋า"
นักแสดงวัยรุ่นที่แจ้งเกิดจากบท "บุญโชค"
ลูกบุญชูในหนัง "บุญชู ภาค 9" และได้เป็นดารานำใน
"อนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง" หนังต่อเนื่องเกี่ยวกับวัยเรียนจากเรื่อง
"อนึ่งคิดถึงพอสังเขป" (ภาคแรกในปี 2535 และภาคสองในปี 2539)
ซึ่งหนังชุดนี้แจ้งเกิดให้กลุ่มดาราวัยรุ่นยุคนั้น
เป็นที่รู้จักในนาม new kids ของไฟว์สตาร์
ได้แก่ แอน ทองประสม, แคทรียา อิงลิช
และ สายธาร นิยมการณ์ และ สายฟ้า เศรษฐบุตร เป็นต้น
อาร์ตี้ กล่าวถึงประสบการณ์ที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับต่างวัยว่า
"ถึงอาจะแก่ แต่ความแก่คือความเก๋า
อาจะบอกทุกอย่าง ทั้งการแสดง
การดูมุมกล้อง ซึ่งทำให้ผมฝันอยากเป็นผู้กำกับเหมือนอาครับ"
อาร์ตี้เริ่มต้นงานจอเงินครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี
ขณะที่ผู้กำกับของเขาอายุ 57 ปีเข้าไปแล้ว
"ถ้าเราเล่นไม่ได้ อาจะดุ และแสดงให้เราดู
ชี้ให้เห็นในมอนิเตอร์เลยว่าเป็นยังไง"
สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับ
ผู้กำกับระดับตำนานยังรวมถึง
"อาบัณฑิตจะเน้นงานคืองาน
ถ้าเป็นตอนทำงานก็จะเข้มๆ
แต่ถ้านั่งเล่น ก็คุยเล่นกับอาได้ ไม่มีปัญหา
แต่เวลาทำงานห้ามทำเล่นๆ"
•สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป
"เชื่อและซื่อสัตย์ในหนังที่ทำ"
สมัยที่ยังทำงานนิตยสารหนัง มีอยู่ช่วงหนึ่ง
หมู - สุภาพ เกิดเบื่องานและขอตามติดไปกับกองถ่าย
"กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้" อยู่นานหลายเดือน
แม้จะเป็นเวลาไม่นานแต่ก็นานพอที่จะสัมผัสความเป็นคนดี
มีน้ำใจของผู้กำกับร่างท้วม และยังจำได้ดีมาจนถึงวันนี้
"หนังของแก ก็มาจากตัวแก ความรักเพื่อนฝูง
ความเอื้ออาทรของแก จะเห็นได้ในหนัง เช่น
ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ (โดยเฉพาะในก๊วนบุญชู บ้านโข้ง)
ในอีกทางมันคือการแสดงความเป็นตะวันออก
และความเป็นไทยออกมา"
และสิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาคลุกเคล้ากับมุกตลก
ตลอดเรื่องของบัณฑิต ก็ทำให้คนดูยิ้ม อิ่มเอมใจ
"นั่นแหละคือตัวตนเขา" บก.ไบโอสโคป นิยามสั้นๆ
ไม่ใช่แค่ความเป็นไทย ตลกขบขัน
แต่หนังแทบทุกเรื่องของ "ผู้กำกับร้อยล้าน"
จะสอดไส้สาระเข้าไปให้เนียนๆ สุภาพบอกว่า
นั่นเป็นความตั้งใจของบัณฑิต
"ในยุคที่หนังเขาพีคสุดๆ เขาสามารถต่อรองได้ว่า
ถ้าทางค่ายอยากให้ทำหนัง (ทำเงิน)
อย่างบุญชู ก็จะทำให้ แต่ขอทำหนังดีๆ
มีสาระสลับสัก 1 เรื่อง เราจึงได้ดูหนังอย่าง ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44,
อนึ่งคิดถึงพอสังเขป แต่โชคดีที่ทำเงิน
เพราะชื่อบัณฑิตตอนนั้นการันตี"
แต่พอมาถึง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
หนังตั้งใจสูงที่ขาดทุนแต่ก็ได้กล่องไปเต็มๆ
ซึ่งเรื่องสุภาพไปกินนอนอยู่ด้วย
"สิ่งที่แก้เน้นตลอดคือ ทำหนังให้คนดู ดูสนุก
อยากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง
แกจะคิดตลอดว่า บทนี้ ตอนนี้ คนดูชอบไหม
ตื่นเต้นไหม ร้องไห้ไปกับตัวละครด้วยไหม
เครียดได้แต่ต้องสนุก"
หากทางในการทำหนังของบัณฑิตเหมือน
จะไม่ตรงใจคนดูรุ่นหลัง ที่เน้น visual
ประดิดประดอยกับภาพเยอะ
ผิดกับบัณฑิตที่น้ำหนักทั้งหมดจะเท
ให้การเล่าเรื่อง ซึ่งอาจจะดู "เก่า" สำหรับคอหนังปัจจุบัน
จนหลงลืมความเรียบง่ายและเล่าออกมาอย่างซื่อสัตย์
อย่างที่บัณฑิตทำมาโดยตลอด
"แกจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมาใส่ไว้ในหนัง
ที่สำคัญ แกซื่อสัตย์และเชื่อในทุกๆ อย่าง
ที่แกเก็บมาเล่า แต่ไม่รู้ว่าคนทำหนังรุ่นหลัง
เชื่อและซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองทำหรือเปล่า"
•สายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข
"อาใจเย็นกว่าน้ำแข็งที่อาเคี้ยวอีก"
เด็กสาววัย 19 ปีที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ
"อาบัณฑิต" ในหนังบุญชู 9 สายป่านบอกว่า
สำหรับเธอ อาคือผู้ชายร่างท้วม ใจดี น่ารัก
ไม่ดุนักแสดง แต่กับการทำงานจะซีเรียส เอาจริงเอาจัง
ก่อนได้มาร่วมงานด้วย เด็กรุ่นหลังอย่างเธอ
กวาดดูบุญชูมาแล้วทุกภาค ดังนั้นอาคือ
ตำนานและมืออาชีพในความคิดของเด็กสาว
"อาจะไม่บอกว่าเราต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
อาจะดูเราและนักแสดงคนอื่นๆ ก่อนว่าบุคลิก
นิสัยเป็นยังไง แล้วเอาตัวเรามาปรับใช้กับบทหนัง
เพื่อให้แสดงเป็นตัวเอง เป็นธรรมชาติ
เป็นการพบกันครึ่งทาง หรือตอนถ่าย
อาก็จะไม่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้
แต่จะอธิบายว่าอารมณ์ในบทตอนนั้นจะเป็นยังไง"
ด้วยศักดิ์แล้ว เด็กสาวตาโตน่าจะเรียกบัณฑิตว่า
ลุงมากกว่าอา แต่เป็นเพราะว่า
ผู้กำกับใจดีชิงแทนตัวเองว่าอากับทุกๆ คนก่อน
"ป่านทั้งเคารพและนับถืออามากๆ
มากกว่าคำว่าอาเสียอีก อาชอบวัยรุ่น
ไม่สอนแต่จะแซวๆ มากกว่า"
รู้ข่าวว่าอาจากไปได้ 1 ชั่วโมง
สายป่านสารภาพว่าเสียน้ำตาไปแล้ว 3 รอบ
เธอให้เหตุผลของการร้องไห้ว่า
มันมากกว่าเรื่องงาน อาคือ สุดยอด
อาคือตำนาน อาคือบุคลากรสำคัญที่วงการสูญเสียไป
แต่มูลเหตุที่ทำให้เธอเสียใจมากที่สุดคือ...
"อาเป็นผู้กำกับที่ดึงเอาตัวตนของป่านไป
อยู่ในหนังได้มากที่สุด เพราะเรื่องที่ผ่านๆ มา
ป่านถูกทำให้ดูหนัก ดู dark กว่าตัวจริง
อย่างพลอยก็หนักเกินไป แต่กับบุญชู
เป็นตัวเรามากๆ อามองเห็นว่าเราก็มีมุมตลกๆ ด้วย"
ถึงตรงนี้น้ำเสียงสายป่านเครือเล็กน้อย
ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า สามเดือนที่อยู่กับอา
นอกจากการได้เจอ "มืออาชีพ" เต็มกองถ่ายแล้ว
ภาพติดตาเสมอของผู้กำกับร่างอ้วน คือ
ผู้ชายที่พกผ้าเช็ดหน้าติดตัวตลอด
ข้างตัวต้องมีกระติกน้ำแข็ง ปากเคี้ยวหรืออมน้ำแข็งไว้ตลอด
"อาขี้ร้อน แต่ใจดี ใจเย็นกว่าน้ำแข็งที่อาเคี้ยวอีก"
บรรยากาศการทำงาน "อา" จะไม่พูดมาก
ไม่ค่อยมีประโยคเด็ดหรือมอตโตประจำตัวชวนจดจำ
แต่จะอยู่ในหมวด "พูดน้อยต่อยหนัก"
พูดเมื่อไหร่ ฮาเมื่อนั้น
ที่สำคัญเป็นไดอะล็อกที่ตลกมากโดยไม่หยาบแม้สักคำ
"แกไม่ค่อยปล่อยมุกหรือคำพูดเด็ดๆ หรอกค่ะ
ถ้ามีแกก็จะเอาไปใส่ไว้ในบทหมด"
•ผลงานภาพยนตร์ของบัณฑิต
2527 คาดเชือก
2527 มือเหนือเมฆ
2528 คนดีที่บ้านด่าน
2529 คู่วุ่นวัยหวาน
2529 ปัญญาชนก้นครัว
2530 ด้วยเกล้า
2531 บุญชูผู้น่ารัก
2532 บุญชู 2 น้องใหม่
2532 ยิ้มนิดคิดเท่าไหร่
2532 ความรักของคุณฉุย
2533 บุญชู 5 เนื้อหอม
2533 ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
2534 บุญชู 6 โลกนี้ดีออกสุดสวยน่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย
2535 อนึ่งคิดถึงพอสังเขป
2535 เจาะเวลาหาโก๊ะ
2536 บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ
2537 หอบรักมาห่มป่า
2537 กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
2538 บุญชู 8 รักเธอเสมอ
2539 อนึ่งคิดถึงพอสังเขป รุ่น 2
2543 สตางค์
2544 14 ตุลาสงครามประชาชน
2545 สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์
2546 ชื่อชอบชวนหาเรื่อง
2547 อุกกาบาต
2549 พรเด็กเสือไก่วอก
2551 บุญชู ไอ-เลิฟ-สระอู
"หิมะ" ที่ว่าหนาว ยังแพ้ทาง "เกลือ
fah@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553
วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคมนี้ สหรัฐอเมริกา
ประกาศได้ปรับเวลาเร็วขึ้น
จากเดิมที่ห่างจากเมืองไทย 13 ชั่วโมง
ก็เปลี่ยนมาเป็น 12 ชั่วโมง
กลับตาลปัตรกันระหว่าง
กลางคืน กลางวันของเมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน กับเมืองไทย
ปีหนึ่่งๆ ประเทศเขตหนาว
จะประกาศปรับเวลาปีหนึ่งสองครั้ง
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และย่างเข้าฤดูหนาว
ละอองน้ำแข็งโปรยปรายหิมะโปรยปรายลงมา
ที่ประกาศอย่างเป็นทางการชัดว่าเข้าสู่
"ฤดูใบไม้ผลิ" (Spring) อย่างจริงจัง
เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และหมุนเข็มนาฬิกาเร็วขึ้น
ช่วงเวลาพระอาทิตย์เริ่มส่องแสงยาวนานขึ้น
นั่นทำให้หิมะที่เคยตกหนาเป็นฟุตๆ
วันนี้ละลายกลายเป็นสายน้ำเย็น
บวกเข้ากับ ฝนที่ตกลงมาด้วย
เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น
ฝนชะหิมะ ด้วย(ตา)ตัวเอง หนาวจนยะเยือก
แต่ความรู้ใหม่ที่ได้ สำหรับคนเขตร้อนอย่างเรา
คงแปลกตาเช่นกัน ยามที่หิมะตกลงมาหนานั้น
วิธีจัดการอย่างที่เห็นกันในซิรีย์ฝรั่ง
หรือหนังฮอลลีวู้ด ก็มักเห็นเขาเอาพลั่วมาตัก มารถโกยหิมะ
เพราะที่อเมริกานี้ มีกฎหมายกำหนดให้เจ้าของบ้าน
อาคารที่พักอาศัยต้องดูแล
กวาดหิมะออกจากทางเท้าหน้าบ้านของตัวเอง (แต่ไม่ใช่ทุกรัฐ) ...
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า
หิมะตกหนาจนเกาะตัวเป็นแผ่นน้ำแข็งนั้น "ลื่น"จริงๆ
หากไม่ระมัดระวัง ก็ลื่นล้มได้
ที่เมดิสัน รัฐวิสคอนซินนี้ ได้เห็นพนักงานเมืองเมดิสัน
เขากำจัดหิมะ ในวันตกหนัก ...ด้วยการใช้ "เกลือ" ทั้งโรย
ทั้งสาดไปตามทางเท้า หรือถนนคนเดิน
ทางเข้าบ้าน และลานจอดรถ เหตุที่เป็นเกลือ
นักเรียน นักศึกษาด้านฟิสิกส์
วิทยาศาสตร์ คงตอบได้ ...
เพราะเกลือทำให้หิมะละลายได้
.. คนเมืองร้อนหลายคน มีข้อสงสัยในเรื่องนี้
ถ้าเป็นนักเรียน เขาก็จะแนะนำให้ไป
ทดลองแบบ ซ.ต.พ.(ซึ่งต้องพิสูจน์) ด้วยตัวเองว่า
แล้วมาอธิบายว่า ที่เกลือละลายหิมะได้นั้น
เพราะปกติแล้ว น้ำกลายเป็นน้ำแข็งเมื่ออุณหภูมิศูนย์องศาเซลเซียส
โรยเกลือลงบนหิมะ เกือบทำให้หิมะ
หรือน้ำแข็งค่อยๆ ละลาย
อุณหภูมิลดต่ำลงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส
ลงไปติดลบนั่นเอง
ความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ ถูกใช้เป็นประโยชน์
ทำให้เรามี "ไอติม" หรือ "ไอศกรีม" กินนั่นแหละ สังเกตสิว่า!
ตอนปั่นน้ำให้เป็นน้ำแข็ง รอบตัวถังปั่นมีเกลือผสมน้ำหล่อเย็นอยู่
เมื่อโรยเกลือลงไปบนทางเท้า ก็ช่วยให้ไม่ต้องเดินย่ำหิมะ
และไม่ทำให้น้ำแข็งที่ตกลงมาหนาจนเกาะตัวกันได้
ที่เมืองนี้พนักงานกวาดหิมะ ใช้ทั้งมือ และเครื่องจักร
ที่เห็นมีตั้งแต่ พลั่วตักหิมะออก ใช้รถโกย
น่าจะเรียกว่า รถไถ เหมือนไถนา บ้านเรามากกว่า
และรถใหญ่ยักษ์ น้ำหนักมาก ด้านหน้ารถ
เป็นที่กวาด อย่างที่เห็นนี้เลย
ธรรมเนียมของการกวาดหิมะ คือ จัดการให้ไปอยู่สองข้างทาง
เพราะไม่งั้นกวาดเท่าไรก็ไม่หมด
หน้าหนาวๆ อย่างที่เเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว
มีรุ่นพี่ รุ่นใหญ่ทั้งหลาย ต่างบอกว่า ช่วงหิมะตกนั้น
จะเย็นน้อยกว่า ก่อนและหลังหิมะตก
อันนี้ก็ ซ.ต.พ.มาแล่้ว ... เป็นความจริงเช่นกัน
มีอีกข้อสงสัยหนึ่ง ที่เห็นแล้วต้องหาคำตอบ
เพราะย่านบริเวณที่พักอาศัย มักจะมี "ถังทราย"ตั้้งอยู่
ตัวเองเห็นถังบรรจุทราย ปิดฝาวางอยู่เป็นระยะ
เมื่อแรกเข้าใจว่า ใช้เช่นเดียวก้บเกลือ
แต่ผิด ... เพราะทรายเขาใช้โรยถนนเช่นกัน
แต่เพื่อป้องกัน มำให้ขับรถแล้ว เกิดการลื่นไถล
เช่นเดียวก้ับเดินทางลื่น เพราะทราย
ช่วยให้ล้อรถเกาะถนนมากขึ้น
ใช้ทรายโรยลงพื้นเมื่อล้อหมุนฟรี
และไม่สามารถออกจากที่จอดรถได้
อย่างหนึ่ง ที่ต้องเรียนรู้จักการใช้ชีวิตท่ามกลางความเยือกเย็น
ในรั้วระดับมหาวิทยาลัยสอนวิชาการแล้่ว
เขายังสอน การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหนาวด้วย รุ่นพี่ๆ
หลายคนเล่าว่า ส่วนใหญ่เกือบทุกปี
มีการอบรมการขับรถบนท้องถนน ในฤดูหนาว
เหตุเพราะนักศึกษาที่วิสคอนซิน ราว 5% เป็นนักศึกษาต่างชาติ
โดยเฉพาะนักศึกษาจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง ถัดมา ก็มี
เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทย
และเหล่้านานาชาติในอาเซียน
ซึ่งไม่เคยประสบพบกับหิมะ
ข้อแนะนำสำหรับนักศึกษากระเป๋าหนัก
ควักเงินซื้อรถขับทั้งที ก็ต้องเรียนรู้ทริก ที่ต้องบอกว่า
น่าสนใจมาก ...ขับรถถนนสาดแสงอาทิตย์เป็นเรื่องปกติ
แต่ขับรถไอเย็นอวลรอบรถ
บางเวลาหมอกปกคลุมไปทั้งเมือง
มองไม่เห็นทางข้างหน้าถนัด ..
หนาวปีนี้จึงได้เห็นข่าวต่างประเทศ
เสนอว่ารถยนต์ส่วนบุคคลชนกันเป็นขบวนพังยับเยิน
คำแนะนำข้อหนึ่งนั่นคือ ..
ทิ้งระยะห่างจากการขับตามรถคันข้างหน้ามาก ๆ
เพื่อระยะเบรค นี่สำคัญ อย่าขับรถเร็ว
เมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ต้องมีสติ อย่าประมาท
ต้องตรวจสอบลมยาง เบรคเสมอๆ ทำได้ทุกวันยิ่งดี
Mar 14, 2010
จ่าเพียรขาเหล็ก วีรบุรุษ..เขาบูโด
หลายคนที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน
คงเคยได้ยินชื่อพันตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา
ผกก.สภ.บันนังสตา กันดีอยู่แล้ว
และน่าจะรู้ลึกไปถึงเกียรติประวัติอันน่าเกรงขาม
จนได้รับฉายาว่า...
"จ่าเพียรนักสู้แห่งเทือกเขาบูโด"
และ อีกฉายาที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้....
"จ่าเพียรขาเหล็ก" ฉายานี้...
พันตำรวจเอกสมเพียรได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่
ไม่ว่าจะเป็นการยึด...การลาดตระเวนด้วยเท้าเป็นหลัก
ก่อนหน้านี้ เป็นข่าวดังสะท้านวงการตำรวจไทย ก็
"จ่าเพียรขาเหล็ก" คนนี้อีกนั่นแหละ
ที่เดินทางไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล
กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก
คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บัญชาการ-สารวัตร
ชนวน ต้นเรื่องมีว่า...พันตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา
ได้ยื่นขอพิจารณาโยกย้ายไปเป็น
ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 9
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างอยู่...
เพื่อใช้ชีวิตสุขสงบในบั้นปลายกับครอบครัว
ซึ่ง...ปีนี้เป็นปีสุดท้ายก่อนที่
"จ่าเพียรขาเหล็ก...นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด"
จะเกษียณราชการในปี 2553
นี่ คือความต้องการสุดท้ายในชีวิต
ก่อนที่จ่าเพียรจะอำลาชีวิตราชการตำรวจในพื้นที่เสี่ยง...
สามจังหวัดชายแดน ใต้ที่ตั้งใจทำมายาวนานเป็นเวลา 40 ปีเต็ม
ท้ายที่สุด...ความหวังสุด ท้ายก็เป็นแค่ความหวัง
ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงใดๆในทางปฏิบัติ
และดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาใดๆจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
ปูมประวัติที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการตำรวจไทย...
พ.ต.อ. สมเพียร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า
"จ่าเพียร" เริ่มชีวิตตำรวจด้วยยศต่ำสุดเพียงแค่ "พลตำรวจ"
เขาทุ่มเททำงานในพื้นที่สีแดง
จนกระทั่งได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึง
"ผู้กำกับการ" ยศ "พันตำรวจเอก"
พ.ต.อ.สมเพียรเข้ารับราชการ พ.ศ.2513
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เคยต่อกรกับกลุ่มที่ยืนตรงข้ามกับรัฐแทบทุกกลุ่ม...
โจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.)
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กล่าวได้ว่าจ่าเพียร...
เคยผ่านการยิงปะทะมาแล้วนับร้อยครั้ง...เคยถูกยิง
ถูกลอบวางระเบิดได้รับบาดเจ็บถึง 8 ครั้ง
ปี 2519 จ่าเพียรเปิดฉากยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย
กลุ่มนายลาเตะ เจาะปันตัง
ที่จับตัวตำรวจและครอบครัวไปเรียกค่าไถ่ที่เทือกเขาเจาะปันตัง อ.บันนังสตา
ผลจากการปะทะเขาถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาซ้ายและหน้าอก
อาการสาหัสแทบพิการ วัน เวลาผ่านไป...ปี 2526
จ่าเพียรก็ยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย
กลุ่มนายคอเดร์ แกแตะ กับพวกประมาณ 30 คน
ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกยิงที่ต้นขาขวากระสุนฝังใน
นี่คือช่วงชีวิตเพียงเสี้ยวหนึ่ง ของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา
ผู้โชกโชนในยุทธจักรความรุนแรงและเสี่ยงอันตราย
กระทั่งได้รับประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆมาแล้วมากมาย
แต่... รางวัลชีวิตที่จ่าเพียรปลาบปลื้มอย่างที่สุดคือ...
การได้รับพระมหา กรุณาธิคุณ
พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง
อะ หมัด รามันห์สิริวงศ์ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา
ก่อนถูกระเบิดเสียชีวิตไม่ถึง 10 วัน...
ยิ่งสะท้อนให้เห็นตัวตนและจุดยืนในการทำงาน
ท่ามกลางพื้นที่เสี่ยงอันตรายทุกวินาที
การรวมใจเป็นหนึ่ง คือวิธีการทำงานของจ่าเพียร...
นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด
"ทีม งานของผมที่เคยร่วมงานกันในพื้นที่ อ.บันนังสตา
ไม่ว่าจะเป็น ดอเลาะ เซ็งมะสู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
ที่ชาวบ้านรู้จักในนามผู้ใหญ่เลาะแห่งตะโล๊ะเว
หรือ ยะผา ยะโก๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา
คนเหล่านี้เมื่อทราบข่าว ว่า
ผมจะเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ อ.บันนังสตาอีกครั้ง
ก็มาเสนอตัวว่าจะเข้ามาช่วยงาน
เพราะขณะนั้นสถานการณ์ในบันนังสตารุนแรงมาก
เป็นพื้นที่สีแดงจัด...มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง
ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายกันแทบทุกวัน"
จ่าเพียร นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด บอกว่า
ที่ผ่านมาปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายครั้ง
มีกองกำลังภาคประชาชน ทั้งเยาวชน
คนแก่ที่ญาติพี่น้อง ต้องได้รับผลกระทบ...สูญเสีย
ลุกขึ้นมาจับปืนสู้ด้วยกัน ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก
"ส่วน... การใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหานั้น
เราอยู่ในพื้นที่บันนังสตามาหลายปี
ใช้เงินงบประมาณของรัฐที่ให้เพียงน้อยนิด
เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น ส่วนใหญ่จะใช้เงินของตัวเองเป็นหลัก"
แนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้ที่ไม่ มีทีท่าว่าจะดับลงโดยง่าย
พ.ต.อ. สมเพียรไม่ได้แค่ทำงานแก้ปัญหาเหตุร้ายรายวัน
แต่ยังสร้างคนเอาไว้รองรับอนาคต
เด็กวัยรุ่นที่มาเป็นอาสารักษาดิน แดน (อส.)
ที่ปฏิบัติงานร่วมกันอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครจับปืนมาก่อนเลย...
แต่เด็กเหล่านี้ตั้งใจ ก็พยายาม
ขอร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบรรจุตำแหน่งให้
"บางคนไม่มี ความรู้แต่มีผลงานก็ต้องบรรจุ
แม้จะทำงานมาหลายปี
แต่ทีมงานอีกหลายคนยังไม่มีเงินเดือน
ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีค่าตอบแทน
พวกเราทำงานกันด้วยใจจริงๆ สู้เพื่อแผ่นดินตรงนี้จริงๆ"
พ.ต.อ.สมเพียร ว่า "ผม... รู้จักจ่าเพียรเป็นอย่างดี
ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสารวัตรปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่
ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา...เคยต่อสู้กับกลุ่มบีอาร์เอ็น"
ยะผา ยะโก๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา
หนึ่งในทีมเฉพาะกิจที่ผู้กำกับฯสมเพียรระบายความในใจ
ปัจจุบัน นี้กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่มีอีกแล้ว
เริ่มมามีชุดใหม่คือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ผู้ใหญ่ยะผาก็ตั้งใจเข้ามาช่วยปฏิบัติงานเป็นชุดเฉพาะกิจของจ่าเพียร
อีก ครั้ง ยะผา บอกว่า ช่วงแรกๆ ก็กลัวว่าจะมีปัญหาเหมือนกัน
เพราะอยู่ต่างพื้นที่ ต่างอำเภอ
แต่จ่าเพียรได้เดินเรื่องขอผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
ให้เปิดโอกาสในการทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่
หากมีเหตุใน อ.บันนังสตา
และจ่าเพียรต้องการกำลังเสริม
ผมพร้อมลูกน้องจะเดินทางไปสมทบทันที
"สิ่ง ที่เราทำร่วมกันมา ผมอยากบอกว่า...
วันนี้ไม่ว่าจ่าเพียรจะอยู่หรือไปจากบันนังสตา
ทั้งผมและลูกน้องก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์
เราจะดูแลรักษาความสงบในพื้นที่นี้ต่อไป
เพราะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานกับจ่าเพียร"
ส.ต.ต.ธีรพล ท้าวแพทย์
ผู้บังคับหมู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (ผบ.หมู่ นปพ.)
ประจำสถานีตำรวจยุทธศาสตร์บ้านกาจะลากี
หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา
เป็นอีกคนที่รักและตั้งใจทุ่มเททำงานกับจ่าเพียร
เสริมว่า...ผมตัดสินใจมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่บันนังสตา
เพราะอยากให้เกิดความสงบสุข
"แต่...ยอมรับว่า เมื่อครั้งที่ลงมาใหม่ๆ ก็รู้สึกกลัว
แต่ผู้กำกับฯ สมเพียร ท่านเมตตา...
ช่วยชี้แนะ มักจะย้ำเสมอว่า...เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
ต้องระมัด ระวังตัว
อาวุธปืนต้องพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา อย่าประมาท"
ส.ต.ต.ธีรพล บอกว่า ที่ผ่านมาผู้กำกับฯ สมเพียร
ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี ช่วยเหลือทุกอย่าง
ฉะนั้นผมกับเพื่อนๆจะปฏิบัติหน้าที่
ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ต่อไปให้ดีที่สุด
ให้สมกับที่ผู้กำกับฯเคยดูแลพวกเรา
ย้อนบันทึก พ.ต.อ.สมเพียร
ทำเรื่องขอย้ายจาก สภ.บันนังสตา
ไปเป็นผู้กำกับการ สภ.กันตัง จ.ตรัง
เขาให้เหตุผลกับผู้บังคับบัญชาว่า...
ทำงานด้วยความลำบากตรากตรำในพื้นที่
เสี่ยงอันตรายมาหลายสิบปี น่าจะได้พักบ้าง
ในช่วง 18 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ
"บอก ตรงๆ หลังจากเกษียณราชการแล้ว
ผมอยากนั่งกินน้ำชา นั่งนินทาเพื่อน
แล้วก็กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวบ้าง
เพราะผมไม่ได้อยู่กับครอบครัวมานานถึง 40 ปี...
เวลาที่อยู่กับครอบครัวมีน้อยมาก
ผมโดดเดี่ยว อยู่คนเดียวมาตลอด"
ถ้า ย้อนวันเวลาไปได้...ถ้านักรบผู้หาญกล้าคนนี้
ได้รับความยุติธรรมสักนิด บั้นปลายชีวิตของ
"จ่าเพียรนักสู้แห่งเทือกเขาบูโด"
คงมีความสุขกับครอบครัวอย่างที่เขาเฝ้าฝันเอาไว้.
ไทยรัฐออนไลน์
สกู๊ปหน้า 1
พ.ต.อ.สมเพียร (เอกสมญา) ภูวพงษ์พิทักษ์
ชื่อ-นามสกุล พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา
วันเดือนปีเกิด 26 พ.ย.2493
วันที่เสียชีวิต 12 มี.ค. 2553
ประวัติครอบครัว
ภรรยา พิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์
มีบุตรชาย 4 คน
1. นายชุมพล เอกสมญา ศิลปินนักร้องแนวเพลงเพื่อชีวิต
2. นายเศรษฐวุฒิ ภูวพงษ์พิทักษ์
3. นายรัฐวิชย์ ภูวพงษ์พิทักษ์ อดีตทหารพรานกรม ทพ.41 อ.รามัน จ.ยะลา
มา เป็น ผบ.หมู่ ประจำ สภ.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
4. ส.ต.ท.โรจนินทร์ ภูวพงษ์พิทักษ์ ผบ.หมู่ร้อย ตชด.445 อ.เบตง
มาเป็น ผบ.หมู่ ตรวจคนเข้าเมือง 6 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
การศึกษา และดูงาน
- มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทพา
ปี 2513 โรงเรียนตำรวจภูธร ภาค 9 ยะลา นพต.รุ่นที่ 15
- ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ตำแหน่งปัจจุบัน
การทำงาน และตำแหน่งหน้าที่
23 มีนาคม 2535 สารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
1 เมษายน 2541 สารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
16 มีนาคม 2543 สารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านโสร่ง จังหวัดปัตตานี
11 กุมภาพันธ์ 2545 รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย
จังหวัดสงขลา
(ช่วยราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 30 วัน ตั้งแต่ 11 มี.ค.2545)
7 มีนาคม 2546 รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าพะยอม
จังหวัดพัทลุง
2548 รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
1 พฤศจิกายน 2549 รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
11 มิถุนายน 2550 รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา
จังหวัดยะลา
22 มิถุนายน 2550 ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
1 พฤศจิกายน 2550 ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา
ยศหรือขั้น
เครื่องราช
- เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง
- ประกาศนียบัตร ผู้มีผลงานสู้รบดีเด่น จากกระทรวงมหาไทย
- เข็มรักษาดินแดนสดุดี จากกระทรวงมหาดไทย
- ได้รับมอบเกียรติบัตรผู้วึ่งทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติด้วยความเสียสละ จากองค์การทหารผ่านศึก
ปี 2525 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี (เหรียญรามรามาเข็มกล้ากลางสมร)